จากผู้อื่น
…แต่พอเราได้ไปอยู่ตรงนั้นจริงๆ แล้วได้พูดคุยกับเขา ความรู้สึกแรกในทีมบอกว่าตอนแรกไม่อยากมีใครพูดกับเจ๊หรอก เพราะเจ๊มีแต่คนเขาล่ำลือ มีแต่คนพูดว่าร้ายจะตาย มันคิดว่ามันเก่งอยู่คนเดียว พอเราฟังตรงนั้น เราถึงได้รู้เลยว่าอ๋อไอ้ความรู้สึกที่เราไม่แคร์ใคร พอเราได้นั่งรับฟังคนแล้ว เราเริ่มแคร์เขา เราก็ได้กลับมานั่งทบทวนตัวเราเอง แล้วเราก็บอกว่าจริงๆ เราไม่ใช่คนอย่างนั้นหรอก ก็คือได้คุยกันจริงๆ แล้วไอ้ที่เคยคิดว่าจะไม่แคร์ใครนั้นมันไม่ใช่แล้วล่ะ เราคงต้องแคร์คนรอบข้างบ้าง… …ที่ไม่เคยรู้ก็เริ่มรู้โดยที่จากการผ่านคนบอกกล่าว แล้วก็การที่ตัวเรามองตนเองได้ก็เลยทำให้ตนเองนั้นมีมุมมองการทำงาน มุมมองของชีวิต หรือมุมองที่จะทำงานร่วมกับคนอื่น มันก็เริ่มซอฟต์ลง เคยฟันใครตรงๆ ถือดาบไปชั๊ว ชะใคร ก็เริ่มเปลี่ยน จะเห็นว่าจากตนเองที่เจอเหตุการณ์อะไร จะต้องเอาโน่นเดี๋ยวนี้ เอานี่เดี๋ยวนี้ อย่างนี้ๆ ฉันตัดสินใจให้อย่างโน้น อย่างนี้ก็ไม่ เปลี่ยนแล้ว เริ่มกลับมาทบทวนทุกอย่าง มองอะไรที่แบบ ฟัง มองถอยกลับมา ห้อยแขวนไว้ก่อนนะ เดี๋ยวก่อนเดี๋ยวค่อยก้าวกลับไปอีกที เหมือนเป็น step ลีลาศน่ะ ถอยหน้าถอยหลัง ถอยหน้าถอยหลังไปเรื่อยๆ ก็เลยมีความรู้สึกว่าอะไรที่เรามีการปรับเปลี่ยนตรงนี้ ถามว่าดีขึ้นไหม ดีขึ้นเยอะในการทำงานของตัวเรานะคะ รู้เท่าทันกับทุกสิ่งทุกอย่างที่มากระทบ รู้มากขึ้น…
(ลปรร.ภาคกลาง)
การไตร่ตรองย้อนหลังนั้นมีองค์ประกอบทั้งความคิดและความรู้สึกอยู่พร้อม เนื่องจากเป็นการคิดถึงประสบการณ์ที่เกิดขึ้นแล้วและลักษณะของประสบการณ์คือการที่บุคคลเข้าส่วนร่วมโดยตรง ทำให้มิติของความรู้สึกเด่นชัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าพิจารณาเห็นว่าเรามักไตร่ตรองย้อนหลังเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่มีผลกระทบต่อความรู้สึก และในขณะเดียวกัน เห็นได้ชัดว่าการไตร่ตรองเป็นกิจกรรมของความคิด การไตร่ตรองย้อนหลังจึงเป็นการปรากฏร่วมของความคิดและความรู้สึก
การรับฟังเสียงสะท้อนจากผู้อื่นก็มีมิติของความรู้สึกเด่นชัดเช่นกัน เนื่องจากบุคคลให้ความสำคัญกับทัศนะของผู้อื่นที่มีต่อตนเอง หากทัศนะของผู้อื่นกระทบต่อสิ่งที่ยึดถือ (เช่น “ฉันเป็นคนดี”) ก็จะทำให้บุคคลเผชิญกับสิ่งที่แปลกแยกไปจากโลกของตน ถ้ามีกิจกรรมการคิดที่เหมาะสมหรือมีผู้ชี้นำ ก็จะช่วยให้เกิดการทำงานที่สอดประสานกันระหว่างความคิดและความรู้สึกทำให้เกิดตระหนักในความมีความหมายบางอย่างได้ อีกประเด็นหนึ่งที่สำคัญก็คือการไตร่ตรองหรือทบทวนเกี่ยวกับตนเองนั้น มีนัยะของการประเมินตนเองตามมาตรฐานที่สำคัญบางอย่าง ซึ่งอาจเป็นเรื่องส่วนตัว เช่น “ฉันเป็นคนดี” หรือเป็นเรื่องของความถูกต้องเหมาะสมอื่นๆ
การไตร่ตรองตัวตนยังกระทำได้โดยใช้จินตนาการในสถานการณ์
…เล็กจะใช้วิธีการสะท้อน คือ จะไม่สอน แต่จะเล่าถึงสถานการณ์ แล้วให้เค้าได้ใช้วิธีการทบทวนตัวเองว่า ถ้าเป็นเรา เรารู้สึกอย่างไร ความรู้สึกของเราถ้าหากเป็นอย่างนั้น เป็นเช่นนี้เนี่ยจะรู้สึกอย่างไร ซึ่งตรงนี้มีความรู้สึกว่าเทคนิคนี้เป็นสิ่งที่สำคัญ แล้วเป็นสิ่งที่ตัวเองเนี่ยจะใช้แทบจะทุกวันนี้เลยว่า จะใช้เทคนิคของการให้ทุกคนได้ทบทวนความรู้สึกของตนเองทุกครั้ง และก็ถ้าเป็นในครั้งหน้า ฉันจะเป็นอย่างนี้ ฉันจะพยายามไม่ทำเพื่อจะให้เกิดปัญหาในครั้งต่อๆ ไปแล้ว…
(ลปรร.ภาคกลาง)
การจินตนาการในสถานการณนี้ช่วยให้เห็นจุดร่วมและเชื่อมโยงสู่อีกวิธีการหนึ่งที่ได้ผลดีในการประสานความคิดและความรู้สึกเพื่อสร้างความมีความหมาย นั่นคือ การฟังเรื่องเล่าและการเล่าเรื่อง