ทัศนคติของเจ้าหน้าที่เรือนจำที่มองผ่านคุณค่าของผู้ต้องขังในฐานะปัจเจกบุคคลไปสู่คุณค่าแห่งความเป็นมนุษย์ของเขา ทัศนคติดังกล่าวเป็นไปได้ด้วยความเป็นนักวิชาชีพ ความรักในหน้าที่การงานของข้าราชการ หรือความรู้สึกเห็นอกเห็นใจในฐานะเพื่อนมนุษย์ การปฏิสัมพันธ์กับผู้ต้องขังนั้นอยู่บนพื้นฐานความยอมรับในตัวผู้ต้องขังและความรู้จักในปัจเจกภาพของผู้ต้องขัง
2.2 ผู้พิพากษากับคุณค่าความเป็นมนุษย์ของผู้เข้าสู่กระบวนการศาล
การสังเคราะห์ความรู้ในส่วนนี้มีเป้าหมายเพื่อทำความเข้าใจการทำงานที่เกี่ยวกับคุณค่าความเป็นมนุษย์ของผู้ที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับกระบวนการศาล โดยเฉพาะอย่างยิ่งคู่กรณี จำเลย และผู้ต้องขัง การสังเคราะห์นี้อาศัยข้อมูลจากการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในหมู่ผู้พิพากษา ผลการพิจารณาพบว่ามีหลายองค์ประกอบที่คล้ายคลึงกับที่สังเคราะห์ได้ในส่วนของเจ้าหน้าที่เรือนจำ
ความเป็นวิชาชีพและความเป็นข้าราชการ
ในส่วนของเจ้าหน้าที่เรือนจำและผู้พิพากษานั้น ต่างก็พบความซ้อนทับระหว่างความเป็นนักวิชาชีพ การทำเพื่อประโยชน์ผู้ต้องขัง รวมถึงการเคารพสิทธิพื้นฐานหรือศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้ต้องขัง อย่างไรก็ตาม ในส่วนของเจ้าหน้าที่เรือนจำ พบว่าการทำเพื่อประโยชน์ผู้ต้องขัง รวมถึงการเคารพสิทธิพื้นฐานหรือศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้ต้องขังนั้น ส่วนหนึ่งกล่าวได้ว่ามีแรกผลักดันที่จำแนกได้ 2 กลุ่ม ได้แก่ แรงผลักดันจากความเป็นนักวิชาชีพและจากองค์ประกอบอื่น ได้แก่ สำนึกในหน้าที่ของข้าราชการ เป็นต้น ซึ่งไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจเนื่องจากภูมิหลัง ตำแหน่งและความรับผิดชอบของเจ้าหน้าที่เรือนจำมีหลากหลาย ขณะเดียวกันในส่วนของผู้พิพากษา พบว่าการทำเพื่อประโยชน์และการเคารพสิทธิของผู้เข้ามาเกี่ยวข้องกับกระบวนการศาลนั้น มีแรงผลักดันจากสำนึกในความเป็นวิชาชีพที่ไม่แยกจากความเป็นข้าราชการ
ในส่วนของความเป็นวิชาชีพนั้น พบคำกล่าวที่สะท้อนศรัทธาในคุณค่าแห่งวิชาชีพผู้พิพากษา เช่น
…มาสอบเป็นผู้พิพากษาก็มาอย่างนั้นไม่ได้มีจิตวิญญาณ แต่หลังจากเราได้มาเป็นผู้พิพากษาแล้วเราได้ค้นพบว่าจิตวิญญาณของตัวเองว่าเรารักอาชีพนี้ที่สุด เรารู้ว่าอาชีพนี้เป็นอาชีพที่มีคุณค่าจริงๆ และเราได้มีโอกาสมาเป็นผู้พิพากษา สิ่งหนึ่งที่เราต้องทำให้ได้คือ ทำเพื่อประชาชน เพื่อส่วนรวม…(ลปรร. ผู้พิพากษา ครั้งที่ 1)
หรือคำกล่าวที่สะท้อนความรักในวิชาชีพ ที่ผู้พูดเรียกว่า “จิตวิญญาณ”
ผมไม่มีอุดมการณ์ เพราะคนมีอุดมการณ์จะต้องต่อสู้ เพราะยอมไม่ได้ แต่ในส่วนของผม ผมใช้คำว่าผมทำอะไรก็แล้วแต่ ผมมีจิตวิญญาณมากกว่า คำว่าจิตวิญญาณมันเข้ามาอยู่กับผมตรงไหน เวลาไหน เมื่อไหร่ บอกไม่ได้ การใช้ชีวิตของผม อย่างที่ผมบอกว่าการใช้ชีวิตของผมธรรมดา ผมทำอะไรก็แล้วแต่ ผมทำด้วยความรัก …(ลปรร. ผู้พิพากษา ครั้งที่ 1)
นอกจากนี้ ในวงการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ยังพบคำกล่าวที่สะท้อนถึงเกียรติยศจากการได้ปฏิบัติหน้าที่ของตน
…ศักดิ์ศรีของการทำหน้าที่มีคุณค่า คนเรามีตำแหน่งสูงส่งอะไรก็แล้วแต่ถ้าไม่ทำหน้าที่ที่ดี ผมว่าก็ไร้เกียรติ เป็นภารโรงถ้าทำหน้าที่ที่ดี ผมว่าก็มีเกียรตินะ อันนี้เรื่องสำคัญ…(ลปรร. ผู้พิพากษา ครั้งที่ 3)
ข้อความดังกล่าวแสดงชัดเจนถึงความสัมพันธ์ระหว่างการบรรลุซึ่งอุดมคติแห่งนักวิชาชีพและการตระหนักถึงคุณค่าในตัวตนของผู้พิพากษา โดยคุณค่าที่ว่านั้น ได้แก่ คุณค่าของปัจเจกบุคคล
มิติด้านวิชาชีพนี้มีควบคู่ไปกับมิติของความตระหนักถึงฐานะความเป็นข้าราชการ มีทั้งคำกล่าวถึงเรื่องพื้นๆ เช่นการได้รับรายได้จากภาษีประชาชน
…เราได้เงินของประชาชนมา ก็มาใช้จ่ายดูแล กิน กิจวัตรของเราก็คือทำงานราชการ คือบริการดูแลประชาชน…(ลปรร. ผู้พิพากษา ครั้งที่ 1)
หรือคำกล่าวเกี่ยวกับหนี้บุญคุณอื่นๆ ที่มีต่อราชการ เช่น
…สิ่งที่ทำให้ตั้งใจ และพยายามทำให้เขา สิ่งเหล่านี้จริงๆ เราไม่ได้อะไรจากเรื่องนี้ แต่ผมก็ทำ ผมมองว่าผมได้ประโยชน์จากตำแหน่งนี้ เขามีอะไรหลายๆ อย่างให้ผม ซึ่งเปลี่ยนชีวิตผมมาจากเด็กธรรมดา ผมมีเกียรติสำหรับตำแหน่งนี้ ก็ตอบแทนจากสิ่งที่ได้รับจากตรงนี้คืนไปด้วย ไม่ว่าจะได้มาก ทำน้อย ผมก็คืนหลวง คืนแผ่นดินไป สิ่งที่ทำให้มันมาอย่างนี้ (ลปรร. ผู้พิพากษา ครั้งที่ 3)
แน่นอนว่าย่อมมีคำกล่าวที่สะท้อนสถานะอันนิยามความเป็นข้าราชการผู้พิพากษา
…สุดท้ายมีคำพูดคำพูดหนึ่งว่า ถ้าในหลวงเห็นประชาชนของพระองค์ท่านต้องถูกขังอยู่ในเรือนจำ เป็นเวลา 3 ปี โดยไม่ทราบผลของการพิพากษา เอ ลองคิดดูสิว่าในหลวงจะยอมได้ไหม ในเมื่อเราอ้างว่าเราปฏิบัติหน้าที่ในพระปรมาภิไธย ของพระเจ้าอยู่หัว อาจารย์บอกว่าเราเป็นผู้พิพากษาก็มีหน้าที่ดูแลประชาชนแทนพระองค์ท่าน ไปทำหน้าที่แทนพระเนตร พระกันต์ท่าน ในต่างจังหวัดเพราะท่านไม่สามารถเดินทางมาได้ เราก็ต้องอำนวยความยุติธรรมให้กับประชาชนเหมือนเวลาเราเข้าเฝ้าถวายสัตย์ ว่าเราจะเป็นข้าราชการที่ดี…(ลปรร. ผู้พิพากษา ครั้งที่ 2)
สำหรับการการทำเพื่อประโยชน์ผู้ต้องขัง รวมถึงการเคารพสิทธิพื้นฐานหรือศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้พึ่งพาศาล นอกจากแรงผลักดันจากความเป็นนักวิชาชีพและสำนึกแห่งความเป็นข้าราชการแล้ว อีกองค์ประกอบที่พบเช่นเดียวกับที่พบในกรณีของเจ้าหน้าที่เรือนจำ ได้แก่ ความรู้สึกเห็นอกเห็นใจ เช่นที่ปรากฏในคำกล่าวนี้
…ผมสงสารเขา และผมคิดว่าผมสามารถที่จะเปลี่ยนแปลงอะไรบางอย่างได้ ที่ไม่ผิดกฎหมาย ลดขั้นตอน ล่นเวลาได้ให้เป็นไปตามสภาพการณ์ของมัน …(ลปรร. ผู้พิพากษา ครั้งที่ 1)
ในส่วนหนึ่ง กล่าวได้ว่าความรู้สึกประเภทดังกล่าวมีพื้นฐานบนการเอาใจเขามาใส่ใจเรา เช่น
…แต่คือเราเห็นภาพเราก็มองว่าถ้าเป็นญาติเรา และถ้าเราเอาใจใส่ถ้าเป็นญาติเรา เรายอมไม่ได้ แต่ทำไมกับประชาชนเราต้องไปจะเอาอย่างนี้ ศาลจะเอาอย่างนี้ ลองถามเขาหน่อยสิว่าเขาอยากให้ศาลทำอย่างไรบ้าง เราถามเขาได้ ผมเป็นคนชอบคุย ในบัลลังก์ผมจะคุยทักทายญาติพี่น้องเขา ว่าเป็นไง มาอย่างไร มาถึงกี่โมง จนช่วยหลังเพิ่งได้ข่าวมา ก็รู้สึกประทับใจ…(ลปรร. ผู้พิพากษา ครั้งที่ 2)