คุณค่าของความเป็นมนุษย์ ตอนที่ 23

ช่วยเร่งกระบวนการเพื่อผู้ต้องหาไม่จำเป็นต้องถูกต้องขัง

…ก็สืบพยานไปก็มีข้อพิรุธเยอะ …ผมก็พิพากษายกฟ้องไป คดีนั้นถ้านักสืบเวลาปกติ จะสืบเดือนเมษายน 2553 ผมดึงคดีมาตัดสินปลายมกราคม ตัดสินเดือนกุมภาพันธ์ ยกฟ้องไป…พอผมตัดสินเสร็จ พอจะออกไปจากห้องตัวเอง จำเลยก็เปิดประตูออกมา มีประโยคหนึ่งที่พ่อเขาพูดขึ้นมาว่าลูกวันนี้เราได้กลับบ้านกันแล้วนะลูก ผมได้ยินคำนี้ผมขนลุก รู้สึกแปลกๆ ทำไมมันช่วยเขาได้เร็วขึ้น ถ้าผมปล่อยต่อ กุมภาพันธ์ มีนาคม เมษายน 3 เดือน กว่าศาลจะตัดสินพฤษภาคม อีก 1 เดือน แสดงว่าเด็กคนนี้ต้องอยู่ในเรือนจำฟรีๆ อีก 4 เดือน แต่ผมสามารถที่จะคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของเขาออกมาได้ ให้เหลืออยู่เวลาที่เขาโดนขังแค่ 3 เดือนนิดๆ รวมแต่ฝากขังมากแล้ว ทำให้เราเห็นว่าเราในฐานะเป็นผู้พิพากษาเราไม่ได้มีหน้าที่พิจารณาคดีอย่างเดียวเท่านั้น เมื่อศาลมีโครงการหรือมีอะไรที่สามารถเกี่ยวข้องกับจำเลยหรือปกป้องสิทธิจำเลยได้เราก็น่าจะเข้าไปเกี่ยวข้อง …(ลปรร. ผู้พิพากษา ครั้งที่ 1)

ขอบเขตการทำงาน

ข้อมูลการแลกเปลี่ยนเรียนรู้สะท้อนการทำงานเพื่อประโยชน์ การเคารพสิทธิและปกป้องสิทธิของประชาชนในหลายรูปแบบ ตั้งแต่ที่เป็นงานประจำไปจนกระทั่งการปรับระบบ การประสานงานกับหน่วยงานอื่น และกิจกรรมการฟื้นฟู ในส่วนของงานประจำที่สะท้อนความตระหนักถึงหน้าที่ในการสร้างความเป็นธรรม เช่น

…ความเป็นธรรมเริ่มตั้งแต่เขามาติดต่อในการใช้บริการศาลแล้ว ไม่ว่าใคร แม้ว่าคนๆ นั้นลูกเขากระทำความผิดร้ายแรง มันเป็นผลกรรมที่ศาลต้องชี้ เป็นคนละเรื่องกับการบริการ การบริการเป็นหน้าด่าน คือเราต้องให้บริการเขาอย่างดี เขาโทษหนักหนาสาหัสอย่างไร ก็เป็นโทษที่เขาควรได้รับ แต่การบริการในด้านแรก หรือการปล่อยชั่วคราว ในสิทธิที่เขาจะได้ เราต้องรีบบริการไม่ใช่ไปโยกโย้ หรือใช้วิธีการไม่ชอบมาพากล (ลปรร. ผู้พิพากษา ครั้งที่ 1)

อีกตัวอย่างก็สะท้อนการทำเพื่อประชาชนในงานในหน้าที่

…ถ้าเราเห็นว่าความเป็นธรรมอยู่ตรงไหน เราต้องพยายามหาข้อเท็จจริง ข้อกฎหมายให้เกิดความเป็นธรรมให้ได้ …ปรึกษาหลายคนว่ามีคดีแบบนี้ไหม แล้วเราจะหาทางออกอย่างไรได้ ผมว่าผมจะออกทำนองว่าเราจะให้ลดค่าเสียหาย ก็ไม่ได้แน่ ถามทุกคนก็บอกลดไม่ได้ เพราะเรื่องมาถึงชั้นฎีกา…เราก็คิดหาวิธีตั้งหลายอย่าง ถามสอบถามคน สอบถามคนที่มีประสบการณ์มากกว่า เรื่องอย่างนี้เคยมีคดีแบบนี้ไหม แล้วเราจะแก้อย่างไร เราอาจจะเข้าใจประเด็นนี้แต่คนนอกอาจไม่เข้าใจ เห็นอยู่แล้วว่าน่าจะไม่เป็นธรรม ก็พยายามดูสำนวนให้ละเอียดทุกอย่าง และผมก็ติดใจอยู่เรื่องหนึ่ง…เรื่องนี้ผมก็เข้าไปรื้อถึงจุด…ก็เข้าไปปรึกษาผู้ช่วยใหญ่ ว่าเราตกตะกอนแบบนี้ท่านเห็นด้วยไหม ท่านผู้ช่วยใหญ่ก็เห็นด้วย ก็ไปปรึกษากับท่านเจ้าของก็เห็นด้วย กรณีแบบนี้ก็ไม่ทำความผิด และให้ผู้ใหญ่พิจารณาว่าเห็นด้วยกับเราไหม พอดีเห็นด้วย เวลาเราผ่านพ้นการแก้ปัญหาไป บางทีมองง่ายๆ แต่ช่วงที่เกิดปัญหาอยู่บางทีเรากว่าเราจะค้นพบเจอลำบาก ผมก็รู้สึกดีที่ได้ช่วยราษฎร์ …ไม่ต้องล้มละลายและไม่ต้องเสียทรัพย์สิน และไม่ใช่ความผิดของเขา…ผมก็รู้สึกว่าได้ช่วยแก้ปัญหาในส่วนนี้ (ลปรร. ผู้พิพากษา ครั้งที่ 1)

นอกจากความบากบั่นเอาธุระเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมข้างต้น ยังพบความเอาใจใส่แม้ในประเด็นที่ดูเหมือนเล็กน้อย เช่น

…คดีชกต่อยกัน ท่านผู้พิพากษาคิดว่าหมูๆ ง่ายๆ ก็ตัดสินกันไปเลย แต่ผมมองว่าคดีเหล่านี้ไม่ใช่…คดีเล็กๆน้อยๆ ถ้าเราไม่รับนัดตั้งแต่ต้น คดีฆ่าจะตามมา คดีใหญ่ๆ จะตามมา คดีเล็กๆน้อยๆ เหล่านี้ ผมจะใช้วิธีการไกล่เกลี่ย กับผู้เสียและจำเลย มาคุยกันก่อน ต้องปรับความเข้าใจกันก่อน ผมจะไม่ใช้วิธีรักษาภาพตัดสิน ต้องเชิญ ต้องเรียกทางฝ่ายผู้เสียหายมาคุยกันก่อนว่า ที่เป็นมา คุณจะเรียกร้องค่าเสียหายไหม เรียกร้องเท่าไหร่ ให้เขาปรับความเข้าใจก่อน…(ลปรร. ผู้พิพากษา ครั้งที่ 1)

การมองเห็นหน้าที่ของผู้พิพากษาอย่างลึกซึ้งละเอียดอ่อนดังกล่าวสอดคล้องกับคำกล่าวต่อไปนี้

การเป็นผู้พิพากษากว้างกว่านี้ ส่วนหนึ่งเราต้องรักษาความสงบในสังคมด้วย ไม่ใช่ว่าพอเรามีความเมตตา เราก็ต้องทำอย่าง แต่เมตตาก็ต้องในหลักกฎหมายที่เราทำได้ หลักก็คือผู้พิพากษาต้องทำอย่างไร สมานฉันท์ส่วนมากจำเลยเต็มใจ เพราะส่วนใหญ่เขาได้ประโยชน์…(ลปรร. ผู้พิพากษา ครั้งที่ 3)

ประเด็นดังกล่าวสอดคล้องไปกับความเข้าใจความเป็นธรรมอย่างลึกซึ้งรอบด้าน

…ผมมองว่าความเป็นธรรมมีหลายมิติ เราอย่ามองเฉพาะการลงโทษ แต่การเยียวยามีอีกวิธีอื่น ใช้ได้ เสียหาย ขอโทษ การมานั่งพูดคุยทำความเข้าใจ ตอนเข้าออกจากคุกมานั่งข้างบ้านเหมือนเดิมไม่รู้จะอยู่อย่างไร การที่เราจำคุก 20 ปี เราอาจจะจำคุก 10 ปีก็ได้ เราต้องเข้าใจ เราต้องทำอย่างไรให้สังคมสงบสุข ผมว่าเป้าหมายหลักอยู่ตรงนั้น…คิดนอกกรอบว่าการที่เราจะแก้ปัญหาเกี่ยวกับคดีต่างๆ ไม่ใช่แค่จำคุกอย่างเดียว มันมีหลายมิติในการให้ความเป็นธรรมกับผู้เสียหาย คดียาเสพติดผมว่าเดี๋ยวนี้มีช่องทางในการแก้ไขเยียวยาเยอะแยะ…(ลปรร. ผู้พิพากษา ครั้งที่ 2)

นอกจากงานประจำของศาลเอง ยังพบงานของศูนย์สมานฉันท์ที่ปกป้องสิทธิของผู้ที่มาเกี่ยวข้องกับกระบวนการศาล

…พอเราเข้าไปอยู่ในศูนย์ไกล่เกลี่ย ในศูนย์สมานฉันท์ เราก็เห็นอะไรเยอะมาก เราก็มองตัวเราเอง ว่าเรามีอำนาจมี Power ที่จะเข้าไปคุยกับคู่ความได้ ให้เราเชื่อเขาได้ ให้เขารู้ว่าเราเป็นธรรม พอเราทำไปเราจะเห็นประชาชนมีความสุขกลับไป จากที่ทะเลาะกันก็จับมือกันกลับไปก็มี จากที่มีปัญหาเกิดขึ้น ปัญหาก็ยุติ เรารู้สึกว่าถ้าเราปล่อยให้คดีเดินต่อไปก็ต้องมีแพ้กับชนะ อันนี้เป็น 2 ฝ่าย ถ้าสู้ไปก็ติดคุก เขายอมรับได้ เราจะทำอย่างไรให้เขาเชื่อใจเรา สิ่งหนึ่งที่เรามีคือความเป็นผู้พิพากษา พอเราทำบ่อยเข้าๆ ก็จะมีคนมาหาเราเยอะขึ้น เราแก้ปัญหาเยอะขึ้น…(ลปรร. ผู้พิพากษา ครั้งที่ 3)

ตัวอย่างการทำงานเพื่อปกป้องสิทธิของศูนย์ดังกล่าวเช่น

…คดีจำเลยต้องขังนาน …กระบวนการของผู้พิพากษาคือจะค่อนข้างนานมาก นับตั้งแต่ถูกจับมาจนฝากขัง 7 ฝาก ก็โดนขังไปแล้ว 2-3 เดือนไม่ได้โดนประกันตัว พอฟ้องมาเสร็จมาถึงศาลก็ถามทนายความว่าประสงค์จะสู้ จะมีทนายความหรือไม่ ยังไม่ถามคำให้การก็เลื่อนไปอีกเดือนครึ่ง จำเลยก็โดนขังไป พอมาถึงหนึ่งเดือนครึ่งก็ถามจำเลยว่ารับสารภาพหรือปฏิเสธ จำเลยปฏิเสธก็เข้าสู่กระบวนการพิจารณาของศาลอีกประมาณ 4-5 เดือน เบ็ดเสร็จจำเลยโดนขังตรงนี้ประมาณ 6-7 เดือน ท้ายที่สุดศาลสืบพยานศาลยกฟ้อง ถามว่าจำเลยได้รับการปกป้องคุ้มครองอย่างไร ผมก็ได้มาอยู่ในจุดนี้พอดี ดูแลศูนย์สมานฉันท์ ได้ดูแลศูนย์ปฏิบัตินอกราชการ ก็เลยพยามจับทุกอย่างให้เข้ามาอยู่ในระบบเดียวกัน ให้เป็นการร่นระยะเวลาให้เร็วขึ้น จำเลยบางคนเขาบอกว่า…เขาถูกใส่ร้าย ถูกกล่าวหา แต่จำเลยต่างจังหวัดเป็นคนยากจนไม่มีเงินมาประกันตัว ไม่มีหลักทรัพย์มาประกันตัว …จำเลยบอกเขาไม่มีเงินหรอกปล่อยให้ขังก็ขัง ผมก็เห็นว่าตรงจุดนี้ ตัวจำเลยเองไม่ได้รับการปกป้องสิทธิเท่าที่ควร (ลปรร. ผู้พิพากษา ครั้งที่ 1)