คุณค่าของความเป็นมนุษย์ ตอนที่ 28

การทำงานในขอบเขตหน้าที่และการทำงานเกินหน้าที่ การทำงานในขอบเขตหน้าที่ของผู้เข้าร่วมกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้นั้นต่างไปจากบุคลากรทั่วไป เนื่องจากแม้เป็นงานในหน้าที่ แต่ก็กระทำด้วยสำนึกเปี่ยมล้นถึงอุดมการณ์วิชาชีพ หรือหน้าที่ความเป็นข้าราชการ สิ่งที่น่าสนใจคือมีการทำงานเกินหน้าที่ปรากฏอยู่ด้วย เข้าใจได้ไม่ยากว่าการกระทำดังกล่าวก็ผลักดันด้วยความมุ่งมั่นที่จะทำให้อุดมการณ์เป็นจริงด้วยเช่นกัน อย่างไรก็ตาม ข้อนี้ก็อาจทำให้ต้องตั้งคำถามว่าหากจะนำบทเรียนจากการสังเคราะห์ความรู้นี้ไปใช้ หมายความว่าบุคลากรคนอื่นๆ ก็ต้องทำงานเกินหน้าที่ทั้งหมดใช่หรือไม่ อะไรจะเกิดขึ้นถ้าทุกคนทำเกินหน้าที่ทั้งหมด การไม่ทำเกินหน้าที่ถือว่าเป็นข้อบกพร่องหรือไม่ อันที่จริงการพบเรื่องการทำเกินหน้าที่นี้อาจไม่น่าประหลาดใจเนื่องจากบุคลากรผู้เข้าร่วมกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ต่างก็เป็นแบบอย่างแห่งการทุ่มเท

อย่างไรก็ตาม เพื่อประโยชน์สำหรับการพิจารณาต่อไปในกรณีของการนำบทเรียนที่ได้ไปปรับใช้ จึงเห็นความจำเป็นที่จะทำความเข้าใจเกี่ยวกับแนวคิดเรื่อง “ทำเกินหน้าที่” (supererogation) โดยย่อ แม็คเคย์ (McKay, 2002: 71) สรุปการวิเคราะห์ที่มีชื่อเสียงในหนังสือเรื่อง Supererogation: Its Status in Ethical Theory ของเดวิด เฮด (David Heyd, 1980) ไว้ได้อย่างกระชับว่าการทำเกินหน้าที่ มีองค์ประกอบ คือ (ก) ไม่จำเป็นต้องทำ แต่ในขณะเดียวกัน ก็มิได้ห้ามมิให้ทำ (ข) การไม่ทำถือว่าไม่ผิด ไม่ต้องได้รับคำวิจารณ์หรือการลงโทษ (ค) เป็นสิ่งที่ดีเชิงจริยธรรม ทั้งในแง่ที่ว่านำมาซึ่งผลดีและมีค่าในตนเอง (ง) เป็นสิ่งที่ทำอย่างสมัครใจเพื่อประโยชน์ของผู้อื่น จึงควรแก่การชื่นชมยกย่อง นอกจากนี้ แม็คเคย์ยังเพิ่มอีกองค์ประกอบได้แก่ (จ) ผู้กระทำต้องเสียสละหรือต้องเผชิญความเสี่ยงบางอย่าง เหตุที่ควรเพิ่มองค์ประกอบดังกล่าวเนื่องจากช่วยอธิบายให้เห็นชัดว่าการไม่ทำเกินหน้าที่เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ เมื่อเป็นเช่นนี้ จะเห็นว่าการนำไปปรับใช้นั้นไม่จำเป็นต้องเผชิญความท้าทายที่จะเรียกร้องให้ทุกคนทำเกินหน้าที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การปรับใช้ในรูปแบบของการสร้างระบบและกระบวนการที่เป็นมาตรฐานสำหรับใช้โดยทั่วไป

อีกประเด็นหนึ่งที่ควรกล่าวถึงเกี่ยวกับมาตรฐานตามข้อกำหนดกรุงเทพฯ เมื่อเปรียบเทียบกันระหว่างข้อกำหนดที่พบว่าสะท้อนในข้อมูลการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในส่วนของผู้ต้องขังและในส่วนของบุคลากร จะเห็นว่าข้อกำหนดเหล่านี้มีความสอดคล้องกัน ข้อนี้จะอภิปรายได้ชัดขึ้นหากอาศัยกรอบจากผลการสังเคราะห์ในส่วนของบุคลากร ซึ่งมีการแบ่งระหว่างองค์ประกอบที่เป็น “เงื่อนไขการพัฒนาคุณค่าในตน” กับองค์ประกอบที่เป็น“การพัฒนาคุณค่าในตนของผู้ต้องขัง” องค์ประกอบแรกเกี่ยวกับสิ่งที่เป็นเงื่อนไขปัจจัยที่ช่วยให้ผู้ต้องขังสามารถพัฒนาคุณค่าของตนในฐานะปัจเจกบุคคล ตัวอย่างของเงื่อนไขปัจจัยเหล่านี้ เช่น การมีสุขภาพกายและสุขภาพจิตที่ดี การได้พบปะญาติมิตร เป็นต้น สำหรับองค์ประกอบหลังเป็นเรื่องของกิจกรรมที่จัดขึ้นเพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ต้องขังได้พัฒนาคุณค่าในฐานะปัจเจกบุคคลโดยตรง เช่น กิจกรรมการฝึกอาชีพ การกีฬา การวาดภาพ เหล่านี้ทำให้ผู้ต้องขังได้เกิดความภาคภูมิใจในตนเอง ไม่ว่าจะในแง่ของการได้ลงแรงพยายามหรือในแง่ของความสำเร็จที่ได้มา

หากอาศัยกรอบจากผลการสังเคราะห์ดังกล่าว จะเห็นได้ว่าข้อกำหนดส่วนใหญ่ที่พบจัดอยู่ในกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับ “เงื่อนไขการพัฒนาคุณค่าในตนของผู้ต้องขัง” ได้แก่ การดูแลสุขภาพทางกาย (ข้อกำหนดที่ 14) การดูแลสุขภาพทางจิต (ข้อกำหนดที่ 12, 13 และ 16) การให้ผู้ต้องขังได้ใกล้ชิดกับบุตรและญาติมิตร (ข้อกำหนดที่ 2, 4, 26, 28 และ 58) และ การดูแลให้เข้าถึงกระบวนการยุติธรรม (ข้อกำหนดที่ 2) มีเพียงข้อกำหนดข้อเดียวเท่านั้นที่เกี่ยวกับ “การพัฒนาคุณค่าในตนเองของผู้ต้องขัง” นั่นคือ ข้อกำหนด 42 ที่ระบุว่าผู้ต้องขังหญิงต้องเข้าถึงโครงการกิจกรรมที่สมดุลและครอบคลุม ซึ่งพบในข้อมูลส่วนของผู้ต้องขังและมีความเกี่ยวข้องกับการทำงานและการพัฒนาตนของผู้ต้องขัง

ประเด็นที่พบนี้แสดงว่าแม้มาตรฐานข้อกำหนดกรุงเทพฯ ดูจะให้น้ำหนักแก่การเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ซึ่งเป็นเรื่องของ “เงื่อนไขการพัฒนาคุณค่าในตนของผู้ต้องขัง” แต่มาตรฐานดังกล่าวก็ยังเปิดพื้นที่ให้แก่ “การพัฒนาคุณค่าในตนของผู้ต้องขัง” ด้วย โดยการพัฒนาที่ว่านี้อยู่ในรูปของการจัดกิจกรรมต่างๆ ข้อที่น่าสนใจคือว่ากิจกรรมเหล่านี้ส่วนหนึ่งเป็นการให้ผู้ต้องขังช่วยงานเจ้าหน้าที่เรือนจำ บทเรียนที่น่าจะได้จากการแลกเปลี่ยนเรียนรู้นี้คือแม้มาตรฐานข้อกำหนดกรุงเทพฯ จะเน้นการเคารพคุณค่าของผู้ต้องขังหญิงในฐานะมนุษย์ แต่การนำไปปฏิบัติควรที่จะพิจารณาในกรอบที่กำหนดด้วยเป้าหมายที่กว้างกว่านั้น ได้แก่ การมุ่งเปิดโอกาสให้ผู้ต้องขังหญิงได้พัฒนาคุณค่าในฐานะปัจเจกบุคคล ซึ่งในที่สุดจะนำสู่การฟื้นคืนอัตลักษณ์ที่สูญเสียไป

7. สรุป

สรุปได้ว่าการสังเคราะห์ความรู้ทั้งในส่วนของผู้ต้องขังหญิงและบุคลากรมีหลายองค์ประกอบที่ซ้อนทับกัน บุคลากรควรมีความเป็นนักวิชาชีพหรือสำนึกแห่งความเป็นข้าราชการเพื่อช่วยให้มองผ่านคุณค่าเชิงลบของผู้ต้องขังในฐานะปัจเจกบุคคลไปสู่คุณค่าความเป็นมนุษย์ของผู้ต้องขัง บุคลากรควรมีความสัมพันธ์กับผู้ต้องขังบนพื้นฐานความเข้าอกเข้าใจและทำความรู้จักปัจเจกภาพ เหล่านี้จะช่วยให้ผู้ต้องขังได้รับการเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ อันเป็นเงื่อนไขหนึ่งสำหรับพวกเขาในการพัฒนาคุณค่าของตนเองในฐานะปัจเจกบุคคล

ทั้งนี้ ผู้ต้องขังก็ต้องอาศัยเงื่อนไขอื่นๆ ไปพร้อมกัน (เช่น การลงโทษ กฎระเบียบประจำวัน กิจกรรมเสริมอาชีพ ฯลฯ) อันเป็นเงื่อนไขที่ช่วยให้เกิดความตระหนักในตนเอง อันเป็นพื้นฐานสู่สำนึกในตนเองในฐานะผู้กระทำที่ต้องเลือก ตัดสินใจ หรือวางเป้าหมาย ลงมือกระทำและรับผิดชอบต่อการกระทำของตน การมองในมิติของการสร้างสำนึกความเป็นผู้กระทำในตัวผู้ต้องขังก็ปรากฏเช่นกันในการสังเคราะห์ความรู้ในส่วนของบุคลากร

ในที่สุดแล้ว การเป็นผู้กระทำนี้จะนำสู่ความภาคภูมิใจหรือความรู้สึกถึงคุณค่าในตนเอง นับเป็นการสร้างอัตลักษณ์ที่สูญเสียไปขึ้นมาใหม่ บริบทของกระบวนการนี้ได้แก่ความสัมพันธ์กับผู้อื่น ไม่ว่าจะเป็นความสัมพันธ์กับญาติพี่น้อง คู่ครอง หรือบุตร อันเป็นความสัมพันธ์ที่เป็นพื้นฐานแห่งความหวัง และความสัมพันธ์กับเพื่อนผู้ต้องขังที่แสดงถึงมิตรภาพและความยอมรับ ทั้งนี้ การทำงานของบุคลากรเช่นนี้ถือว่าเป็นการส่งเสริมคุณค่าในตนเองไปด้วยเช่นกัน

การสังเคราะห์แสดงให้เห็นว่าแม้มาตรฐานข้อกำหนดกรุงเทพฯ จะมีที่เกี่ยวกับการพัฒนาคุณค่าในตนเองของผู้ต้องขังอยู่บ้าง แต่โดยรวมแล้ว มาตรฐานดังกล่าวเน้นหนักอยู่ที่มิติของการเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ อย่างไรก็ตาม หากนำผลการสังเคราะห์ที่ได้ไปพิจารณาเพื่อพัฒนาแนวทางการปฏิบัติตามมาตรฐานข้อกำหนดกรุงเทพฯ ย่อมเป็นไปได้ เนื่องจากผลการสังเคราะห์ความรู้ที่ได้นั้นครอบคลุมเกินกว่าศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ นั่นคือ ครอบคลุมทั้ง “เงื่อนไขการพัฒนาคุณค่าในตนเองของผู้ต้องขัง” และ “การพัฒนาคุณค่าในตนเองของผู้ต้องขัง” อย่างไรก็ตาม อย่างที่ชี้ไว้ในส่วนอภิปราย หากอาศัยบทเรียนความสำเร็จจากข้อมูลการแลกเปลี่ยนเรียนรู้โดยภาพรวม การขับเคลื่อนการนำมาตรฐานข้อกำหนดกรุงเทพฯ ไปปฏิบัติควรเป็นไปในกรอบของการมุ่งเปิดโอกาสให้ผู้ต้องขังได้พัฒนาคุณค่าในตนเองในฐานะปัจเจกชน

อ้างอิง

Ricoeur, P. (1992). Oneself as Another. Kathleen Blamey (trans.). Chicago: University of Chicago Press.

McKay, A.C. (2002). Supererogation and the Profession of Medicine. Journal of Medical Ethics, 28, 70-73.