“เอาใจเขามาใส่ใจเรา” อาจอาศัยการตั้งคำถามทำนอง “ถ้าเขาเป็นญาติเรา เราจะรู้สึกอย่างไร” หรือ “ถ้าเราเป็นแบบเขาบ้าง เราจะรู้สึกอย่างไร” เมื่อจิตนาการความรู้สึกได้ก็จะสามารถขยายขอบเขตการรับรู้ความหมาย จากเดิมที่จำกัดกับความรู้สึกเริ่มแรกที่สัมพันธ์กับความเข้าใจชีวิตที่มีอยู่เดิม ช่วยให้สามารถเห็นความหมายใหม่ของสถานการณ์ (วิธีการนี้พบมากในคำกล่าวของเหล่าพยาบาลที่อุทิศตนดูแลผู้ป่วยโรคเอดส์)
(ข) อาศัยผู้อื่นเป็นฐาน : บุคคลพยายามเชื่อมโยงตนเองเข้ากับผู้อื่น โดยพยายามมีมุมมองแบบของเขาให้ได้ อาจเริ่มต้นด้วยวิธีการอาศัยตนเองเป็นฐาน แต่ในที่สุดต้องเข้าถึงความเป็นปัจเจกของผู้อื่น เป็นวิธีการที่ต้องอาศัยการเสวนาและปรับตนเองเข้าหาผู้อื่น โดยตั้งโจทย์ว่าจะแสวงหา “ปมชีวิต” ของเขา เมื่อผ่านกระบวนการนี้ไปเรื่อย ๆ บุคคลจะเข้าใจผู้อื่นในบริบทชีวิตของเขาเอง เรียกได้ว่าเป็นการ “เอาใจเราไปใส่ใจเขา” วิธีการนี้เป็นการให้อิสระแก่เขา ไม่บังคับให้เขาเป็นตามความคาดหวังของเรา เปิดโอกาสให้เป็นตัวเขาเอง อันเป็นจุดเริ่มต้นของการเสริมพลัง (วิธีการของ น.พ.สกล)
ในส่วนของการเชื่อมโยงนี้ มีการกล่าวถึงกรณีที่เกิดขึ้นเองจากการสัมผัสหรือการมองเห็น เป็นความเชื่อมโยงที่เกิดขึ้นเอง เนื่องจากลักษณะบางอย่างของมนุษย์ที่อ่อนไหวต่อความสัมพันธ์กับมนุษย์ด้วยกัน นอกจากนี้ น.พ.สกล ยังยืนยันว่าแหล่งของคุณค่าแท้จริงแล้วมาจากผู้อื่น
วิธีการใช้แม่แบบ : วิธีการสร้างความหมายอีกวิธีคือการเปลี่ยนตนเองให้เป็นเหมือนแม่แบบ ซึ่งกระทำได้ใน ๒ ลักษณะ ได้แก่
(ก) อาศัยผู้อื่นเป็นแม่แบบ : บุคคลได้รับแรงบันดาลใจจากผู้อื่นที่มีคุณลักษณะน่าชื่นชม และอาศัยพฤติกรรมของผู้นั้นเป็นแม่แบบนำทาง รวมถึงความพยายามให้ความหมายแก่ชีวิตหรือสถานการณ์ผ่านกรอบการทำงานของแม่แบบนั้นด้วย
(ข) อาศัยสถานะเป็นแม่แบบ : โดยปกติสถานะจะแฝงนัยยะเชิงบรรทัดฐาน เช่น หมอควรเป็นอย่างไร ครูควรเป็นอย่างไร บางครั้งบุคคลจะรู้สึกตระหนักในสถานะของตน เช่น รู้สึกว่าสิ่งนี้เป็นทางที่ตนเลือก หรือรู้สึกว่ารุ่นน้องกำลังมองอยู่ ในกรณีนี้เขาก็จะให้ความหมายแก่ชีวิตและสถานการณ์ตามอุดมคติที่สถานะของตนตั้งไว้
รักษาความหมาย :
เมื่อสร้างความหมายหรือให้ความหมายใหม่แก่ชีวิตแล้ว ยังมีกระบวนการรักษาความหมายได้แก่
(ก) ตระหนักในอิสระ : บุคคลมีความกระจ่างว่าอะไรคือคุณค่าหรือความหมายในชีวิตตน เห็นว่าคุณค่าหรือความหมายที่มีเป็นการเลือกโดยอิสระของตน จึงเห็นว่าตนเป็นนายตัวเอง และคอยผลักดันและกำกับแนวทางแห่งชีวิตตน
(ข) เรียนรู้ : บุคคลที่เป็นนายตนเองมีสติกับสิ่งที่ทำ คอยหวนไตร่ตรองสิ่งที่ทำไปแล้วเพื่อเรียนรู้และปรับปรุงตนเอง การเรียนรู้นี้ไร้รับแรงผลักดันและเป็นไปตามกรอบความหมายที่ตนเลือก
(ค) เห็นคุณค่าในตน : บุคคลที่ทำตามความหมายที่ตนเลือกรู้สึกว่าตนเองมีคุณค่า มีความภาคภูมิใจ รู้สึกมีศักดิ์ศรี เห็นความงามหรือคุณธรรมในตนเอง
ปัจจัยเกื้อหนุน :
การสร้างและรักษาความหมายดำเนินไปได้ก็ด้วยปัจจัยเกื้อหนุน ได้แก่ ครอบครัวที่มีความเข้าใจในเป้าหมายที่บุคคลเลือก ทีมงานที่เป็นกัลยาณมิตร มีความกลมเกลียวและพึ่งพากันได้ ความสำเร็จในการทำงาน นอกจากนี้ยังมีการกล่าวถึงเรื่องความรู้อีกด้วย (ความรู้เกี่ยวกับเอดส์)
ทั้งนี้ในการสรุปองค์ประกอบข้างต้น สิ่งที่ข้ามไปก็คือประสบการณ์ของผู้เป็นศาสนิกที่มองโลกและปฏิบัติตามคำสอนของศาสนา เนื่องจากเห็นว่าองค์ประกอบที่นำเสนอข้างต้นก็น่าจะครอบคลุมประสบการณ์ของศาสนิกได้บางส่วน และเห็นว่าวิธีการบางอย่างที่ศาสนิกใช้ก็จำกัดเฉพาะศาสนา เช่น การปฏิบัติวิปัสสนา
6. อภิปราย
ถ้ายึดถือว่า “จิตวิญญาณ” เป็นเรื่องของการเห็นความมีความหมายของชีวิต ก็จะกล่าวได้ว่าประสบการณ์ของผู้เข้าร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ข้างต้นดูจะชี้ไปในทางที่ว่า “จิตวิญญาณ” นี้เป็นภาวะที่เกิดจากการทำงานร่วมกันอย่างเป็นพลวัตของความคิดและความรู้สึก ภาพที่เด่นชัดขึ้นจากการพิจารณาประสบการณ์เหล่านี้ น่าจะเป็นบทบาทของความรู้สึก ซึ่งเป็นสะพานเชื่อมโยงมิติด้านความคิดและด้านสังคมเข้าด้วยกัน และยังเชื่อมโยงกับมิติด้านกายด้วย (เช่น วิธีการสัมผัสผู้ป่วยที่ผู้ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้เล่า) นอกจากนี้ ยังเห็นได้ว่าในส่วนของปัจจัยเกื้อหนุนนั้นก็จะดูแสดงบทบาทของสุขภาวะทางสังคมเป็นสำคัญ อย่างไรก็ตาม การอภิปรายนี้ยังติดกรอบความคิดที่เห็นว่าสุขภาวะด้านจิตวิญญาณสัมพันธ์โดยตรงกับสุขภาวะด้านอื่น ๆ ทั้งที่ข้างต้นได้ตั้งข้อสงสัยไว้ว่าระหว่างสุขภาวะด้านจิตวิญญาณกับสุขภาวะด้านอื่น ๆ น่าจะมีอีกสิ่งหนึ่ง คือ สุขภาวะโดยรวมของบุคคล การจะทำความเข้าใจภาวะด้านจิตวิญญาณหรือการเห็นความหมายของชีวิตนั้น อาจจะต้องอาศัยองค์ประกอบอื่น ๆ หรือ “ภาษา” อื่นที่ไม่เกี่ยวกับสุขภาวะก็ได้
ทั้งนี้ สิ่งที่ไม่ได้ทำในการสรุปองค์ประกอบจากการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ก็คือการหาในส่วนของเนื้อหาของความหมายของชีวิต อาจเรียกว่า “องค์ประกอบด้านเนื้อหาของจิตวิญญาณ” ทั้งนี้ไม่ใช่เรื่องเฉพาะเจาะจง แต่กำลังกล่าวถึง “ทิศทาง” หรือ “กรอบ” ของความหมายที่ “ควร” จะเป็นมี หรืออีกนัย หรือ กำลังกล่าวถึงคำถามที่ว่า “ต้องเห็นความหมายของชีวิตในทำนองไหนจึงจะเรียกได้ว่ามีสุขภาวะด้านจิตวิญญาณ” ประเวศ วะสี ที่ดูจะอธิบายเลยไปถึงส่วนนี้ โดยชี้ว่า “จิตวิญญาณ” ที่ท่านเรียกว่า “ปัญญา” นี้ ต้องมีทิศทางเนื้อหาบางอย่าง ซึ่งบางส่วนได้อิทธิพลจากพระพุทธศาสนา เช่น ควรมีเรื่องอิทัปปัจจยตา หรือควรปราศจากตัณหา มานะ และทิฐฏิ เป็นต้น ทิศทางหรือกรอบเช่นนี้อาจจำเป็น ถ้าเห็นว่าการค้นพบเป้าหมายชีวิตว่าจะเป็น “นักฆ่า” หรือ “คาสโนว่า” นั้นไม่นับว่าสุขภาวะทางจิตวิญญาณ
7 .สรุป
ถ้าไม่คิดว่าจะนำศาสนามาช่วยตอบปัญหาว่าอะไรคือ “สมรรถนะ” หรือ “อินทรีย์” พิเศษที่นอกเหนือไปจากด้านกาย ด้านความคิด และด้านความรู้สึก เราก็อาจถือว่า “จิตวิญญาณ” เป็นภาวะที่เป็นผลจากการทำงานร่วมกันของด้านความคิดและความรู้สึก โดยความรู้สึกเป็นตัวเชื่อมโยงเข้ากับด้านกายและด้านสังคม และภาวะด้านจิตวิญญาณนั้นก็เป็นเรื่องของการเห็นเป้าหมาย คุณค่าหรือความหมายของชีวิต ซึ่งก้าวเกินไปกว่าสุขภาวะโดยรวมของบุคคล ถ้าพิจารณามานี้พอเป็นแนวทางได้ ส่วนต่อไปน่าจะศึกษาเกี่ยวกับการให้ความหมายชีวิตที่ใช้ภาษาต่างออกไป รวมถึงศึกษาทิศทางหรือกรอบว่าอะไรคือ “สุข – ภาวะ” ด้านจิตวิญญาณ
ปกรณ์ สิงห์สุริยา, ภาควิชามนุษยศาสตร์
คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
(กันยายน ๒๕๕๑)