การศึกษาไทยในรอบ 100 ปี โดย ศ.นพ.ประเวศ วะสี รองประธานมูลนิธิสดศรี-สฤษดิ์วงศ์

ที่ผ่านมามีแต่การท่องวิชา ทำให้คนคิดไม่เป็น ทำอะไรไม่ได้ จัดการไม่เป็น อยู่ร่วมกันไม่เป็น ไม่รู้ความจริงของประเทศ เพราะไม่ได้เรียนรู้จากการทำ การเรียนรู้ที่ดีที่สุดคือการเรียนรู้จากการลงมือทำ แต่เราทำการศึกษาแบบสิบปากว่าก็สูญเปล่าไปหมด ทำอะไรไม่เป็น คิดไม่เป็น ภูมิปัญญาการจัดการเกือบจะหายไปสิ้นเชิงในสังคมไทยเป็นผลร้ายแรงที่ทำอะไรไม่สำเร็จ เพราะความสำเร็จเกิดจากการจัดการ ที่ร้ายแรงอีกสิ่งหนึ่งคือไม่รู้ความเป็นจริงของสังคมไทย สิ่งเหล่านี้ทำให้ประเทศเกิดวิกฤติ 6 ด้าน ได้แก่ วิกฤติเศรษฐกิจ การเมือง สังคม สิ่งแวดล้อม ศีลธรรม และคุณภาพคนที่ทำให้เกิดวิกฤติด้านต่างๆ จึงต้องปฏิรูปการเรียนรู้ในท่ามกลางความซับซ้อนของสังคมในปัจจุบัน การเรียนรู้เป็นเครื่องมือที่สำคัญมากสุดที่จะใช้เป็นเครื่องมือในการเผชิญความซับซ้อน บางคนเชื่อว่าการปฏิวัติการเรียนรู้ คือเครื่องมือของมนุษย์ที่จะพาไปยังอนาคต

 

ชีวิตคือการศึกษา การศึกษาคือชีวิต
การศึกษาไทยเป็นการคิดแบบแยกส่วน เอาวิชาเป็นตัวตั้งซึ่งแยกไปจากชีวิต การศึกษาจึงควรเอาชีวิตเป็นตัวตั้ง ในทางพุทธศาสนาชีวิตกับการศึกษาอยู่ที่เดียวกัน ชีวิตคือการศึกษา การศึกษาคือชีวิต ธรรมชาติของชีวิตมีการเรียนรู้ตลอดเวลาตั้งแต่เกิด การศึกษาที่เอาชีวิตเป็นตัวตั้งจะแก้วิกฤติสู่การพัฒนาอย่างบูรณาการทางเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม อย่างเชื่อมโยงกัน การปฏิรูปการเรียนรู้คงไม่ใช่การพยายามให้นักเรียนได้คะแนนดีขึ้น จึงต้องปฏิรูปการศึกษาด้วยการอภิวัฒน์การพัฒนาคุณภาพคน การปฏิรูปการเรียนรู้ระบบการเรียนจากการลงมือทำในสิ่งที่ตนชอบ ซึ่งทุกคนชอบไม่เหมือกัน แต่เราให้ทุกคนเรียนในสิ่งที่เหมือนกัน การทำในสิ่งที่ชอบจะทำให้เกิดความอดทนและทำสิ่งนั้นได้นาน เกิดเป็นความงามความประณีตซึ่งเป็นศิลปะพัฒนาจิตใจและพัฒนาทุกอย่าง ผลของงานมีคุณค่าและมูลค่า คือ รายได้ จึงเกิดการหาความรู้เพิ่มเติมเพื่อเพิ่มรายได้ และเมื่อจะทำสิ่งที่ใหญ่และยากขึ้นก็จะเกิดการเรียนรู้ร่วมกันในการปฏิบัติจากการทำงานกับผู้อื่น นำไปสู่ Transformation เมื่อจิตใจเปลี่ยนเห็นคุณค่าคนอื่นก็นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงขั้นพื้นฐาน

พลังเอกชนกับการปฏิรูปการเรียนรู้

ในอดีตบทบาทของเอกชนมักไปมองถึงเรื่องของการสนับสนุนเงินเพื่อการพัฒนา แต่การพัฒนาไม่ใช่การให้เงินเท่านั้น หากพูดถึงพลังเอกชนในการปฏิวัติการเรียนรู้ หมายถึง พลังของการจัดการ ภาคเอกชนมีกำลังและคนเก่งมากกว่าภาคอื่นๆ จึงมีความจำเป็นที่เอกชนจะกลับเข้ามาสู่การพัฒนาในด้านต่างๆ เช่น เข้ามามีส่วนร่วมปฏิรูปการเรียนรู้ ซึ่งภาคธุรกิจบอกว่านักศึกษาที่จบจากมหาวิทยาลัยทำงานไม่เป็น ไม่อดทน ไม่รับผิดชอบ เนื่องจากท่องแต่วิชา จึงทำงานไม่เป็น แต่สถานประกอบการที่ประสบความสำเร็จมี 3 ปัจจัย คือ พัฒนาเป็น อดทน รับผิดชอบ ฉะนั้นสถานประกอบการเหมาะที่จะเป็นสถานที่ฝึกการปฏิบัติ หากสถานประกอบที่มีอยู่ประมาณ 400,000 แห่งเชื่อมโยงกับโรงเรียนประมาณ 37,000 โรง ผู้เรียนรู้ได้ฝึกหัดทำงานเป็น อดทน รับผิดชอบ ขณะเดียวกันสถานประกอบการก็ได้เรียนรู้ว่าโรงเรียนต้องสนับสนุนเรื่องใด เพื่อให้ทำงานดีขึ้น เป็นประโยชน์ร่วมกัน ถ้าทำได้สถานประกอบการก็ได้ประโยชน์จากการมีคนมาฝึกงานไม่ต้องจ่ายค่าจ้างเต็ม เป็นการเรียนรู้ด้วยกันจากสถานการณ์จริง หรือ Business council for education ในระดับชาติและระดับจังหวัด ทำงานร่วมกันระหว่าง 3 ภาค ได้แก่ ธุรกิจ การศึกษา และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยมีจุดมุ่งหมายที่จะสร้างสัมมาชีพเต็มพื้นที่ช่วยให้อยู่ร่วมกันอย่างร่มเย็นเป็นสุขต้องมีภาคีส่งเสริมปฏิรูปการเรียนรู้เข้ามาด้วย