อย่างไรก็ตาม ในบรรดาบุคคลที่ต่างก็มีคุณค่าความเป็นมนุษย์เหล่านี้ ต่างก็มีคุณค่าเชิงปัจเจกบุคคลในระดับที่แตกต่างกันไป ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลของสถานะ คุณธรรม ความพยายาม หรือความสำเร็จ ดังนั้น แม้เราจำเป็นต้องเคารพบุคคลทุกคน แต่เราก็ไม่จำเป็นต้องยกย่องทุกคนในคราวเดียวกัน เราต้องเคารพความเป็นมนุษย์ของบุคคลที่วันๆ ไม่ทำอะไรเป็นกิจจะลักษณะ แต่เราไม่ต้องยกย่องบุคคลผู้นี้ ในทางตรงข้าม เราต่างก็ทั้งเคารพและยกย่องบุคคลที่มีคุณธรรมสูง
การยกย่องดังกล่าวอาจมองได้ทั้งจากแง่มุมของสังคมและส่วนบุคคล ตัวอย่างเช่น ผู้พิพากษาและผู้ต้องขังต่างก็มีคุณค่าความเป็นมนุษย์เท่าเทียมกัน แต่ในมุมมองของสังคม ผู้พิพากษาได้รับการยกย่องสูงกว่าผู้ต้องขัง ในทางกลับกัน หากอาศัยมุมมองส่วนบุคคล ผู้พิพากษาอาจรู้สึกถึงคุณค่าในตนเองในระดับที่ต่ำกว่าที่ผู้ต้องขังรู้สึกถึงคุณค่าในตนเองก็ได้ ตัวอย่างเช่นผู้พิพากษาอาจขาดความภาคภูมิใจในตนเอง เนื่องจากเมื่อเปรียบเทียบกับเพื่อนของตนแล้ว เห็นว่าตนเองมีความก้าวหน้าในวิชาชีพน้อยกว่า ขณะเดียวกันผู้ต้องขังอาจรู้สึกภาคภูมิใจในตนเองที่สามารถรับมือกับความพลิกผันในชีวิตได้ ในกรณีนี้ กล่าวได้ว่าผู้ต้องขังมีความยกย่องในตนเองมากกว่า แม้ว่าสังคมโดยทั่วไปจะมิได้ยกย่องผู้ต้องขังก็ตาม
แม้คุณค่าความเป็นมนุษย์และคุณค่าในฐานะปัจเจกบุคคลจะเป็นคนละสิ่ง แต่ทั้งสองมีความสัมพันธ์กัน โดยทั่วไป ยอมรับกันว่าการเคารพคุณค่าความเป็นมนุษย์เป็นเงื่อนไขที่ช่วยเปิดโอกาสให้ปัจเจกบุคคลได้พัฒนาคุณค่าในตนเอง ยกตัวอย่างสังคมที่เหยียดเชื้อชาติ สังคมเช่นนี้ขาดความเคารพความเป็นมนุษย์ของบุคคลที่มีบางเชื้อชาติ บุคคลเหล่านี้ได้รับการปฏิบัติราวกับว่าเป็นวัตถุ เช่น เป็นเป้าหมายแห่งการล้อเลียน เยาะเย้ยหรือกลั่นแกล้งด้วยเหตุผลเพียงเพราะเชื้อชาติของเขาเหล่านี้ ในบริบทเช่นนั้น เป็นการเรื่องไม่ง่ายนักที่บุคคลที่ถูกเหยียดเชื้อชาติจะพัฒนาความภาคภูมิใจในตนเองขึ้นมาได้ เช่นเดียวกับที่เป็นเรื่องยากที่สังคมจะให้ความยกย่องบุคคลเหล่านี้
การสังเคราะห์ความรู้โดยอาศัยข้อมูลจากการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของผู้ต้องขังหญิงนี้แสดงให้เห็นถึงการดิ้นรนเพื่อแสวงหาคุณค่าของปัจเจกบุคคลอย่างชัดเจน การสังเคราะห์ความรู้ในส่วนนี้จึงให้ความสนใจกับองค์ประกอบนี้ก่อนที่จะวิเคราะห์เชื่อมโยงสู่ประเด็นเรื่องคุณค่าความเป็นมนุษย์
อีกประเด็นหนึ่งที่ควรตระหนักไว้ ณ ที่นี้คือความแตกต่างระหว่าง “ตัวตน” (self) และ “อัตลักษณ์” (identity) การแบ่งแยกทั้งสองมีคำอธิบายแตกต่างกันไป ในที่นี้อาศัยคำของริเกอร์ (Ricoeur, 1992: 18) ที่กล่าวว่าการพูดถึง “ตัวตน” (self) ไม่ใช่การพูดถึง “ฉัน” (I) แม้เราไม่มีวันเข้าถึง “ตัวตน” ได้โดยตรง แต่เรารู้ได้ว่ามีอยู่ ทั้งนี้ กล่าวได้โดยสังเขปว่า “ตัวตน” คือผู้สร้าง “อัตลักษณ์” (หรือ “ฉัน”) โดย “อัตลักษณ์” นี้คือความเข้าใจว่า “ฉันคือใคร” ปกติทั้ง “ตัวตน” และ “อัตลักษณ์” จะซ้อนทับกันอยู่ เราสามารถตระหนักถึงการมีอยู่ของ “ตัวตน” ได้อย่างชัดเจนในบางกรณี โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในกรณีที่เราสับสนว่า “ฉันคือใคร” เห็นได้ว่าในกรณีนี้เราไม่รู้ว่า “ฉันคือใคร” คำถามที่ตามมาก็คือแล้วใครเล่าคือคนที่ตั้งคำถามและดิ้นรนเพื่อตอบคำถามนี้ในที่สุดถ้าไม่ใช่ “ตัวตน” การดิ้นรนเพื่อแสวงหาคุณค่าของปัจเจกบุคคลจากข้อมูลจากการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของผู้ต้องขังหญิงนี้ดำเนินไปในภาพที่กว้างกว่า อันเป็นภาพของ “ตัวตน” ที่พยายามสร้าง “ตัวฉัน” ใหม่ขึ้นมา