ถ้าในบางสถานการณ์หากบุคคลมีความผูกพันด้านอารมณ์ทางบวกสูงแต่มีความผูกพันด้านปฏิสัมพันธ์ต่ำจะทำให้บุคคลมีความเด่นของเอกลักษณ์สูง ในทางกลับกันถ้าบุคคลมีความผูกพันด้านอารมณ์ทางลบสูงและมีความผูกพันด้านปฏิสัมพันธ์สูงจะทำให้บุคคลมีความเด่นของเอกลักษณ์ลดลง เช่น สถานการณ์ที่บุคคลต้องทำงานร่วมกับคนที่ตนเองไม่ชอบหรือแต่งงานกับคนที่ตนเองไม่ได้รัก ซึ่งนำไปสู่การถอยหนีจากความสัมพันธ์และทำให้เอกลักษณ์อื่นมีโอกาสขึ้นมาอยู่ลำดับสูงแทน ดังนั้นความผูกพันจึงมีอิทธิพลต่อความเด่นของเอกลักษณ์ และสำหรับประเด็นของความสัมพันธ์ระหว่างความเด่นของเอกลักษณ์และความสำคัญของเอกลักษณ์กับพฤติกรรมตามบทบาทนั้น สไตรเกอร์ (2007: 1092-1093) ได้กล่าวถึงว่า เอกลักษณ์จะถูกจัดลำดับที่ลดหลั่นกัน โดยผันแปรตามความเด่น (Salience) และความสำคัญ (Centrality) โดยสมมติฐานพื้นฐานของทฤษฎีเอกลักษณ์นั้นคือ การเลือกระหว่างการแสดงพฤติกรรมต่างๆ ที่เป็นส่วนหนึ่งของบทบาทจะสะท้อนให้เห็นถึงความสัมพันธ์ในตำแหน่งของเอกลักษณ์ที่หลากหลายที่มีการจัดลำดับของเอกลักษณ์ ซึ่งมีความสำคัญต่อการแสดงถึงเอกลักษณ์ เอกลักษณ์ต่างๆ จะถูกธำรงไว้ได้โดยที่บุคคลเข้าสู่สถานการณ์ที่หลากหลายตามที่บุคคลได้ประสบและเอกลักษณ์ต่างๆ จะมีผลต่อการประพฤติปฏิบัติในสถานการณ์นั้นๆ นอกจากนี้ สไตรเกอร์ (1987: 95) ยังได้อธิบายว่า จากฐานคติ (Assumption) ที่เชื่อว่า เอกลักษณ์แสวงหาการรับรอง เอกลักษณ์กระตุ้นให้บุคคลปฏิบัติหน้าที่ของตนในการมีปฏิสัมพันธ์กับบุคคลอื่นๆ เพื่อยืนยันอีกครั้งหนึ่ง (Reaffirm) ถึงการเป็นบุคคลประเภทหนึ่งที่ถูกนิยามโดยเอกลักษณ์ และเอกลักษณ์ใดที่มีความเด่นมากกว่าจะทำให้บุคคลมีความไว (Sensitive) ต่อโอกาสสำหรับการมีพฤติกรรมเพื่อยืนยันในเอกลักษณ์นั้นมากกว่า ฉะนั้นถ้าบุคคลมีความเด่นของเอกลักษณ์ใดที่มากเขาจะแสดงพฤติกรรมตามบทบาทที่เกี่ยวข้องกับเอกลักษณ์นั้นมากด้วย
นอกจากนี้จากการทบทวนการวัดเอกลักษณ์ในงานวิจัยที่ผ่านมาจะพบว่า งานวิจัยบางเรื่องให้ความสำคัญกับการวัดเอกลักษณ์ในองค์ประกอบความเด่นของเอกลักษณ์เพียงด้านเดียว และบางเรื่องได้วัดเอกลักษณ์ในหลายองค์ประกอบร่วมกัน ซึ่งหากพิจารณาตามทฤษฎีเอกลักษณ์ที่สไตรเกอร์ได้อธิบายไว้ในปี 2007 ว่า ความผูกพัน (Commitment) มีผลต่อความเด่นของเอกลักษณ์ (Identity Salience) และความรู้สึกสำคัญหรือความสำคัญของเอกลักษณ์ (Psychological Centrality) และความเด่นของเอกลักษณ์ และความรู้สึกสำคัญหรือความสำคัญของเอกลักษณ์ มีผลต่อพฤติกรรมการเลือกบทบาท (Role-Chioce Behavior) (Stryker. 2007: 1091) ดังนั้นจึงควรที่จะมีการวัดเอกลักษณ์ทั้งในมิติความเด่นของเอกลักษณ์และมิติความสำคัญของเอกลักษณ์ ดังในงานวิจัยที่ผ่านมาที่มีการวัดเอกลักษณ์ในลักษณะดังกล่าว (Burke; & Reitzes. 1991; Nuttbrock; & Freudiger. 1991; Stryker; & Serpe. 1994: 21-26 ; Lee. 2002: 356-358; วรรณะ บรรจง. 2551) แต่อย่างไรก็ตามเนื่องจากสไตรเกอร์ได้อธิบายถึงความเชื่อมโยงของความเด่นของเอกลักษณ์และพฤติกรรมตามบทบาท (Stryker. 1987: 96-97) ไว้ว่าดังนี้ เมื่อบุคคลได้แสดงพฤติกรรมตามบทบาทออกไป บุคคลจะมีการประเมินตนเองและการประเมินโดยบุคคลสำคัญอื่น ๆ เช่น นักเรียนมีการประเมินพฤติกรรมตามบทบาทของตนที่แสดงออกในโรงเรียนเช่นเดียวกันกับที่นักเรียนคนอื่น ๆ ครู และพ่อแม่ซึ่งเป็นผู้ประเมินพฤติกรรมตามบทบาทของตน กระบวนการประเมินนี้จะสะท้อนกลับให้บุคคลเกิดความรู้สึกภาคภูมิใจในบทบาทที่เฉพาะของตนและการมีความภาคภูมิใจในบทบาทที่เฉพาะของตนนี้จะสะท้อนอยู่ภายในความเด่นของเอกลักษณ์ ซึ่งสอดคล้องกับหลักที่ว่าความภาคภูมิใจในบทบาทที่เฉพาะของตนสูงความเด่นของเอกลักษณ์ตามบทบาทนั้นเพิ่มมากขึ้นด้วย ดังนั้นการปฏิบัติตามบทบาทของตนจะประสบความสำเร็จหรือความล้มเหลวจึงขึ้นอยู่กับการให้ความสำคัญกับความเด่นของเอกลักษณ์ จากการอธิบายของสไตรเกอร์ดังกล่าวที่ให้ความสำคัญของความภาคภูมิใจในบทบาทที่เฉพาะซึ่งสะท้อนอยู่ภายในความเด่นของเอกลักษณ์ จึงทำให้มีนักวิจัยบางท่านที่วัดความภาคภูมิใจในบทบาทที่เฉพาะว่าเป็นองค์ประกอบหนึ่งของการศึกษาเอกลักษณ์ ดังเช่น ในงานวิจัยของเบอร์คและไรซ์ (Burke; & Reitzes. 1991: 245) ที่ได้สร้างแบบสอบถามเอกลักษณ์ของนักศึกษาโดยวัดความภาคภูมิใจในการแสดงบทบาทของการเป็นนักศึกษา ซึ่งนักวิจัยได้ปรับมาจากแบบสอบถามความภาคภูมิใจของโรเซนเบอร์กในปี 1979 และงานวิจัยของสมศักดิ์ สีดากุลฤทธิ์ (2545: 10) ได้วัดความภาคภูมิใจในวิชาชีพครู เป็นองค์ประกอบหนึ่งของเอกลักษณ์วิชาชีพครู ดังนั้นการวัดเอกลักษณ์ควรที่ประกอบไปด้วย 3 องค์ประกอบ คือ องค์ประกอบความเด่นของเอกลักษณ์ องค์ประกอบความสำคัญของเอกลักษณ์ และองค์ประกอบความภาคภูมิใจในบทบาทด้วยจากการทบทวนความหมายของความภาคภูมิใจในตนเอง (Self-Esteem) พบว่ามีผู้ให้ความหมายไว้หลายท่านดังนี้ โรเซนเบิร์ก (Rosenberg. 1979: 54) ได้ให้ความหมายของ ความภาคภูมิใจในตนเองว่า คือ การนับถือตนเอง การรู้สึกว่าตนเองเป็นบุคคลที่มีคุณค่า การชื่นชมในข้อดีของตนเองและยอมรับความผิดพลาดที่เกิดขึ้นของตนเองและปรารถนาที่จะแก้ไข ส่วน คูเปอร์สมิธ (อังคณา เทศทิศ. 2543: 29; อ้างอิงจาก Coopersmith. 1984: 5) ให้ความหมายว่า ความภาคภูมิใจในตนเองเป็นการประเมินการยอมรับตนเองเพื่อแสดงให้เห็นว่ามีการยอมรับหรือไม่ยอมรับในขอบข่ายของ ความเชื่อมั่นต่อความสามารถ ความสำคัญ ความสำเร็จและ ความมีคุณค่าของตนเอง ซึ่งสอดคล้องกับแบรนเดน (อรอุมา สงวนญาติ. 2544: 9; อ้างอิงจาก Branden. 1981: 110-112) ให้ความหมายว่า ความภาคภูมิใจใน
ตนเองเป็นลักษณะของความเชื่อมั่นและความนับถือตนเองที่เกิดความเชื่อมั่นในความมีคุณค่าของตนเอง ความมั่นใจในความสามารถของตนที่จะประสบความสำเร็จในสิ่งที่พอใจ เกียรติวรรณ อมาตยกุล (2529: 18-19) ให้ความหมายความภาคภูมิใจในตนเองว่า คือความรู้สึกเห็นคุณค่า เคารพและรักตนเอง รวมถึงพรพิมล วรวุฒิพุทธพงศ์ (2547: 50) ให้ความหมายว่าคือ ความรู้สึกว่าตนเองเป็นผู้ที่มีคุณค่า เป็นผู้ที่สามารถทำประโยชน์ให้กับตนเองและผู้อื่นได้หรือมีลักษณะที่น่าพอใจก่อประโยชน์ให้กับตนเองและผู้อื่นได้ ดังนั้นจึงอาจสรุปได้ว่า ความภาคภูมิใจในตนเองหมายถึง การนับถือตนเอง พอใจในตนเอง รู้สึกว่าตนเองเป็นบุคคลที่มีคุณค่า มีความสามารถที่จะทำประโยชน์ให้กับตนเองและผู้อื่นได้ มีการชื่นชมในข้อดีของตนเองและยอมรับในความผิดพลาดที่เกิดขึ้นของตนเองและปรารถนาที่จะแก้ไข และมีความเชื่อมั่นที่จะประสบความสำเร็จในสิ่งที่ตนพอใจ แต่ทั้งนี้ความภาคภูมิใจถูกกล่าวถึงในบริบทของความภาคภูมิใจในบทบาท ดังนั้นจากการสรุปความหมายของความภาคภูมิใจในตนเองดังกล่าวเมื่อนำมาเทียบเคียงเพื่ออธิบายถึงความภาคภูมิใจในบทบาท จึงอาจนิยามว่าคือ ระดับความรู้สึกที่มีต่อการนับถือตนเอง พอใจ เห็นคุณค่าในบทบาทที่ตนเองครอบครองและมีความสามารถที่จะทำประโยชน์ให้กับตนเองและผู้อื่นได้ มีการชื่นชมในข้อดีของบทบาทที่ตนเองครอบครองและยอมรับในความผิดพลาดที่เกิดขึ้นของตนเองจากการสวมบทบาทโดยปรารถนาที่จะแก้ไข และมีความเชื่อมั่นที่จะประสบความสำเร็จในบทบาทนั้น ดังนั้นกรอบแนวคิดในการอธิบายเอกลักษณ์และพฤติกรรมตามบทบาท