คุณค่าของความเป็นมนุษย์ ตอนที่ 12

ไม่ใช่ทุกรายละเอียดในข้อกำหนดที่สอดคล้องกับข้อมูลจากการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ (ดังนั้น จึงใช้คำว่า “ในส่วนที่…” ในบางข้อ) นอกจากนี้ แม้จะเป็นข้อมูลจากมุมมองของผู้ต้องขังที่มีต่อชีวิตในเรือนจำ แต่การวิเคราะห์ข้างต้น มองในมิติของเรือนจำที่ปฏิบัติต่อผู้ต้องขังเป็นสำคัญ มิได้มุ่งพิจารณามิติของการปฏิบัติต่อกันของผู้ต้องขัง

เห็นได้ว่าเงื่อนไขอื่นๆ ที่ไม่ปรากฏความสัมพันธ์ ได้แก่ กรอบการดำเนินชีวิตที่มีกฎระเบียบชัดเจนและทำให้ผู้ต้องขังมีสำนึกรับผิดชอบต่อการกระทำของตน ความสัมพันธ์กับผู้อื่นในที่ต้องขัง อันเป็นความสัมพันธ์ที่เป็นมิตรภาพและช่วยเหลือซึ่งกันและกัน หากมองในแง่หนึ่ง ทั้งสองเงื่อนไขปัจจัยนี้เป็นเรื่องของการบริหารจัดการสถานที่คุมขังในระดับที่สูงขึ้นไปกว่าขั้นพื้นฐานแห่งการรับประกันสิทธิมนุษยชน หรือการเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์พื้นฐาน

ส่วนที่ 2: บุคลากรกับคุณค่าความเป็นมนุษย์ของผู้ต้องขัง

การสังเคราะห์ความรู้ในส่วนนี้ครอบคลุมข้อมูลการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของบุคลากร ได้แก่ เจ้าหน้าที่เรือนจำและผู้พิพากษา เนื้อหาเป็นการแยกนำเสนอการสังเคราะห์ความรู้เกี่ยวกับการส่งเสริมคุณค่าความเป็นมนุษย์ของผู้ต้องขังของเจ้าหน้าที่เรือนจำและผู้พิพากษา ก่อนที่จะนำมาสรุปร่วมกันในตอนท้าย อนึ่ง ในการกล่าวถึงการทำงานที่ส่งเสริมคุณค่าความเป็นมนุษย์ของผู้ต้องขังโดยบุคลากรเหล่านี้นั้น คำว่า “คุณค่าความเป็นมนุษย์” ที่ว่าครอบคลุมถึงคุณค่าของผู้ต้องขังในฐานะมนุษย์และคุณค่าของผู้ต้องขังในฐานะปัจเจกชน โดยจะมีการจำแนกประเภทคุณค่าให้เห็นในเนื้อหาของการสังเคราะห์

2.1 เจ้าหน้าที่เรือนจำกับคุณค่าความเป็นมนุษย์ของผู้ต้องขัง

การสังเคราะห์ความรู้ในส่วนนี้มีเป้าหมายเพื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับการทำหน้าที่เพื่อส่งเสริมคุณค่าความเป็นมนุษย์ของผู้ต้องขัง โดยอาศัยข้อมูลจากการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในหมู่เจ้าหน้าที่เรือนจำ ลักษณะสำคัญประการหนึ่งของข้อมูลในส่วนนี้พบว่ามีความซ้อนทับระหว่างความเป็นนักวิชาชีพกับความเคารพในคุณค่าของผู้ต้องขังในฐานะมนุษย์ ได้แก่ การทำเพื่อประโยชน์ผู้ต้องขัง รวมถึงการเคารพสิทธิพื้นฐานหรือศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้ต้องขัง ที่ว่าซ้อนทับกันก็ไม่น่าแปลกใจเนื่องจากเป็นธรรมดาอยู่แล้วที่เนื้องานของวิชาชีพเป็นไปเพื่อประโยชน์ของผู้รับบริการ และเนื้องานบางประเภทมีความสัมพันธ์โดยตรงกับสิทธิพื้นฐาน (เช่น สิทธิด้านสุขภาพ) หรืออีกนัยหนึ่ง ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์พื้นฐาน

ข้อมูลจากการแลกเปลี่ยนเรียนรู้สะท้อนถึงสำนึกในความเป็นนักวิชาชีพในหลายจุด

…ถามว่าทำไมเราถึงทำ เพราะเหมือนกับหางานเพิ่มให้ตัวเอง เรามองอย่างนี้ว่าถ้าเราอยู่สถานพยาบาล แล้วคนไข้เค้ามาติดคุกอีกหลายปี เค้าอยู่กับเรามาตลอด และอยู่เป็นคนปกติมาตลอด อยู่ๆเค้าทรุด จากดี มาไม่ดี มาหนัก และถึงตาย เราจะรู้สึกไม่ดีน่ะค่ะ เราจะรู้สึกว่าเราไม่มีศักยภาพเลย ถ้าเค้ามาแบบหนักมากถึงตาย อาจจะไม่เท่าไหร่ แต่ถ้าเค้าดีมาตลอดเลย มันเหมือนกับเราขาดการดูแลไหม ถ้าเกิดคนไข้ตาย เราเจ็บปวดในหัวใจ ตายก็ตาย แต่ถามว่าเราได้ดูแลเต็มที่หรือยัง ถ้าเกิดช่วยได้ เราก็อยากช่วยให้เป็น step อยากดูให้เต็มที่ ทำให้เต็มที่ของเราก่อน เรื่องตายเป็นเรื่องธรรมดา (ลปรร.เจ้าหน้าที่เรือนจำ ครั้งที่ 3)