สุขภาวะทางจิตวิญญาณ (11)

ความสามารถของเรื่องเล่าในการกระตุ้นให้เห็นความมีความหมายได้โดยมีผลทั้งต่อความคิดและความรู้สึก การสอดประสานระหว่างความคิดและความรู้สึกน่าจะมีเหตุผลจากที่การฟังเรื่องเล่าเป็นการคิดและรู้สึกตามเนื้อหาเพื่อให้เข้าใจความเป็นเรื่องราว และการเล่าเรื่องก็เป็นอีกรูปแบบหนึ่งของการจัดการกับประสบการณ์ โดยอาศัยการถ่ายทอดและเรียบเรียงเป็นความคิด

การปรับหาผู้อื่น

ทั้งวิธีการไตร่ตรองตัวตน การฟังและการเล่าเรื่องนั้น ต่างก็มีลักษณะร่วมกับวิธีการ “เอาใจเขามาใส่ใจเรา” นั่นคือ มีองค์ประกอบของการเชื่อมโยงเข้าสู่สิ่งที่มีความมีความหมายที่ตนมีอยู่ อย่างไรก็ตาม ในส่วนของการฟังเรื่องเล่านั้น น่าจะแสดงให้เห็นชัดว่ามีองค์ประกอบอีกประการเพิ่มเติม นั่นคือ แทนที่จะเป็นการเชื่อมโยงสิ่งที่รับรู้เข้าสู่สิ่งที่มีความหมายกับตนเพียงอย่างเดียว การฟังเรื่องเล่าของคนอื่นน่าจะมีองค์ประกอบของการเชื่อมโยงตัวเราสู่สิ่งที่แตกต่าง การเชื่อมโยงดังกล่าวอาจเริ่มจากพื้นฐานดั้งเดิมของตน แต่ในที่สุดกระบวนการในความพยายามทำความเข้าใจตามเนื้อหาที่เป็นเรื่องราวของผู้อื่น จะช่วยให้เกิดการขยายจากความมีความหมายดั้งเดิมสู่ความมีความหมายใหม่ๆ องค์ประกอบที่ปรากฏในการฟังเรื่องเล่าข้อนี้ พบว่ามีปรากฏใช้ในวิธีการอื่นๆ ด้วย ลองเริ่มต้นพิจารณาจากตัวอย่างต่อไปนี้

…แต่ก่อนนี้ผมมีความคาดหวังกับเจ้าหน้าที่เช่นเดียวกัน หวังให้คนโน้นเป็นอย่างนี้ ตั้งแต่สมัยอยู่บ้านเหลื่อม เป็นการกดดันเขา เอ่อ ยัดเยียดให้เขาทําบางอย่างโดยที่เขาไม่รู้ตัว แล้วก็โดยที่เขาไม่เต็มใจ โดยการที่เราเสนอความ คิดดีๆ อุ๊ย เขามีโปรเจ็คท์อย่างนี้ดีๆ เลยนะ patient center care ดูแลด้วยผู้ป่วยเป็นศูนย์กลางนะ ผมของบองค์การ อนามัยโลกมาได้แล้วนะ ทุกคนนั่ง…โอย หมอ อะไรมาอีกแล้ว…เจ้าหน้าที่เราก็รู้สึกไม่ค่อยเต็มใจ ถูกบังคับยัดเยียดนะครับ แล้วเราก็คาดหวังในตัวเขา เขาก็ทุกข์ทรมาน…แล้ววันนี้ผมก็ได้คําตอบที่ว่า ผมปรับกระบวนคิดผมใหม่ เพราะว่าหนึ่งผมเห็นความทุกข์ของเจ้าหน้าที่ที่อยู่กับผม…ขึ้นมาเราหวังให้แพทย์มาทํางาน 8 โมงครึ่ง พอ 8 โมง 45 แพทย์ไม่มา ผมโทรตามเลย…สุดท้ายตอนนี้ก็คือผมเปลี่ยน เพราะเห็นความทุกข์จากระบบของผมเอง มาเป็นว่าเราควรจะดูแลเขาด้วย ก่อนที่จะให้เขามีระบบบริการที่มีหัวใจความเป็นมนุษย์เนี่ยะ…ผู้บริหารจะต้องบริหารเขาด้วยหัวใจความเป็น มนุษย์เช่นเดียวกัน ต้องเข้าใจว่า ที่จริงๆ แล้ว แพทย์ขึ้นมา 8 โมงครึ่งไม่ได้ เมื่อคืนยังไม่ได้นอนเลย ลงเวรไปน่ะ…ฉะนั้นตรงนี้เราก็เริ่มเข้าใจเขามากขึ้น…

(ลปรร.ภาคอีสาน)

ข้อความที่ยกมาแสดงให้เห็นว่ามีการริเริ่มไตร่ตรองตัวตนเนื่องจากมีเหตุการณ์มากระทบ และพบว่าต้องก้าวพ้นจากขอบเขตแห่งความมีความหมายเฉพาะตนเพื่อเชื่อมโยงสู่ผู้อื่น จุดเริ่มต้นของวิธีการนี้คือการไม่ใช้ตนเองเป็นตัวตั้ง แม้สิ่งที่ตนยึดถือนั้นจะมีคุณค่าความสำคัญ หรือมีความมีความหมายต่อตนเองมากก็ตาม ข้อความนี้ยังมีความน่าสนใจอีกประการ นั่นคือ เบื้องต้นผู้บริหารท่านนี้เป็นผู้ที่ตระหนักความมีความหมายของชีวิตดีแล้ว แต่เมื่อมาอยู่ในความสัมพันธ์กับผู้อื่น ก็ยังพบความจำเป็นที่จะต้องปรับความมีความหมายนั้น จุดนี้น่าจะทำให้ลักษณะการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องของผู้ “ตระหนัก” ในความมีความหมายของชีวิตชัดขึ้น