พิทักษ์ โสตถยาคม
นักวิชาการศึกษา กลุ่มวิจัยและส่งเสริมการวิจัยทางการศึกษา
สำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน
จากการที่ประธานาธิบดีคิม ยัง ซัม เป็นประธานาธิบดีที่มาจากพลเรือนคนแรก และประกาศนโยบายปฏิรูปเพื่อสร้างประเทศเกาหลีใหม่ โดยใช้การปฏิรูปการศึกษาเป็นปัจจัยสนับสนุนที่สำคัญ ได้ตั้งคณะกรรมาธิการการปฏิรูปการศึกษาขึ้นตรงต่อประธานาธิบดี เพื่อเสนอนโยบายและมาตรการในการปฏิรูปการศึกษาแก่ประธานาธิบดี มีกระทรวงศึกษาธิการรับหน้าที่นำไปปฏิบัติให้เป็นรูปธรรม ซึ่งมีข้อเสนอแนะต่อการปฏิรูปการศึกษาสำหรับศตวรรษที่ 21 จำนวน 4 ฉบับ ตั้งแต่ปี 1995-1997 มีเป้าหมายที่ “การศึกษาในอุดมคติ” ซึ่งสำนักงานเลขาธิการคณะกรรมการศึกษาแห่งชาติได้จัดแปลและเผยแพร่ไว้ ซึ่งมีประเด็นเกี่ยวกับการสื่อสาร ดังนี้
- หนึ่งในคุณลักษณะของ “การศึกษาในอุดมคติ” ซึ่งเป็นวิสัยทัศน์ของระบบการศึกษาใหม่ คือ การนำเทคโนโลยีการสื่อสารทางไกลที่นำสมัยมาใช้ในการจัดการศึกษาให้กับประชาชนทุกคนในทุกเวลา และทุกสถานที่
- หลักการว่าด้วยการจัดวางระบบการศึกษาใหม่ ระบุให้สื่อสารมวลชน ผู้สื่อข่าว องค์กรต่างๆ ของนักการศึกษา กลุ่มบุคคลที่ทำงานเกี่ยวกับสังคมโดยตรง รวมทั้งสมาคม ผู้ปกครอง จำเป็นต้องผลักดันตนเองให้เข้าไปช่วยเปลี่ยนแปลงเจตคติของผู้คนทั่วไป และลงไปร่วมมีบทบาทในการปรับปรุงสภาพของการศึกษาด้วย
- แผนปฏิรูป สวัสดิการทางการศึกษาของรัฐ ให้ได้รับการศึกษาตลอดชีวิต มีระบบธนาคารหน่วยกิต เรียนรู้ตามความต้องการความสนใจของประชาชน มีศูนย์สื่อผสมเพื่อการศึกษาแห่งชาติ สร้างระบบสนับสนุนการศึกษาทางไกล มีการตั้งคณะกรรมาธิการส่งเสริมการให้บริการสารสนเทศทางการศึกษา เป็นการรวมผู้เชี่ยวชาญมาให้คำปรึกษาประธานาธิบดีเรื่อง ICT
- การปลูกฝังคุณธรรม กำหนดให้สื่อมวลชนควรมีส่วนช่วยเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ให้เห็นความสำคัญของการศึกษาที่บ้านว่าด้วยการบ่มเพาะคุณลักษณะอันดีงามให้แก่บุตรหลานของตน ระบบถ่ายทอดข้อมูลทางการศึกษาและเคเบิ้ลทีวีเพื่อการศึกษา จะต้องเข้ามารับผิดชอบในงานพัฒนารายการการศึกษาสำหรับผู้ปกครองและครอบครัว
- บทบาทสื่อมวลชนในการเผยแพร่ความรู้ทางการศึกษา สื่อมวลชนควรมุ่งจัดทำรายการทางการศึกษาในเรื่องพัฒนาการทางอารมณ์ของเยาวชน เพื่อทำหน้าที่เสมือนยาถอนพิษให้แก่เด็กที่เติบโตอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เลวร้ายอันเต็มไปด้วยยาเสพติด อันธพาล และความรุนแรง นอกจากนี้ ควรจัดบริหารทางด้านกฎหมายและการบริหารรวมเข้าไว้ด้วย เพื่อปกป้องเยาวชนให้พ้นจากความรุนแรง อาชญากรรม และการถูกล่อลวงที่พบเห็นในจอโทรทัศน์ นิตยสาร และวีดิทัศน์ เป็นต้น
- บทบาทสื่อมวลชนในการสร้างเสริมหน้าที่พลเมืองศึกษา ในการให้ความรู้เรื่องหน้าที่พลเมือง 1) ควรใช้ประโยชน์จากสื่อ ICT การถ่ายทอดสด ข่าวสารทางไกล อาทิ ระบบการถ่ายทอดข่าวสารทางการศึกษา ซึ่งเป็นเครือข่ายคอมพิวเตอร์เพื่อการศึกษาในการส่งเสริมหน้าที่พลเมืองศึกษา และ 2) ควรเน้นการเข้ามามีส่วนร่วมของผู้เชี่ยวชาญทางการศึกษาในส่วนที่เกี่ยวข้องกับรายการถ่ายทอดข่าวสารที่ทรงอิทธิพล การแสดง การตีพิมพ์หนังสือและการสื่อสารทางคอมพิวเตอร์ เพื่อช่วยยกระดับสภาพแวดล้อมในโรงเรียน และการปลูกฝังสำนึกในการเป็นพลเมืองที่ดีในระบอบประชาธิปไตย
นอกจากนั้น เอกสารนี้ยังได้ระบุไว้อย่างชัดเจนว่า การปฏิรูปการศึกษาจะสำเร็จสมประสงค์ได้ก็ต่อเมื่อมีการปฏิรูปจากระดับล่างขึ้นมาสู่ระดับบน ให้ผู้ปกครอง ภาคอุตสาหกรรม สื่อมวลชน และองค์กรทางการศึกษาทั้งมวล ควรจะเข้ามามีบทบาทในการปฏิรูปการศึกษาด้วย สรุปคือ การปฏิรูปการศึกษาจะบรรลุเป้าหมายได้ ก็จำเป็นต้องมีกระแสความเคลื่อนไหวของปวงชนในระดับชาติอย่างเร่งด่วน เพื่อส่งเสริมการศึกษาในรูปโฉมใหม่ให้ปรากฏขึ้น
ข้อค้นพบจากงานสังเคราะห์กระบวนการปลูกฝังคุณธรรมจริยธรรม ยังพบว่า เกาหลีมีสถาบันครอบครัว สถาบันการศึกษา รัฐบาล และการเป็นแบบอย่างของผู้คนในสังคม จึงทำให้ประสบผลสำเร็จในการพัฒนาคุณธรรมด้วย ซึ่งบทบาทของแต่ละสถาบันมีดังนี้
1) สถาบันครอบครัว ยึดคำสอนของขงจื้อที่ว่า “ทั่วทั้งจักรวาลมีเพียงครอบครัวเดียว ทุกสรรพสิ่งมีความเกี่ยวข้องกัน” ทำให้ครอบครัวของคนเกาหลีมีระเบียบแบบแผนและมีความสัมพันธ์ระหว่างสมาชิกอย่างแน่นแฟ้น
2) สถาบันการศึกษา ได้ให้ความสำคัญของการพัฒนาคุณธรรมจริยธรรมควบคู่กับการพัฒนาความรู้ความสามารถเพื่อให้สามารถออกไปประกอบอาชีพและเตรียมรับการเปลี่ยนแปลงของกระแสโลกาภิวัฒน์ ประเทศได้จัดหลักสูตรใหม่โดยให้มีการปลูกฝังคุณธรรมจริยธรรมอย่างเป็นระบบและชัดเจนตั้งแต่ระดับอนุบาลถึงระดับอุดมศึกษา มีการจัดการเรียนการสอนตามหลักสูตรทางการ และให้ผู้เรียนเรียนรู้หลักสูตรแฝงจากสถานการณ์และสิ่งแวดล้อมที่เป็นจริง
3) บทบาทของรัฐ ได้ใช้กุศโลบายที่ใช้กระบวนการทางสังคมพัฒนาคุณธรรมจริยธรรมควบคู่กับการพัฒนาเศรษฐกิจ โดยมุ่งมั่นพัฒนาสถาบันครอบครัวให้เข้มแข็งเพราะเป็นรากฐานของสังคม ปฏิรูปการศึกษาโดยจัดหลักสูตรใหม่ที่ยังคงเน้นคุณธรรมจริยธรรมควบคู่กับความรู้ ความสามารถ รวมทั้งดำเนินโครงการแซมาอึลวุนดงของรัฐบาล กระตุ้นให้ชาวบ้านเชื่อมั่นในอนาคตว่า สามารถกินดีอยู่ดีถ้าขยันและร่วมมือกันดี โครงการนี้เป็นโครงการขับเคลื่อนขบวนการทางสังคมที่รวมพลังขนาดใหญ่ ที่ได้รับความร่วมมืออย่างดีในระดับชาติ ทั้งผู้นำทางการเมือง กลุ่มชนชั้นนำในเมือง ในหมู่บ้าน ข้าราชการท้องถิ่น โดยใช้กระบวนการฝึกอบรมกระตุ้นให้ชาวบ้านร่วมพัฒนาหมู่บ้าน ด้วยการปลูกฝังคุณธรรมการทำงานด้านความขยันหมั่นเพียร การช่วยตนเอง ความร่วมมือกัน
โดยเริ่มต้นด้วยการค้นหาผู้นำที่มีความสามารถชักชวนชาวบ้านให้ร่วมโครงการก่อน จากนั้นจึงขยายผล และประสบความสำเร็จ อันเกิดจากการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน รวมทั้งการออกกฎหมายควบคุมความประพฤติ นอกจากนั้น ในการปฏิรูปการศึกษายังได้คำนึงถึงการให้ความรู้แก่พ่อแม่ด้วยการอบรมระยะสั้น ทั้งด้านการปลูกฝังคุณลักษณะที่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวมและตระหนักถึงบทบาทความเป็นพ่อแม่ และ 4) การมีส่วนร่วมของชุมชน สังคม และองค์กรต่างๆ ผู้ใหญ่ในชุมชนมีบทบาทในสังคม คนเกาหลีเชื่อว่าผู้ใหญ่จะต้องทำตัวเป็นต้นแบบพฤติกรรมที่ดีงามเพื่อให้เยาวชนได้เลียนแบบ ผู้ใหญ่จะว่ากล่าวตักเตือนเด็ก หากเห็นว่ากระทำสิ่งที่ไม่ถูกต้อง แม้จะไม่ใช่ลูกหลานตนเองโดยตรง หรือการรวมตัวประท้วงหน่วยงานเมื่อเห็นว่ามีการดำเนินงานไม่ถูกต้อง
อย่างไรก็ตาม ข้อมูลเหล่านี้เป็นข้อมูลเบื้องต้นเพื่อการอภิปราย ระดมความคิด และแสวงหาแนวทางที่เหมาะสมสำหรับการสื่อสารเพื่อขับเคลื่อนระบบการศึกษา หรือการรณรงค์เคลื่อนไหวทางสังคมให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาต่อไป
รายการอ้างอิง
ขวัญสรวง อติโพธิ. (2557). คิดอย่างมีชาติ. สืบค้นเมื่อ 31 ธันวาคม 2559, จาก https://goo.gl/oy6Uks |
เจือจันทร์ จงสถิตอยู่ และรุ่งเรือง สุขาภิรมย์. (2550). รายงานการสังเคราะห์งานวิจัยคุณลักษณะและกระบวนการปลูกฝังคุณธรรมจริยธรรมของประเทศต่างๆ. กรุงเทพฯ: ศูนย์คุณธรรม. |
ประเวศ วะสี. (2554). เทศาภิวัฒน์: การปฏิรูปการบริหารประเทศจากการเอากรมเป็นตัวตั้งเป็นเอาพื้นที่เป็นตัวตั้ง. กรุงเทพฯ: สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.). |
ประเวศ วะสี. (2559). การศึกษาเปลี่ยนประเทศไทย ประเทศไทยเปลี่ยนการศึกษา. กรุงเทพฯ: มูลนิธิสดศรี-สฤษดิ์วงศ์. |
สำนักงานเลขาธิการคณะกรรมการศึกษาแห่งชาติ. (มปป.). การปฏิรูปการศึกษาสำหรับศตวรรษที่ 21 เพื่อความเป็นผู้นำในยุคสารสนเทศและโลกาภิวัฒน์. กรุงเทพฯ: สกศ. |
สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา. (2559). (ร่าง) กรอบทิศทางแผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2560-2574. กรุงเทพฯ: สกศ. |
สุภกร บัวสาย. (2556). จดหมายถึงเพื่อนสมาชิก ฉบับที่ 126 ฟินแลนด์: มหัศจรรย์การศึกษา. สืบค้นเมื่อ 31 ธันวาคม 2559, จาก https://goo.gl/LJFBtj |
สุรัฐ ศิลปอนันต์. (2558). ฟินแลนด์ปฏิรูปการศึกษาจนเป็นเลิศที่สุดในโลก. ใน เหลียวหลังแลหน้า ปฏิรูปการศึกษาขั้นพื้นฐาน. เอกสารประกอบการเสวนาการปฏิรูปการศึกษาขั้นพื้นฐาน สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน วันที่ 29 มกราคม 2558 ณ โรงแรมรามาการ์เด้นส์. |
อภิษฎา ทองสอาด. (2559). พัฒนาการและการจัดการศึกษาของประเทศฟินแลนด์. เอกสารทบวนการพัฒนาการและการจัดการศึกษาของประเทศฟินแลนด์ ในโครงการยกระดับสุขภาวะโรงเรียนเพื่อเป็นฐานการศึกษาจังหวัด มูลนิธิสดศรี-สฤษดิ์วงศ์. |