การสร้างเครื่องมือประเมินและตัวชี้วัดระดับการพัฒนาจิตวิญญาณ สำหรับบุคลากรด้านสาธารณสุข (6)

ออกเป็น 2 ระดับคือ ( Sisk & Torrance 2001: 27 ; wikipedia.; Kendra : Online )

1) ความต้องการในระดับต่ำ (Lower order needs , Deficit Need , Deficit value , D value) คือ ความต้องการที่เกิดจากความขาดแคลน (deficiency needs) เช่น ความหิว ความกระหายความหนาว ความรู้สึกไม่ปลอดภัย ความต้องการการยอมรับนับถือจากผู้อื่น ซึ่งความต้องการนี้จะทำให้บุคคลพยายามแสดงพฤติกรรมเพื่อบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ โดยมีผลของเป้าหมายนั้นเป็นไปเพื่อลดความตึงเครียดและทำให้บุคคลนั้นกลับสู่ภาวะสมดุล ความต้องการในระดับต่ำนี้ประกอบด้วย ความต้องการทางร่างกาย (Physiological Needs) ความต้องการความปลอดภัย (Safety or security Needs) ความต้องการทางสังคม (Social Needs) และความต้องการได้รับความนับถือยกย่อง (Esteem Needs) ในองค์ประกอบลำดับขั้นความต้องการของมาสโลว์

2) ความต้องการในระดับสูง หรือความต้องการการก้าวหน้าและพัฒนาตนเอง (Higher order needs , growth needs , Growth motivation , Being value, B value) คือ ความต้องการที่มีความเกี่ยวข้องกับแรงจูงใจในการเติบโตทางจิตวิทยา เป็นเป้าหมายในระยะไกลซึ่งเกี่ยวข้องกับพลังที่ติดตัวมาแต่กำเนิดเพื่อที่จะพัฒนาและเติมความสามารถของเราให้สมบูรณ์ การเติบโตเป็นแรงจูงใจภายใน (intrinsic motive) ซึ่งความพึงพอใจจะเป็นเหมือนกระบวนการให้รางวัลสำหรับจุดมุ่งหมาย และความพอใจยังเพิ่มแรงจูงใจ และเพิ่มความตื่นเต้นและการทำกิจกรรม โดยความต้องการระดับสูงนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อปรับปรุงความเป็นอยู่ด้วยการเพิ่มพูนประสบการณ์ ซึ่งต่างจากความต้องการระดับต่ำที่เกิดขึ้นเพื่อลดความตึงเครียดในการที่ทำให้บุคคลกลับสู่สมดุล โดยความต้องการระดับสูงจะแสดงออกได้เด่นชัดภายหลังจากที่ความต้องการในระดับต่ำได้รับความพึงพอใจแล้ว ซึ่งความต้องการที่จะเข้าใจตนเองอย่างแท้จริง (Self-actualization Needs) ในทฤษฎีลำดับขั้นความต้องการนั้นถือเป็นความต้องการระดับสูง

3.2 องค์ประกอบของทฤษฎีลำดับขั้นความต้องการ

มนุษย์มีความต้องการโดยธรรมชาติอยู่อย่างไม่สิ้นสุด ซึ่งความต้องการจะมีลักษณะเป็นลำดับขั้น จากระดับต่ำสุดไปยังระดับสูงสุด ประกอบด้วย ระดับแรกคือ ความต้องการทางร่างกาย (Physiological Needs) ระดับต่อไปคือความต้องการความปลอดภัย (Safety or security Needs) ความต้องการทางสังคม (Social Needs)ความต้องการได้รับความนับถือยกย่อง (Esteem Needs) และความต้องการระดับสูงสุดคือ ความต้องการเติมความสมบูรณ์ให้ชีวิต หรือ ความต้องการที่จะเข้าใจตนเองอย่างแท้จริง (Self-actualization Needs) ทั้งนี้เมื่อความต้องการในระดับหนึ่งได้รับการตอบสนองแล้ว จะไม่เป็นสิ่งจูงใจอีกต่อไป และมนุษย์ก็จะมีความต้องการอื่นในระดับที่สูงขึ้นต่อไป

ทั้งนี้สาระสำคัญของความต้องการในระดับต่างๆ มีดังนี้ ( wikipedia :Online)

1) ความต้องการทางร่างกาย (Physiological Needs)

ความต้องการในขั้นนี้ถือเป็นความต้องการขั้นพื้นฐานระดับต่ำสุดแต่มีอำนาจมากที่สุดและสังเกตเห็นได้ชัดที่สุด จากความต้องการทั้งหมดเป็นความต้องการที่ช่วยการดำรงชีวิต เป็นแรงผลักดันทางชีวภาพ เช่น ความต้องการอาหาร น้ำ อากาศ ที่อยู่อาศัย การพักผ่อน ความต้องการทางเพศ ความต้องการความอบอุ่น ตลอดจนความต้องการที่จะถูกกระตุ้นอวัยวะรับ สัมผัส แรงขับของร่างกาย เหล่านี้จะเกี่ยวข้องโดยตรงกับความอยู่รอดของร่างกายและของอินทรีย์ ความพึงพอใจที่ได้รับในขั้นนี้จะกระตุ้นให้เกิดความต้องการในขั้นที่สูงกว่าและถ้าบุคคลใดประสบความล้มเหลวที่จะสนองความต้องการพื้นฐานนี้ก็จะไม่ได้รับการกระตุ้นให้เกิดความต้องการในระดับที่สูงขึ้น อย่างไรก็ตามถ้าความต้องการอย่างหนึ่งยังไม่ได้รับความพึงพอใจ บุคคลก็จะอยู่ภายใต้ความต้องการนั้นตลอดไป ซึ่งทำให้ความต้องการอื่นๆ ไม่ปรากฏหรือกลายเป็นความต้องการระดับรองลงไป

2) ความต้องการความปลอดภัย (Safety or security Needs)

ความต้องการความปลอดภัยเป็นความต้องการที่จะเกิดขึ้นหลังจากที่ความต้องการทางร่างกายได้รับการตอบสนองอย่างไม่ขาดแคลนแล้ว หมายถึงความต้องการสภาพแวดล้อมที่ปลอดจากอันตรายทั้งทางกายและจิตใจ ความมั่นคงในงาน ในชีวิตและสุขภาพ ความปลอดภัยจะยังมีอิทธิพลต่อบุคคลแม้ว่าจะผ่านพ้นวัยเด็กไปแล้ว แม้ในบุคคลที่ทำงานในฐานะเป็นผู้คุ้มครอง เช่น ผู้รักษาเงิน นักบัญชี หรือทำงาน เกี่ยวกับการประกันต่างๆ และผู้ที่ทำหน้าที่ให้การรักษาพยาบาลเพื่อความปลอดภัยของผู้อื่น เช่น แพทย์ พยาบาล แม้กระทั่งคนชรา บุคคลทั้งหมดที่กล่าวมานี้จะใฝ่หาความปลอดภัยของผู้อื่น ศาสนาและ ปรัชญาที่มนุษย์ยึดถือทำให้เกิดความรู้สึกมั่นคง เพราะทำให้บุคคลได้จัดระบบของตัวเองให้มีเหตุผลและวิถีทางที่ทำให้บุคคลรู้สึก “ปลอดภัย” ความต้องการความปลอดภัยในเรื่องอื่นๆ จะเกี่ยวข้องกับการเผชิญกับสิ่งต่างๆ เหล่านี้ สงคราม อาชญากรรม น้ำท่วม แผ่นดินไหว การจลาจล ความสับสนไม่เป็นระเบียบของสังคม และเหตุการณ์อื่นๆ

3) ความต้องการทางสังคม (Social Needs) หรือ ความต้องการความรักและความเป็นเจ้าของ (Belongingness and Love needs)

เมื่อมีความปลอดภัยในชีวิตและมั่นคงในการงานแล้ว คนเราจะต้องการความรัก มิตรภาพ ความใกล้ชิดผูกพัน ต้องการเพื่อน การมีโอกาสเข้าสมาคมสังสรรค์กับผู้อื่น ได้รับการยอมรับเป็นสมาชิกในกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งหรือหลายกลุ่ม กล่าวคือ บุคคลจะรู้สึกเจ็บปวดมากเมื่อถูกทอดทิ้งไม่มีใครยอมรับ หรือ ถูกตัดออกจากสังคม ไม่มีเพื่อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อจำนวนเพื่อนๆ ญาติพี่ น้อง สามีหรือภรรยาหรือลูกๆ ได้ลดน้อยลงไป Maslow ยังย้ำว่าความต้องการความรักของคนจะเป็นความรักที่เป็นไปในลักษณะทั้งการรู้จักให้ความรักต่อผู้อื่นและรู้จักที่จะรับความรักจากผู้อื่น การได้รับความรักและได้รับการยอมรับจากผู้อื่นเป็นสิ่งที่ทำให้บุคคลเกิดความรู้สึกว่าตนเองมีคุณค่า บุคคลที่ขาดความรักก็จะรู้สึกว่าชีวิตไร้ค่ามีความรู้สึกอ้างว้างและเคียดแค้น

4) ความต้องการได้รับความนับถือยกย่อง (Esteem Needs)

เมื่อความต้องการทางสังคมได้รับการตอบสนองแล้ว คนเราจะต้องการสร้างสถานภาพของตัวเองให้สูงเด่น มีความภูมิใจและสร้างการนับถือตนเอง ชื่นชมในความสำเร็จของงานที่ทำ ความรู้สึกมั่นใจในตัวเองแลเกียรติยศ ทั้งนี้มนุษย์ต้องการที่จะได้รับความนับถือยกย่องออกเป็น 2 ลักษณะ คือ

(1) ความต้องการนับถือตนเอง (self-respect) หมายถึง ความต้องการมีอำนาจ มีความเชื่อมั่นในตนเอง มีความแข็งแรง มีความสามารถในตนเอง มีผลสัมฤทธิ์ไม่ต้องพึ่งพาอาศัยผู้อื่น และมีความเป็น อิสระ ทุกคนต้องการที่จะรู้สึกว่าเขามีคุณค่าและมีความสามารถที่จะประสบความสำเร็จในงานภารกิจต่างๆ และมีชีวิตที่เด่นดัง

(2) ความต้องการได้รับการยกย่องนับถือจากผู้อื่น (esteem from others) หมายถึง ความต้องการมีเกียรติยศ การได้รับยกย่อง ได้รับการยอมรับ และเป็นที่ชื่นชมยินดี ในสิ่งที่ได้กระทำซึ่ง ทำให้รู้สึกว่าตนเองมีคุณค่า

บุคคลจะแสวงหาความต้องการได้รับการยกย่องก็เมื่อภายหลังจากความต้องการความรักและความเป็นเจ้าของได้รับการตอบสนองความพึงพอใจของเขาแล้ว

5) ความต้องการที่จะเข้าใจตนเองอย่างแท้จริง (Self-actualization Needs)

ความต้องการที่จะเข้าใจตนเองอย่างแท้จริงเป็นความต้องการระดับสูงสุด คือต้องการจะเติมเต็มศักยภาพของตนเอง ต้องการความสำเร็จในสิ่งที่ปรารถนาสูงสุดของตัวเอง ความเจริญก้าวหน้า การพัฒนาทักษะความสามารถให้ถึงขีดสุดยอด มีความเป็นอิสระในการตัดสินใจและการคิดสร้างสรรค์สิ่งต่างๆ การเข้าใจตนเองอย่างแท้จริงเป็นความต้องการอย่างหนึ่งของบุคคลที่จะบรรลุถึงจุดสูงสุดของศักยภาพ เช่น “นักดนตรีก็ต้องใช้ความสามารถทางด้านดนตรี ศิลปินก็จะต้องวาดรูป กวีจะต้องเขียนโคลงกลอน ถ้าบุคคลเหล่านี้ได้บรรลุถึงเป้าหมายที่ตนตั้งไว้ก็เชื่อได้ว่าเขาเหล่านั้นเป็นคนที่รู้จักตนเองอย่างแท้จริง” (Maslow ,1970 : 46)

อย่างไรก็ตาม มาสโลว์ยอมรับว่า ทฤษฎีลำดับขั้นความต้องการของเขายังมีข้อยกเว้นอยู่บ้าง คือบุคคลที่มีบุคลิกภาพเข้มแข็ง มีคุณสมบัติสร้างสรรค์สูงและมีความต้องการที่จะเข้าใจตนเองอย่างแท้จริง (Self-actualization Needs) บุคคลเหล่านี้แม้ว่าได้รับการตอบสนองความพึงพอใจระดับเบื้องต้นไม่ค่อยบริบูรณ์ เช่น อาจต้องเผชิญกับความดูถูก เหยียดหยาม ย่ำศักดิ์ศรี ไม่มีความมั่นคงปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ฯลฯ ก็สามารถมีพฤติกรรมประเภทมีความเข้าใจตนเองอย่างแท้จริง (Self-actualization ) ได้อย่างสูงส่ง ตัวอย่างเช่น มหาตมคานธี ประธานาธิบดีลินคอล์น เป็นต้น (ศรีเรือน แก้วกังวาล.2539:105-106)