อ่อนไหว เนื่องจากมีความตระหนักต่อความมีความหมายสูง อันส่งผลให้ถูกกระทบกระเทือนได้ง่าย จึงมีส่วนผลักดันให้จัดการกับความคิดเพื่อรักษาความมีความหมายนี้ไว้
การคิดเชิงบวกนี้ดูจะมีพลังพิเศษ กระทั่งก่อผลคล้ายๆ กับการทำงานของสมรรถนะพิเศษบางอย่างที่ไม่ใช่ความคิด เช่น
(ถาม)…ตัวผมเองผมมีความเชื่อว่า positive thinking ที่มันได้ตอนนั้น จริงๆ มันอาจจะแผ่พลังอะไรบางอย่าง ให้กับคนที่เรา counseling ณ real time นั้นอยู่ คือแทนที่เราจะมาสะท้อนทีหลังว่า เราเห็นความงดงามของคนอีกแล้วหลัง session ตอนกลับบ้านไปเนี่ย แต่ถ้าเราสามารถจะยืมพลังตอนที่เรารู้สึกอย่างนี้ ตอน real time เนี่ย แล้วเรารู้สึกอินกับเรื่องเค้า แล้วก็อาจจะมีโอกาสสะท้อนความรู้สึกของเราลงไปบ้างเนี่ย ในความ positive thinking ตรงนี้ไป…อาจารย์ใช้หรือเปล่า ใช้ตอนไหน แล้วก็ใช้ตอนเป็น counseling tool ด้วยหรือเปล่า…
(ตอบ)…กรณีอย่างที่อาจารย์ว่านี่ คือข้อสรุปอย่างที่ว่าเนี่ย มาสรุปได้เมื่อไม่นานมานี้เอง แต่สิ่งที่ตัวเองใช้เป็นเทคนิคเนี่ยใช้อยู่แล้ว คือรู้สึกปุ๊บจะสะท้อนทันที เมื่อไหร่ที่เรารู้สึกบวกปุ๊บ แล้วคือตัวเองไม่ใช่แค่แบบมันรู้สึกน่ะ ใช้คําว่ามันลึกซึ้ง มันเป็นความรู้สึกที่ลึกซึ้ง ต้องใช้คํามากกว่านั้น มันไม่ใช่แค่รู้สึกมันสัมผัส แล้วเวลาที่ตัวเองสัมผัสเนี่ยจะบอกเค้าทุกครั้ง…
(ลปรร.ภาคกลาง)
ตัวอย่างที่ยกมานี้ดูเหมือนเป็นอุดมคติแห่งการคิดเชิงบวก กล่าวคือ หากทำได้สำเร็จ ก็จะไม่ใช่แค่คิดเท่านั้น แต่สามารถ “สัมผัส” ถึงสิ่งเชิงบวกด้วย
ทั้งนี้ สังเกตได้ว่าการจัดการความคิดนี้ ดูเหมือนมุ่งจัดการความรู้สึก คือ คิดเชิงบวกเพื่อสร้างความสบายใจเป็นอย่างน้อย หรือความดื่มด่ำเป็นอย่างมาก แต่หากพิจารณาต่อไปจะพบว่าในที่สุดแล้ว ดูเหมือนว่าการจัดการความคิดต่างหากที่เป็นเป้าหมายหลัก ทั้งนี้จะเห็นประเด็นนี้ได้จากวิธีการจัดการอารมณ์อื่นๆ ที่ไม่ได้กระทำผ่านการจัดการความคิด วิธีการที่พบบ่อยคืออาศัยวิธีการทางศาสนา เช่น การฝึกสติ การทำสมาธิ การสวดมนต์
…แบบว่าหลายๆคนก็มาสั่งแบบนี้เราก็เกิดความเครียด พอว่ากลับไปที่บ้านเนี่ย พอเครียดอยู่เนี่ยก่อนนอนก็นั่งทําสมาธิ สมาธิเสร็จแล้วก็สวดมนต์ อุทิศส่วนบุญส่วนกุศลให้เหมือนกับแผ่เมตตาจิตให้เค้าอะไรแบบนี้นะค่ะ ไอ้ที่เราคิดเราเคืองมันก็จะหายไป…
(ลปรร.ภาคใต้)
หากพิจารณาอย่างใกล้ชิดจะพบว่าวิธีการเหล่านี้ก็มีไว้เพื่อสนับสนุนการจัดการกับความคิด
…เราก็ต้องเผชิญกับสิ่งเหล่านี้ตลอดเวลา แล้วจิตของเราก็อาจตกลงมา ในที่สุดก็พบว่าเราทำให้สุขได้ แก้ปัญหาข้างนอกด้วยใจที่ไม่เป็นทุกข์ได้ ดำรงจิตให้ได้นานและเทคนิคการดำรงจิตให้เป็นสุขและข้างนอกก็คือเคลื่อนไหวอย่างสงบเย็น ตรงนี้เป็นตัวอย่างคำ แล้วก็เป็นเหมือนแผนที่ เป็นเส้นทางสู่ภาวะสะอาดสว่าง สงบสุข ข้างในเป็นสุข ข้างนอกก็เคลื่อนไหวแก้ปัญหาได้มากที่สุด แล้วก็สงบเย็นเป็นประโยชน์ แล้วก็จิตของเราอยู่ตรงนี้ ตั้งมั่นไว้ข้างบนอย่าลงมาบ่อยนัก…
(ลปรร.ภาคกลาง)
…พี่ก็ทํางานของพี่ พี่จะมีสติของพี่ไป ถ้าว่าโกรธ พี่จะต้องมาทํางาน ต้องมาเขียนงาน หรือว่าทํางานเพื่อจะได้ไม่ไไปโกรธเค้าอยู่ มีจิตอยู่กับงานเนี่ย มันก็จะหายไปเอง มันก็จะจางไปเอง ก็เลยเป็นคนที่ไม่คิดมากเพราะว่าทํางานอะไรเนี่ยชอบปิดทองหลังพระ…แต่ว่าเค้าไม่เคยอ้างถึงเนอะ เราก็แบบว่า เออ..ไม่เป็นไรเหรอกเราทําดี…อย่าไปคิดว่าเราได้อะไร ก็เป็นอะไรที่เราคิดเนอะเราคิดปลอบใจตัวเอง เพราะเราเริ่มมีสติใช้สติกับตัวตลอด เราก็จะสามารถทําอะไรก็ได้ คนไข้เวลาเค้าเป็นโรคนะคะ เขาจะไม่ค่อยมีสติ เค้าจะแบบทําไมโรคนั้นต้องมาเกิดกับชั้นด้วย เราบอกว่าถ้าเรามีสติ เออมันเกิดขึ้นมาแล้วนะ มันมีแนวทางแก้ไขได้ทํายังไง…
… การฝึกจิต ฝึกสมาธิให้ได้สติ พอมีสติก็จะมีผลกับการทํางาน เพราะฉะนั้นเนี่ยก็เหมือนที่เล่าไปนะคะ อีกอย่างที่คิดว่าเป็นสิ่งที่ดีก็คือ การคิดในเชิงบวก ซึ่งมันจะทําให้เราเปลี่ยนมุมมองบางอย่างได้เยอะ การฝึกสมาธิและจิตแล้วเนี่ย เราคิด เอ๊ะ ทําไมเค้าถึงทําอย่างนั้น มันคงมีเหตุผล ทําไมคนไข้ไม่อย่างนี้ ไม่กินยาอะไรอย่างเนี้ย อันนั้นเมื่อสมัยก่อนละ ไม่ค่อยเข้าใจ พอหลังๆก็เออ ก็เพราะว่าไม่มีคนพามา ก็เพราะว่ามันมีเหตุปัจจัยหลายอย่าง ซึ่งบางทีเราไม่ได้แม้แต่อ้าปากจะถาม หรือเค้าไม่มีเวลาอ้าปากจะพูดเนอะ อันนี้ก็ทําให้รู้สึกมันดีขึ้น…
(ลปรร.ภาคใต้)
จากข้อความจะเห็นได้ว่าการฝึกสติมีไว้เพื่อยับยั้งอารมณ์ที่ไม่ดี ทำให้สามารถปรับความคิดเพื่อคงความมีความหมายของสิ่งที่ตนทำหรือเพื่อให้ความหมายกับสิ่งที่ตนเผชิญได้ จึงจะเห็นได้ว่าความคิดนั้นจะยึดเป็นหลักเสมอ กระทั่งว่าจะต้องจัดการความรู้สึกเพื่อให้เข้ากับความคิด การยึดความคิดเป็นหลักนี้เห็นได้แม้ขณะที่กล่าวถึงวิธีการจัดการความคิดเพื่อจัดการกับความรู้สึก ดังปรากฏชัดใน
…แต่การคิดเป็น positive thinking เนี่ย บางทีไม่ใช่แค่หาวิธีการแก้ปัญหาด้วยปาก แต่ใจเราไม่ไปด้วย สมมุติบอกว่าเราหงุดหงิดเรื่องนี้มากเลย แต่ว่าเราบอกว่าลองหาจุดดีในจุดนี้สิ หาได้ก็จริงแต่ใจเราไม่ได้ไปกับสิ่งที่คิดน่ะ สมองกับจิตมันไม่ไปด้วยกัน มันก็ไม่มีความสุขน่ะ เราเพียงแต่หาจุดดีได้จริง แต่ใจเราก็ต้องอิ่มเอิบกับสิ่งนั้นไปด้วย…
(ลปรร.ภาคเหนือ)
ดังนั้น แม้พิจารณา “จิตวิญญาณ” ในฐานะความตระหนักในความมีความหมายนั้นต้องอาศัยการประสานงานระหว่างความคิดและความรู้สึก แต่ก็ดูเหมือนว่าความคิดจะได้รับบทบาทหลัก ในยามที่คนพยายามหาวิธีการเพื่อบรรลุสู่ความตระหนักนี้