ยั่งยืนอยู่ได้ ถ้า…

ประสานผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง แม้ดูจะเป็นบทบาทหน้าที่ที่ทำกันเป็นปกติ แต่เห็นความพิเศษของการประสานที่อำนวย สนับสนุนให้เกิด PBL และ PLC

๑.๑ เชื่อมต่อระดับนโยบาย:

สร้างความเข้าใจกับผู้บริหารเขตพื้นที่ ผู้บริหารระดับสูงขององค์กรบริหารส่วนท้องถิ่น ถึงแนวคิดทักษะแห่งศตวรรษที่ ๒๑ การจัดการเรียนรู้แบบนักเรียนลงมือ พร้อมทั้งเสนอแนวทางพัฒนาโรงเรียน แนวทางพัฒนานักเรียน โดยนำพาเข้าไปเรียนรู้ ทำความเข้าใจ เห็นผลลัพธ์การเปลี่ยนแปลงที่ที่เกิดขึ้นกับนักเรียน ณ สถานที่ปฏิบัติการจริง ทำให้ผู้เขียนนึกเลยไปถึงสุภาษิตไทยที่ว่า “สิบปากว่า ไม่เท่าตาเห็น สิบตาเห็นไม่เท่ามือคลำ”

“…พารอง ผอ.เขต พาผู้บริหารบางส่วนไปดูงานที่โรงเรียนลำปลายมาศพัฒนา ทุกคนพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าใช่เลยต้องแบบนี้ หลังจากนั้นผมก็มาขายความคิด หน้าที่ผมเป็นเซลล์แมนขายความคิด…”

“…ชวนไปดูที่โรงเรียนเลย แล้วท่านบอกว่าต้องมาดูนักเรียนสรุปความรู้ตอนปิด Quarter ด้วย คุยกันกับ ผอ.สังคมกำหนดเป็นวันที่ ๒๗ มีนาคม ให้ทำหนังสือราชการมา เพราะ ผอ.เขตพูดแล้วว่าอยากพาคณะมาดูตอนปิด Quarter มาดูผลงานของเด็กว่าเป็นยังไง ก็ตอนนั้นล่ะครับที่ประจักษ์ชัด ตอนนี้ท่านก็ภาคภูมิใจเห็นเด็กทำงาน เด็กโต้ตอบ เด็กมีส่วนร่วมในการทำมากขึ้น ถ้าส่งแต่รูปถ่ายก็ไม่ค่อยเห็นอะไร…”

มานิต สิทธิศร สนง.เขตพื้นที่การศึกษาศรีสะเกษ เขต ๔

“…ช่วงปีใหม่ที่ทางโรงเรียนจัดวง PLC ได้มีโอกาสเชิญท่าน ผอ.กองเข้าไปร่วมในวง บรรยากาศที่ท่านเห็นมันแตกต่างจากการประชุมอื่น ท่านไม่เคยเข้าร่วมประชุมแบบนี้ เห็นแล้วท่านรู้สึกว่า เป็นรูปแบบใหม่ไม่เหมือนการประชุมนั่งโต๊ะ มีความคิดว่าดี อยากเชิญผู้บริหารระดับนายกฯเข้ามาร่วมฟังบ้าง เพราะว่าในวง ครูเล่าเรื่องการทำงานกับเด็กนักเรียนให้ฟัง การทำงานของโรงเรียนที่ผ่านมา ทุกคนได้เล่าตรงนี้ค่ะ มันเป็นการเริ่มต้นที่ดี ผอ.เห็นด้วยกับวิธีการตรงนี้…”

นฤภร ภูแสนศรี เทศบาลท่าพระ จ.ขอนแก่น

“…หลังจากกลับไป ผมมีความคิดว่าเราต้องคุยกับผู้บังคับบัญชาเสียก่อนในฐานะเราเป็นศึกษานิเทศก์ ว่าเรามาทำอะไร ผมกลับไปสรุปและนำเสนอให้ทราบว่า เรามาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ครั้งนี้ กระบวนการเป็นอย่างไร มันไม่ใช่การระดมความคิด ระดมสมอง ไม่ใช่การทำ KM นั่งคุยนั่งเล่าแล้วจบกันไป แต่เป็นการมาพูดประสบการณ์ดีๆ ของทุกคน ของคุณทำอะไร ก็มา Share กัน เรื่องปัญหาเราไม่พูดแล้ว ปัญหามันก็อยู่ในวังวน แต่จะพูดว่าทำอะไรแล้วดี ทำอะไรแล้วเกิดกับเด็กกับครูอะไรอย่างไร และเสนอแนวทางพัฒนา คือ ผมเสนอว่าผมจะจัดทำโครงการโรงเรียนต้นแบบในศตวรรษที่ ๒๑ และโรงเรียนเครือข่าย แนวทางในการพัฒนาไว้ในบันทึกเสนอฉบับนั้นให้ท่านลงนามก่อน ส่วนการเขียนโครงการก็จะนำเสนออีกครั้งหนึ่ง หลังจากนั้นท่านก็ลงนามเรียบร้อย…”

ปัญญา สุขศิริ สนง.เขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาระยอง เขต ๑

๑.๒ ประสานและเชื่อมให้เกิดเครือข่ายโรงเรียนในศตวรรษที่ ๒๑ :

ส่วนนี้สำคัญ เพราะเป็นการขยายเพิ่มจำนวนโรงเรียนในเขตรับผิดชอบให้มีการจัดการเรียนรู้ PBL โรงเรียนได้เรียนรู้และพัฒนาไปพร้อมๆ กันอย่างเป็นเครือข่าย อีกทั้งยังชวนผู้ปกครอง ชุมชนเข้ามาร่วมเรียนรู้ด้วย โดยใช้เครื่องมือหลากหลาย หนึ่งในนั้นคือ PLC

“… มีโรงเรียนอื่น โรงเรียนวัดห้วงหินเสนอตัวอยากมาร่วมเป็นเครือข่าย ผมก็เลยคุยกันแล้วก็ร่วมเป็นเครือข่ายเลย จัดทำโครงการของเขตหนึ่งโครงการ การพัฒนาโรงเรียนต้นแบบและโรงเรียนเครือข่าย ส่วนในกิจกรรมของโครงการฯ จะใช้กระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้หรือ PLC เชื่อมระหว่างโรงเรียนกับเขต

โครงงานของเด็กก็จะมองตลอดแนว ประเด็นที่เราแลกเปลี่ยนเรียนรู้ มีผู้ปกครองด้วย เราจะไปบอกทำ PBL อย่างไร AL อย่างไร เขาไม่รู้หรอก เพราะฉะนั้นประเด็นที่จะตั้งให้เขาแลกเปลี่ยน คือ เขาดูแลลูกเขาอย่างไร สอนลูกเขาอย่างไร เพื่อให้ได้เชื่อมโยงกับประเด็นของครู…”

“…ในฐานะที่เป็นตัวประสาน ปีที่ผ่านมา มีมูลนิธิรักษ์ไทยประสานมาทางผม จะมีโครงการเข้ามาทำกับโรงเรียนในเรื่องปัญหาสิ่งแวดล้อม ให้เราหาโรงเรียน ๔-๕ แห่ง บังเอิญมีโรงงานอุตสาหกรรมที่อยู่ในเขตบ้านค่ายที่เขาทำอยู่แล้ว เขาให้การสนับสนุนโดยผ่านมูลนิธิรักษ์ไทย ในการคัดเลือกโรงเรียน วิธีการคือมูลนิธิจะสำรวจข้อมูลก่อน ตรงนี้จะโยงเข้าชุมชน โรงเรียนจะต้องมีชุมชนเข้ามาด้วย มีกรรมการเข้ามาด้วย เพื่อดูว่ามูลนิธิเข้ามามีวัตถุประสงค์อะไร ทางชุมชนยอมรับได้มั้ยในลักษณะอย่างนี้ แต่วัตถุประสงค์คือไม่ได้เกี่ยวกับโรงงาน ไม่ได้เกี่ยวกับอะไรหรอก เพียงแต่ต้องการให้กระบวนการเรียนรู้ของนักเรียนลงสู่ชุมชนให้ได้ นักเรียนรู้ปัญหาในชุมชน เพื่อร่วมกันแก้ปัญหาในชุมชนของตนเอง ผมคิดว่า เราควรส่งเสริมตรงนี้ด้วย เพราะอย่างน้อยโรงเรียนก็มีผู้สนับสนุน มีผู้จัดกิจกรรมนี้ให้ ทางมูลนิธิรักษ์ไทยเป็นผู้จัดกิจกรรม ทางนิคมอุตสาหกรรมเหมราชเป็นผู้สนับสนุนงบประมาณ ก็รับเข้ามาก็เสนอท่าน ผอ.ไป สุดท้ายก็คัดเลือกโรงเรียนมา ๔-๕ โรง มีโรงเรียนท่าเสาด้วยครับ ผมก็เสนอไปว่าโรงเรียนนี้มีการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนโดยนักเรียนเป็นผู้ปฏิบัตินักเรียนเป็นผู้ทำ เขาก็เลยมาดูเขาเห็นด้วย เขาก็เลยรับโรงเรียนนี้…”

ปัญญา สุขศิริ สนง.เขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาระยอง เขต ๑

“… ที่เขต ๔ มีครูบรรจุใหม่ ผมก็จะเชิญโรงเรียนบ้านนาขนวนไปสาธิตการสอนให้ดู แล้วไปเล่าให้คุณครูฟังว่าที่นั่นมีอะไร และให้โอกาสโรงเรียนบ้านนาขนวนได้ไปเล่าสิ่งดีๆ ให้โรงเรียนอื่นฟัง…”

มานิต สิทธิศร สนง.เขตพื้นที่การศึกษาศรีสะเกษ เขต ๔

๑.๓ ประสานหาแหล่งเรียนรู้สนับสนุนความเข็มแข็งเชิงวิชาการ

“…หาแหล่งเรียนรู้อื่น แม้เราจะทำงานกับโรงเรียนลำปลายมาศพัฒนา แต่เราก็เตรียมหาแหล่งเรียนรู้อื่นๆ อีกที่จำเป็น ที่สำคัญ ที่เหมาะสม เพื่อเติมเต็มต่อยอด ก็มีทำกับม.มหาสารคาม และก็มูลนิธิสดศรีฯ เราก็พยายามหาเพิ่มเติมอยู่ครับ ส่วน MOU ที่ทำก็มีกับเขตพื้นที่กับโรงเรียนลำปลายมาศพัฒนา กับโรงเรียนนาขนวน กับอบต. เพื่อที่จะได้เป็นหลัก แต่มันก็แค่กระดาษแผ่นเดียวเหมือนกฎหมายบ้านเมืองตอนนี้ ถ้าไม่ได้ทำอะไรมันก็แค่กระดาษแผ่นหนึ่ง ทำอย่างไรให้กระดาษแผ่นนี้ที่เซ็นไปแล้วมีความรับผิดชอบกันด้วยครับ ..”

มานิต สิทธิศร สนง.เขตพื้นที่การศึกษาศรีสะเกษ เขต ๔

“…เราก็เชิญอาจารย์มหาวิทยาลัยเข้ามาเพื่อมาเติมเต็ม อันนี้เพื่อเข้ามาช่วยในส่วนนี้ด้วย อาจารย์ก็เข้ามา ๒ ครั้งแล้ว แล้วผมจะมีกิจกรรมที่สอง เรื่องวิจัยอีกตัวหนึ่งที่อยากจะทำ ช่วงระหว่างที่เราทำเราก็เชิญอาจารย์มหาวิทยาลัยที่เขาทำเรื่องนี้อยู่ ที่เคยเป็นวิทยากรพวกผมอยู่ ผมก็เชิญมาด้วย มาร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้วย อันนี้ที่ทำไปครับประมาณนี้ ก็มาที่เครือข่าย เพื่อมาเติมเต็ม พอได้อาจารย์มาพูดมาคุยมาร่วมแลกเปลี่ยน คุณครูก็บอกเข้าใจเพิ่มมากขึ้นนะครับ…”

ปัญญา สุขศิริ สนง.เขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาระยอง เขต ๑

๒. นิเทศเพื่อพัฒนา

สะท้อนให้เห็นถึงการนิเทศ ที่มีเป้าหมายอยู่ที่พัฒนาโรงเรียน มิใช่การประเมินได้ตกต่ำกว่ามาตรฐาน แต่เป็นการกระตุ้นให้คุณครูเป็นนักเรียนรู้ ขณะเดียวกันตนเองก็ “ร่วมเรียนรู้” ทำงานแบบ Active Learning ไปด้วยเช่นเดียวกัน

๒.๑ เริ่มที่ฟัง ไม่ตัดสินชี้ถูกชี้ผิด :

รับฟังเรื่องเล่าของคุณครู ไม่ใช้ตำแหน่งในฐานะที่ตนเองเป็นผู้นิเทศ แล้วตัดสินว่าการกระทำนั้นถูกหรือผิด เพราะเข้าใจดีว่า คำตอบอยู่ ณ หน้างานที่คุณครูปฏิบัติ

“…โดยปกติของศึกษานิเทศก์ของตัวผมเอง จะมีปฏิทินนิเทศก์อยู่ ทุกครั้งที่ผมไป ผมก็จะฟังครูก่อน นี่เป็นวิธีการของผม ให้ครูเล่าก่อน เมื่อใดไปโรงเรียนแล้วมีหัวหน้าสาระ มีใครหลายๆ คนมาแต่ก็จะให้คุณครูเล่าให้ฟังก่อน กำหนดประเด็นก่อนว่าวันนี้เราจะไปนิเทศก์เรื่องอะไร ครูเล่าให้ฟังก่อน ก็เป็นผู้ฟังเหมือนกัน แต่หลังจากนั้นเราค่อยมาคุยกันว่าแต่ละคนมีปัญหาอะไร แล้วก็ค่อยๆ ว่าไป อันนี้วิธีแรกที่ผมไป …”

ปัญญา สุขศิริ สนง.เขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาระยอง เขต ๑

“… อย่าไปชี้ ไม่รู้แล้วอย่าชี้ คือมันมีปัญหาว่า ศึกษานิเทศก์ไปแล้วไป ชี้นู่นชี้นี่ทั้งๆ ที่ตัวเองไม่รู้ แต่ไปเที่ยวชี้นู่นชี้นี่ซึ่งโรงเรียนหมดกำลังใจ ผมก็บอกเลยอย่าไปเที่ยวชี้ ผมนี่คลุกคลีกับโรงเรียนนาขนวนกับโรงเรียนลำปลายมาศมานานผมไม่เคยชี้เลยว่าผิดถูกอะไร ผมมีแต่ส่งเสริมให้เขาทำต่อไป เพราะว่าผมเชื่อว่าคำตอบอยู่ที่หน้างาน ถ้าคุณครูมีความรู้มีความสามารถ ปัญหาคือ ครูไม่กล้าทดลองนำนวัตกรรมใหม่ๆ ไปใช้ เราต้องให้ความมั่นใจให้ครู…”

มานิต สิทธิศร สนง.เขตพื้นที่การศึกษาศรีสะเกษ เขต ๔

๒.๒ เป็นส่วนหนึ่งของวง PLC

“…ทุกครั้งที่ลงไป อย่างครั้งที่จะมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน ท่าน ผอ.ปรีชา ท่านก็ว่าของท่านไป ผมก็คุยขอเวลานิดหนึ่ง เพื่อสร้างความตระหนักให้กับคุณครู แม้ว่าเราจะเริ่มทำไปแล้ว แต่บางทีคุณครูอาจจะท้อรอยู่บ้าง เหลืออีกกี่เปอร์เซ็นต์ยังไม่ ๑๐๐% ผมจะใช้ตรงส่วนนี้แลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน ผมก็จะมีวิธีการว่า ทำไมคุณครูต้องทำ PBL ทำไมเราต้องใช้คำถามในการเรียนการสอน ในการถามจะถามอย่างไร ผมก็ใช้วิธีการนี้ในการกระตุ้นครูอีกแรงหนึ่ง อันนี้คือสิ่งที่เข้าไปร่วมโดยตรงในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้

โรงเรียนที่มีครูหลายคนเช่นโรงเรียนขยายโอกาสที่ดูแลอยู่ บางครั้งที่เราไปแล้วเราเชิญครูวิชาการมา เชิญหัวหน้ากลุ่มสาระมา พร้อมทั้ง ผอ.ด้วย ผมจะใช้วิธีให้เค้าเล่าให้ฟังก่อน เช่น เราจะลงไปดูเรื่องของ PBL เรื่องการบูรณาการ ซึ่งเราประชุมไปแล้วอบรมไปแล้วครูทำมั้ย เชิญครูที่ไปรับการอบรมมา เพราะคิดว่าเค้าคงทำแล้ว เรายังไม่คุยอะไร วันนี้เราจะนิเทศเรื่องนี้ ก็ให้คุณครูแต่ละท่านลองเล่ารวมทั้ง ผอ.ด้วยว่า ทำอย่างไร จัดการอย่างไร ก็ฟังก่อน ยกตัวอย่างง่ายๆ คือไปโรงเรียนหนึ่ง เค้าบอกว่าครูที่โรงเรียนสอนเวียนหมดเลย แต่ทำไปอย่างนั้นแหละ มีงานมาให้ดูเสร็จ มีบูรณาการวิชานั้น วิชานี้ ทำเป็น PBL อย่างนั้น อย่างนี้ครับ แต่ถามเวลาทำก็ทำมา เพื่อให้คนดูเห็นว่าทำตามนโยบาย ผมก็ฟังก่อน ทุกคนพูดเหมือนกันหมด แต่ไม่ได้เอาไปสอนหรอก เพราะว่าสอนเวียน ก็สอนใครสอนมัน ก็ง่าย แล้วจะไปบูรณาการทำไมครู พอผมก็ฟังไปก่อน คือในวงจะเป็นอย่างนี้ แล้วหลังจากนั้น ผอ.ว่าไง ครูว่าไง จากนั้นผมก็รวบรวมประเด็นมาคุยกันว่า การทำแล้วไม่ใช้ มันมีประโยชน์อะไร คุณครูเสียเวลา แล้วถ้าคุณครูทำอย่างนี้ ถ้าทำเพื่อนโยบาย มันมีวิธีการอื่นอีกมั้ย …”

ปัญญา สุขศิริ สนง.เขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาระยอง เขต ๑

๒.๓ นิเทศตามสภาพจริง ณ ฐานปฏิบัติ เช่น ห้องเรียน แหล่งเรียนรู้ขณะทำ PBL

“…อีกวิธีหนึ่งคือลงห้องเรียนเลย บางทีเรามีความรู้สึกว่า เราควรจะไปคุยกับคุณครู คุยกับนักเรียนบ้าง ในการลงห้องเรียน ผมจะมีหนังสือไปเล่มหนึ่ง ซึ่งวิธีนี้ผมทำมาก่อนที่จะทำอันนี้อีก ในเรื่องการอ่าน เรามีหนังสือไปสักเล่ม ๒ เล่ม ถือไปเพื่อเด็กที่เขาเบื่อหนังสือที่เขาอ่านทุกวันๆ แรกๆ ไปให้นักเรียนอ่านหนังสือให้ครูฟังสัก ๕ บรรทัด หนังสือแบบเรียนที่เขาเรียนทุกวัน เขาก็เปิด คือเขาก็ไม่ชอบตรงไหนเพราะอ่านจนชินแล้ว ถ้ามีหนังสือเราไปชอบเลย ที่อ่านไม่ออกก็อยากจะอ่านนะครับ เพราะเขาเห็นหนังสือ แต่พอไปคราวนี้พอผมลงห้องเรียนจะลองคุยกับนักเรียนก่อน ตั้งคำถามกับนักเรียนก่อน หรือให้นักเรียนอ่านหนังสือ แล้วตั้งคำถามดู อย่างครั้งที่แล้วไปห้วงหิน ลองไปลงห้องเรียนดู ก็ไปคุยกับเด็กแล้ว ให้อ่านการ์ตูนเรื่องดักแด้ นักเรียนเขาก็อยากอ่าน รู้สึกว่านักเรียนที่อยู่ในโรงเรียนเครือข่ายเขามีความกล้าแสดงออกอยู่แล้ว คือไม่ต้องเรียกคนไหนหรอก เขาอยากจะมาอ่าน อ่านไม่ออกก็อยากจะมา เสียงดังมาก ‘ผมครับๆ’ คุณครูบอกจะมีคนหนึ่งที่ย้ายมาใหม่ อ่านไม่ออก อ่านไม่ค่อยได้ แต่อยากจะมาอ่าน แต่สะกดได้ ถ้าให้เวลาเขา เขาสามารถที่จะสะกดแล้วอ่านเป็นคำๆ แล้วเป็นประโยคได้ ผมเลยมองว่าพอเด็กอ่านแล้ว ก็เอาเนื้อหาจากในนี้มาตั้งเป็นคำถามสัก ๒ ประเด็น ดักแด้เป็นอย่างไรลูก เด็กยกมือบอกดักแด้เกิดจากตรงนั้นตรงนี้ หนูลองดูสิ ไหนลองวาดรูปวงจรว่าเมื่อกี้มันเป็นอย่างไร เด็กก็มาช่วยกันวาดๆ ช่วยกันนะครับ บางคนวาดได้แค่เป็นหนอนขึ้นมากี่วันๆ แค่นี้ครับ แต่สุดท้ายแล้วเด็กอาจไม่ครบวงจรหรอก ก็ทิ้งไว้เราก็ไม่บอก บอกแค่ว่าเดี๋ยวงวดหน้าครูมาหนูต้องไปศึกษาเรื่องดักแด้มานะครับ แล้วเดี๋ยวคุณครูจะให้วาดต่ออีก คือเราก็สอนครูด้วยแหละว่าไม่ใช่ให้ครูไปบอกซะหมด..”

“… เวลาเราไปจะมีการนิเทศ ก็คือนิเทศตามสภาพจริงนั่นแหละ ถ้าเราจะไปดูกิจกรรมของการจัดการเรียนการสอนแบบ AL ก็จะไปดูที่ตัวนักเรียน เราเข้าไปก็จะเห็นเด็กทำกิจกรรมอยู่ เราก็ประเมินจากสภาพจริงที่เห็น เวลาเด็กเข้าฐานเรียนรู้ บางทีก็ไม่ได้มีครูอยู่ตรงนั้น เพราะอาจจะมีหลายฐาน เด็กเขาก็จะมานั่งทำกิจกรรมกันเอง เราก็จะเข้าไปคุยกับเด็กเอง เห็นพฤติกรรมเด็กว่ามีการแบ่งหน้าที่บทบาทกัน แล้วก็นั่งทำกิจกรรมอยู่ในแต่ละฐาน เราดูแล้วเด็กเขาก็มีความสุขในการเรียนรู้ตรงนั้น ตรงนี้เวลาไปนิเทศ จะสอบถามเด็กว่าหนูเรียนอะไรกันอยู่ เป็นยังไง วางแผนกันยังไง เราก็จะได้ข้อมูลส่วนหนึ่ง เด็กแต่ละคนก็อยากจะคุยกับเราว่าเขาทำอะไร โดยที่ไม่มีคุณครูอยู่ตรงนั้น อันนี้เราประเมินจากการนิเทศก์แหล่งเรียนรู้ส่วนหนึ่ง…”

ปัญญา สุขศิริ สนง.เขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาระยอง เขต ๑

๒.๔ ดูการเปลี่ยนแปลงของคุณครู :

ติดตามความก้าวหน้าโดยดูการเปลี่ยนแปลงของคุณครู และการเปลี่ยนแปลงนั้นสอดคล้องกับวิถีชีวิตความเป็นครูมืออาชีพ คือ ครูเปลี่ยนเรื่องคุย แล้วก็มาคุยเรื่อง AL คุยเรื่องนักเรียนเรื่องการสอนมากขึ้น การจัดกิจกรรมการเรียนรู้ให้นักเรียน และครูมีความสุขจากงานที่ทำ

“…ตัวผมเองในส่วนครู จะดูที่การเปลี่ยนแปลง ก็สังเกตสัมภาษณ์คุณครู สอบถามพูดคุยกับคุณครูว่าเป็นยังไง ดูรอยยิ้ม พอพูดถึงเรื่อง PLC หรือ AL หรือเรื่องแผนการสอนนี่ครูยิ้ม อยากจะเล่าให้เราฟัง ดูจากตัวแผนการสอนของเขามีพัฒนาการดีขึ้น การจัดห้องสภาพแวดล้อมในห้องมันเอื้อต่อการเรียนรู้มากขึ้น ดูผลงานของเด็กก็จะรู้ว่าคุณครูทำอย่างไรจัดกระบวนการอย่างไรมันถึงออกมาอย่างนี้ ก็ดูการเปลี่ยนแปลงตรงนี้ได้ชัดเจนครับ ง่ายที่สุดก็คือคุยกันนี่แหละครับ ใช้ภาษาคนคุยกัน ไปคุยกันตอนนิเทศ หรือเจอกันในตลาด พอคุยเขาก็มีเรื่องอยากจะเล่าเยอะ ถ้าเป็นเมื่อก่อนพอพูดเรื่องแผนการสอนนี่หน้านิ่วคิ้วขมวดขึ้นมาทันที มันเป็นยาดำสำหรับคุณครู เดี๋ยวนี้พอพูดเรื่องนี้ คุณครูเปลี่ยนเรื่องคุยกันนะ เรามาคุยเรื่องนี้กันมากขึ้น แล้วเขามีความสุข เขามีสิ่งที่อยากจะเล่าให้ฟัง…”

ปัญญา สุขศิริ สนง.เขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาระยอง เขต ๑

๒.๕ ดูพัฒนาการ ความสุข ของนักเรียน

อีกวิธีหนึ่งคือลงห้องเรียนเลย บางทีเรามีความรู้สึกว่า เราควรจะไปคุยกับคุณครู คุยกับนักเรียนบ้าง ในการลงห้องเรียน ผมจะมีหนังสือไปเล่มหนึ่ง ซึ่งวิธีนี้ผมทำมาก่อนที่จะทำอันนี้อีก ในเรื่องการอ่าน เรามีหนังสือไปสักเล่ม ๒ เล่ม ถือไปเพื่อเด็กที่เขาเบื่อหนังสือที่เขาอ่านทุกวันๆ แรกๆ ไปให้นักเรียนอ่านหนังสือให้ครูฟังสัก ๕ บรรทัด หนังสือแบบเรียนที่เขาเรียนทุกวัน เขาก็เปิด คือเขาก็ไม่ชอบตรงไหนเพราะอ่านจนชินแล้ว ถ้ามีหนังสือเราไปชอบเลย ที่อ่านไม่ออกก็อยากจะอ่านนะครับ เพราะเขาเห็นหนังสือ แต่พอไปคราวนี้พอผมลงห้องเรียนจะลองคุยกับนักเรียนก่อน ตั้งคำถามกับนักเรียนก่อน หรือให้นักเรียนอ่านหนังสือ แล้วตั้งคำถามดู

ปัญญา สุขศิริ สนง.เขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาระยอง เขต ๑

“…หลังจากที่ได้เริ่ม ทำกระบวนการนี้แล้ว เหมือนเด็กมีสัมมาคารวะมากขึ้น เวลาเห็นก็สวัสดีครับ แล้วเด็กหลายคน ส่วนใหญ่เวลาเราเดินไปในรั้วสมมุติ เมื่อก่อนต่างคนต่างอยู่แต่เดี๋ยวนี้เช้าๆคุณครูครับสวัสดีครับอะไรอย่างนี้ค่ะจะเป็นแบบกล้าทักทายเราเราก็มองว่าเหมือนเด็กเค้ากล้าที่จะเข้าหาเรา…”

นฤภร ภูแสนศรี เทศบาลท่าพระ จ.ขอนแก่น

“…อย่างง่ายที่สุดก็คือการดูว่านักเรียนมีความสุขในการเรียนหรือการจัดกิจกรรมมากน้อยเพียงใด ก็ใช้การสังเกตเด็ก ดูรอยยิ้มของเด็ก เขามีความสุขในการเรียนไหม บางทีสังเกตแล้วเห็นเด็กเขาพูดว่าวันนี้ค่ำไวจังเลย แต่เมื่อใดก็แล้วแต่ที่เด็กพูดว่า พรุ่งนี้ไม่ต้องมาโรงเรียนแล้วเด็กเฮ แสดงว่าเราจัดการศึกษายังไม่ดี แล้วก็สัมภาษณ์คุยกับเขาเลย คุยอย่างไม่เป็นทางการ อาจจะดูจากสถิติการมาเรียนว่าเขาไม่ขาดเรียน เขามาเรียนแล้วมีความสุข เขาส่งการบ้านส่งงานดี ดูจากชิ้นงานแล้วผลงานเขามีคุณภาพมากขึ้นดีขึ้น อันนี้ก็เป็นตัวชี้วัดที่เห็นได้ชัดเจนในเรื่องของนักเรียน…”

มานิต สิทธิศร สนง.เขตพื้นที่การศึกษาศรีสะเกษ เขต ๔

๒.๖ ดูการมีส่วนร่วมของชุมชน

“…ส่วนผู้ปกครองหรือว่าชุมชน เมื่อก่อนเวลามีกิจกรรมหรือว่ามีงานอะไร ทางผู้ปกครองหรือว่าชุมชนเค้าก็จะไม่ค่อยเข้ามามีส่วนร่วมกับทางโรงเรียน มีอะไรก็เหมือนสั่งครู แล้วครูไปประสานกับผู้ปกครองเอานู่นเอานี่ ตัวผู้ปกครองเองไม่ได้เข้าถึงโรงเรียน แต่ปัจจุบันอย่างเวลามีกิจกรรมมีอะไรที่ขอความร่วมมือกับผู้ปกครอง เค้าจะเข้ามาแล้วก็เหมือนกับเค้าสามารถเข้าถึงตัวครู ตัว ผอ.สามารถแสดงความคิดเห็นหรือว่าชี้แนะอะไรพวกนี้ค่ะ คือสามารถเข้าถึงได้มากกว่าเดิม จากตรงนี้เราก็เห็นข้อแตกต่าง…”

นฤภร ภูแสนศรี เทศบาลท่าพระ จ.ขอนแก่น

๒.๗ สร้างความเชื่อมั่น เสริมเติมให้กำลังใจ

“…ต้องสร้างความมั่นใจให้กับคุณครูก่อนในฐานะศึกษานิเทศก์ แล้วเราก็รู้จักกันมาอาศัยความคุ้นเคยตรงนี้แหละครับ มาเป็นการพูดคุยก่อนว่า มันดีอย่างไร มันไม่ดีอย่างไร พูดให้ครูอยากทำก่อน เพราะคุณครูเวลามาเขาจะเล่าว่างานเยอะอย่างนั้น อย่างนี้ แต่ทีนี้ ถ้าเราไม่อาศัยว่าความคุ้นเคยที่รู้จักกันมานาน แล้วมาพูดคุยมันก็จะง่ายขึ้น แทนที่จะเอาหลักการมาคุยกัน เราก็จะมาคุยว่าลองดูก่อนไหม สอนอย่างเดิมๆ ผลสัมฤทธิ์ไม่เห็นขึ้นเลยที่ทำ ลองเปลี่ยนวิธีใหม่ไหม..ถ้าไม่ดีก็หาวิธีอื่นต่อไปเพราะทำมาตั้ง ๒-๓ ปี ผลสัมฤทธิ์ก็ไม่เห็นไปไหนเลยยังเท่าเดิม เราอ้างอย่างนี้ก่อน ก็อาศัยความคุ้นเคยเป็นตัวเสริมแรงคุณครูทั้ง ๒ โรงนี้ อันนี้ส่วนที่ผมทำ แล้วก็สร้างความมั่นใจให้เขาแล้วตัวเราต้องมีความมุ่งมั่นที่จะพาเขาไปด้วย…”

ปัญญา สุขศิริ สนง.เขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาระยอง เขต ๑

“..ก็จะหาโอกาสไป สิ่งที่ทำต่อไปก็คือหาเวทีให้คุณครู ได้มีโอกาสสาธิตขึ้นสอนในเวทีใหญ่ๆ ที่ผ่านมา มีแต่อยากให้วิทยากรเก่งนะ ครูนั่งอ้าปากนั่งฟังข้างล่าง แล้วคุณครูอนุบาลบ้านสะดำก็ขอผมว่าอยากขึ้นเวทีหน่อย อยากสาธิตที่จะแสดง เมื่อก่อนหนักใจมากเวลาพูดเรื่องการสอน เราก็กลัวคุณครูบอกว่าแน่จริงก็สอนให้ดูสิ เราก็กลัว แต่พอทำกับโรงเรียนต่างๆ โรงเรียนก็ขึ้นนำเสนอได้แล้ว ตอนนี้ผมมีหลายโรงเรียนครับที่กล้าที่จะขึ้นสาธิตการสอนนะครับ…

การได้รับเกียรติได้รับเชิญให้ไปจัดนิทรรศการ เป็นวิทยากร เช่นที่เขต ๔ ผมมีครูบรรจุใหม่ ก็จะเชิญโรงเรียน..ไปสาธิตการสอนให้ดู แล้วไปเล่าให้คุณครูฟังว่าที่นั่นมีอะไร อย่างนี้ก็เป็นตัวชี้วัดที่ผมภาคภูมิใจว่านี่เป็นความสำเร็จ คนอื่นๆ ในเขตก็เข้าใจ และก็ให้โอกาสโรงเรียน..ได้ไปเล่าสิ่งดีๆ ให้โรงเรียนอื่นฟัง ตรงนี้คือสิ่งที่ผมคิดว่าเป็นความสำเร็จ”

มานิต สิทธิศร สนง.เขตพื้นที่การศึกษาศรีสะเกษ เขต ๔

๒.๘ อยู่ตรงไหนก็นิเทศได้ ใช้โอกาสที่ได้พบปะกับคุณครูตามสถานที่ต่างๆ จากการใช้ชีวิตประจำวัน

“…ง่ายที่สุดก็คือคุยกันนี่แหละครับ ใช้ภาษาคนคุยกัน ไปคุยกันตอนนิเทศหรือเจอกันในตลาด บางทีนั่งใน Taxi เมื่อเช้าก็ยังคุยกัน พอคุยเขาก็มีเรื่องอยากจะเล่าเยอะ…”

มานิต สิทธิศร สนง.เขตพื้นที่การศึกษาศรีสะเกษ เขต ๔

๓. สนับสนุน กระตุ้นให้เกิด PLC

“…คืออย่างนี้ครับ ที่เขตพื้นที่มีข้อจำกัด ครั้งแรกไม่ได้คิดถึงบรรยากาศ มาครั้งนี้ผมก็เลยคิดแล้วคุยกับผอ.ปรีชาว่า บรรยากาศอย่างนี้มันใช่ เหมือนเราไปทำที่โรงเรียน บางทีมันก็อยู่ในห้องเรียน มันไม่ค่อยมีเวลาให้เรานั่งพูดนั่งคุย มันเสียงอะไรต่ออะไรดังไปหมด ทีนี้ตอนที่ผมทำที่เขตผมก็จะอย่างนี้ จัดที่เขต ๑๐๐ บาทนะ ถ้าจัดโรงแรม ๓๒๐ บาท แต่เราไม่ได้คิดถึงตรงนั้น เราคิดว่าเราก็จัดที่เขตได้ครั้งแรกนะครับ ที่เขตก็มีห้องนู้นห้องนี้ แต่ลืมคิดไปว่าบรรยากาศมันเป็นตัวหนึ่ง ที่จะทำให้การแลกเปลี่ยนเรียนรู้มันสัมฤทธิ์ผลที่ดี ตอนนี้ก็ยังคิดว่าจะไปจัดอย่างไรขอของเขตไว้อย่างนี้…”

ปัญญา สุขศิริ สนง.เขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาระยอง เขต ๑

ผู้ปกครอง

๑. รับรู้และเข้าใจเป้าหมายการเรียนรู้แบบนักเรียนลงมือทำ

“…ปีนั้นที่โรงเรียนจัดการเรียนรู้วิชาบูรณาการเป็นปีแรก เลยเดินเข้าไปถามคุณครูว่า บูรณาการคืออะไรคะ คุณครูเค้าก็อธิบายให้ฟังว่า มันเป็นเอาวิชาหลายๆ วิชามาทำงาน ทำโครงการซึ่งเด็กจะได้เรียนรู้อะไรต่างๆ ครูปีนั้นก็เครียดเพราะเริ่มเอาเข้าไปครั้งแรก ครูก็ไม่รู้จะทำยังไง ทุกคนกุมขมับ ทุกคนหน้ายุ่ง อธิบายยังไม่คล่อง…”

“…ก็บอกลูกว่าลูกไม่ต้องเรียนเก่งแต่ขอให้ลูกอยู่ได้ในสังคม มีชีวิตอยู่ได้และมีความสุขกับสิ่งที่ทำ กับสิ่งที่เรียนเพราะอะไรก็แล้วแต่ที่ทำให้เรามีความสุข เราก็จะ Happy กับมัน…”

สุนิสา บุญสุข ผู้ปกครองนักเรียน ร.ร.อนุบาลสตูล

“…ผมเซ็ตเครือข่ายผู้ปกครอง เครือข่ายผู้ปกครองผมมีเป็นร้อย ในแต่ละห้องมี ๕ ในสายระดับชั้นมี ๓๐ แล้วทั้งหมด ๖ สายชั้น ทั้งหมด ๑๘๐ เพราะฉะนั้นตรงนี้เขาต้องรู้ว่า สุดท้ายโจทย์ลูกแต่ละห้องนั้นมันเรื่องอะไรบ้าง แล้วผมเปิดพื้นที่หนึ่งก็คือผมจัดตั้งงบประมาณให้กับสายชั้นโดยให้เครือข่ายผู้ปกครองคิด Project ขึ้นมารองรับ ท่านจะไปสนับสนุนการเรียนของลูกในการเรียนรู้ก็ได้ จะพัฒนาสวนย่อมก็ได้จะทำอะไรก็แล้วแต่คุณ ตรงนี้มองว่าเปิดโอกาสเปิดพื้นที่ให้เขามีส่วนร่วม ในการสื่อสารแล้วทีนี้โดยหลักการคือต้นทาง พอระหว่างทางอย่างที่เรียนแล้วขั้นที่ ๕ หนึ่งภาคเรียนเด็กนักเรียนได้โจทย์อะไร เขาก็ต้องมารับรู้ให้เด็ก พรีเซ็นต์ว่าโจทย์คืออะไรอันนั้นคือกลางทางระหว่างทาง พอปลายทางเขาก็ต้องมาอีกครั้งหนึ่ง มาชื่นชมผลงานลูกหลานของเขา แล้วก็มีเวทีที่เด็กนำเสนอนี่คือการสื่อสารเป็นวงปกติ…”

สุทธิ สายสุนีย์ ร.ร.อนุบาลสตูล จ.สตูล

“…สามีบอกว่าลูกไม่ต้องเรียนเก่ง ไม่ต้องได้ที่หนึ่ง ไม่ต้องโดดเด่นก็ได้ แต่ต้องใช้ชีวิตให้เป็น รู้จักแบ่งปัน รู้จักเอื้อเฟื้อ รู้จักช่วยคนอื่น แค่นี้ ป่าป๊าก็ว่าลูกก็มีความสุข คนเรียนเก่งไม่จำเป็นจะต้องได้ทำงานดี ได้เป็นเจ้าคนนายคน ประสบความล้มเหลวมีไหม มี แต่คนที่ใช้ชีวิตเป็นเนี่ย มันหายาก แล้วต้องมีความสุขกับมัน ก็พยายามบอกลูกอย่างนี้ค่ะ…”

บังอร พ่อค้าช้าง ผู้ปกครองนักเรียน ร.ร.บ้านท่าเสา

๒. สนับสนุนและส่งเสริมการเรียนรู้แบบ AL

๒.๑ สนับสนุนให้ลูกได้ทำกิจกรรมตามที่ลูกต้องการ ตามที่ลูกชอบ ซึ่งสอดคล้องไปในแนวทางกับการเรียนรู้จาการปฏิบัติ ขณะเดียวกันได้ต่อยอดการเรียนรู้ของลูกจากที่โรงเรียนเพิ่มเติม

“…เมื่อกลับบ้านเขาก็จะมีกิจกรรมของเขาเหมือนกัน คือปลูกผักขาย รู้ทำงาน ทำโปรเจค

บอกจะเก็บเงินไว้ให้แม่ซื้อรถ และมีฝากไว้ที่โรงเรียนด้วย เป็นสิ่งที่เขาภูมิใจมาก เมื่อปลูกผักได้และได้เงิน เขาไม่อายที่ต้องไปขายของ เมื่อคราวก่อนมีงานปิดทองฝังลูกนิมิต เขาก็อยากทำตุ๊กตาปูนปั้น จะได้ได้เงินเยอะ แม่ก็ไปหาว่าที่ไหนมี ต้องพาเขามาซื้อถึงบางพลี เพื่อให้เขาไปออกร้านตุ๊กตาปูนปั้น เพื่อลูกจะได้ทำ จะได้แสดงออก ได้ทำในสิ่งที่ตัวเองชอบ…”

“…คุณแม่ช่วยลูกที่บ้านในเรื่องของการอ่าน เพราะว่าจะต่อยอดกับคุณครู เขาอ่านให้ครูฟัง เขาต้องกลับมาอ่านให้คุณแม่ฟัง แล้วก็มีลายเซ็นของแม่ไป อ่านทุกวันเขาก็สนุกสนานกับการอ่าน เขาอ่านไม่ได้อ่านด้วยน้ำเสียงปกติ เขาอ่านเป็นตัวละคร…”

“…ตอนนั้นเอารายงานไปเรียบเรียงที่บ้าน ก็ถามเขาว่าต้องทำอย่างไร เขาก็บอกว่าแม่ไม่ต้องยุ่ง มันต้องPresent ได้เพราะเป็นสิ่งที่เขาทำไงคะ บอกไม้โอ๊คว่าพูดให้แม่ฟังหน่อยไม่ได้เหรอ ว่าไม้โอ๊คจะนำเสนออย่างไร…”

บังอร พ่อค้าช้าง ผู้ปกครองนักเรียน ร.ร.บ้านท่าเสา

๒.๒ พูดคุยกับคุณครู ใส่ใจกับคำแนะนำของคุณครู สังเกตพฤติกรรมลูก เลี้ยงดูอย่างใกล้ชิด

“…คุณครูให้ความสนใจดูลูกเรา ดูถึงปัญหาของลูกว่าไม่ค่อยสนใจ ยุกยิกนะ ถึงเวลาเราจะต้องพาลูกไปหาหมอ ถึงได้รู้ว่าน้องเป็นโรคสมาธิสั้น…”

“…หลังจากลูกกลับจากโรงเรียน เราไม่ได้ให้เขามาอ่านเลย ปล่อยให้เขาทำสิ่งที่ชอบ เขาชอบดูสารคดี แต่จะมีข้อตกลงกันว่า ไม้โอ๊ค ดูสารคดีก่อน สักครึ่งชั่วโมง เสร็จแล้วไม้โอ๊คมาเล่า มาอ่านหนังสือ ให้คุณแม่ฟังหน่อยได้ไหม อะไรประมาณนี้ คือเราต้องให้ความรัก และเวลาที่เขาอ่าน เราต้องสนใจเขาจริง ๆ ต้องให้ความรัก ต้องพูดเชิงบวก ต้องให้คำชมเชย…”

“…เริ่มจากให้เขาหยิบหนังสือมา โดยไม่ต้องกำหนดว่าเป็นหนังสืออะไร เราบอกไม้โอ๊คว่า อยากอ่านอะไร ก็ไปเอามาเลย พอเขาเอามา ก็ถามว่าอยากอ่านหน้าไหน แม่ก็จะให้เขาอ่าน แค่ไหนก็ได้ที่เขาอยากอ่าน”

บังอร พ่อค้าช้าง ผู้ปกครองนักเรียน ร.ร.บ้านท่าเสา

๓. เป็นส่วนหนึ่งของการจัดการเรียนรู้ AL

๓.๑ ให้ความเห็นต่อโจทย์การเรียนรู้

“…ตามความคิดของเราและเพื่อนร่วมทีมคือถ้าเอาเปลือกหอยมันจะเกิดผลอะไรขึ้นมาบ้าง ต้องไปเก็บเปลือกหอยไหม มันอยู่ของมันดีๆ ก็มาแลกเปลี่ยนกับคุณครูที่ทำการเรียนการสอน ก็บอกว่าไม่นะ เอาหอยเศรษฐกิจ หอยที่เขาเลี้ยงเยอะๆ เช่นหอยแครง แล้วนักเรียนจะได้อะไร แค่เอาเปลือกหอยแครงมาทำโมบาย แปะๆ แล้วก็จบเหรอ ครูก็ไปกระตุ้นเด็ก ถ้าไม่เรียนเปลือกหอย เราก็เรียนชีวิตของมันก็ได้ แล้วชีวิตหอยอะไรล่ะ กระตุ้นจนออกไปถึงหอยขม เขาก็มานำเสนอในวงแลกเปลี่ยน ถ้าเป็นหอยขมประเด็นศึกษาคืออะไร ที่อยู่ของมัน ชีวิตมันเกิดมาอย่างไร มีเรื่องอะไรที่น่าสนใจ ที่อยู่มันจะเกี่ยวกับธรรมชาติระบบนิเวศไหม ประเด็นน่าสนใจเนอะ ก็ไปกระตุ้นนักเรียนต่อจนได้โครงงาน จะศึกษาเรื่องนี้แหละ แล้วก็ไปเชิญผู้ปกครองของแต่ละห้องเข้ามาร่วมฟังเด็กนำเสนอโครงงานด้วย ซึ่งห้องนี้ผู้ปกครองได้มีส่วนเติมเต็ม ผู้ปกครองบอกว่าเป็นเรื่องดีได้ศึกษาระบบนิเวศสิ่งแวดล้อม คุณครูต้องทำอย่างนี้ ต้องให้เห็นความแตกต่าง ว่าถ้าระบบนิเวศไม่ดีหอยมันจะอยู่อย่างไร จึงเป็นการกระตุ้นให้นักเรียนหาแหล่งเรียนรู้ที่มีความต่างกัน ซึ่งเป็นผลจากการ comment ตั้งข้อสังเกตของผู้ปกครอง ซึ่งจัดในเวทีของนักเรียน…”

ขนิษฐา อาษาชำนาญ ร.ร.อนุบาลสตูล จ.สตูล

๓.๒ เป็นนักเรียนรู้เช่นเดียวกันกับลูกๆ

“…พัฒนาโจทย์วิจัยต้องไปเชื่อมต่อกับชุมชนให้ได้ และผู้รับผิดชอบโจทย์วิจัยต้องมีผู้ปกครองอยู่ด้วย มีผู้บริหาร มีผู้ปกครอง มีกรรมการการศึกษา เพื่อต้องการเป็นเงื่อนไขให้การสร้างการเรียนรู้นี้ร่วมด้วยช่วยกัน…”

สุทธิ สายสุนีย์ ร.ร.อนุบาลสตูล จ.สตูล

๓.๓ รับเชิญเป็นวิทยากรในการเรียนรู้ AL

“..แล้วคุณครูเค้าก็จะบอกวิธีการว่า โรงเรียนคุณครูเค้าทำแบบไหน ทำยังไง เราจะเข้าไปช่วยคุณครูยังไง คุณครูเค้าจะเหมือนเราถนัดทางด้านอาหาร เค้าก็จะโทรมาบอกว่าคุณแม่ว่างไหมคะ ช่วงนี้ให้คุณแม่ รบกวนคุณแม่เข้ามาเป็นวิทยากรช่วยหน่อยว่า ทำพานดอกไม้สด แกะสลัก อะไรอย่างนี้ค่ะ ทำน้ำฝรั่ง เวลาเราไปสอนเราก็จะมีวิธีการของเราว่า เด็กป.นี้ต้องทำยังไงบ้าง เด็กแต่ละคนเนี่ย หนึ่งถ้ามีหน้าแปลกๆเข้าไปฟัง มอง แต่ว่าถ้าเป็นคุณครูหน้าเดิมๆมา เบื่อไม่อยากเห็น”

สุนิสา บุญสุข ผู้ปกครองนักเรียน ร.ร.อนุบาลสตูล

๔. เข้าร่วมในวง PLC ระหว่างผู้ปกครองและครู

“… ตอนแรกที่วางแผนก็คือว่าเราจะทำวง PLC ของครูทุกชั้น แหม่มก็เลยนำเสนอว่าถ้าวงใหญ่เกินไปมันจะดีไหม ก็เลยเสนอว่าถ้าให้มันแคบลง เอาเป็นตัวแทนผู้ปกครองแต่ละชั้นดีไหม ให้มาเล่าถึงสิ่งที่พ่อแม่ประทับใจเกี่ยวกับลูก หรือว่าความสำเร็จ อันนี้ยังไม่ได้ตั้งหัวปลา ยังไม่ชัดเจน ถ้าจะทำมันจะไม่ทัน เพราะว่ามันวงใหญ่ และก็จะไม่มีคนเก็บประเด็นด้วย ก็เลยคิดว่าจะเอาผู้ปกครอง ป.๖ ก่อน เพราะว่าเขาจะจบแล้ว วันที่ ๒๘ นี้ปิด Quarter เราให้ผู้ปกครองมาทำวง PLC เพื่อที่จะดูว่าผู้ปกครองมองเห็นการเปลี่ยนแปลงของลูกอย่างไร จากที่เราจัดกิจกรรมแบบนี้ การออกแบบการเรียนรู้แบบ PBL พฤติกรรมของบุตรหลานของเขาเป็นอย่างไร เปลี่ยนแปลงอย่างไร…”

สริตา ร.ร.บ้านนาขนวน

๕. ร่วมประเมินการเปลี่ยนแปลงในตัวเด็ก

“…เราจัดกระบวนการเรียนการสอนโดยใช้กระบวนการวิจัย เราเปิดพื้นที่เต็มที่เลย ให้ผู้ปกครองมีส่วนร่วมในโรงเรียน ทุกกิจกรรมในโรงเรียน แม้กระทั่งการวัดประเมินผลผู้ปกครองก็ต้องมาดู จัดการเรียนการสอนท่านมาดู มาเป็นวิทยากร มาเป็นส่วนหนึ่งของเรา ราเปิดใจเต็มที่ที่จะรับฟัง ที่จะร่วมด้วยช่วยกัน…”

ไพเราะ เกิดผล

———————————————————————————

๑ หัวปลา=ประเด็นในการพูดคุย หรือประเด็นในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้