Sue Cowley ใช้เวลาตลอดชีวิตในเส้นทางการศึกษา เธอถูกอบรมเพื่อเป็นครู สอนวิชาภาษาอังกฤษและละครในโรงเรียนมัธยม ทำงานในโรงเรียนต่างประเทศ ผ่านการอบรมจนเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการพฤติกรรม และเธอเขียนหนังสือมากกว่า 25 เรื่องสำหรับครูและผู้ปกครอง
แต่เมื่อ 3 ปีก่อน เธอเดินออกจากเส้นทางนี้ ด้วยผิดหวังกับการเปลี่ยนระบบการศึกษาในอังกฤษ เธอพาลูก 2 คนของเธอออกเดินทางไปทั่วยุโรปและจีน แผนการเดินทางถูกวางตามความสนใจของเด็กๆ ไม่ว่าจะเป็นพิพิธภัณฑ์ Berlin’s für Naturkunde ที่เกี่ยวกับไดโนเสาร์ ภูเขาไฟ Vesuvius หมีแพนด้ายักษ์ที่สวนสัตว์ปักกิ่ง และ Leonardo da Vinci ในมิลาน
ผลลัพธ์ที่ได้ตลอด 6 เดือน ถูกบันทึกไว้ในหนังสือ Road School ซึ่งอธิบายการผจญภัยของครอบครัว และนำเสนอแนวทางปฏิบัติสำหรับผู้ปกครองในการก้าวออกจากระบบการศึกษาหลัก ปัจจุบันจำนวนเด็ก Home School ในอังกฤษเพิ่มขึ้น 65% จากปี 2009 ถึงปี 2015 ซึ่งบางส่วนในครอบครัวเหล่านี้ เลือกแนวทาง “ed-venture” โดยการสอนลูกๆ ด้วยการเดินทาง “การเรียนรู้ไม่ได้เกิดขึ้นแค่ในโรงเรียน” Cowley กล่าว
“วันหยุดไม่ได้เลวร้ายเสมอไป แม้ตลอดระยะเวลา 6 เดือน ลูกของฉันจะไม่ได้นั่งในห้องแล้วเรียนอย่างเป็นทางการ ก็ไม่ได้แปลว่าพวกเขาหยุดการเรียนรู้”
การเรียนด้วยการเดินทางมีกฎอยู่ว่าพวกเขาจะต้องเคลื่อนที่อยู่ตลอดเวลา มองหาสิ่งที่สนใจ เขียนบันทึกในสมุดการเดินทาง และเมื่อกฎข้อใดเริ่มตายตัว ให้หาทางทำลายมันซะ ความรู้ระหว่างการเดินทางนั้นเกิดขึ้นแบบบูรณาการ เช่น เด็กๆ เรียนภาษาอังกฤษจากการเขียนจดหมาย เรียนคณิตศาสตร์ผ่านการคำนวณและวางแผนแลกเปลี่ยนสกุลเงินของแต่ละประเทศ ส่วนการเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์หรือสถานที่ต่างๆ ก็ได้ทั้งศิลปะ ประวัติศาสตร์ ภูมิศาสตร์ ฯลฯ สิ่งสำคัญที่สุดที่พ่อแม่ต้องทำเมื่อนำลูกสู่การศึกษาเส้นทางนี้ก็คือการวางแผนให้เด็กๆ สามารถปรับตัวเข้ากับสังคมปกติได้หลังจบการเดินทาง