โรงเรียนบ้านจันทร์ อ.กัลยานิวัฒนา จ.เชียงใหม่จากพื้นที่รกร้างไม่เกิดประโยชน์โรงเรียน สภาพโรงเรียนทำให้เด็กไม่อยากมาโรงเรียน ครูละเลยไม่เอาใจใส่เด็ก ต่างคนต่างอยู่ไม่พัฒนาตนเอง เด็กจำนวนมากอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ ผู้ปกครองไม่ศรัทธาครูและโรงเรียน ครอบครัวขาดความอบอุ่น
วันหนึ่ง ผอ.บอกกับครูว่า เราต้องปฏิวัติโรงเรียนเป็นทางที่เราจะรอด การศึกษาต้องเรียกคืนความเป็นมนุษย์ แต่ก่อนที่จะขอความช่วยเหลือจากผู้อื่นที่ไกลตัว เราต้องขอความช่วยเหลือจากคนใกล้ตัวและช่วยตัวเองก่อน ถึงจะมีคนอยากให้ความช่วยเหลือเรา โดยประชุมครูสะท้อนความจริงจากนั้นประชุมผู้ปกครองชี้แจงเป้าหมายและลงมือทำ จนเห็นการเปลี่ยนแปลงในทุกๆ ด้านที่เคยเป็นปัญหา
สมจิต ตาคำแสง ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านจันทร์ อ.กัลยานิวัฒนา จ.เชียงใหม่ กล่าวว่า
“นักเรียนเป็นชาวเขา ใช่ภาษาถิ่น การสื่อสารระหว่างผู้ปกครองเป็นอุปสรรค์ต่อการพัฒนา บวกกับโรงเรียนห่างไกลจากตัวเมืองต้องใช้เวลาเดินทางกว่า 4 ชั่วโมง ในการปฏิรูปโรงเรียนเรามีแนวคิดว่าต้องช่วยเหลือตัวเองเต็มศักยภาพก่อนที่จะขอความช่วยเหลือคนอื่น สิ่งที่ต้องการที่สุด คือ กำลังสติปัญญาของครูในโรงเรียนที่จะเข้ามาร่วมมือ ความคาดหวังผลด้านวิชาการคงจะเป็นไปได้ยากสำหรับเด็กบนดอย ตอนนั้นเราคาดหวังให้เด็กอ่านออกเขียนได้ แต่ต้องมีทักษะชีวิตที่ดีก่อน โดยเริ่มจากปากท้องการกินดี ที่บ้านเด็กลำบาก มาโรงเรียนแล้วยังลำบากหรือนี่เป็นคำถามว่ามันเป็นความทุกข์ซ้ำเติมให้กับเด็ก การเริ่มตั้งแต่ให้เด็กกินดี อาจจะเป็นการเริ่มพัฒนาโรงเรียนที่ไม่เหมือนโรงเรียนอื่นที่พัฒนาด้านวิชาการ
เด็กเหล่านี้ชีวิตไม่ห่างกับการเกษตรเลย แต่ตอนแรกสิ่งที่ผู้ปกครองเด็กสะท้อนถึงโรงเรียนก็คือ เขาไม่ต้องการให้โรงเรียนสอนลูกเขาทำเกษตรคิดว่าสิ่งที่ครูเริ่มจับเสียมจอบไม่ใช่แนวทางจึงไม่สนับสนุน พอเด็กบ้านจันทร์ที่เรียนจบในเมืองแล้วกลับมาที่บ้าน ปรากฏว่าเป็นเด็กหัวปานกลางไม่มีที่ไหนรับทำงานก็กลับมาอยู่บ้าน จับจอบจับเสียมไม่เป็น ผู้ปกครองเริ่มตระหนักว่าเรียนแบบนั้นมันไม่ใช่ชีวิตจริง เราต้องเริ่มต้นพัฒนาด้วยการสร้างทักษะชีวิตให้เด็กก่อน เมื่อโรงเรียนทำให้เขาเห็น เด็กก็เอาไปทำที่บ้าน ตอนนี้เราขยายพันธุ์พืชร่วมกับเด็กและแจกชาวบ้านด้วย เมื่อเด็กอิ่มท้องเราก็เริ่มพัฒนาด้านวิชาการ เราเรียนรู้ว่าแต่ละโรงเรียนเริ่มการพัฒนาที่ไม่เหมือนกันและต้องเริ่มด้วยตัวของเราเอง”