แลกเปลี่ยนเรียนรู้ โดยโน้มน้าวให้เขาเห็นถึงประโยชน์ ผลดีต่อการทำงานและกลุ่มพยาบาลเวชปฏิบัติ หลังจากพูดคุยทั้งกลุ่มก็เห็นด้วย ว่าอยากทำ ก็ปรึกษากันต่อว่าใครจะเป็นคนไปชักชวนพยาบาลเวชปฏิบัติอีก 5 คนที่เหลือ ก็ได้ข้อสรุปว่าใครสามารถพูดโน้มน้าวใครได้ก็ให้ไปพูดกับคนนั้น ใครที่ไม่ค่อยเข้าสังคม เก็บตัวก็จะให้พยาบาลเวชปฏิบัติที่มีความอาวุโสที่สุดไปพูดชักชวน ในขั้นตอนรวมพยาบาลเวชปฏิบัติจำนวน 10 คนนี้ ใช้เวลาทั้งหมด 3 วัน การชักชวนใช้วิธีไปหาคุยกันตัวต่อตัว บางคนจะใช้วิธีโทรศัพท์
หลังจากนั้น นัดประชุมกลุ่มพยาบาลเวชปฏิบัติทุกคนพร้อมกัน 1 วัน โดยใช้เวลาครึ่งวัน หัวข้อที่คุยกันคือ ปัญหางานด้านการพยาบาลที่เป็นอยู่ปัจจุบัน น้ำค้างบรรยาย อธิบายวิธีการจัดแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ปรึกษาหารือในการที่จะไปพูดบอกเล่าให้สาธารณสุขอำเภอ เข้าใจในกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และเปิดโอกาสให้จัดกลุ่มจัดกระบวนการ สรุปแล้วได้ร่างข้อตกลงของกลุ่มพยาบาลเวชปฏิบัติสังกัดสำนักงานสาธารณสุขอำเภอท่าลี่ จำนวน 13 ข้อ โดยมีข้อหนึ่งใน 13 ข้อ ขอให้พยาบาลเวชปฏิบัติได้มีวันจัดกลุ่มแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เดือนละ 1 วัน
เมื่อได้ข้อเสนอแล้ว กลุ่มพยาบาลเวชปฏิบัติก็นัดวันเข้าพบสาธารณสุขอำเภอท่าลี่พร้อมกันแล้วยื่นข้อเสนอต่อ สสอ. ท่าน สสอ. ก็เห็นชอบ และแนะนำให้ของบประมาณจาก CUP คือ รพ.ท่าลี่ ก็มาหาวิธีการกันต่อ ก็เลยขอให้พี่ทองอยู่ พยาบาลเวชปฏิบัติที่อาวุโสที่สุดในกลุ่ม ไปชักชวนให้พยาบาลเวชปฏิบัติของ รพ.ท่าลี่ มาร่วมงานด้วย เพื่อที่จะได้ผู้ประสานงานระหว่าง รพ.ท่าลี่ กับ รพ.สต. ซึ่งก็คือ คุณจีรพรรณ์ ชื่นใจ หัวหน้า OPD หลังจากนั้น ตัวเองก็ได้เข้าพบท่านหัวหน้ากลุ่มการพยาบาล รพ.ท่าลี่ เพื่อที่จะพูดชี้แจงการทำ ลปรร. และอยากให้หัวหน้ากลุ่มพยาบาลสนับสนุน โดยวันนั้นพูดว่า “สวัสดีค่ะพี่ไร ไม่ทราบว่าพี่ไรพอมีเวลาว่างให้หนูสัก 10 นาทีไหมคะ”
พี่ไร “ได้สิน้ำค้าง มีอะไรเหรอ”
น้ำค้าง “คือหนูได้ไปประชุมการจัดแลกเปลี่ยนเรียนรู้ที่สสอ.จัดตามนโยบายของกระทรวงสาธารณสุข แล้วเค้าให้มาทำให้เกิดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในพื้นที่ คือหนูคิดมากจนนอนไม่หลับว่าจะทำอย่างไรให้มันเกิดขึ้น พูดหรือชักชวนคนอื่นก็น้ำหนักไม่พอ และอีกอย่างไม่กล้าที่จะพูดกับท่าน ผอ.รพ.ท่าลี่ ค่ะ กลัวว่าท่านจะไม่อนุญาตให้ทำ หนูจึงคิดถึงพี่ไร จึงมาขอคำปรึกษาค่ะ ลำพังตัวหนูเองคงไม่มี power พอที่จะทำให้มันเกิดค่ะ”
พี่ไร “แล้วแลกเปลี่ยนเรียนรู้มันคืออะไร แล้วต้องทำอย่างไรบ้างละ”
น้ำค้าง “เป็นการทำ KM อย่างหนึ่งค่ะ เอาผู้ที่ประสบผลสำเร็จมาถ่ายทอดสิ่งดีดี สิ่งที่ทำแล้วประสบผลสำเร็จให้คนอื่นฟัง จากนั้นจะมีการถอดบทเรียนนำไปเผยแพร่ต่อค่ะ แต่หนูคิดว่าอยากทำในกลุ่มพยาบาลของเราก่อนค่ะ”
พี่ไร “อืม ก็ดีนะ อย่างน้อยก็มีคนกล้าที่จะเริ่มทำ เดี๋ยวพี่จะไปคุยกับ ผอ.ให้ เออ แล้วใช้งบประมาณยังไงล่ะ”
น้ำค้าง “ขอใช้ห้องประชุม รพ.ท่าลี่ เดือนละครั้งค่ะ พร้อมอาหารว่างและเครื่องดื่มค่ะ”
(ไม่อยากพูดถึงงบประมาณมาก เพราะตอนนี้ขอแค่มีโอกาสจัดแลกเปลี่ยนเรียนรู้)
พี่ไร “งั้นน้ำค้าง ก็เขียนโครงการมาให้พี่ดู แล้วพี่จะเอาไปเสนอ ผอ.ให้”
น้ำค้าง “ขอบคุณค่ะพี่ไร งั้นหนูขออนุญาตใช้ชื่อพี่จีรพรรณ์เป็นผู้เขียนโครงการนะคะ เพราะเป็นเจ้าหน้าที่ รพ.ท่าลี่ จะได้ดูน่าเชื่อถือค่ะ”
พี่ไร “ได้สิ” อมยิ้มนิดๆ
โครงการที่เขียนชื่อว่า โครงการจัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้เพื่อสนับสนุนงานด้านการพยาบาล กลุ่มพยาบาลเวชปฏิบัติอำเภอท่าลี่ จังหวัดเลย ปีงบประมาณ 2555 มีการกำหนดหัวปลาที่จะแลกเปลี่ยนในแต่ละเดือนไว้แล้ว
ในการจัดครั้งแรกในวันที่ 8 เดือนธันวาคม พ.ศ.2554 เรื่อง “การดำเนินงานตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกอย่างไรให้ประสบผลสำเร็จ” เมื่อทำกลุ่มแลกเปลี่ยนเรียนรู้เสร็จ ก็มีการจดบันทึกและถอดบทเรียนแล้วทำบันทึกส่งให้สาธารณสุขอำเภอ รพ.ท่าลี่ สสจ.เลย และกลุ่มพยาบาลเวชปฏิบัติทุกคน (ส่งเป็น mail ของทุก รพ.สต.เพื่อเผยแพร่)
หลังจากการทำกลุ่มแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในครั้งแรกจบลง กลุ่มพยาบาลเวชปฏิบัติ (NP) อำเภอท่าลี่ชื่นชอบในกระบวนการ อยากจะพูดอยากจะเล่ามากขึ้น สัมพันธภาพดีขึ้นมาก ทุกคนเริ่มเข้ามามีส่วนร่วมในการเลือกหัวปลา ก็มีการปรับหัวปลาใหม่ให้เป็นเรื่องที่ทุกคนสนใจ ในการทำครั้งที่ 2 ได้เชิญชวน นักวิชาการสาธารณสุข เจ้าพนักงานสาธารณสุขมาช่วยในการทำกระบวนการกลุ่มด้วย เพื่อช่วยประชาสัมพันธ์ในการทำกลุ่มแลกเปลี่ยนเรียนรู้ไปสู่กลุ่มสายงานอื่น
การจัดกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนได้ ได้มีผู้รับผิดชอบงานของ สสจ. ได้มาดูและชื่นชม ผลของการจัดแลกเปลี่ยนเรียนรู้ก็ทำให้ผู้บริหารพึงพอใจและให้ดำเนินกิจกรรมต่อ พร้อมทั้งสนับสนุนงบประมาณมากขึ้น ที่สำคัญได้สนับสนุนให้ขยายการจัดแลกเปลี่ยนเรียนรู้ไปในพื้นที่อำเภออื่นๆ และได้เชิญ ครู ข. ของอำเภอท่าลี่ไปช่วยทำกระบวนการกลุ่ม
ที่สำคัญ การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทำให้ได้เทคนิคดีดีของ รพ.สต. ที่ประสบผลสำเร็จมาปรับใช้ในที่ทำงานตัวเอง ทำให้ได้ผลงานเพิ่มขึ้น เช่น รพ.สต.อาฮี นำเทคนิคการเชิญกลุ่มเป้าหมายมาตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกของ รพ.สต. ที่ทำผลงานได้เยอะมาใช้ ปรากฏว่า รพ.สต.อาฮี มีผู้เข้ารับบริการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกเพิ่มขึ้น จากร้อยละ 30 เป็นร้อยละ 70 โดยประมาณ