ประเทศไทยไม่ควรปฏิรูปการศึกษาตามต่างประเทศ เราควรปฏิรูปการศึกษาเพื่อวิ่งแซงไปยืนรอต่างประเทศ นั่นคือสร้างเด็กให้มี skill ที่ดี เด็กจะเรียนรู้ได้เองตลอดชีวิต ทักษะที่ดีคือ learning skill,life skill,IT skill สามอย่างนี้เคียงคู่ไปด้วยกัน ไม่แยกการศึกษาออกจากชีวิตอีก เติมเต็มด้วยทักษะการสื่อสารสมัยใหม่ เด็กไทยจึงจะก้าวทันโลกโดยมีทักษะชีวิตที่ดีด้วย
ทำได้เมื่อครูสอนให้น้อยลง ครูเปลี่ยนจากผู้สอนเป็นผู้ออกแบบกระบวนการ PBL คือProblem Based Learning เปลี่ยนห้องเรียนที่มีกระดานดำเป็น learning studio คือลานเรียนรู้ซึ่งประกอบด้วยส่วนค้นคว้า ส่วนประชุมถกเถียง ส่วนลงมือปฏิบัติ และส่วนสันทนาการ เปลี่ยนการบอกคำตอบตายตัวเป็นให้เด็กมีทักษะหาคำตอบดังที่ว่า “กระบวนการหาคำตอบสำคัญกว่าตัวคำตอบ” เปลี่ยนการสอบเพื่อชี้ได้ตกเป็น formative assessment คือประเมินเพื่อพัฒนาการ ครูที่ดีจะบอกข้อสอบล่วงหน้า ให้สอบเป็นทีม และสามารถเปิดตำราหรือค้นคว้าผ่านอินเทอร์เน็ตหรือสมาร์ทโฟนตามสบาย ทั้งหมดนี้คือการเรียนรู้ตามที่ชีวิตเป็นอยู่จริง
ครูไม่จำเป็นต้องเก่งหรือรู้มากกว่านักเรียนอีกต่อไป ครูและนักเรียนเรียนรู้ร่วมกันในการออกแบบPBL ครูควรได้พูดคุยกับครูด้วยกันทุกวันในเรื่องพัฒนาการของเด็กๆ คือรู้จักการทำAfter Action Review(AAR) ที่ดี วงครูที่พูดคุยกันทุกวันคือ PLC หรือ Professional Learning Community แปลว่าชุมชนการเรียนรู้มืออาชีพ ของอาชีพครูนั่นเอง จะเป็นเครื่องมือพัฒนาจิต พัฒนาคน พัฒนางาน
หากยังมีอะไรที่เรียกว่าวิชา มี 7 วิชาเท่านั้นที่เด็กควรเรียนคือ สามวิชาแรกคือ คณิตศาสตร์ การอ่าน และการเขียน และ อีกสี่วิชาคือ Health,Environment,EconomicsและCivic Education วิชามากมายที่เราคุ้นเคยไม่ว่าจะเป็นวิทยาศาสตร์ สังคมศึกษา หลักภาษาไทย หรืออื่นใดล้วนบูรณาการเข้าสู่ PBL ที่ตอบโจทย์ 7 วิชานี้
เด็กควรเรียนรู้การดูแลสุขภาวะของตนเองอย่างชาญฉลาดท่ามกลางกระแสการแพทย์พาณิชย์และความจำเป็นเทียมทางสุขภาพ รู้จักเฝ้าดูและรับมือความผันผวนของสิ่งแวดล้อมที่กำลังแปรเปลี่ยนครั้งใหญ่ตามภาวะโลกร้อน เรียนรู้เศรษฐศาสตร์ส่วนตัวและส่วนรวมและโลกาภิวัตน์ สำคัญมากคือเรียนรู้ความเป็นพลเมือง ประชาธิปไตย และการอยู่ร่วมกับความแตกต่าง โลกในศตวรรษที่ 21 เป็นโลกที่ชาติพันธุ์และความเห็นต่างจะผุดขึ้นมากมายตามยุคข้อมูลข่าวสารที่ทั้งมากมายทั้งรวดเร็ว การปั้นเด็กเก่งที่ไม่มีความสามารถอยู่ร่วมกับความเห็นต่างเท่ากับส่งเด็กไปตาย
ทั้งหมดนี้คือกระบวนทัศน์ใหม่ของงานปฏิรูปการศึกษา