จะเห็นอีกว่าวิธีการปรับเข้าหาผู้อื่นที่กล่าวถึงนั้น มิใช่เป็นเพียงการทำตามสิ่งที่เขาต้องการ แต่เป็นการเข้าไปอยู่ในโลกของเขา เห็นความเข้าใจของเขา หรือเห็นตัวตนของเขา อันเป็นพื้นฐานที่จะช่วยแนะนำเขาสู่ความตระหนักถึงความมีความหมายบางอย่างได้ การปรับเข้าหาจึงเป็นปฏิสัมพันธ์ระหว่างสองฝ่าย ขณะที่การปฏิสัมพันธ์ดังกล่าวทำให้เราเข้าใจเขาได้มากขึ้น การปฏิสัมพันธ์นั้นก็ทำให้เขาเข้าใจตนเองหรือเห็นความมีความหมายมากขึ้นเช่นกัน การปรับเข้าหาผู้อื่นจึงเป็นการปรับผู้อื่นไปด้วยในเวลาเดียวกัน
มีข้อสังเกตเพิ่มเติมประการหนึ่งว่าการปรับหาผู้อื่นนั้นในที่สุดแล้วก็เริ่มจากด้านความคิด คือ ปรับวิธีคิดของตนเองก่อน โดยมุ่งหาปัจเจกภาพของผู้อื่น โดยความเป็นปัจเจกภาพนี้หมายรวมถึงความเป็นตัวตน ความเป็นของตัวตน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ข้อความว่า แรงนั้นก็ต้องมาจากนักศึกษา ทำให้เห็นชัดถึงความสัมพันธ์ระหว่างปัจเจกภาพและความตระหนักในความมีความหมาย มีข้อความอื่นที่บ่งประเด็นเดียวกันนี้
…คือ tune เห็นใจเขาน่ะ คือวิธีคิดมีสองแบบว่ามองแบบไม่เกี่ยวกัน คนนี้เรามองแบบตัดสินเลย คนนี้ถูกหลอกแล้ว ก็โง่เอง ก็ต้องยอมแล้วล่ะ ทําอะไรได้ อันนี้มองแบบคนไม่เกี่ยวกัน ถ้ามองแบบญาติพี่น้อง ก็อาจจะเดือดร้อนแทน แต่อาจจะถูกด่าบ้าง แต่ถ้าเรามองแบบเป็นคนไข้เลย ไม่ด่าตัวเองหรอกครับ ใช่ไหมครับ เราก็ต้องยอมรับ แล้วหาทางออกที่เรามีกําลัง ดังนั้นผมจะมองแบบญาติไม่ได้ ถ้าเป็นพ่อแม่ก็ถูกด่าอีก แต่ถ้ามองแบบคนนอกก็โง่เองสะใจ นี่เขาเรียกมองอย่าง objective เราก็ต้อง tune วิธีมองมันมีหลายระดับนะ วิธีมองก็ต้องมองแบบนั้นนะผมว่าก็จะช่วยคนไข้ได้…
…ผมว่ามันเป็นเรื่อง tune กับคนไข้ให้ได้ เขาก็จะรู้สึกว่าฟังเรามากขึ้น พอ tune ก็รู้สึกว่าเป็นเพื่อนร่วมโลกด้วยกันได้ คุยกันได้ แล้วก็ช่วยกันมองด้านอื่น ทําให้เขารู้สึกว่าเขาควบคุมสถานการณ์ได้ ผมว่าอันนี้สําคัญ…กับคนไข้ระยะสุดท้ายตรงนี้ก็สําคัญ เป็นผู้ควบคุมสถานการณ์ เป็นเจ้าของบ้าน นี่เชื่อมโยงเลยนะครับ คือให้เขาเป็นเจ้าของบ้านตัวจริงเลย ให้ควบคุมสถานการณ์ได้ในหลายๆ สถานการณ์…
(ลปรร.ภาคกลาง)