การกระทำ ที่อธิบายได้ว่าผู้ที่เป็นกลุ่มตัวอย่างทำงานโดยเห็นคุณค่าที่อยู่ในตัวของงาน ซึ่งตรงกันข้ามกับ การเห็นคุณค่าภายนอก ซึ่งหมายถึง คุณค่าของตัวงานขึ้นอยู่กับการที่ทำงานนั้นแล้วจะนำพาสิ่งอื่น ๆ มาให้ตัวเรา ( intrinsic value versus extrinsic value) โดยที่คุณค่าภายในนี้มักจะเกี่ยวข้องกับ ความดี คุณธรรม ความสุขใจ เป็นต้น
III. ด้านผลของจิตวิญญาณ
กลุ่มของสังกัปด้านผลของจิตวิญญาณทั้งสามตัวนี้ เป็นการแสดงพฤติกรรม ที่สามารถอธิบายได้ว่า มีสาเหตุส่วนหนึ่งมาจากการที่ตัวอย่างมี “แก่นจิตวิญญาณ” ดังจะกล่าวถึงในรายละเอียดแต่ละเรื่องดังนี้
1. ช่วยเหลือโดยเมตตา-กรุณา
การให้ความช่วยเหลือที่แสดงออกของกลุ่มตัวอย่างนี้ เป็นการให้ความช่วยเหลือแก่ เพื่อนร่วมงาน คนไข้ และญาติของคนไข้ ทั้งนี้การให้ความช่วยเหลือนี้ทำโดยอาสาสมัคร สมัครใจ และเป็นการทำนอกเหนือจากปกติ ข้อมูลที่ปรากฏมากที่สุดคือการให้ความช่วยเหลือแก่คนไข้ที่กำลังอยู่ใน ความทุกข์ ความยากลำบาก หรือการเข้าไปช่วยแก้ปัญหาของคนไข้ ดังนี้
“แล้วก็ตรวจ แล้วก็ส่งไปอะไรอย่างนี้น่ะครับ ก็คือเราไม่จำเป็นต้องไปนวดก็ได้ เราไม่จำเป็นต้องไปทำก็ได้ คือให้คนไข้เขานั่งรอไปซัก 3 ชั่วโมงอะไรอย่างนี้ เราก็ทำได้ แต่ว่าเรามองว่าจากการคุยแล้วนะครับ เขาเป็นแม่ค้าขายก๋วยเตี๋ยวไงครับ ถ้าเกิดเขารอ 3 ชั่วโมง แล้วเขาไม่มีรายได้เข้ามา เขาจะเป็นยังไง มองตรงเนี๊ยะนะครับ”(เหนือ3)
“คนที่เค้าเจ็บป่วยเนี่ย สิ่งที่เค้ามีความทุกข์ก็คือความเจ็บป่วยใช่ไหมคะ เพราะฉะนั้นพยาบาลก็มีหน้าที่บำบัดตรงนี้ให้เค้า ช่วยเค้า มันก็คงจะขึ้นอยู่ที่ว่าความเมตตาเนอะ น่าจะเป็นความเมตตาน่ะค่ะ ที่บอกเมตตาธรรมค้ำจุนโลก ก็คงอันนี้น่ะค่ะเป็นจุดใหญ่ว่าเราจะช่วยเค้าได้ เหมือนกับว่าพลังอันนี้มัน … คือจะบอกว่าจริงๆ แล้วทุกคนก็มีความเมตตาทุกคนนั่นแหละ”(กลาง 3)
พฤติกรรมนี้ปรากฏในข้อมูลในทุกภาคและเกิดในหลายสถานการณ์ ได้แก่ สถานการณ์ที่ผู้ป่วยมีปัญหาส่วนตัว ความเจ็บป่วยทางกาย ความรู้สึกเป็นทุกข์ ในสถานการณ์ที่ผู้ดูแลผู้ป่วยมีปัญหา หรือความทุกข์ ในสถานการณ์ที่เพื่อนร่วมงานมีปัญหา มีความทุกข์ โดยการปฏิบัตินี้ไม่ยกเว้นแม้กับคนที่เคยมีเรื่องบาดหมาง มีการให้อภัยแก่ที่เคยสร้างปัญหาให้ตัวเอง “แต่ในช่วงนั้นที่เรามีปัญหาเนี่ยไม่อยากทำงานเอดส์ แต่เราคิดว่า เออ เราไม่ได้ทำเพื่อเขา เราทำเพื่อคนไข้ ก็เลยทำต่อ แต่ทีนี้ช่วงเย็นทุกวันจะมีการสวดมนต์ไหว้พระ จะขออโหสิกรรมเจ้ากรรมนายเวร ขออโหสิกรรมให้เขาด้วยคืออย่าจองเวรซึ่งกันและกัน” (อีสาน 3) หรือช่วยเหลือแม้มีภาวะอันตราย
“ก็มารอจะออกหน่วยแพทย์ พอศว. ก็มีวิทยุตำรวจ บอกว่า มีรถตู้ถูกยิง ที่ตำบลปาแต อำเภอยะหานะคะ ก็นั่งรอ ก็บอกว่า พี่ ค่อยออกกันดีกว่านะ รอดูก่อนเผื่อต้องไปช่วยคนเจ็บ ก็รอ รอสักพัก เค้าก็โทรมาบอกว่า ช่วยไปรับคนเจ็บหน่อยที่ปาแต ก็กระโดดขึ้นรถเลยค่ะ ไม่ได้คิดเลยนะคะ ว่าตอนนั้นเป็นอะไร ที่ในวิทยุนะคะ มีทั้งตะปูเรือใบ ระเบิด ริมทางเลยค่ะ แต่ตอนนั้นตัวเองไม่ได้คิดอะไรเลย คนขับรถเอย พยาบาลที่ไป แล้วก็มีพยาบาลผู้ชายที่มาจากโรงพยาบาลสระแก้วตามขึ้นมาด้วย เค้าก็ไม่รู้ว่า อันตรายหรือเปล่า เค้าก็กระโดดขึ้นมาด้วย”(ใต้1)
ประเด็นของผลจากการมีจิตวิญญาณด้าน ช่วยเหลืออย่างมีเมตตา-กรุณานี้ เป็นสังกัปที่คล้ายคลึงกับเมตตา “ ความรัก ปรารถนาดีอยากให้เขามีสุข” ผลสำเร็จของเมตตาคือ “สามารถระงับพยาบาทได้” และกรุณา “ความสงสาร คิดช่วยให้พ้นทุกข์” (พระพรหมคุณาภรณ์. 2551) การแสดงออกของตัวอย่างนี้เป็นผลมาจากการที่เขามีศรัทธาในคุณธรรมทั้งสองด้านซึ่งปรากฏในแก่นของจิตวิญญาณ นอกจากนี้ก็เป็นสังกับที่สอดคล้องกับ altruism, prosocial , helping ซึ่งทั้งสามนี้มีจุดร่วมกันคือการช่วยเหลือ แต่ altruism นั้นมีแรงจูงใจของการช่วยเหลืออยู่ที่ ความปรารถนาจะให้ผู้ที่มีความทุกข์ มีความสุขแม้จะเป็นการช่วยที่ต้องเสียสละ และ prosocial เป็นพฤติกรรมช่วยเหลือที่แสดงการช่วยเหลือแบบร่วมไม่ร่วมมือ และการช่วยเหลือฉันท์เพื่อน(Kilpatrick, S. D.,2007) จากตัวอย่างของพฤติกรรมของกลุ่มตัวอย่างในงานวิจัยนี้ เป็นการแสดงความช่วยเหลือที่เป็นลักษณะเดียวกับ “altruism” มากกว่าการให้ความช่วยเหลือแบบอื่น