นำกิจกรรมอื่นๆ เข้ามาช่วย ซึ่งตัวกิจกรรมนั้นมีลักษณะที่ไม่เพียงแต่จะช่วยในด้านของเงื่อนไขของการพัฒนาคุณค่าเท่านั้น แต่ยังสามารถนำสู่การพัฒนาคุณค่าในตัวผู้ต้องขังได้อีกด้วย กรณีต่อไปนี้เป็นการใช้กิจกรรมการวาดภาพมาช่วย
…บางคนเขารุนแรงมาก บางคนเขาเป็นโรคซึมเศร้าแล้วกลับมาอยู่ที่ห้อง จริงๆ แล้วโรคซึมเศร้าจะต้องอยู่ที่สถานพยาบาล และมีการส่งมารักษาที่สงขลานะคะ เราก็ทำการดูแลต่อ มาอยู่กับเรา มาดูแล เขาก็มีความรู้สึกว่าเขาไม่ได้อยู่โดดเดี่ยวไร้ความหมายกับใครเลย ยังมีพ่อมีแม่ ยังเป็นที่ต้องการของพ่อแม่ ยังมีลูก กลับไปต้องไปรายงานว่าเด็กคนนี้กรีดข้อมือตัวเอง คือเด็กคนนี้ทำมา 2-3 รอบแล้ว…ก็ดูแลกันอยู่ระยะหนึ่งก็เหมือนว่าเขาจะดีขึ้นแล้ว และพอช่วงมาราชการก็ไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้นกับเขา ทีหลังเขาก็บอกว่าเขาคิดถึงบ้าน พ่อแม่ไม่ได้เขียนจดหมายมาหาเขา 2 อาทิตย์แล้ว การกรีดข้อมือเขาบอกว่ามันเป็นวิธีที่ปลดปล่อย เขารู้สึกว่าดีขึ้น เราก็เลยต้องให้เขากลับมาใหม่และบอกว่านั่นมันไม่ใช่วิธีการที่ถูกต้อง ให้เขาไปนั่งวาดรูป นั่งเขียน นั่งระบาย ซึ่งต่อมาเขาก็ยอมรับ พอเราดูรูปของเขา เราก็มองเห็นว่ามันเป็นพรสวรรค์ของเขา มันมาจากสิ่งที่เขานั่งคิดแล้วก็นั่งวาดออกมา ให้ดินสอไปเล่มหนึ่ง ให้ปากกาไป ให้สมุดไป เขาก็ไปนั่งวาด…(ลปรร.เจ้าหน้าที่เรือนจำ ครั้งที่ 3)
กิจกรรมเหล่านี้เองที่ในทีอีกทางหนึ่งเป็นเครื่องช่วยกระตุ้นปัจจัยต่างๆ ที่สร้างสำนึกของความเป็นผู้กระทำขึ้นในตัวผู้ต้องขัง ตัวอย่างเช่นการให้มีความรับผิดงานด้านต่างๆ เป็นการสร้างสำนึกความรับผิดชอบขึ้นในตัวผู้ต้องขัง
…ถ้าเรายังไม่ให้โอกาสเค้าเนี่ย คนข้างนอกไม่ให้โอกาสแน่ๆ เลย ขนาดเราอยู่กับเค้าเรายังไม่เข้าใจเค้าเลย แล้วเราจะไปเรียกร้องให้หน่วยงานภายนอกจะมาให้โอกาสกับเค้า ไม่ได้แน่ๆ เลย ก็เลยคิดว่าให้โอกาส เธอทำดีแล้วนะ ให้โอกาสเธอได้ทำในสิ่งที่เธออยากทำแล้วนะ ต้องทำให้ได้นะ แล้วเราก็จะตั้งวิธีการในทำงาน ว่ากลุ่มนี้รับผิดชอบความสะอาด ต้องทำให้ดีนะ กลุ่มนี้รับ ก็เลยมีความรู้สึกว่า พออะไรที่มันเป็นระบบ แล้วเราให้เค้าดูแลตัวเค้าเอง รับผิดชอบตัวเอง…เราแค่คอยเช็คแค่นั้นเอง…ถึงแม้เราจะทำสำเร็จแค่ 10-20 เปอร์เซ็นต์ แต่นั่นก็คือความสำเร็จที่เราภูมิใจมากๆ คนที่มันไม่น่าจะดีได้ แต่มันดีนะ อธิบายความรู้สึกไม่ถูก ว่าเราปลื้ม เราเห็นเค้าแล้วเรามีความสุขนะ เรารู้สึกว่าคนๆ หนึ่งเราทำให้เค้าเปลี่ยนแปลงได้ขนาดนี้ บางทีพอจะกลับบ้านที ก็มานั่งกอดเข่าร้องไห้ มาบอกว่า หนูจะจำนะ หนูจะจำที่แม่สอนนะ บางคนก็เขียนจดหมายมาในลักษณะนี้แหละ ว่าหนูจำนะ จำที่แม่สอน (ลปรร.เจ้าหน้าที่เรือนจำ ครั้งที่ 1)
ข้อความข้างต้นแสดงให้เห็นว่าแม้ตัวผู้ต้องขังเองก็ตระหนักถึงพัฒนาการที่เกิดขึ้นในตนเอง กระทั่งเกิดความรู้สึกขอบคุณ กิจกรรมต่างๆ ยังช่วยให้ผู้ต้องขังได้ตระหนักถึงคุณค่าในตนเองขึ้นไปอีก เช่น
…เมื่อเขาเกิดความไว้วางใจกับเรามากขึ้น มีอะไรเขาก็จะคุย สามารถพูดและแสดงความคิดของเขาได้อย่างเต็มที่ และอีกอย่างหนึ่งที่เขาวาดภาพ เกิดความไม่มั่นใจ ว่าอันนี้สวยไหม อันนี้เป็นอย่างไร เราก็บอกว่าภาพทุกภาพไม่มีสวยที่สุด หรือไม่สวย เพียงแต่ว่าเอกลักษณ์หรือลักษณะที่มีคุณถ่ายทอดออกมาให้ดีที่สุด และอีกอย่าง อย่าลอกเลียนแบบใคร เพราะการลอกเลียนแบบไม่ใช่ตัวเอง พอคุยกับเขามากขึ้น เข้าใจ และรู้สึกมั่นใจในตัวเอง งานที่ออกมาจะบริสุทธิ์ เขาก็จะเกิดความภาคภูมิใจในงาน จริงๆ งานเขาไม่ลอกเลียนแบบใคร เขาสามารถวาดรูปได้ เขาสามารถทำงานได้ ต้องพูดคุยและมีเวลาให้กับเขาพอสมควร ต้องเข้าถึงจิตใจเขา (ลปรร.เจ้าหน้าที่เรือนจำ ครั้งที่ 2)
นอกจากกิจกรรมที่มีมิติที่มุ่งบำบัดผู้ต้องขังโดยตรง ยังมีกิจกรรมประเภทอื่น ได้แก่ กีฬา
ทำไมถึงมาสมัคร ไม่กลัวเจ็บเหรอ ไม่ห่วงสวยเหรอ เค้าก็บอกว่า เค้าอยากลองดู พออยากลองดูปุ๊บ เค้าก็ลองชวนเพื่อน ชวนเพื่อนมาก็มาเป็นกลุ่ม ก็มาลองดู เริ่มจากการฝึกซ้อม เราก็จัดทำตารางฝึกซ้อมให้ ก่อนจะฝึกซ้อมเรามาตกลงกันก่อน มวยเป็นกีฬาที่ร่างกายต้องพร้อม การซ้อมคุณต้องซ้อมหนัก คุณจะทนไหวไหม เค้าก็บอกว่าเค้าจะลองดู พอเค้าบอกว่าเค้าจะลองดูแล้ว ก็ตกลงกับเค้าว่า เราตกลงกัน เราจะมาลองดูด้วยกัน เพราะฉะนั้น เราลงเรือลำเดียวกันแล้ว เราอยู่ร่วมกันมันมีข้อตกลงหลายๆ อย่าง ทั้งระเบียบของเรือนจำ แล้วก็กลุ่มของเราต้องรักกัน โดยมีจุดหมายเดียวกันคือ ทำให้ดีที่สุด ไม่ว่าผลจะออกมาเป็นยังไง เค้าก็ตกลง ก็เริ่มฝึกซ้อม มันมาจากเค้ามาด้วยใจ…ก็ตกลงกับเค้าด้วยใจว่า เรือนจำไม่มีอะไรให้นะ ไม่มีสวัสดิการให้ ชุดกีฬาหาเอง รองเท้าหาเอง เค้าก็ตกลง เค้ามาด้วยใจจริงๆ เราก็ให้ใจ คุณวิ่ง เราก็วิ่ง คุณเหนื่อย เราก็เหนื่อยด้วย…อย่าให้เกิดปัญหา ถ้าเกิดปัญหาก็คือ เรารับผิดชอบ รักเราไหม ถ้ารักเราอย่าสร้างปัญหา แล้วเราจะไปด้วยกัน…เค้ามาด้วยใจ สิ่งที่มองเห็น เค้ามีความรับผิดชอบ ทำตารางให้วิ่ง ทำตารางให้ซ้อม บางครั้งเราไม่อยู่ เค้าก็ทำ ไม่ใช่ว่าลับหลังเรา เราไม่อยู่ เค้าไม่ทำ ไม่ใช่ เค้าจะเป็นกระบวนการกลุ่ม เพื่อนอยู่กับเพื่อน ถ้าเพื่อนคนไหนอู้ ก็จะมีการคุยกัน…ก็ให้เพื่อนดูแลด้วยกัน ถ้าเราอยู่ ก็จะไปยืนดู หรือไม่ก็แกล้งไม่ดูแล้วก็ดูว่าเค้าจะทำไหม มันกลายเป็นเค้ามีความรับผิดชอบขึ้น มีความอดทน รู้ว่าเค้าเหนื่อย เค้าเจ็บ เค้าต้องเสียสละอะไรหลายๆ อย่าง…เค้าสู้จริงๆ…เค้าได้ใจเรา ผู้ต้องขังเหล่านี้เค้าได้ใจเรา…(ลปรร.เจ้าหน้าที่เรือนจำ ครั้งที่ 2)
ลักษณะพิเศษของตัวอย่างข้างต้นคือเป็นเรื่องของความสมัครใจและเสียสละ อาจจะเป็นกิจกรรมที่มิอาจให้ผู้ต้องขังจำนวนมากร่วมได้ ความสมัครใจเลือกและความยึดมั่นต่อการเลือกของตนผ่านการเสียสละและรับผิดชอบต่อตนเองแสดงถึงพัฒนาการของสำนึกความเป็นผู้กระทำอย่างชัดเจน อีกสิ่งที่สะท้อนคือความสัมพันธ์แบบภารดรภาพระหว่างผู้ร่วมในกิจกรรมนี้ไม่ว่าจะเป็นผู้ต้องขังด้วยกันหรือกับเจ้าหน้าที่ก็มีบาทบาทที่สื่อถึงความเป็นที่ยอมรับอยู่ด้วย