อย่างไรก็ตาม ก่อนที่จะประกาศข้อกำหนดกรุงเทพฯ พบว่าในประเทศไทยมีผู้พิพากษา เจ้าหน้าที่เรือนจำส่วนหนึ่งที่มีวิธีการทำงานที่เห็นคุณค่าความเป็นมนุษย์ของผู้ต้องขัง และส่งผลให้ผู้ต้องขังเหล่านั้นได้รับโอกาสในการพัฒนาตนขณะอยู่ในเรือนจำ มูลนิธิสดศรี-สฤษดิ์วงศ์ จึงได้จัดกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เพื่อให้บุคคลเหล่านี้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกันในเรื่องของวิธีการทำงาน รวมถึงวิธีการดำเนินชีวิตที่ทำให้เขาเหล่านั้นมองเห็นคุณค่าความเป็นมนุษย์ในตนเองและผู้อื่น และเพื่อให้เกิดประโยชน์มากยิ่งขึ้นในวงกว้าง มูลนิธิสดศรี-สฤษดิ์วงศ์ จึงเห็นควรให้มีการสังเคราะห์องค์ความรู้ที่เกิดขึ้นจากการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ดังกล่าว เพื่อจะได้นำความรู้ที่ได้มาเป็นพื้นฐานสำหรับการขับเคลื่อนให้เกิดมิติของคุณค่าความเป็นมนุษย์ทั้งในการดูแลผู้ต้องขังหญิงและการสร้างกระบวนการยุติธรรมที่มีสืบไป
2. วัตถุประสงค์
1. เพื่อสังเคราะห์องค์ความรู้เกี่ยวกับคุณค่าความเป็นมนุษย์จากข้อมูลการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของผู้พิพากษา เจ้าหน้าที่เรือนจำ และผู้ต้องขัง
2. เพื่อสังเคราะห์องค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องกับมาตรฐานตามข้อกำหนดกรุงเทพฯ (Bangkok Rules)
3. วิธีการสังเคราะห์
การสังเคราะห์ความรู้ใช้ข้อมูลการถอดแถบบันทึกเสียงจากแหล่งต่อไปนี้
1. การจัดกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กลุ่มผู้ต้องขัง (3 ครั้ง)
2. การจัดกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กลุ่มเจ้าหน้าที่เรือนจำ (3 ครั้ง)
3. การจัดกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กลุ่มผู้พิพากษา (3 ครั้ง)
ข้อมูลที่ผู้สังเคราะห์ได้รับผ่านกระบวนการป้องกันความเป็นส่วนตัวของผู้ร่วมกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้มาแล้ว โดยมีการใช้อักษรย่อแทนชื่อจริงและชื่อสถานที่ รวมถึงมีการปิดบังรายละเอียดอื่นๆ เพื่อป้องกันการระบุตัวบุคคลได้
4. ผลที่คาดว่าจะได้รับ
1. ความเข้าใจเกี่ยวกับคุณค่าความเป็นมนุษย์จากการทำงานของกลุ่มผู้พิพากษา เจ้าหน้าที่เรือนจำ และผู้ต้องขัง
2. แนวทางการขับเคลื่อนให้เกิดการทำงานตามมาตรฐานข้อกำหนดกรุงเทพฯ (Bangkok Rules)