นักเรียนของเราเรียนรู้อย่างไร? ความสามารถในการเก็บรักษาและเรียกคืนข้อมูลเป็นหัวใจสำคัญในการพัฒนาความจำความรู้ และการเรียนรู้ แต่นักเรียนของเรารู้วิธีการที่จะสร้างผลลัพธ์เหล่านั้นหรือไม่?
ในปี 2013 นักวิจัยจากมหาวิทยาลัย Kent State มหาวิทยาลัย Duke มหาวิทยาลัย Wisconsin และมหาวิทยาลัย Virginia ได้ตีพิมพ์บทวิจารณ์จากการค้นคว้างานวิจัยกว่า 100 ชิ้นเพื่อค้นหาว่ากลยุทธ์ใดที่นำไปสู่การเรียนรู้ในระยะยาวได้ดีที่สุด ข้อค้นพบที่สำคัญคือ 2 เทคนิคที่ได้รับการจัดอันดับว่ามีประสิทธิภาพต่อการสร้างความจำระยะยาวมากที่สุด
- “การสอบภาคปฏิบัติ” วิธีนี้ทำให้นักเรียนต้องสร้างคำตอบโดยประมวลเอาเอกสาร ข้อสอบเก่า เรียงความ ฯลฯ มาใช้ตอบ จึงเป็นเทคนิคที่ได้รับการยอมรับว่ามีประสิทธิภาพมากที่สุด และ “การฝึกฝนแบบประจาย” คือการฝึกปฏิบัติแบบเล็กๆ น้อยๆ แต่บ่อยครั้ง แทนการระดมฝึกมากๆ ในครั้งเดียว เพราะโดยพื้นฐานแล้วนักเรียนจะจำได้มากขึ้น หากพวกเขากระจายการเรียนรู้ออกไป เช่น ให้นักเรียนฝึกทำแบบฝึกหัดในบทเรียน 1 ชั่วโมงต่อวัน เป็นเวลา 8 วัน มีประสิทธิภาพมากกว่าการให้นักเรียนทำแบบฝึกหัด 8 ชั่วโมงภายในหนึ่งวัน เป็นต้น
- เทคนิคที่มีประสิทธิภาพพอใช้ได้สำหรับการสร้างความจำระยะยาว คือ “การซักถามอย่างละเอียด” เช่น ถามว่า “เหตุใดจึงเป็นความจริง?” หรือ “เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น?” จะช่วยให้นักเรียนคิดถึงเนื้อหา และเชื่อมต่อข้อมูลที่ได้รับก่อนหน้านี้ และ “การเรียนแบบสอดแทรก” คือการสอนและถามคำถามอย่างบูรณาการที่ช่วยให้นักเรียนผสมผสานปัญหาหรือหัวข้อที่แตกต่างกัน เพื่อหาคำตอบ วิธีการนี้ทำให้นักเรียนสดชื่นและช่วยให้นักเรียนสามารถระบุความคล้ายและความต่างระหว่างเนื้อหาที่กำลังศึกษาได้ง่ายขึ้น
ส่วน 2 เทคนิคที่พบว่าไร้ประโยชน์มากที่สุดต่อการสร้างการเรียนรู้ระยะยาวก็คือ
“การไฮไลท์หรือขีดเส้นใต้” แม้ว่าจะเป็นอาวุธยอดนิยมที่นักเรียนหลายคนเลือกใช้ แต่หารู้ไม่ว่ายิ่งเน้นสีก็ยิ่งทำให้สมองเลือกจำสีมากกว่าเนื้อหาที่ไฮไลท์
“การอ่านซ้ำ” แม้นักเรียนอาจรู้สึกว่าพวกเขาได้เรียนรู้จากการอ่านซ้ำไปมา แต่มันไม่ได้เป็นประโยชน์เท่าที่พวกเขาคิด เนื่องจากการอ่านซ้ำหลายๆ ครั้ง ทำให้พวกเขาไม่จำเป็นต้องคิดอย่างลึกซึ้ง เกี่ยวกับสิ่งที่พวกเขากำลังมองหา