เป็นผู้ที่สามารถเข้าใจสถานการณ์ ตัดสินใจเลือก และรับผิดชอบต่อการเลือกนั้นได้ กรณีต่อไปนี้เป็นการลงโทษที่เน้นสร้างความเข้าใจผ่านการอบรมสั่งสอน
สมมุติผู้ต้องขังกระทำผิดวินัย เราไม่มีการหาเหตุหาผล ทะเลาะกันเล็กๆ น้อย ๆ เราก็จะตั้งโทษเลย พอหลังจาก case นี้ เราก็มาพูดคุย หาสาเหตุบางครั้งเป็นเรื่องเล็กๆ น้อยๆ เราก็อาจจะสมานฉันท์เขาได้ ก็จะภาคทัณฑ์เขาไว้ แต่จะเน้นการอบรมสั่งสอนเขามากกว่าที่จะลงโทษโดยรุนแรง จะใช้วิธีการพูดสั่งสอนเขา อบรมเขา โน้มน้าวเขามากกว่า ให้ความใกล้ชิดกับเขามากกว่า เหมือนอยู่ร่วมกันเป็นพี่เป็นน้อง เหมือนครอบครัวเดียวกันมากกว่า ไม่ได้คิดว่านี่ฉันเจ้าหน้าที่เธอคือผู้ต้องขัง ต้องปฏิบัติตามฉัน โดยไม่มีเหตุมีผล บางครั้งคำสั่งของเราก็อาจจะผิดไปบ้าง เพราะทุกคนก็มีถูกมีผิดบ้าง (ลปรร.เจ้าหน้าที่เรือนจำ ครั้งที่ 1)
การสั่งสอนที่ว่าอาจครอบคลุมถึงการส่งเสริมสมรรถนะในการคิดถึงผลที่ตามมาจากการกระทำของตน ดังเช่นตัวอย่างนี้
…ก็มานั่งคุยกันก่อนว่าที่ทำผิด เพราะอะไร ทำไมถึงทำ แล้วก็คุยกันไปว่า ทำอย่างนี้มันดีไหม อย่างแอบเอาข้าวขึ้นห้องไปกินบนห้องค่ะ คุณได้กินข้าว เพื่อนในห้องอีก 30-40 คนในห้องไม่ได้กิน แล้วต้องมานั่ง มามองคุณกิน คุณไม่รู้สึกอะไรเหรอ ก็คุยกัน แล้วก็สอนเค้า พูดในอีกแง่มุมหนึ่งที่เค้าคิดไม่ถึงว่า ผลเสียที่เค้าเอาข้าวไปกินบนห้อง คืออะไร พอคุยแล้วเค้าเข้าใจ เค้าก็จะยอมรับ แล้วก็ไปบอกว่า คุณทำผิด ถ้าเราไม่ทำอะไรคุณเลย คุณก็จะเป็นตัวอย่าง เพื่อนในห้องก็จะเอาคุณเป็นตัวอย่าง ทุกคนก็จะเอาห่อข้าว แอบห่อข้าวขึ้นไปกินบนห้อง ผลเสียอีกหลายอย่างก็จะตามมา เพราะคนเข้าไปห้องนอนของคุณ แต่ห้องนอนของคุณมีเศษอาหาร มีกลิ่นอาหาร มีอะไรหลายๆ อย่าง ถ้าเป็นบ้านคุณ คุณจะรู้สึกยังไง เราก็มานั่งคุยกัน ถ้าคุณทำผิด คุณก็จะโดนทำโทษ แต่การทำโทษไม่ใช่ไปตักเม เป็นการที่เอาเค้าไปบำเพ็ญประโยชน์มากกว่า ให้ทำความสะอาดห้องสมุด เช็ดกระจกห้องสมุด ทำความสะอาดชั้นสอง ก็คือการศึกษา อย่างนี้ค่ะ (ลปรร.เจ้าหน้าที่เรือนจำ ครั้งที่ 2)
การรู้จักปัจเจกภาพ
เมื่อมาถึงจุดนี้ มีข้อสังเกตว่ามักพบองค์ประกอบหนึ่งในกรณีต่างๆ ข้างต้นเสมอ ได้แก่ องค์ประกอบแห่งการทำความรู้จักปัจเจกภาพของผู้ต้องขัง การได้เรียนรู้ความคิด ความรู้สึกและความต้องการของผู้ต้องขัง รวมไปถึงความเป็นตัวตนของเขา มีบทบาทสำคัญในการเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ รวมถึงการช่วยพัฒนาสำนึกถึงคุณค่าในตัวผู้ต้องขัง การเรียนรู้ดังกล่าวในกรณีที่ยกมาข้างต้นกระทำผ่านการติดต่อสื่อสารกับผู้ต้องขังโดยตรง ยังมีกรณีที่อาศัยช่องทางอื่นอีก นั่นคือ ญาติของผู้ต้องขัง
…จากการที่ญาติเข้ามานี่ เราจะคุยกับญาติเกือบทุก case ว่า เพราะสาเหตุอะไรผู้ต้องขังถึงมาอยู่ในนี้ แล้วก็มีปัญหา มีอุปสรรคจะคุยกับญาติเค้า แล้วเราจะได้รู้อีกหลายๆ อย่างเลย แล้วญาติเค้าจะบอกเราเลยว่า ลูกเค้าหลานเค้าหรือว่าอะไรของเค้านี่ มีนิสัยยังไงๆ ให้เราช่วยในการที่ว่าอบรมสั่งสอนด้วย ผิดลงโทษตามระเบียบได้เลย พอเราได้คุยกับญาติ เราได้มีการช่วยเหลือ ถามว่าทำงานเรามีความสุขไหม เรามีความสุขค่ะ แล้วญาติเค้าก็เป็นกันเองกับเราด้วย ให้ความร่วมมือด้วย…ญาติมีหลายประเภท จะไม่ปฏิบัติตามกฎ จะพูดจาว่าเจ้าหน้าที่ พอเข้ามานี่ รู้ จะเข้าไปคุยกับญาติ ทำความเข้าใจกับญาติเค้า จนญาติเค้าเข้าใจค่ะ (ลปรร.เจ้าหน้าที่เรือนจำ ครั้งที่ 3)
อย่างไรก็ตาม พบว่าการรู้จักตัวตนของผู้ต้องขังเป็นเรื่องที่มีอุปสรรค โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากความไม่ตรงไปตรงมาของตัวผู้ต้องขังเอง ข้อนี้ดูจะเกิดเป็นปรกติกระทั่งมีการสั่งสอนเจ้าหน้าที่เข้าใหม่ “…เรามาบรรจุใหม่ แล้วเราเป็นผ้าขาว ซึ่งรุ่นพี่ที่เค้าสอนไว้ก็คืออย่าไปฟังผู้ต้องขังมาก…” (ลปรร.เจ้าหน้าที่เรือนจำ ครั้งที่ 2) เจ้าหน้าที่จึงต้องเรียนรู้ที่จะรับมือ เช่น
เด็กเพิ่งเข้ามาใหม่ เข้ามาเช้าเมื่อวาน เราก็เรียกมาถามประวัติเขา พื้นหลังว่าเป็นอย่างไร เด็กคนนี้ดื้อด้าน ผ่านการตีมาแล้ว ก็ไม่มีประโยชน์ ตีแล้วเขาก็เหมือนเดิม ก็ต้องมาเปลี่ยนวิธีใหม่ ถามว่าในเรือนจำเราจะรู้จักทั่วทุกคนไหม แต่เข้ามาตอนเช้าเราต้องเรียกมาแล้ว ว่ามาคดีอะไร อายุเท่าไหร่ พ่อแม่ทำอะไร ไปโดนคดีอะไร บางคนก็ไม่เล่าความจริงเขาจะโกหก แต่ให้เขาอยู่สักอาทิตย์สองอาทิตย์ ความจริงก็จะออก ก็จะปรากฏออกมา ทุกคนจะบอกว่าตัวเองบริสุทธิ์ที่เข้ามาครั้งแรก ไม่ใช่ของหนู หนูไม่ได้ทำ สุดท้ายก็เจอว่าเขาทำผิดจริง พอเรารู้เบื้องหลัง ของเขาที่เขาทำด้วยสาเหตุอะไร เราก็ค่อยๆ ตอบเขาไป ค่อยๆ แก้ไป วิธีการหนึ่งจะใช้กับทุกคนไม่ได้ ก็ต้องใช้แต่ละคนแต่ละวิธีไป (ลปรร.เจ้าหน้าที่เรือนจำ ครั้งที่ 1)