ทฤษฎีเซลล์กระจกเงา กับการเรียนรู้

ทฤษฎีการพัฒนามนุษย์ คำว่า “พัฒนา” หมายถึงการพัฒนาทั้งในเรื่องของสติปัญญา อารมณ์ บุคลิกภาพ คุณธรรม ในความหมายของทฤษฎีนี้ยกเว้นการพัฒนาทางด้านความแข็งแรงของร่างกายและมีทฤษฎีที่เกี่ยวข้องที่สำคัญคือ ทฤษฎีการเรียนรู้ทางสังคม เป็นทฤษฎีของ อัลเบิร์ต บันดูรา ที่เกิดขึ้นในประมาณยุค 70 ทฤษฎีนี้บอกว่าเด็กจะเลียนแบบสิ่งที่ดีและไม่ดีทั้งหลายจากผู้ใหญ่ แต่มีปัญหาว่าทฤษฎีข้างต้นไม่สามารถอธิบายกลไกที่เกิดอยู่ข้างในได้ว่าเกิดอย่างไร

ในระยะเวลาที่ไม่นานนี้นักจิตวิทยากลุ่มหนึ่งได้เผยแพร่แนวคิดเกี่ยวกับการเรียนรู้ใหม่อีกแนวคิดหนึ่ง นั่นก็คือ “ทฤษฎี constructivist” ทฤษฎีนี้ได้รับความสนใจนำมาใช้จัดการศึกษามากขึ้นตัวอย่างการสร้างความรู้ตามแนว constructivist รากฐานทางจิตวิทยา ของ constructivist คือ ทฤษฎีของ Piaget มีความคิดว่า “มนุษย์เรียนรู้โดยกระบวนการปรับตัวให้เข้ากับสิ่งแวดล้อม” ซึ่งประกอบด้วยกลไกพี้นฐาน 2 อย่างคือ การดูดซึมเข้าสู่โครงสร้างและการปรับโครงสร้าง ในกรณีที่ผู้เรียนประสบปัญหาที่ต้องแก้การดูดซึมเข้าสู่โครงสร้างก็คือความสามารถในการตีความปัญหาหรือจัดปัญหาให้อยู่ในรูปแบบที่สามารถแก้ได้ด้วยมโนทัศน์หรือวิธีการเดิมที่มีอยู่ ส่วนการปรับโครงสร้างก็คือความสามารถในการหาวิธีใหม่หรือคำอธิบายใหม่มาแก้หรือตีความปัญหา เมื่อวิธีเดิมหรือมโนทัศน์เดิมที่มีอยู่ไม่สามารถแก้ปัญหาที่ประสบอยู่ได้

มามองในมุมการเรียนรู้ของเด็ก เปียเจต์อธิบายว่า “เมื่อเด็กมีการปฏิสัมพันธ์การสื่อสารระหว่างกันและการทำงานร่วมกันมีประสบการณ์กับสิ่งแวดล้อมรอบ ๆ ตัวเด็กจะเริ่มเรียนรู้ เข้าใจและความเข้าใจ ส่วนนี้จะพัฒนาสะสมตามพัฒนาการของเด็ก” ต่อมาลูกศิษย์ของเปียเจต์ ชื่อว่า ซีมัวร์ พาร์เพิร์ท จึงสร้าง “สิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการพัฒนาที่สมบูรณ์” โดยเขาอธิบายว่าถ้าเด็กอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่อุดมสมบูรณ์ ที่เอื้ออำนวยต่อการเรียนรู้ เด็กคนนั้นจะเรียนรู้ได้ดี จะมีการพัฒนาการทางด้านสังคม จิตใจ แล้วก็สติปัญญาได้ดี โดยสรุปการเรียนรู้ของมนุษย์ คือ

1.การเรียนรู้ของมนุษย์เป็นการสร้างขึ้นมาเอง และก็ขึ้นอยู่กับว่าเราสร้างสิ่งแวดล้อมการสร้างความรู้กับเด็กได้อย่างไร

2.การเรียนรู้ของมนุษย์ เป็นกระบวนการลอกเลียนแบบ นำมาสู่เรื่องของการชื่นชมถูกใจแล้วค่อย ๆ สร้างบุคลิกภาพ ให้เป็นตัวของตัวเองขึ้นมา

“ทฤษฎีเซลล์กระจกเงา” มาจากการค้นพบ “เซลล์กระจกเงา (Mirror Neuron) คือการเชื่อมโยงทฤษฎีทางสมองกับการเสริมสร้างพัฒนาการของเด็กไทย นักวิทยาศาสตร์กลุ่มหนึ่งในประเทศอิตาลีผู้ค้นพบทฤษฎีนี้ ได้อธิบายไว้ว่าเซลล์กระจกเงาเป็นเซลล์ชนิดหนึ่งในสมองของมนุษย์ที่ทำหน้าที่เลียนแบบพฤติกรรมต่าง ๆ ของผู้อื่นมาเป็นพฤติกรรมของตนเอง ซึ่งการค้นพบในครั้งนี้ได้ก่อให้เกิดการค้นคว้าวิจัยบทบาทและหน้าที่ของเซลล์ชนิดนี้อย่างกว้างขวาง ทั้งในวงการวิทยาศาสตร์ การแพทย์ การศึกษา จิตวิทยาและสังคมวิทยา ก่อให้เกิดความรู้ใหม่ ๆ เกี่ยวกับการเรียนรู้ การพัฒนาตนเองของมนุษย์อย่างมากมาย อาทิเช่นพฤติกรรมของเด็กและเยาวชนเป็นผลมาจากเซลล์กระจกเงาไปลอกเลียนแบบพฤติกรรมตัวอย่างที่ได้พบเห็นในสังคม พัฒนาการทางด้านภาษาของเด็กเล็ก ๆ เป็นผลมาจากการทำงานของเซลล์กระจกเงา ทำให้เด็กสามารถเข้าใจเจตนาที่ซ่อนอยู่ภายใต้คำพูดของผู้พูดได้ การเข้าใจจิตใจผู้อื่นได้ดีเป็นผลมาจากการที่เซลล์กระจกเงา ทำหน้าที่อ่านใจบุคคลผู้นั้น เป็นต้น

หน้าที่ของเซลล์ชนิดนี้ หากพูดสั้น ๆ ก็คือ “การลอกเลียนแบบ” พฤติกรรมของคนอื่นที่ได้พบเห็นเอามาเป็นพฤติกรรมของตัวเอง เรียกได้ว่าเห็นอะไรมาก็ลอกเลียนแบบเลยหนังสือ Scientific American Mind ได้สรุปหน้าที่ของเซลล์นี้เป็นประโยคสั้น ๆ ว่า “Human see, Human do” แปลเป็นภาษาไทยได้ว่า “คนเราเห็นอะไรก็จะทำแบบนั้น”

การทำงานของเซลล์ชนิดนี้ก่อนเมื่อเราเห็นการกระทำของใครก็ตามที่แสดงให้เห็นถึงเป้าหมายหรือเจตนาของการกระทำของคนนั้น จะกระตุ้นให้เซลล์ชนิดนี้เกิดการลอกเลียนแบบ หรือทำตามทั้งภายในสมองและด้วยพฤติกรรมการแสดงออกภายนอก กระบวนการเลียนแบบทั้งภายในสมองและท่าทางที่แสดงออกนี้ จะทำให้เราสามารถเข้าใจเจตนาในการกระทำของคน ๆนั้นได้อย่างแจ่มชัด และความเข้าใจในเจตนาหรือท่าทีของผู้อื่น นี่แหละคือตัวกำหนดว่าเราควรจะมีพฤติกรรมตอบสนองต่อท่าทีนั้น ๆ อย่างไร

แต่ธรรมชาติหนึ่งของมนุษย์ คือ มนุษย์จะมีสัญชาตญาณของความเป็นสัตว์สังคม การปรับพฤติกรรมตนเองให้สอดคล้องกับผู้อื่นเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้โดยธรรมชาติ ดังนั้นการแสดงออกทางพฤติกรรมเพื่อตอบสนองของเรา จึงมักเป็นไปในทางที่คล้อยตามเพื่อให้เราสามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้นี่คือหน้าที่ของเซลล์กระจกเงา

ปัญหาอยู่ที่ว่า เซลล์กระจกเงาไม่สามารถตัดสินผิดชอบชั่วดีได้พฤติกรรมที่เราเห็น ไม่ว่าจะถูกต้องตามทำนองคลองธรรมหรือไม่จะไม่สนใจ เซลล์กระจกเงาจะจัดการลอกแบบและควบคุมเราโดยอัตโนมัติ