สุขภาวะทางจิตวิญญาณถือเป็นองค์ประกอบหนึ่งที่สำคัญที่คาดว่ามีบทบาทในการขับเคลื่อนองค์การทั้งระบบสุขภาพ และระบบการศึกษา เพื่อสุขภาวะที่ดีอย่างเป็นองค์รวมทั้งสุขภาวะทางกาย ทางจิต และทางสังคมของบุคคล ช่วยลดความตึงเครียด และสร้างความสุขให้แก่ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นผู้ให้บริการหรือผู้รับบริการ ในระบบสุขภาพและในระบบการศึกษา ซึ่งมูลนิธิสดศรี-สฤษดิ์วงศ์ โดยการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เป็นหน่วยงานหนึ่งที่เห็นถึงความสำคัญของสุขภาวะทางจิตวิญญาณของบุคลากร และได้มีแผนการดำเนินงานในส่วนของการพัฒนาสุขภาวะทางจิตวิญญาณอย่างกว้างขวางทั้งในระดับสถาบัน องค์การ มหาวิทยาลัย โรงพยาบาลระดับต่างๆ ศูนย์สุขภาพชุมชน และสถานีอนามัย รวมทั้งสถาบันหรือองค์การที่ไม่ได้ทำงานกับระบบสุขภาพโดยตรง หรือมูลนิธิต่างๆ โดยมีเป้าหมายที่ต้องการพัฒนาให้บุคลากรที่เกี่ยวข้องสามารถปฏิบัติงานได้อย่างมีความสุข ทุ่มเทกำลังกายและใจเพื่อการปฏิบัติงานได้อย่างเต็มกำลัง และเกิดสุขภาวะทางจิตวิญญาณ ซึ่งในการพัฒนาสุขภาวะทางจิตวิญญาณ หากมีการศึกษาและพัฒนาเครื่องมือประเมินและตัวชี้วัดการพัฒนาสุขภาวะทางจิตวิญญาณที่เหมาะสมและเป็นมาตรฐานแล้ว จะสามารถนำมาใช้ประโยชน์ควบคู่กับแนวทางในการเสริมสร้างและพัฒนาสุขภาวะทางจิตวิญญาณได้อย่างมีประสิทธิผล
วัตถุประสงค์การวิจัย
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อทบทวนเอกสาร บทความ และงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับเครื่องมือประเมินและตัวชี้วัดที่เกี่ยวข้องกับสุขภาวะทางจิตวิญญาณเพื่อการพัฒนาทั้งในและต่างประเทศ เพื่อพัฒนาเครื่องมือวัดและตัวชี้วัดที่ใช้ในการประเมินสุขภาวะทางจิตวิญญาณเพื่อการพัฒนาของบุคลากรในระบบสุขภาพและระบบการศึกษา และเพื่อจัดทำคู่มือการประเมินสุขภาวะทางจิตวิญญาณเพื่อการพัฒนาของบุคลากรในระบบสุขภาพและระบบการศึกษา
ประชากรและกลุ่มตัวอย่าง
ประชากรที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ คือ บุคลากรในระบบสุขภาพที่ปฏิบัติงานในโรงพยาบาล และบุคลากรในระบบการศึกษาที่ปฏิบัติงานในโรงเรียน ทั่วประเทศไทย
กลุ่มตัวอย่างได้จากการสุ่มแบบหลายขั้นตอน (Multistage sampling) โดยจำแนกภูมิภาคของประเทศไทยออกเป็น 5 ภูมิภาค ได้แก่ ภาคกลาง ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคใต้ และกรุงเทพมหานคร และสุ่มจังหวัดในแต่ละภูมิภาค โดยกำหนดภูมิภาคละ 2 จังหวัด ยกเว้นกรุงเทพมหานคร โดยแต่ละภูมิภาคกำหนดให้เก็บข้อมูลในโรงพยาบาล 5 แห่ง และโรงเรียน 5 แห่ง ใช้การสุ่มโรงพยาบาลและโรงเรียนตามความเหมาะสม (Convenient sampling) รวมเก็บข้อมูลกับโรงพยาบาล จำนวน 25 แห่ง และโรงเรียน 25 แห่ง
ผลที่ได้ในการศึกษาครั้งนี้ คณะผู้วิจัยได้เก็บข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่างในระบบสุขภาพจำนวน 471 คน และในระบบการศึกษาจำนวน 384 คน รวมทั้งสองกลุ่มเป็นจำนวน 855 คนโดยส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง (ร้อยละ 81.7) มีสถานภาพสมรสทั้งโสด (ร้อยละ 48.2) และสมรส (ร้อยละ 47.9) ใกล้เคียงกัน เกือบสามในสี่จบการศึกษาระดับปริญญาตรี (ร้อยละ 72.9) รองลงมาคือจบการศึกษาระดับปริญญาโท (ร้อยละ 19.2) เมื่อพิจารณาถึงประเภทของกลุ่มตัวอย่าง เกือบครึ่งหนึ่งเป็นครูและอาจารย์ในระบบการศึกษา ร้อยละ 44.9 นอกนั้นเป็นบุคลากรในระบบสุขภาพ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพยาบาล ร้อยละ 32.6 นอกจากนี้ กลุ่มตัวอย่างยังครอบคลุมถึง 4 ภูมิภาคทั่วประเทศ ได้แก่ ภาคกลาง (ร้อยละ 41.1) ภาคเหนือ (ร้อยละ 21.6) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (ร้อยละ 21.3) และภาคใต้ (ร้อยละ 16 ) สำหรับอายุของกลุ่มตัวอย่าง โดยเฉลี่ยมีอายุ 37.2 ปี และมีระยะเวลาในการปฏิบัติงานโดยเฉลี่ย 13.6 ปี
กระบวนการวิจัย
ในการวิจัยครั้งนี้ประกอบไปด้วยขั้นตอนทั้งสิ้น 7 ขั้นตอน ดังต่อไปนี้
ขั้นตอนที่ 1 การทบทวนวรรณกรรมที่เกี่ยวข้องกับ จิตวิญญาณและสุขภาวะทาง จิตวิญญาณ จากเอกสารทั้งจากภายในประเทศและต่างประเทศ ประกอบด้วย แนวคิด ทฤษฎี เครื่องมือวัด การพัฒนา และงานวิจัย
ขั้นตอนที่ 2 สังเคราะห์และสรุปความหมาย องค์ประกอบ แนวทางในการประเมิน สุขภาวะทางจิตวิญญาณเพื่อการพัฒนา จากการทบทวนวรรณกรรมที่เกี่ยวข้อง
ขั้นตอนที่ 3 ตรวจสอบความตรงเชิงเนื้อหา (Content validity) โดยผู้ทรงคุณวุฒิพิจารณาทั้งความหมาย องค์ประกอบ และแนวทางการประเมินสุขภาวะทางจิตวิญญาณเพื่อการพัฒนา
ขั้นตอนที่ 4 ปรับปรุงแก้ไข ความหมาย องค์ประกอบ และแนวทางการประเมินสุขภาวะทางจิตวิญญาณเพื่อการพัฒนา หลังจากนั้น จัดทำร่างเครื่องมือวัดสุขภาวะทางจิตวิญญาณเพื่อการพัฒนา จากการทบทวนวรรณกรรมและจากผู้ทรงคุณวุฒิ
ขั้นตอนที่ 5 ทดลองใช้เครื่องมือกับกลุ่มตัวอย่างรวมในระบบสุขภาพและระบบการศึกษาจำนวน 855 คน
ขั้นตอนที่ 6 นำข้อมูลที่ได้จากการทดลองใช้เครื่องมือวัด นำมาวิเคราะห์องค์ประกอบ เชิงสำรวจ (Exploratory Factor Analysis) เพื่อหาองค์ประกอบของจิตวิญญาณเพื่อการพัฒนา
ขั้นตอนที่ 7 หาคุณภาพเครื่องมือวัดจิตวิญญาณเพื่อการพัฒนา โดย
– ค่าอำนาจจำแนกรายข้อ โดยใช้การวิเคราะห์ค่าสหสัมพันธ์คะแนนรายข้อกับคะแนนรวม (Item-total correlation)
– ค่าความเชื่อมั่นของเครื่องมือวัด (Reliability) โดยการหาค่าความเชื่อมั่นแบบความสอดคล้องภายใน (Internal consistency) ด้วยวิธีการหาค่าสัมประสิทธิ์แอลฟ่าของครอนบาค (Cronbach’s Alpha Coefficient)
นอกจากนี้จากการเก็บรวบรวมข้อมูลเพื่อวิเคราะห์ข้างต้น ผู้วิจัยได้วิเคราะห์เกณฑ์ปกติซึ่งแสดงค่าพื้นฐานของคะแนนรวมและคะแนนในแต่ละองค์ประกอบเพื่อประโยชน์ในการใช้เปรียบเทียบเพื่อการพัฒนาเมื่อนำแบบวัดไปใช้ต่อไป
สรุปผลการวิจัย
คณะผู้วิจัยเสนอผลสรุปที่ได้จากกระบวนการวิจัยในแต่ละขั้นตอน ดังต่อไปนี้
1. จากการศึกษางานวิจัยเกี่ยวกับจิตวิญญาณในบริบทต่างๆ รวมทั้งในกลุ่มผู้ทำงานด้านสุขภาพและการศึกษา พบว่า การวิจัยด้านจิตวิญญาณส่วนใหญ่เป็นการวิจัยแบบผสมผสานระหว่างเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ ประกอบด้วย แบบทดสอบเกี่ยวกับจิตวิญญาณ แบบวัดการรับรู้ทางจิตวิญญาณ แบบวัดจิตวิญญาณตามแนวจิตวิทยา แบบวัดจิตวิญญาณในการทำงาน แบบสัมภาษณ์เชิงลึกและแบบบันทึกจากการสังเกตพฤติกรรม วัตถุประสงค์ของการศึกษาวิจัยที่พบคือเพื่อทำการศึกษาความหมาย ลักษณะ ปัจจัยที่ส่งผลต่อการมีจิตวิญญาณและการพัฒนาจิตวิญญาณในการทำงาน รวมถึงผลของจิตวิญญาณต่อผลลัพธ์ของการทำงาน พฤติกรรมการทำงาน ความพึงพอใจในงานและความเป็นอยู่ โดยผลการวิจัยพบว่าจิตวิญญาณหมายถึงความต้องการตามธรรมชาติของบุคคลที่จะมีสุขภาพดี ค้นพบความหมายและเป้าหมายสูงสุดของชีวิต ซึ่งจิตวิญญาณเป็นผลมาจากทั้งปัจจัยภายใน เช่น ความเชื่อทางศาสนา ความมีสติปัญญา ความต้องการของบุคคล รวมทั้งปัจจัยภายนอก เช่น วัฒนธรรม สภาพในชุมชน นโยบายของหน่วยงาน มาตรฐานการทำงาน ลักษณะงานหรืออาชีพและลักษณะหรือภาวะผู้นำของหัวหน้างาน
2. จากการทบทวนวรรณกรรมเกี่ยวกับสุขภาวะทางจิตวิญญาณพบว่า นักวิจัยทั้งในและต่างประเทศต่างก็ได้ให้ความหมายและอธิบายคุณลักษณะของสุขภาวะทางจิตวิญญาณที่แตกต่างกันออกไป และได้รับอิทธิพลจากวัฒนธรรม เช่น ศาสนา และค่านิยมทางสังคมในการตีความหมาย คณะผู้วิจัยตัดสินใจเลือกใช้นิยามของ นงเยาว์ มงคลอิทธิเวชและคณะ (2552) เป็นแนวคิดพื้นฐานที่สำคัญในการสรุปนิยามและองค์ประกอบของสุขภาวะทางจิตวิญญาณที่จะถูกนำมาใช้การพัฒนาเครื่องมือประเมิน ซึ่งประกอบไปด้วยสุขภาวะทางจิตวิญญาณทั้งสิ้น 18 องค์ประกอบหลัก ได้แก่
1) เมตตากรุณา อยากช่วยเหลือ
2) จิตใจอ่อนโยน เข้าใจ เห็นอกเห็นใจคนอื่น
3) เป็นมิตร เป็นกันเอง เข้าถึงได้ง่าย
4) รับผิดชอบ
5) ยืดหยุ่น ปรับตัวง่าย
6) เคารพในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์
7) จัดการ ควบคุมอารมณ์ความรู้สึกของตนเองได้
8) เข้มแข็ง อดทน
9) เสียสละ
10) มุ่งมั่น ทุ่มเท
11) มองโลกในแง่ดี
12) ยอมรับและให้อภัย
13) มีพลังแห่งการเรียนรู้
14) กล้าหาญ
15) คิดสร้างสรรค์ คิดนอกกรอบ
16) อ่อนน้อมถ่อมตน
17) ประสานความแตกต่าง
18) พอเพียง
3. จากสรุปแนวคิดข้างต้น คณะผู้วิจัยได้ออกแบบแนวทางการประเมินสุขภาวะทางจิตวิญญาณไปให้ผู้ทรงคุณวุฒิจำนวน 13 ท่านซึ่งมีความรู้เกี่ยวกับจิตวิญญาณและการประเมิน พิจารณาถึงความเที่ยงตรงเชิงเนื้อหา โดยเครื่องมือประเมินฉบับร่างในขั้นตอนนี้ ประกอบด้วย 2 ส่วนได้แก่ ส่วนแรกเป็นแบบวัดสุขภาวะทางจิตวิญญาณ ซึ่งมีลักษณะเป็นมาตราส่วนประเมินค่า 5 ระดับ จำนวน 126 ข้อ ใช้วัดสุขภาวะทางจิตวิญญาณ 18 องค์ประกอบ ส่วนที่สองเป็นเครื่องมือประเมินมีลักษณะเป็นกรณีศึกษา โดยมีสถานการณ์สมมุติกระตุ้นเร้าให้ผู้ตอบตอบคำถามเพื่อสะท้อนความมีจิตวิญญาณของตนเอง โดยกรณีศึกษาถูกออกแบบมาให้มีเนื้อหาสอดคล้องกับการทำงานในระบบสุขภาพ 3 กรณี และระบบการศึกษา 3 กรณี คณะผู้วิจัยได้รับคำแนะนำและข้อมูลสะท้อนกลับจากผู้ทรงคุณวุฒิเกี่ยวกับแนวทางการประเมินสุขภาวะทางจิตวิญญาณ และแนวทางการปรับปรุงของคณะผู้วิจัยเพื่อเป็นประโยชน์ในการพัฒนาเครื่องมือประเมินสุขภาวะทางจิตวิญญาณ โดยสามารถสรุปได้ดังต่อไปนี้
3.1 เนื่องจากตัวแปรสุขภาวะทางจิตวิญญาณค่อนข้างเป็นอัตวิสัย ลึกซึ้ง เครื่องมือประเมินจึงจำเป็นจะต้องสามารถวัดให้ได้ครอบคลุมลึกซึ้งมากยิ่งขึ้น เพื่อสะท้อน สุขภาวะทางจิตวิญญาณให้ถูกต้องมากที่สุด โดยผู้วิจัยได้ปรับแนวทางการประเมินโดยใช้เครื่องมือประเมินหลายวิธีประกอบกันได้แก่ แบบวัดมาตราส่วนประเมินค่า กรณีศึกษา และเพิ่มแบบสอบถามปลายเปิด โดยมุ่งให้ผู้ตอบได้สะท้อนความเป็นจริงเกี่ยวกับตนเองในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับสุขภาวะทางจิตวิญญาณได้อย่างละเอียดและลึกซึ้งมากยิ่งขึ้น เช่น สถานการณ์ในชีวิตที่สร้างความสุข ปิติอิ่มเอิบใจ และเป้าหมายที่สำคัญหรือสิ่งที่มีคุณค่าในชีวิต เป็นต้น
3.2 นิยามและมิติองค์ประกอบของสุขภาวะทางจิตวิญญาณ อาจจะมีความซ้ำซ้อนและยังแยกจากกันไม่ได้เด็ดขาด อาจจะมีความยากลำบากในการวัดได้ ผู้วิจัยได้ตระหนักถึงข้อจำกัดของความไม่ชัดเจนและไม่มีบทสรุปของคำว่าสุขภาวะทางจิตวิญญาณจากแนวคิดที่มีในประเทศไทยและต่างประเทศ ดังนั้น จึงได้มีการประชุมและเลือกแนวคิดพื้นฐานที่คิดว่าน่าจะมีความเหมาะสมกับบริบทของสังคมไทยมากที่สุดนั่นคือการเลือกแนวคิดที่ได้จากการศึกษาของนงเยาว์ มงคลอิทธิเวชและคณะ (2552) และสำหรับความซ้ำซ้อนของเนื้อหา ผู้วิจัยได้ใช้กระบวนการสร้างเครื่องมือทางจิตวิทยาเป็นหลัก เช่น การวิเคราะห์องค์ประกอบ การหาคุณภาพเครื่องมือ เพื่อช่วยในการปรับปรุงแนวคิดและรายละเอียดของเนื้อหาของเครื่องมือประเมิน รวมทั้งได้ปรับปรุงและเพิ่มข้อความตามเนื้อหาที่ผู้ทรงคุณวุฒิได้แนะนำเพิ่มเติม
3.3 คณะผู้วิจัยได้พิจารณาผลของการประเมินความเที่ยงตรงเชิงเนื้อหา โดยพิจารณาจากค่าดัชนีความสอดคล้อง (IOC) ที่ได้จากการวิเคราะห์การประเมินจากผู้ทรงคุณวุฒิ และความตรงเชิงภาษาของข้อคำถามรายข้อ เพื่อใช้ในการพิจารณาปรับปรุงจำนวนข้อคำถาม เนื้อหา และภาษาที่ใช้ในแบบวัดส่วนที่ 1 ที่มีจำนวน 126 ข้อ ซึ่งหลังจากพิจารณาค่าดัชนีความสอดคล้องและข้อเสนอแนะเพิ่มเติมจากผู้ทรงคุณวุฒิ ได้เพิ่มข้อคำถามเกี่ยวกับประเด็นของเป้าหมายขึ้น และตัดข้อคำถามที่มีค่าดัชนีไม่อยู่ในเกณฑ์ที่ยอมรับได้ และปรับปรุงข้อคำถามจากข้อเสนอแนะ ทั้งนี้แบบวัดฉบับปรับปรุงจึงมีจำนวนเหลือ 74 ข้อ
3.4 สำหรับเครื่องมือประเมินจากการใช้กรณีศึกษาในส่วนที่สอง ผู้ทรงคุณวุฒิให้พิจารณาถึงความยาวของสถานการณ์ เนื้อหาของสถานการณ์ที่เหมาะสมกับวัฒนธรรม การปรับภาษาเพื่อไม่ให้มีการตีความผิด จากข้อมูลดังกล่าวคณะผู้วิจัยได้ปรับลดความยาวของกรณีศึกษาให้กระชับและอยู่บนเงื่อนไขของสถานการณ์ที่เป็นกลาง ลดสถานการณ์เหลือเพียงสถานการณ์เดียวในแต่ละบริบท และเน้นไปที่การสะท้อนความรู้สึกและพฤติกรรมที่มีต่อสถานการณ์นั้น โดยมี 2 ข้อคำถามได้แก่ ความรู้สึกที่มีต่อสถานการณ์ และวิธีปฏิบัติงานเพื่อตอบสนองต่อสถานการณ์นั้น
4. จากการปรับปรุงแนวทางการประเมินตามประเด็นควรพิจารณาของผู้ทรงคุณวุฒิดังกล่าวสามารถสร้างเครื่องมือประเมินสุขภาวะทางจิตวิญญาณที่จะถูกนำไปเก็บข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่างเพื่อให้ได้ข้อมูลเชิงประจักษ์ในบริบทของระบบสุขภาพและการศึกษา เครื่องมือประเมินประกอบไปด้วย 3 ส่วนได้แก่ ส่วนแรกคือแบบวัดสุขภาวะทางจิตวิญญาณ จำนวน 74 ข้อ เพื่อวัดสุขภาวะทางจิตวิญญาณ 18 องค์ประกอบ ส่วนที่สองคือแบบสอบถามปลายเปิดเพื่อให้อธิบายความเป็นจริงเกี่ยวกับตนเองในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับสุขภาวะทางจิตวิญญาณ เช่น สถานการณ์ในชีวิตที่สร้างความสุข ปิติอิ่มเอิบใจ และเป้าหมายที่สำคัญหรือสิ่งที่มีคุณค่าในชีวิต และส่วนที่สามคือกรณีศึกษา โดยที่คณะผู้วิจัยได้นำเครื่องมือประเมินดังกล่าวไปใช้เก็บข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่างจำนวนทั้งสิ้น 855 คน
5. แบบวัดสุขภาวะทางจิตวิญญาณจำนวน 74 ข้อ ถูกนำไปเก็บข้อมูลและนำมาวิเคราะห์องค์ประกอบเชิงสำรวจเพื่อตรวจสอบว่ามีองค์ประกอบที่อยู่ภายใต้ข้อคำถามที่พัฒนาขึ้นอย่างไรบ้าง ผลปรากฏว่ามีองค์ประกอบที่ปรากฏเด่นชัดทั้งหมด 7 องค์ประกอบ และเมื่อตัดข้อคำถามที่ไม่ชัดเจน ซ้ำซ้อน และคัดเฉพาะข้อคำถามที่มีคุณภาพดี วัดในแต่ละองค์ประกอบที่สกัดได้ชัดเจน จะเหลือข้อคำถามทั้งหมด 38 ข้อ ซึ่งองค์ประกอบทั้ง 7 นี้ถือเป็นตัวชี้วัดที่ค้นพบจากข้อมูลเชิงประจักษ์ที่สะท้อนถึงสุขภาวะทางจิตวิญญาณหลังจากเก็บข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่างทั้งระบบสุขภาพและระบบการศึกษา โดยมีรายละเอียดในแต่ละตัวชี้วัด และความหมายของแต่ละองค์ประกอบ ดังต่อไปนี้
องค์ประกอบของสุขภาวะทางจิตวิญญาณ
องค์ประกอบที่ 1 กล้ายืนหยัดทำในสิ่งที่ถูกต้อง (Moral courage)
ความหมาย มีความคิดและการกระทำอยู่บนพื้นฐานของความถูกต้อง แม้ว่าจะแตกต่างจากผู้อื่น และกล้าที่จะยืนหยัดในสิ่งที่เห็นว่าถูกต้อง กล้าที่จะยืนหยัดเพื่อประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าประโยชน์ส่วนตนและพรรคพวก กล้าที่จะตัดสินใจตามอุดมการณ์ หรือเป้าหมายในชีวิตของตนเอง มีความคิดในแง่บวกและรู้จักปรับเปลี่ยนมุมมองความคิดเพื่อให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ จึงสามารถเผชิญปัญหาได้ในทุกปัญหา สามารถใช้ข้อผิดพลาดเป็นแรงผลักดันในการทำงานให้ดียิ่งขึ้น
องค์ประกอบที่ 2 เมตตากรุณา (Loving kindness and compassion)
ความหมาย ความสามารถในการมองเห็นความทุกข์ของผู้อื่น แม้ว่าเขาจะไม่ได้แสดงออกมาอย่างชัดเจน รู้สึกร่วมทุกข์และให้ความสำคัญกับความทุกข์ของผู้อื่นไม่ว่าจะเป็นเรื่องใหญ่หรือเรื่องเล็กน้อย มีความรู้สึกอยากช่วยเหลือให้ผู้อื่นมีความสุขมากขึ้น เมื่อต้องเกี่ยวข้องกับผู้อื่นก็มักจะนำใจเขามาใส่ใจเรา ยินดีที่จะเสียสละเพื่อให้ผู้อื่นพ้นทุกข์และประสบกับความสุข
องค์ประกอบที่ 3 มีเป้าหมายและพอเพียง (Goal and sufficiency)
ความหมาย มีเป้าหมายเป็นแนวทางในการดำเนินชีวิตที่ชัดเจน ใช้ชีวิตประจำวันอย่างมีสติ มีเหตุมีผล รู้จักที่จะแบ่งปันให้กับผู้อื่น รู้จักความพอเพียงในชีวิตและพึงพอใจกับชีวิตที่เป็นอยู่
องค์ประกอบที่ 4 ให้ความสำคัญกับความเป็นมนุษย์ (Humanism)
ความหมาย มีความคิดและความเชื่อในคุณค่าและศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์ ตระหนักว่ามนุษย์ทุกคนมีความเท่าเทียมกัน มีสิทธิ์ที่จะได้รับความช่วยเหลือหรือได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกัน
องค์ประกอบที่ 5 อ่อนน้อมถ่อมตน (Humility)
ความหมาย การไม่โอ้อวดทะนงตนในความรู้ หรือความสามารถของตนเอง รู้จักมีสัมมาคารวะ มีความอ่อนน้อมถ่อมตนและยอมรับความคิดเห็นหรือคำแนะนำที่เป็นประโยชน์จากผู้อื่น แม้ว่าจะขัดแย้งกับความคิดของตนเองก็ตาม
องค์ประกอบที่ 6 ให้อภัย (Forgiveness)
ความหมาย สามารถให้อภัยต่อความผิดของผู้อื่นสามารถแสดงพฤติกรรมทางบวกต่อคนที่ทำไม่ดีกับตนเอง การมีความตั้งใจที่จะทำดีกับผู้อื่น ไม่ว่าผู้นั้นจะเป็นมิตรหรือศัตรู
องค์ประกอบที่ 7 มีความเป็นมิตร (Friendliness)
ความหมาย มีความเป็นมิตรต่อผู้อื่น มีความเป็นกันเอง สามารถพูดคุยและเข้ากับคนได้ทุกระดับ
6. เมื่อพิจารณาคุณภาพของแบบวัดสุขภาวะทางจิตวิญญาณ พบว่าค่าสหสัมพันธ์ระหว่างคะแนนรายข้อกับคะแนนรวมของข้อคำถามแต่ละข้ออยู่ระหว่าง .63 – .89 ค่าสหสัมพันธ์ระหว่างคะแนนรายข้อกับคะแนนรวมที่ไม่รวมคะแนนข้อคำถามข้อนั้น (Corrected Item-Total Correlation) อยู่ระหว่าง .52 – .80 ซึ่งทุกค่าสหสัมพันธ์มีค่าบวกและมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 แสดงว่าข้อคำถาม 38 ข้อในแบบวัดสุขภาวะทางจิตวิญญาณมีอำนาจจำแนกที่ดี สามารถแยกบุคลากรที่มีสุขภาวะทางจิตวิญญาณสูงและต่ำออกจากกันได้ เมื่อพิจารณาค่าความเชื่อมั่นแบบความสอดคล้องภายใน (Internal Consistency) ค่าสัมประสิทธิ์แอลฟ่าของครอนบาค (Cronbach’s alpha coefficiency) ของทุกองค์ประกอบอยู่ระหว่าง .82 – .89 และเมื่อรวมคะแนนทุกข้อคำถามจากทุกองค์ประกอบ ความเชื่อมั่นของแบบวัดสุขภาวะทางจิตวิญญาณทั้งฉบับจะเท่ากับ .94 แสดงว่าแบบวัดสุขภาวะทางจิตวิญญาณทั้งแต่ละด้านย่อยหรือรวมทุกด้านมีความเชื่อมั่นอยู่ในระดับเกณฑ์ที่ดี
7. คณะผู้วิจัยได้นำข้อมูลแบบวัดสุขภาวะทางจิตวิญญาณที่เก็บได้จากกลุ่มตัวอย่างมาวิเคราะห์เกณฑ์ปกติโดยนำเสนอคะแนน และคะแนนมาตรฐาน โดยเทียบกับค่าคะแนนเปอร์เซ็นไทล์ ของผู้ตอบ โดยใช้ช่วงคะแนนปกติ คือ ระหว่าง 25 – 75 เปอร์เซ็นไทล์ ดังนั้นถ้าผู้ตอบคนใดที่ได้คะแนนตกอยู่ในช่วงที่ต่ำกว่าปกติ ควรให้ความสนใจและพัฒนาสุขภาวะทางจิตวิญญาณด้านนั้น ด้วยเหตุนี้ แบบวัดสุขภาวะทางจิตวิญญาณที่พัฒนาขึ้นนี้จึงสามารถใช้เป็นเครื่องมือคัดกรองคนที่มีระดับสุขภาวะทางจิตวิญญาณที่ควรพัฒนาให้มาเข้ารับการฝึกอบรมหรือพัฒนาได้
8. จากกระบวนการวิจัยและพัฒนาเครื่องมือประเมินสุขภาวะทางจิตวิญญาณดังกล่าว ท้ายที่สุดคณะผู้วิจัยสามารถสร้างคู่มือประเมินสุขภาวะทางจิตวิญญาณเพื่อการพัฒนา โดยประกอบด้วยเครื่องมือประเมินสุขภาวะทางจิตวิญญาณที่ผ่านการหาคุณภาพทางวิชาการแล้ว 3 ส่วนได้แก่
1) แบบวัดสุขภาวะทางจิตวิญญาณ ซึ่งเป็นแบบประเมินค่ามาตราส่วน โดยให้ผู้ถูกประเมินตอบข้อคำถามทั้งสิ้น 38 ข้อ ที่สะท้อนถึงสุขภาวะทางจิตวิญญาณใน 7 องค์ประกอบได้แก่ การกล้ายืนหยัดทำในสิ่งที่ถูกต้อง เมตตากรุณา มีเป้าหมายและพอเพียง ให้ความสำคัญกับความเป็นมนุษย์ อ่อนน้อมถ่อมตน ให้อภัย และมีความเป็นมิตร โดยให้ผู้ตอบเลือกที่ตรงกับตัวผู้ตอบมากที่สุด จากมาตราส่วน 5 ระดับจาก ไม่ใช่ตัวท่านมากที่สุด ไม่ใช่ตัวท่านมากนัก เป็นตัวท่านปานกลาง เป็นตัวท่านมาก เป็นตัวท่านมากที่สุด เมื่อตอบเสร็จสามารถคิดคะแนนแต่ละองค์ประกอบ โดยนำคะแนนแต่ละข้อมารวมกันจะได้คะแนนที่สะท้อนถึงการมีสุขภาวะทางจิตวิญญาณในด้านนั้น
ทั้งนี้คณะผู้วิจัยได้ออกแบบวิธีการรายงานผลโดยได้สร้างแบบบันทึกชุดคะแนนสุขภาวะทางจิตวิญญาณแต่ละด้าน (Spiritual Health Profile) รวมทั้งกราฟที่แสดงคะแนนแต่ละด้าน ทั้งกราฟที่แสดงเป็นค่ามาตรฐานที เพื่อให้ผู้ประเมินเห็นภาพชัดเจนว่าสุขภาวะทางจิตวิญญาณของตนนั้นด้านใดที่น้อย ด้านใดที่มาก และกราฟที่แสดงคะแนนดิบที่รวมจากคะแนนแต่ละข้อและช่วงคะแนนปกติ เพื่อให้ผู้ประเมินสามารถเห็นได้ชัดเจนว่าคะแนนในแต่ละด้านของตนนั้นอยู่ในช่วงคะแนนปกติหรือไม่
2) แบบสอบถามปลายเปิด ที่มุ่งให้ผู้ตอบได้สะท้อนความเป็นจริงเกี่ยวกับตนเองในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับสุขภาวะทางจิตวิญญาณ เช่น ความสุข ความปีติ ความอิ่มเอิบใจ สิ่งที่มีคุณค่า และเป้าหมายในชีวิต โดยในส่วนนี้ ประกอบด้วย ข้อคำถามหลัก 2 ข้อ ได้แก่ ให้ท่านเล่าเรื่องหรือสถานการณ์ที่ทำให้ท่านมีความสุข ความรู้สึกปีติอิ่มเอิบใจ และบรรยายเหตุผลประกอบ ให้ท่านเล่าเรื่องราวต่อไปนี้ สิ่งที่มีค่า/มีความหมายในชีวิต/เป้าหมายสูงสุดในชีวิตของท่านคืออะไร ท่านมีแนวทางดำเนินชีวิตไปสู่สิ่งที่มีค่า/มีความหมายในชีวิต/เป้าหมายสูงสุดในชีวิตของท่านอย่างไร และท่านได้ดำเนินชีวิตไปตามสิ่งที่มีค่า/มีความหมายในชีวิต/เป้าหมายสูงสุดในชีวิตของท่านหรือไม่ อย่างไร
3) กรณีศึกษาทั้งบริบทในระบบสุขภาพและบริบททางการศึกษา บริบทละหนึ่งสถานการณ์ โดยมีข้อคำถาม 2 ข้อได้แก่ ท่านรู้สึกอย่างไรกับสถานการณ์ข้างต้น และ ท่านมีวิธีปฏิบัติงานเพื่อตอบสนองต่อสถานการณ์ข้างต้นอย่างไร
เครื่องมือประเมินสุขภาวะทางจิตวิญญาณที่สร้างขึ้นมาจากจากการศึกษาวิจัยในครั้งนี้ สามารถนำไปใช้สำหรับนักวิชาการ นักวิจัย และนักพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อประเมินที่สะท้อนถึงสุขภาวะทางจิตวิญญาณ โดยมีพื้นฐานเพื่อการพัฒนาเป็นหลัก ผู้ถูกประเมินจะได้เห็นแนวโน้มของจุดอ่อนที่ควรพัฒนาและจุดแข็งของตนเองที่สะท้อนจากเครื่องมือประเมิน