เมื่อสมองหยุดทำงานและได้รับอนุญาตให้โลดแล่นไปในทิศทางใดก็ได้ ทางวิทยาศาสตร์เรียกสภาวะนี้ว่า Resting state ซึ่งก็คือการปล่อยความคิดให้เป็นอิสระ
ในช่วงปี 1990 นักประสาทวิทยาเริ่มเจาะลึกเกี่ยวกับเรื่องนี้มากขึ้นและพบว่ามันมีประโยชน์มากต่อการเรียนรู้ของเด็กและการพัฒนาสมอง ทั้งนี้ เราสามารถปล่อยความคิดให้เป็นอิสระได้โดยการใช้เวลาว่างให้เปล่าประโยชน์ ฟังดูน่าตกใจแต่การปล่อยเวลาผ่านไปนั้นช่วยให้สมองได้พัก ปรับสภาพ และฟื้นฟูตัวเองได้เป็นอย่างดี และมันก็มีรูปแบบที่สร้างสรรค์ เช่น การเล่น การทำงานอดิเรก และกิจกรรมต่างๆ ที่ทำให้ผ่อนคลายจากการทำงานหรือการรับเข้าข้อมูล
เปรียบประหนึ่งคอมพิวเตอร์ที่จะทำงานช้าลงหรือล้มเหลวเมื่อเราเปิดโปรแกรมพร้อมๆ กันมากเกินไป ถ้าหากสมองทำงานจนล้นมือก็จะเกิดเป็นความแออัดของข้อมูลที่แทรกแซงการเชื่อมต่อประสาทของสมอง ดังนั้น สมองจำเป็นต้องหยุดทำงานเพื่อประมวลผลและจัดเรียงข้อมูลก่อน
แนวคิดนี้ได้รับการสนับสนุนจากผลการวิจัยจากมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย ซึ่งร่วมมือกับโรงเรียนต่างๆ ในการทดลองใช้หลักสูตรการเล่นที่ไม่มีโครงสร้างสำหรับนักเรียนอายุ 4-13 ปี นักวิจัยต้องการรู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น ถ้าหากโรงเรียนให้เด็กเล่นแทนการเรียนรู้อย่างเข้มข้นช่วงระยะเวลาหนึ่งในหลักสูตร ผลปรากฏว่านักเรียนมีความตั้งใจและความเข้าใจในบทเรียนต่างๆ มากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด