โครงสร้างและระบบการบริหารจัดการ

เพื่อให้มี ติดไว้บนฝาผนัง หรือมีไว้เพื่อท่องจำ ตัวอย่างเช่น หากตั้งเป้าจะเป็นโรงเรียนสร้างสุข นั่นหมายถึง โรงเรียนต้องเอาจริงเอาจังกับการสร้างสุขสำหรับทุกคนในโรงเรียน

“…ผมต้องการปรับเปลี่ยนให้โรงเรียนเป็นโรงเรียนสอนคน ไม่ใช่โรงเรียนสอนหนังสือ มีครูที่โรงเรียนอนุบาลสตูล ใช้กระบวนการวิจัยมา ๕ ปี เมื่อ ๒ ปีที่แล้ว ท่านมาบอกผมว่า ‘ขอบคุณ ผอ. พี่เพิ่งเป็นครูเมื่อปีนี้เอง’ ตอนนี้ท่านอายุ ๕๘ ปี ถามว่าก่อนหน้านี้พี่เป็นอะไร ‘พี่ไม่รู้พี่เป็นอะไร แต่พี่ไม่ได้เป็นครู แต่พอสร้างกระบวนการนี้มา ๓ ปี พี่เป็นครู’ อย่างไหนที่พี่บอกได้ว่าพี่เป็นครู ‘เห็นเด็กเปลี่ยน เห็นพฤติกรรม เห็นพ่อแม่ที่มาร่วมด้วยช่วยกัน เห็นทักษะที่เกิดขึ้นกับเด็ก พี่เพิ่งเป็นครูเมื่อปีนี้เอง’…”

สุทธิ สายสุนีย์ ร.ร.อนุบาลสตูล

“…เราจัดโรงเรียนน่าอยู่ คุณครูใจดี ฝันอยากเห็นเด็กมีคุณภาพ โรงเรียนน่าอยู่ คือ บรรยากาศโรงเรียน สิ่งที่โรงเรียนเน้นคือสิ่งแวดล้อมดี เราเชื่อว่าสิ่งแวดล้อมดีจะหล่อหลอมนักเรียนได้โดยไม่รู้ตัว โรงเรียนพยายามปลูกฝังนักเรียนเรื่องความสะอาด เรื่องของแหล่งเรียนรู้ในโรงเรียน รอบโรงเรียนเราจัดเป็นฐานการเรียนรู้ ๒๓ ฐาน ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง คุณครูใจดีนั่นคือคุณครูเป็นนักออกแบบการเรียนรู้ มีจิตวิทยาเชิงบวก แล้วเด็กมีคุณภาพก็คือ เรามองว่าความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ของเด็ก ไม่ได้วัดที่ IQ เด็กอย่างเดียว ไม่ได้วัดที่ O-NET แล้วมาตัดสินว่าเราไม่ผ่านการประเมิน ความเป็นคนที่สมบูรณ์จะเป็นเรื่องของ IQ,EQ,PQ ,SQ ๔ ตัวนี้ของเด็ก เราออกแบบกิจกรรมในโรงเรียนตั้งแต่เช้าจรดเย็น นักเรียนจะมาโรงเรียนประมาณ ๗ โมงครึ่ง เลิกเรียนประมาณบ่าย ๔ โมง เพราะฉะนั้นวิถีชีวิตในโรงเรียน คือเหมือนเป็นการจำลองสถานการณ์ที่จะสร้างเด็กเหล่านี้ไปสู่สังคมภายนอกครับ…”

ปรีชา นาคศิริ ร.ร.บ้านท่าเสา จ.ระยอง

๒. สื่อสาร…สร้างความตระหนักในคุณค่า

วิสัยทัศน์ที่ดี จะถูกสื่อสารอย่างจริงจัง สื่อบ่อยๆ สื่อซ้ำๆ จนกว่าคุณครูทุกท่านจะเข้าใจ เราตั้งโรงเรียนเพื่ออะไร เราจะทำอะไรกับโรงเรียน ชวนคุณครูทุกท่านร่วมเรียนรู้ ร่วมเปลี่ยนแปลงตัวเอง พร้อมก้าวเดินไปข้างหน้าด้วยกัน อย่างเช่น โรงเรียนสร้างสุข คำสำคัญอยู่ที่คำว่า “สร้างสุข” และเป็นความสุขของทุกคน คุณครูมีความสุขที่เห็นนักเรียนพัฒนาดีขึ้นทุกวัน นักเรียนเองก็มีความสุขจากการเรียนรู้ ผู้ปกครองก็มีความสุขที่เห็นลูกหลานเรียนสนุก เติบโตไปเป็นบุคคลที่มีคุณภาพ

“…กลยุทธ์ของผมนะครับ ปัจจัยแรกสำคัญสุดอยู่ที่คุณครู นำปัญหาปัจจุบันมาตีแผ่ให้เห็น ให้ทนไม่ได้ ไม่ว่าปัญหาคอรัปชั่น ปัญหาการเมือง วัยรุ่นมั่วสุม เด็กท้องก่อนวัยเรียน โรคภัยไข้เจ็บ ภาวะโลกร้อน ภัยธรรมชาติภัยที่มนุษย์สร้างขึ้น ปัญหาเศรษฐกิจ พยายามให้คุณครูคลายความคิดว่า ครูไม่ได้มีบทบาทอยู่แต่ในห้องเรียนสี่เหลี่ยม สอนเด็กตัวน้อยๆ ๔๐ คน แล้วแค่นี้จบ ให้ลองย้อนทวนในฐานะที่มีหน้าที่เป็นโรงงานผลิต ทำไมปัญหาจึงยังเป็นอย่างนี้ ฉะนั้นต้องแก้ที่ครู เราหลงทิศหลงทางให้ความรู้มากไป แต่ไม่ให้ความเป็นคน ผมวกกลับมาที่ พรบ.การศึกษา มาตราที่ ๖ พัฒนาอย่างไร ให้คนไทยทุกคนได้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ อยู่ร่วมกันด้วยความปกติสุข ผมให้คุณครูหาคำจำกัดความ ความหมายของคำว่ามนุษย์ที่สมบูรณ์ แล้วเอามาวิพากษ์กัน สุดท้ายผมพยายามเอาไปอิงหลักศาสนา โดยเฉพาะของท่านอาจารย์พุทธทาส มนุษย์ที่สมบูรณ์ควรเป็นอย่างไร เพราะฉะนั้นคนแต่ละคนมีคุณค่าทั้งนั้น อยู่ที่เราจะใส่อะไรลงไปให้เขามีความสมบูรณ์ เนื้อหา พรบ.การศึกษา ๒๕๔๒ ชัดเจนว่า บทบาทของครู ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องเป็นอย่างไร การจัดการเรียนรู้ต้องออกแบบอย่างไร ถ้ามาเรียบเรียงร้อยกับการพัฒนาทักษะการเรียนรู้ในศตวรรษที่ ๒๑ นั้นก็สอดคล้องกัน ผมถามคำเดียว คุณพัฒนาผู้เรียนให้เต็มศักยภาพเต็มขีดความสามารถของเขา คุณออกแบบอย่างไร พอเราเจาะอย่างนี้ ค่อยๆ คลี่ให้เขาสำนึกจะเปลี่ยนแปลงตนเอง

ประเด็นของ AL และ PLC ในชุมชน จุดแข็งตรงนี้ก็คือเน้นการมีส่วนร่วม ผมมองดูมาตลอดตั้งแต่ระดับนโยบายลงมาจนถึงระดับบริหาร ส่วนมากจะเป็นแบบ Top Down เราบอกว่าเรากระจายอำนาจ แต่สุดท้ายเป็นการสั่งการ เราวิเคราะห์ได้ว่างานต่างๆ ที่ไม่สำเร็จเพราะว่าเขาไม่ร่วมคิด พอไม่ร่วมคิด ทีนี้ไปขอให้ทำก็ไม่อยากจะทำ เพราะไม่ใช่ความคิดของเขา พอจับประเด็นตรงนี้ได้ทุกกิจกรรมที่ทำก็พยายามสื่อสารแล้วก็มีส่วนร่วม ต้นทางสตาร์ทเรื่องนี้จะใช้การสื่อสารค่อนข้างเยอะทั้งภายในองค์กร ทั้งบอร์ดบริหารการศึกษา…”

สุทธิ สายสุนีย์ ร.ร.อนุบาลสตูล จ.สตูล

“…ชี้คุยภาพรวมโรงเรียน ให้เห็นวิกฤติของโรงเรียน อะไรจะเกิดขึ้นตามมา เมื่อจำนวนนักเรียนลดลง เขตพื้นที่บอกเราไม่เคยเป็นต้นแบบ หรือเป็นอะไรที่เป็นที่ยอมรับ เพราะฉะนั้นจะทำอย่างไรให้คุณภาพเกิดขึ้น เราต้องพัฒนาการจัดการเรียนการสอน แล้วจะพัฒนาแบบไหน เขตพื้นที่คัดเลือกโรงเรียน ๒ โรงเรียน พาคุณครูทั้งโรงเรียนไปอบรมที่โรงเรียนลำปลายมาศ และฝังตัวอยู่ ๕ วัน พอกลับมา เรามาคุยกันต่อว่า เห็นเด็กลำปลายมาศแล้วเป็นอย่างไร เราอยากเห็นสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นในโรงเรียนเราหรือไม่ ผมสรุปประเด็นที่ ๑ คือ พัฒนาครูและทำทั้งโรงเรียน กลับมาคุยกันแล้ว จะปรับการเรียนการสอน ประเด็นต่อไปคือปรับกระบวนการ ปรับกิจกรรมในโรงเรียน ก็คือตั้งแต่เรื่องตารางเรียน ปรับวิถีชีวิตในโรงเรียนของเด็ก…”

ปรีชา นาคศิริ ร.ร.บ้านท่าเสา

“…เราสร้างแรงบันดาลใจให้ครู ถ้าเราสอนแบบเดิมผลมันจะออกมาอย่างไร แล้วถ้าเราจัดการเรียนการสอนแบบนี้ผลจะเป็นอย่างไรในอนาคต ให้ครูได้มอง ถ้ามองแคบๆ มองใกล้ๆ เขาจะไม่อยากเปลี่ยน แต่ถ้าให้เขามองไกลๆ หาหนังหาอะไรมาให้เขาดู เพื่อเป็นแรงบันดาลใจ…”

สังคม อินทร์ขาว ร.ร.บ้านนาขนวน จ.ศรีสะเกษ

โลกแห่งความจริง เราปฏิเสธไม่ได้ว่า “สั่งเลิกพรุ่งนี้ แล้วจะทำได้เลย” หากแต่ต้องซื้อใจหาแนวร่วม เรื่องเล่าข้างต้นสะท้อนถึงการสื่อสารที่ไปเปิดใจ เปิดมุมมอง เร้าความรู้สึก เร้าพลังสร้างสรรค์ของครู โดยนำข้อมูลทุกข์การศึกษา ตีแผ่ปัญหาสังคม ชุมชน วิกฤติโรงเรียนและผลกระทบที่จะตามมา หากโรงเรียนไม่เปลี่ยนการสอน คุณลักษณะนักเรียนที่อยากเห็น คุณครูคือคนสำคัญที่จะสร้างคุณภาพคนในสังคม เพราะเชื่อว่าครูทุกคนอยากให้ศิษย์ตัวเองเก่งดีมีสุขทั้งนั้น หลักสำคัญอยู่ตรงที่ ทำอย่างไรให้คุณครูรู้เป้าหมาย เข้าใจตรงกัน ปรับแนวคิด แล้วค่อยๆ ปรับวิธีการไปตามแนวทางที่โรงเรียนจะเคลื่อนไป ใช้การพูดคุย ในเวทีประชุมครู หรือกระทั่งในวง PLC

๓. หลักสูตร

รูปธรรมการเปลี่ยนรูปโฉมไปเป็นโรงเรียนในศตวรรษที่ ๒๑ คือ การปรับเปลี่ยนหลักสูตร จากตัวอย่างเดิม “โรงเรียนสร้างสุข” คือ ปรับตารางสอนเพื่อให้ครู “สร้างสุขด้วย PBL” ได้จริง มิใช่ทำแผนการสอนแล้ววางทิ้งไว้ ไม่ถูกนำมาใช้ประโยชน์ใดๆ

โรงเรียนหลายแห่งค่อยๆ เปลี่ยนหลักสูตร คำว่าค่อยๆ เปลี่ยน หมายถึงว่า ตารางรสอนแบบเดิมยังคงอยู่ แต่มีการเพิ่มขึ้นของชั่วโมง PBL จะช้าหรือไวขึ้นอยู่กับความร่วมมือของคุณครู ซึ่งต้องอาศัยฝีมือการบริหารและวางระบบให้เกิด PBL ทั้งโรงเรียน ในทางปฏิบัติ หลักสูตรที่เปลี่ยนแปลงไปนั้น ยังคงไว้ซึ่งความเชื่อมโยงกับประเด็นต่างๆ ต่อไปนี้

๓.๑ ตอบสนองตัวชี้วัดหลักสูตรแกนกลาง

“…Active Learning ของโรงเรียน มี ๒ รูปแบบ แบบแรกที่ทำมาตั้งแต่ปี ๕๒ ใช้ตัว project approach ถ้าตามโครงสร้างหลักสูตร ก็คือกำหนดเป็นสาระเพิ่มเติมตามหลักสูตรแกนกลาง ๕๑ ได้พูดคุยกับคุณครูและวางกรอบว่า จุดเน้นของ สพฐ. คือ ป.๑- ป.๒ ต้องเน้นเรื่องการอ่านออกเขียนได้ คิดเลขเป็น เราก็ยังอยู่ในกรอบนี้ Project ของเราก็เน้นที่ภาษาไทยหรือคณิตศาสตร์ เรามองว่า ๒ ตัวนี้แหละ ที่เป็นตัวสร้างให้เด็กเกิดทักษะอ่านออกเขียนได้และคิดเลขเป็น ส่วน ป.๓-ป.๖ ให้นักเรียนได้เลือกเรียนเลือกหัวข้อตามความสนใจ ผนวกเข้าไปกับจุดเน้นของโรงเรียนในการขับเคลื่อนหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง…”

ปรีชา นาคศิริ ร.ร.บ้านท่าเสา จ.ระยอง

๓.๒ บูรณาการ ๘ สาระวิชา

“…มันไม่ได้บูรณาการตามโครงสร้าง เพราะถ้าบูรณาการแล้วจะหายหมด เราตั้งวิชาใหม่ขึ้นมาเอง เรียกว่าวิชาบูรณาการ ครูผู้สอนจะรู้ว่าต้องทำอะไร ไม่มีหนังสือ แต่พอใช้กระบวนการวิจัย ๑๐ ขั้นตอนนี้แล้ว มันจะเกิดเป็นความรู้ทฤษฏีขึ้นมาเอง เด็กสามารถนำความรู้มาเขียนความเรียงได้ นำความรู้มาใช้ประโยชน์ได้…”

ขนิษฐา อาษาชำนาญ ร.ร.อนุบาลสตูล

“…ขณะนี้ที่โรงเรียนเหลือ ๔ วิชาหลัก คือ ภาษาไทย คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ภาษาอังกฤษ ที่เหลือจัดเป็นหน่วยบูรณาการ จัดภาคเรียนเป็น quarter คือ ๑ quarter มี ๑๐ สัปดาห์ สาระเพิ่มเติมใช้เวลา ๑ ภาคเรียน ๑ ปีการศึกษา เด็กจะมี ๒ project ของกลุ่มเขาเอง อีกกิจกรรมหนึ่งก็คือ Problem Based Learning หรือ PBL ซึ่งใน quarter แรก ใช้สังคมเป็นแกน quarter ที่สองใช้การงานเป็นแกน quarter ที่สามใช้จิตศึกษาเป็นแกน แล้วสุดท้ายสำหรับเก็บตกกระบวนการ…”

ปรีชา นาคศิริ ร.ร.บ้านท่าเสา จ.ระยอง

๓.๓ จัดสรรเวลาชั่วโมงเรียนรู้ PBL

“…ในปีแรกผมเพิ่มเวลาไป ๒๐๐ ชั่วโมง หรือ ๕ ชั่วโมงต่อสัปดาห์สำหรับวิชาบูรณาการ พิสูจน์การเรียนรู้แบบลงมือทำโดยใช้กระบวนการวิจัย ๑๐ ขั้นตอน เพื่อบอกว่าเราไม่ได้ทำลายโครงสร้างหลักสูตรแกนกลางที่เป็นอยู่ ตรงนี้โชคดีมีหลักสูตรมาตรฐานสากลเข้ามาเปิดพื้นที่ให้ คือผมกำลังมองว่าสิ่งเหล่านี้ที่กำลังขับเคลื่อนอยู่ ถ้าไม่มีพื้นที่ในโครงสร้างปกติ เป็นอะไรที่เป็นชั่วครั้งชั่วคราวไป จะไม่ยั่งยืน โครงการโรงเรียนมาตรฐานสากลได้เพิ่มพื้นที่โครงสร้างหลักสูตร มีหลักสูตรที่เรียกว่าโครงงาน มีทั้งทฤษฏีความรู้ มีทั้งความเรียง มีทั้งวิชาไปสู่ความเป็นพลโลก …”

สุทธิ สายสุนีย์ ร.ร.อนุบาลสตูล

“…เริ่มจากปรับตารางเรียน เช้าเรียนไทย คณิต อังกฤษ บูรณาการภายในวิชา ภาคบ่ายก็เรียน PBL ส่วนตัวที่แทรกอยู่ทุกช่วงคือกิจกรรมจิตศึกษา ภาคบ่ายก็ใส่กิจกรรมนี้เข้าไปด้วย ก่อนเลิกโรงเรียนเวลา ๑๕.๐๐ น. หลังจากนั้นจะสรุปความรู้ในรอบวันว่าวันนี้ได้เรียนรู้อะไร แล้วก็เอาไปใช้ในชีวิตประจำวันของตัวเองอย่างไร ใครที่ทำงานไม่เสร็จในวันนั้นคุณครูก็ต้องพาทำ เพื่อปลูกฝังความรับผิดชอบให้เสร็จ พาทำจนไม่ปล่อยให้เด็กมีงานค้างอยู่เลย จะพาเด็กทำงานตั้งแต่บ่าย ๓ โมง จนถึง ๔ โมงครึ่ง หรือประมาณ ๕ โมง แล้วแต่คน ช้าเร็วต่างกัน คนที่เสร็จก็ให้ไปทำกิจกรรมอย่างอื่นตามใจเขา แล้วท่าทีตลอดทั้งวันของครูต้องเป็นท่าทีที่เป็นมิตรกับเด็กๆ พยายามทำตัวเองให้อยู่ระนาบเดียวกันกับเด็กได้มากที่สุด เป็นเพื่อนเขา ไม่ใช่อยู่กับเขาแล้วก็ดุเขาทั้งวันอย่างนี้ เขาก็ไม่อยากอยู่ด้วย….”

สังคม อินทร์ขาว ร.ร.บ้านนาขนวน จ.ศรีสะเกษ

๓.๔ ออกแบบอย่างมีส่วนร่วม

“… สัปดาห์แรกออกแบบการเรียนรู้ตลอด ๑๐ สัปดาห์ ทั้งครูทั้งนักเรียนออกแบบร่วมกัน สัปดาห์ที่ ๒-๘ ก็เรียนตามแผนที่ครูและเด็กวางแผนไว้ แต่ต้องมีชิ้นงานอย่างน้อย ๒-๕ ชิ้นงานต่อสัปดาห์ ชิ้นงานแต่ละชิ้นต้องตอบโจทย์ตัวชี้วัดของหลักสูตร ว่าได้เรียนรู้เรื่องนั้นจริงโดยผ่านวง PLC ซึ่งเป็นตัวขับเคลื่อน สัปดาห์ที่ ๙ จะไปเผชิญสถานการณ์จริง ถ้ามีคนที่มีความรู้ในชุมชนนั้นก็เชิญเขามาช่วยสอนในสัปดาห์ที่ ๙ พอสัปดาห์ที่ ๑๐ เด็กสรุปองค์ความรู้จัดเป็นนิทรรศการ มีการแสดงเหมือนกับ open house ที่เราเห็นทั่วๆ ไป แต่จะมีการแสดงของเด็ก มีนิทรรศการผลงานที่เรียนมาตลอด ๑๐ สัปดาห์ ผมเล่าข้ามไปนิดนึงตรงแต่ละสัปดาห์จะมีสรุปความรู้ของเด็กในทุกๆ สัปดาห์ด้วยครับ..”

สังคม อินทร์ขาว ร.ร.บ้านนาขนวน จ.ศรีสะเกษ

๔. พัฒนาครู

รองจากเบอร์ ๑ ผู้บริหาร คุณครูคือเบอร์ ๒ และเป็นหัวใจของการเปลี่ยนแปลง ผู้เขียนยอมรับว่าการเปลี่ยนแปลงตนเอง จากสิ่งที่คุ้นเคยมาทั้งชีวิต เป็นเรื่องไม่ง่าย ด้วยสารพัดปัจจัย ไม่ว่าเรื่องอายุราชการ วัย สุขภาพอนามัย เรื่องครอบครัว เรื่องทัศนคติ หรือสภาวะต่างๆ แต่ไม่ได้หมายความว่าเปลี่ยนไม่ได้ ผู้บริหารจึงเตรียมสองอย่าง อย่างแรกคือเตรียมใจ และเตรียมสมรรถนะ

“…เตรียมตัวเตรียมใจมาตั้งแต่แรก เราพร้อมที่จะเปลี่ยนแปลงตัวเอง ได้อ่านหนังสือครูนอกกะลาของ ผอ. ที่ทิ้งไว้ให้อ่าน เมื่อก่อนที่เราสอนแบบเดิม เด็กเขาจะไม่กล้าโต้ตอบ แต่พอเราฝึกเขา ก็ฝึกแบบไมรู้ขั้นตอน ไม่รู้กระบวนการ ก็เห็นว่าเด็กมีความสุข ตอนนั้นเราก็พร้อมยอมรับความเปลี่ยนแปลง คำว่าครูต้องพร้อมยอมรับการเปลี่ยนแปลงทุกอย่าง จะอยู่แบบเดิมๆ ไม่ได้ เราต้องมองให้ไกล มองให้ลึก ทุกสิ่งทุกอย่างมีการเปลี่ยนแปลงตลอด มันต้องเกิดขึ้น รุ่นเราไม่มีโทรศัพท์ เธอจีบฉันยังต้องใช้จดหมาย เราเป็นครูเราต้องเรียนรู้ที่จะเปลี่ยนแปลง…”

สริตา พิสิฐอาภากร ร.ร.บ้านนาขนวน

๔.๑ พัฒนาครูด้วยการพาทำ PBL ไม่ใช้วิธีอบรมแบบเดิมๆ ควบคู่ไปกับชวนคุยในวง PLC

“…ครู ๑๒ คนแรก ผม training ด้วยการพาทำ นี่คือระบบปีแรก จากนั้นครูแกนนำ ๑๒ คนนี้ไปพาเพื่อนในสายชั้นทำต่อกับ ๓๖ ห้อง แล้วมาทำวงแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทุกสัปดาห์ๆ ละหลายๆ ครั้ง…”

สุทธิ สายสุนีย์ ร.ร.อนุบาลสตูล จ.สตูล

“…ปีแรกๆ มันก็ไม่ได้เกิดวงหรอก มันประมาณว่าคุยกันโดยที่ไม่รู้จัก PLC คุยกันว่าทำยังไงเด็กจะได้เรียนรู้ผ่านการลงมือทำที่จริงๆ ทำไปคุยกันไป คือคุยกันเพื่อให้ได้ทางออก คุยกันไปเรื่อยๆ ทุกสัปดาห์…”

สังคม อินทร์ขาว ร.ร.บ้านนาขนวน จ.ศรีสะเกษ

๔.๒ ผอ.เป็นโค้ชกระตุ้นให้ครูเป็นนักเรียนรู้

“…ที่อาจารย์ให้เด็กทำขนมบัวลอย อาจารย์รู้ไหมว่ามันตอบทักษะอะไรบ้าง มันตอบเรื่องเป้าหมายหลักสูตร เรื่องของพัฒนาทางด้านร่างกาย อารมณ์ สังคม สติปัญญา ตรงไหนอย่างไรบ้าง อาจารย์ก็นั่งคิดแล้วบอกว่า ‘ได้ผอ.’ ก็ถามต่อว่าได้อะไร นี่เด็กรู้จักแยกแยะสีได้ สีเหลืองจากฟักทอง สีม่วงจากดอกอัญชัน ผมเลยบอกว่าอาจารย์เห็นไหม ว่าจริงๆ อาจารย์สอนทักษะเขาไปหมดแล้ว ก่อนที่จะผสมแป้งกับน้ำ อาจารย์บอกขั้นตอนไหมว่าอะไรก่อน อะไรหลัง ทักษะการลำดับขั้นตอนการทำงานถือเป็นเรื่องสำคัญ ตรงนี้เป็นเรื่องละเอียด หลายท่านพูดตรงนี้ว่าคุณครูเราไม่ค่อยละเอียดกับสิ่งเหล่านี้ แต่ถ้าเราคลี่ให้เขาเห็น เขาจะละเอียด ก่อนที่จะใส่แป้งลงไปปริมาณเท่าไหร่ ใส่น้ำสุกลงไปปริมาณเท่าไหร่ การกะปริมาณความพอเหมาะพอดี ถ้าแป้งน้อย น้ำเยอะ จะปั้นเป็นก้อนได้ไหม อันนี้สอนเขาว่า ถ้าแป้งลงไปในกะละมัง กะละมังก็เหมือนกันถ้าใบใหญ่ใบเล็ก แล้วภาชนะอะไร อาจารย์รู้ไหมว่าก่อนที่อาจารย์จะให้เขาปั้นแป้ง คลุกเคล้าแป้ง อาจารย์ทำอะไรก่อน ให้ล้างมือไหม ตรวจความสะอาดของเล็บของมือไม้ไหม ตรวจทำไม ถ้าเกิดมือขยำแป้งเลยมันจะเกิดอะไรขึ้น เพราะฉะนั้นต้องดูเล็บลูกสะอาดไหม มือลูกสะอาดไหม ล้างมือก่อนไหมอะไรอย่างนี้ สิ่งเหล่านี้เป็นทักษะชีวิตที่เด็กต้องปฏิบัติ ครูไม่ต้องสอนแต่เด็กต้องทำ ทำไป ขยำแป้งไป คลุกเคล้าแป้งไป นี่คือการพัฒนากล้ามเนื้อมัดเล็ก กล้ามมัดเนื้อใหญ่ มือไม้เด็กที่เขาขยำ แล้วการที่ใส่สีอะไรลงไป แยกแป้งที่ผสมสีอะไรลงไป มันมีอะไรเยอะแยะอาจารย์ การจำแนก การแยกแยะ การปลูกฝังคุณลักษณะ นี่ยกตัวอย่างแค่ขยำแป้ง ไม่ได้ยกตัวอย่างไปเรื่องอื่นเลยนะ มันสามารถสร้างเงื่อนไขกติกาเหล่านี้ได้ แล้วถ้าเชื่อมโยงสิ่งเหล่านี้ไปสู่ทักษะในศตวรรษที่ ๒๑ การอยู่ร่วมกันในสังคม ความรู้ที่ได้อะไรต่างๆ นี้ KPA ที่ได้ในเที่ยวนี้ ถ้าคุณทำกล่องใส่ให้เห็นนะ มันก็จะเห็นว่าความรู้ (Knowledge) ที่ได้มีอะไรบ้าง จับดูสิใส่กล่องนี้ เพราะฉะนั้นการ AAR หลังการทำงานทุกครั้ง เป็นเรื่องสำคัญยิ่งเลยนะ นาทีทองที่เราผ่านไปมันเสียโอกาสเยอะมากถ้าเราไม่มาทบทวนเพราะฉะนั้นมันก็จะทำให้เห็นชัดเจนมากยิ่งขึ้น เพราะฉะนั้นก็จะเสนอว่าการใส่กล่อง การทำกล่องเหล่านี้ เพราะฉะนั้นทีหลังครูจะต้องทำป้ายแขวนคอแล้วว่ามาตรฐานตัวชี้วัดมันมีอะไรบ้าง .”

สุทธิ สายสุนีย์ ร.ร.อนุบาลสตูล จ.สตูล

๔.๓ ครูมีพี่เลี้ยงเป็นเพื่อนเรียนรู้ PBL

“…ไปเจอครูอุ้ง เป็นครูที่เดี๋ยวก็พาเด็กไปโน่นไปนี่ไปนั่น ทำตรงนู้นตรงนี้ ครูอุทำน้ำตกอยู่ ก็มาขอแจมทำด้วย ครูขาหนูขอทำส่วนนี้นะ นี่คือครูอุ้ง เวลาคนเลี้ยงไก่ไม่อยู่ ครุอุก็ชวนครูอุ้งไปทำ พอเราบอกว่าไม่ให้เข้า ก็เข้ามา พอดูกระบวนการที่ครูอุ้งพาเด็กออกไป ก็บอกครูอุ้งว่าเรามาตั้งวงคุยกันนะ อุ้งก็งง วันเสาร์อาทิตย์นะ เหรอครู ก็ได้นะ หนูต้องทำอะไรบ้างล่ะ เออ เดี๋ยวค่อยบอก ได้ค่ะๆ ก็ได้ครูอุ้งแล้ว ๑ คน ก็หาคนต่อไป ห้องติดกันข้างๆ กันคือครูเจี๊ยบ แกจะชอบสอนหนังสือชอบอยู่กับเด็ก แกจะมีความสุขแต่บ่อน้ำตาตื้น เวลามีปัญหาอะไรก็จะมาคุยกับครูอุ ครูอุก็จะสอน แกก็จะน้ำตาไหล เหมือนกับว่าเขากำลังฝึกสอนอยู่แล้วครูอุเป็นพี่เลี้ยงคอยแนะนำ…”

อุทัยวรรณ ภัททกวงศ์ ร.ร.วัดสวนส้ม จ.สมุทรปราการ

“…จับบัดดี้ให้เขาก็คุยกันตลอด ปีนี้จับระดับอนุบาลคู่กันเพราะว่าทำ PBL ด้วยกันอยู่แล้ว คือเชื่อมกันได้ตลอด ป.๑ คู่ ป.๒ ห้องก็ติดกัน ป.๓ คู่ ป.๔ ป.๕ คู่ ป.๖ อันนี้จะแก้ปัญหาได้เยอะ พอเข้าวงแลกเปลี่ยนเรียนรู้วงใหญ่ เขาก็จะมีเรื่องเล่าเยอะขึ้น…”

สังคม อินทร์ขาว ร.ร.บ้านนาขนวน จ.ศรีสะเกษ

๕. ระบบงาน

วางระบบงานเพื่อขับเคลื่อนและอำนวยความสะดวกและเกื้อหนุน PBL และ PLC

๕.๑ สร้างทีมแกนนำขับเคลื่อน PBL

“… ผมเริ่มสตาร์ทที่ครูแค่ ๑๒ คน ครูทั้งโรงเรียนมี ๗๐ กว่าคน นักเรียนประมาณ ๒,๐๐๐ คน ทำไมไม่สตาร์ททั้งโรงเรียน ผมเชื่อว่า ถ้าผมสตาร์ทครั้งเดียวทั้งโรงเรียน ผมล้มแน่นอน ผมสู้ไม่ได้ เพราะฉะนั้นผมมีวิธีการเฟ้นหา เนื่องจากว่าเราเป็นสายชั้นตั้งแต่ ป.๑-ป.๖ ตอนนั้นยังไม่ลงปฐมวัย พิจารณาดูครูตามประสบการณ์ของเราว่า ใครที่พอจะมีแนวทางตรงนี้ได้ มีครูสายชั้นละประมาณ ๑๐ ท่าน เฟ้นหาครูแกนสายชั้นละ ๒ คน ก็ได้มา ๑๒ คน

แกนในแต่ละสาย ๒ คนนี้แหละ ๑ คนไปทำต่ออีก ๓ ห้อง ทีนี้ ๑๒ คนนี้ ไปทำกับ ๓๖ ห้อง มันมีสายชั้นละ ๖ ห้องเรียน ก็ ๖x๖ = ๓๖ คน ปีแรกนี้เราค่อนข้างเคร่งครัดเรื่องการทำวงแลกเปลี่ยนเรียนรู้เยอะมากในทุกสัปดาห์ ทุกครั้งก็จะมีพี่เลี้ยงซึ่งเป็นคนภายนอกและผม แล้วบางทีก็มีตัวแทนผู้ปกครอง ตัวแทนสถานศึกษา เพราะต้องการที่ให้เครือข่ายอื่นรู้ด้วย การมาแลกเปลี่ยนแต่ละครั้ง สัปดาห์นี้เป็นอย่างนี้ ในระดับสายชั้นนี้เป็นยังไง ๑๒ คนนี้ก็จะมาเข้าวง แล้วครูคนอื่นในสายชั้นได้อะไรบ้างก็มาเล่าสู่กันฟัง ก็มีบางครั้งพี่เลี้ยงลงไป observe ในระดับห้องเรียน ไปดูแลด้วยไปเติมเต็มด้วยอะไรต่างๆ พอปีถัดมาปีที่สองเราขยายจาก ๑๒ เป็น ๓๖ คน แต่ ๓๖ คนนี้ไม่ได้มามือเปล่าเพราะว่าเขาก็ได้ดูได้ช่วยกลุ่มครูแกนในการเรียนรู้เมื่อปีที่แล้ว ๑ ปี เพราะฉะนั้นปีที่สอง ๓๖ คน ห้องทุกห้องจะมีทุกโจทย์ ปีแรกก็มีแต่มีโดยเจ้าภาพ ๑ คนทำ ๓ โจทย์ แต่ปีนี้ครูประจำชั้น ๑ คน ๑ โจทย์ในทุกห้อง ๓๖ ห้อง นี่คือปีที่สอง ทีนี้ปีที่สามร้อยเปอร์เซ็นต์ ปีที่สามขยายกับครูทั้งโรงเรียน ”

สุทธิ สายสุนีย์ ร.ร.อนุบาลสตูล จ.สตูล

๕.๒ ระบบ PLC

วางระบบให้คุณครูทุกท่านสามารถเข้าร่วมวง PLC ได้อย่างมีเสรีภาพทางปัญญา และถือปฏิบัติจนเป็นกิจวัตรเป็นวิถีของโรงเรียน โรงเรียนขนาดใหญ่เล็กแม้จะมีวิธีการขับเคลื่อนต่างกัน แต่ทุกแห่งมีผู้รับผิดชอบจัดการและเกาะติดเรื่องนี้ คู่ขนานไปพร้อมๆ กับดูภาพรวม วางประเด็นพูดคุยที่สอดคล้องกับเป้าหมายโรงเรียน กำหนดวันเวลาเพื่อให้คุณครูสามารถวางแผนชีวิตตนเองได้ล่วงหน้า โรงเรียนบางแห่งจัดครูสอนแทน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับบริบทของโรงเรียน

“… โรงเรียนกำหนดโครงสร้างวันเวลาที่ชัดเจน คือสัปดาห์ละ ๑ ครั้ง ในวันอังคาร หลักคิดตรงนี้ อย่างน้อยกระตุ้นคุณครู ว่าถึงวันอังคารจะมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันในประเด็น จัดปรับการเรียนการสอน หรือแนวทางในการพัฒนาเพื่อให้เด็กไปสู่เป้าหมายที่ตั้งไว้ แล้วก็โรงเรียนก็อำนวยความสะดวกในเรื่องของสถานที่จัด อีกอันหนึ่งก็คือเรื่องของวงภายนอกโรงเรียน คือ ผู้มีส่วนรับผิดชอบกับการศึกษา ตอนสิ้นภาคเรียน…”

ปรีชา นาคศิริ ร.ร.บ้านท่าเสา จ.ระยอง

“… ทุกครั้งจะมีท่าน ผอ. ร่วมอยู่ในวง PLC เกือบทุกครั้ง ผอ. จะเป็นคนนำเรื่อง ในส่วนของครูชมพู่กับครูแนนจะเป็นฝ่ายจัดเตรียมสถานที่ คือครูอีกสองคนเป็นแกนนำเรื่องนี้ และเพื่อนครูในโรงเรียนก็ช่วยกันจัดวงPLC ท่าน ผอ. จะให้จดว่าเราจะเรียนรู้เรื่องอะไร หมายถึงว่าเราจะแลกเปลี่ยนเรื่องอะไรกันในครั้งนั้น เราพูดคุยกันหลังจากที่เราให้เด็กได้เรียนรู้ไปแล้ว และมีการบันทึก จดข้อความสำคัญตามที่คุณครูพูดมา แล้วก็บันทึกในลักษณะการเขียนและบันทึกเทปด้วย ค่ะ มีการแบ่งงานกันทำ…”

เทพศิรินทร์ ผิวเมืองปัก ร.ร.เทศบาลท่าพระ จ.ขอนแก่น

“…เราก็อำนวยความสะดวกให้ จัดห้องประชุม มีแอร์ มีอะไรติดให้กำหนดวันเวลาให้เห็นชัด แต่ที่สำคัญคือต้องใช้เวลาหลังจากการเรียนการสอนแล้วเท่านั้น ก็จะใช้เวลาคุยกันประมาณสัปดาห์ละชั่วโมงครึ่ง ครูผลัดกันเป็นผู้ชวนคุย ผลัดกันเป็นผู้นำ ผู้ตาม สร้างทีม ไม่เช่นนั้น ผอ.ไม่อยู่ก็ทำอะไรไม่ได้…”

สังคม อินทร์ขาว ร.ร.บ้านนาขนวน จ.ศรีสะเกษ

“… ทำเป็นวงระดับสายชั้น แล้วค่อยไปเป็นระดับโรงเรียน คุยกันก่อนในครูระดับ ป.๒ ว่าถึงไหนกันแล้ว เราไปตามปฏิทินได้ไหม จะช่วยเติมกันตรงไหน เป็นธรรมชาตินอกรอบ และอีกระดับหนึ่งคือระดับโรงเรียน เอาแต่ละห้องมาคุยกัน วงนี้จะมาเล่าเรื่องที่ทำมา

วง PLC อย่างไม่เป็นทางการเรามีแล้ว แต่ทำอย่างไรให้มันมีคุณภาพยิ่งขึ้นและมีประเด็นชัดขึ้น ก็คิดวางแผน ตอนวางแผนก็ยึดโครงสร้างนำเรื่องนี้เข้าสู่วิชาการ แล้วก็บอกว่าเราเห็น AL ของเขานะ ให้เขาภูมิใจว่า กระบวนการของเราคนอื่นเขามองเห็น โรงเรียนเราขนาดใหญ่มีครูเกือบ ๑๐๐ คน ถ้าเราไปชักเย่อเขามาคงมาไม่หมด ก็ใช้ระบบเดิมที่เราใช้ AL ครั้งแรกในโรงเรียน เอาทีมนำเข้ามาก่อน ชวนคนที่เขามีทุนอยู่แล้วเข้า มาร่วมคิดวางแผนว่าเราจะทำอย่างไร เราใช้หลายชั้นเหมือนเดิม เริ่มจากการบอกครู แต่จะบอกทั้งหมดให้เข้าใจทันทีคงไม่ได้ แต่ในวาระการประชุมแจ้งนโยบายโรงเรียน เราจะขับเคลื่อนไปตรงไหน แล้วก็มีอะไรบ้างที่จะต้องเข้าไปเกี่ยวข้องกับภาคส่วนอื่น

วันเปิดครั้งแรกจะทำอย่างไรให้ครูมาได้ ก็ต้องออกแบบโดยให้ฝ่ายวิชาการช่วย ทำอย่างไรให้ครูเขาว่าง ก็โดยการจัดสอนแทน เปลี่ยนชั่วโมง เอาเวลาครึ่งวัน ก็คือสร้างระบบมาช่วยเราก็จะปลดปล่อยครูตรงนั้นได้ ไม่ต้องห่วงของเธอแล้วนะ ให้มีคนดูแลแทน ทำใจให้ว่าง แล้วก็มานั่งแลกเปลี่ยนกัน เราก็เปิดเวทีแรกตอนบ่ายโมง เลือกห้องชั้น ๓ สูงสุดของอาคาร ไม่มีแอร์ มีแต่พัดลม ฝ่ายเทคโนโลยีของโรงเรียนมาติดตั้งอุปกรณ์ให้เรียบร้อย มีหมอน มีที่รองนั่งพื้นแบบนี้ ตอนแรกก็เป็นเสื่อ ตอนหลังไม่ใช้แล้วเพราะเสื่อมันนั่งไม่สบาย

ครั้งแรกเชิญ ผอ.สุทธิ ร่วมด้วยครูอ้อย ครูไพเราะ ก็ให้ฤๅษีประเดิมเลย เราเรียก ผอ. ว่าฤๅษี ให้ท่านสร้างแรงบันดาลใจ ท่านก็เอาคลิปที่ถ่ายไปขึ้นจอให้ดู นี่แหละวง PLC คือถ่ายภาพไปเห็นตั้งวง ผอ.ก็อธิบายให้เห็นภาพ ครูอ้อยทำหน้าที่เป็นกระบวนกรแลกเปลี่ยนเรียนรู้ กำหนดให้เล่าเรื่อง ทุกคนมีทุนเหมือนกัน ก็เล่าเรื่อง AL ของตัวเองโดยใช้ 10 ขั้นตอน แต่ไม่ใช้คำว่า ๑๐ ขั้นตอน แต่จะให้เล่าถึงวิธีการกลเม็ดเด็ดพรายของครูที่ทำกับเด็ก แล้วครูประทับใจเม้เรามีเวลาไม่มากนักที่เรามีอยู่ เพราะว่าเวลาตอนนั้นก็ได้บ่ายโมงถึงห้าโมง มีครู ๑๒ คน เป็นคนบันทึก ๒ คน ก็จะมีกระดานแบบนี้ ใช้บันทึกลงกระดาษพรู๊ฟ วันนั้นไม่มีการอัดเสียง มีถ่าย VDO ถ่ายภาพ แล้วให้ทุกคนเล่า เขาก็เล่าได้นะ แต่ขอ ๕ โมงนะพี่อ้อย อย่าให้เกินนะ เพราะหลายคนบอกว่ามีภาระโน่นนี่นั่น เราก็พยายามจะไม่ให้เกิน จะบริหารเวลาให้ลงตัวที่สุด…”

ขนิษฐา อาษาชำนาญ ร.ร.อนุบาลสตูล จ.สตูล

๕.๓ ระบบเยี่ยมบ้าน

“…ของเราอยู่ในชุมชนแออัด การไปเยี่ยมบ้านได้มากกว่าการที่พูดคุยกับเด็ก กับผู้ปกครอง เรารู้ลึกไปกว่านั้นว่า ขณะนี้สังคมเราเกิดอะไรขึ้น เพราะตอนที่ไปเยี่ยมบ้านก็นัดหมายเด็ก ปีแรกๆ เขากำหนดแค่ ๔-๕ คน แต่เด็กก็อยากให้เราไปเยี่ยมบ้านทุกคน เราก็นัดหมายเด็กที่บ้านอยู่ละแวกเดียวกัน พอเยี่ยมบ้านแรก เด็กๆ รู้แล้วว่าวันนี้ครูมา ก็พากันออกมา จูงเข้าบ้านโน้นบ้านนี้ เยี่ยมบ้านไม่เท่าไร แต่ระหว่างทางเดิน เด็กก็จะบอกเรา ‘ครูครับ บ้านนี้ตอนกลางคืนมันซ่องสุมกัน ครูครับตรงนี้วัยรุ่นชอบมาเสพยา’ ระหว่างทางเราจะรู้ว่า เด็กต้องอยู่ในสภาพแวดล้อมแบบนี้ แล้วเขาจะดูแลตัวเองได้อย่างไร

การไปเยี่ยมบ้านครูจะได้รู้ ไม่ได้รู้แค่ตัวเด็ก แต่ไปเจอสภาพบ้าน เคยเจอเด็กสมาธิสั้น อ่านไม่ได้ ทำอย่างไรก็อ่านไม่ได้ ไม่มีสมาธิ เชิญผู้ปกครองก็ไม่มา ครูเลยจะไปเยี่ยมบ้าน แม่อยู่ไหม ก็ไปกันเลย ได้นั่งรถครูอุทัยวรรณด้วย เท่มาก ทางก็คับแคบ เพราะมันเป็นสลัม ชาวบ้านแถบนั้นก็คิดว่าเด็กคนนี้ไปทำอะไร ครูถึงต้องมา เข้าไปในบ้าน บ้านแคบมาก เป็นห้องแถว มีที่นอนสำหรับ ๓ คน พ่อ แม่ ลูก เหลือที่ว่างนิดเดียว วางกองผ้าเต็มไปหมด รกมาก แม่เพิ่งอาบน้ำเสร็จ นุ่งกระโจมอก เจอครูก็ตกใจว่าครูมาทำไม ก็บอกกับเขาว่า ‘แม่ ครูอยากให้แม่พาลูกไปหาหมอ เพราะดูว่าเขาจะมีปัญหานิดหน่อย ไม่ได้หมายความว่าลูกแม่ปัญญาอ่อนนะ แต่ไปให้หมอดูก่อน แล้วหมอเขาจะบอกได้ว่าเป็นอะไร เขาจะมียาให้ เขาจะมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ลูกคุณแม่จะได้เรียนทันเพื่อน’ คือตอนคลอดหมอได้บอกแม่แล้ว แต่แม่เขาไม่ได้ใส่ใจ จนถึง ป.๕ เขามาบอกว่าหนูไม่มีตังค์ เราก็บอกว่าถ้าไม่มี ให้มาบอกครู เดี๋ยวครูเรี่ยไรที่โรงเรียนให้ เขาก็คงมีความรู้สึกว่ามันเป็นหน้าที่ความรับผิดชอบของเขาอยู่นะ เขาก็พาไปหาหมอ พบจริงๆ ว่าเด็กเขามีปัญหาด้านทักษะภาษา ก็ได้รับการรักษา การเยี่ยมบ้านมีประโยชน์มาก ครูจะได้เห็นอะไรมากกว่าที่เขากำหนดไว้…”

อุทัยวรรณ ภัททกวงศ์ ร.ร.วัดสวนส้ม จ.สมุทรปราการ

๕.๔ ระบบส่งต่อนักเรียนด้วย PLC

“…แล้วที่ครูในสายคุยกันก็เป็นอีกส่วนหนึ่ง อย่างเด็กของแกมันอ่านไม่ได้เลยนะ แต่เดี๋ยวนี้เวลาทำกิจกรรมกลุ่มเขาตอบดี ต้องช่วยกันให้อ่านออกมากกว่านี้อีกนิดหนึ่ง เพราะที่ครูดูเวลาตอบคำถาม จะตอบดี เราจะคุยกันตามสายชั้นแบบนี้ เด็กรุ่นนั้นเขาพัฒนาเห็นชัด ตอนนั้นพอดีเขามีแบบฟอร์มให้ด้วย เด็กเป็นรายบุคคลเลย เราก็จะพิมพ์เก็บไว้ มันเห็นชัดเจน เด็กคนนี้พัฒนาขึ้น เราก็จะพิมพ์ของเราไว้ดูคนเดียว ชื่นชมว่าเด็กเราสอนแล้วได้แบบนี้…”

อุทัยวรรณ ภัททกวงศ์ ร.ร.วัดสวนส้ม จ.สมุทรปราการ

“…ปกติระบบดูแลเรามีเอกสารหนึ่งเล่ม ครู ป.๑ ส่งให้ ป.๒ ป.๒ ส่งให้ ป.๓ รอบนี้เราปรับเปลี่ยนค่ะ ท่านผู้อำนวยการเขามีแนวคิด พวกเราก็มาวางแผนกันว่าเรามาทำวงกันค่ะ ส่งต่อนักเรียนแบบทำวง PLC นักเรียนชั้น ป.๑ แต่ละคนมีพฤติกรรมเป็นยังไง มีความสามารถพิเศษอะไร ผู้ปกครองเป็นยังไงรายได้ยังไง ก็เรื่องของระบบดูแล ในการเตรียมก็กำหนดเป็นตารางโรงเรียน กำหนดเป็นตารางนะคะว่า ในวันที่ ๘ เราจะทำวงเพื่อส่งต่อนักเรียนกัน โดยกำหนดออกมาเป็นตารางเลยว่าเวลา ๙-๑๒.๐๐ น. ชั้นไหนมาทำวงกัน ห้องไหนกำหนดเลย…”

ไพเราะ เกิดผล ร.ร.อนุบาลสตูล จ.สตูล

๕.๕ เช็คระยะไมล์ ติดตามความก้าวหน้า

เมื่อทำไปสักระยะ ผู้บริหารได้ติดตามความก้าวหน้า โดยใช้เครื่องมือหลายอย่างประกอบกัน ทั้งดูเอกสารแผนการสอน บันทึกหลังการสอน บันทึกการเปลี่ยนแปลงนักเรียนรายคน พูดคุยกับคุณครู พูดคุยกับนักเรียน และจากเรื่องเล่าในวง PLC อย่างไรก็ตาม สาระสำคัญอยู่ตรงที่ การติดตามความก้าวหน้าโดยดูผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นกับตัวนักเรียน ดูการเปลี่ยนแปลง ดูพัฒนาการ ขณะเดียวกันก็ดูไปถึงการเปลี่ยนแปลงของคุณครู ไม่เห็นภาพการตำหนิหรือไล่จี้เอาผลงาน และด้วยวิธีทำงานภายใต้กระบวนทัศน์ใหม่นี้ยังพบว่า ผู้อำนวยการเองก็เปลี่ยนแปลงไปเช่นเดียวกัน

นักเรียนได้อะไร

“…ช่วงที่เรานั่งประชุม ผมก็จะไม่นั่งหัวโต๊ะ หัวโต๊ะก็จะว่าง เราก็จะนั่งกันเป็นรูปตัว U มีจอ LCD ขึ้น แสดงหัวเรื่องการเรียนรู้ กระบวนการการเรียนรู้ คือจะเป็นช่องๆ อยู่ ผมจะไล่มาตั้งแต่ชื้นงานที่คุณครูคิด ไล่มาตั้งแต่สัปดาห์นี้ คุณครูที่กำลังสอนอยู่รู้ได้อย่างไรว่าเด็กได้เรียนรู้เรื่องนี้ คือจะพยายามย้อนถามกลับคืน รู้ได้อย่างไรว่าเด็กได้เรียนรู้เรื่องนี้ผ่านการลงมือทำ

ปีแรกๆ เป็นการถามหาผลผลิตก่อน ถามหาขอดูชิ้นงาน PBL เด็ก ป.๑ หน่อยนะ วันถัดไปขอดู ป.๒ หน่อยนะ อะไรอย่างนี้ คือมันเป็นเทคนิคของเราที่ขอดูชิ้นงานของเขา ใช้เวทีประชุมนี่แหล่ะ แต่ไม่ได้บีบเอาทีเดียว ขอให้ครูทำไปก่อน ผิดหรือถูกไม่เป็นไร ขอให้ลงมือทำ ลงมือคิดลงมือทำ คุณครูลงมือคิดวางแผน เด็กไปลงมือทำตามแบบตามแผนไปก่อน แล้วค่อยพัฒนาขึ้นมาเรื่อยๆ…”

สังคม อินทร์ขาว ร.ร.บ้านนาขนวน จ.ศรีสะเกษ

การเปลี่ยนแปลงของคุณครู

“…การเปลี่ยนแปลงในตัวครูที่เห็น คือ หนึ่ง ครูมีปฏิสัมพันธ์กันมากขึ้นในเชิงวิชาการ อาจจะเกิดจากโครงสร้างที่เรากำหนดวงแลกเปลี่ยนเรียนรู้ นอกจากโครงสร้างแล้วครูยังเอาเรื่องนี้มาคุยกันนอกรอบ บนโต๊ะกินข้าวครูก็มาคุยอย่างไม่เป็นทางการ ประเด็นที่สองที่เห็นก็คือมองเห็นพัฒนาการเรื่องการเรียนการสอนของคุณครูมากขึ้น จากที่ทำมาปีที่ ๑ พอปีที่ ๒ เห็นพัฒนาการเรื่อง AL ของคุณครู เมื่อครูมีพัฒนาการ สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือตัวเด็กนักเรียน รู้สึกว่าครูเขาภาคภูมิใจ คนอื่นมาคุย เขาสามารถพูดคุยได้ ที่โรงเรียนก็มีคนมาดูงานตลอด คุณครูก็สามารถพูดคุยเรื่องราวเหล่านี้ ภาคภูมิใจในสิ่งที่เขาได้ทำ …”

ปรีชา นาคศิริ ร.ร.บ้านท่าเสา จ.ระยอง

“…การประเมินช่วงขับเคลื่อนแต่ละปี ใช้เครื่องมือหลายอย่าง จากการพูดคุยกับนักเรียน จากการเห็นชิ้นงานของเขา สมัยก่อนเป็นกฎเกณฑ์กติกาข้อบังคับ ก่อนครูสอนต้องทำแผนก่อน แล้วเป็นแผนที่เราก็ไม่อยากจะดูเท่าไหร่ เพื่อให้มีแต่ไม่ใช่เพื่อการใช้ประโยชน์จริงๆ พอเราใช้ AL เข้าไปอย่างนี้ มันเป็นแผนการเรียนรู้ที่ทำอย่างมีความหมาย มีชีวิตชีวา เป็นอะไรที่ครูก็มาบอกผมว่า บางครั้งแผนที่ทำไว้ถูกรื้อทั้งหมดเลย ถูกรื้อโดยเด็ก AL เป็นแผนที่ Fix ตายตัวไม่ได้ เพราะคุณครูกับเด็กต้องออกแบบร่วมกันและขยับไปด้วยกัน อย่างเช่นประเด็นศึกษาป่า ครูเตรียมแผนอย่างดี เด็กเตรียมตัวไปจากบ้านอย่างดี จะไปลงคลองเพื่อไปศึกษาป่าจาก แต่พอไปเจอน้ำขึ้นเต็มลำคลอง มันไปไม่ได้ พลิกกลับเลย ครูต้องนำเด็กกลับมาโรงเรียน แล้วก็เปลี่ยนแผนใหม่เลย เป็นการเผชิญสถานการณ์เฉพาะหน้า แทนที่จะสอนเก็บข้อมูลเรื่องป่าจากในป่าชายเลน ก็เลยต้องเปลี่ยนมาสอนเรื่องน้ำขึ้นน้ำลง นี่คือเสน่ห์ของ AL เสน่ห์ของการปรับเปลี่ยน ครูจะมาเล่าอย่างมีความสุข การบันทึกหลังสอน ครูบอกว่าสำคัญกว่าการออกแบบอีกนะ ผอ. เพราะได้เห็นตัวตนของครู ตัวตนของเด็ก ตัวตนของกิจกรรม ปฏิสัมพันธ์บรรยากาศ เพราะว่าครูไม่ได้จดบันทึกเฉพาะสิ่งที่เป็นความรู้ที่ได้จากการคาดหวังครั้งนี้ แต่บรรยากาศในการเรียนรู้ครั้งนี้ครูต้องบันทึกด้วย ถ้าบันทึกได้เป็นรายคนยิ่งมีชีวิตชีวามากขึ้นเลย เด็กคนนี้แต่ก่อนไม่เคยพูดเคยจา แต่มาถึงบทบาทนี้เขาพูด คนนี้เป็นเด็กหลังห้องแต่เที่ยวนี้เขาเป็นผู้นำในการเปลี่ยนแปลงในการทำกิจกรรม ซึ่งสิ่งเหล่านี้มันเกิดจากสถานการณ์ มันเกิดจากกิจกรรม เพราะฉะนั้นคุณครูจะบอกว่าบันทึกหลังสอนเป็นอะไรที่มีความสุขมาก…”

สุทธิ สายสุนีย์ ร.ร.อนุบาลสตูล จ.สตูล

การเปลี่ยนแปลงของผู้บริหาร

“…การเปลี่ยนแปลงที่เห็นกับตัวเอง คือ ท่าทีของเราเป็นเพื่อนกับคุณครูมากขึ้น เป็นพี่เลี้ยงกับคุณครูมากขึ้น แต่ก่อนจะใช้ลักษณะออกคำสั่ง ทุกวันนี้ไม่ค่อยมีคำสั่ง ทำงานก็ประชุมหารือคุยกัน มอบหมายงานแล้วก็ทำ ส่วนคำสั่งถ้าต้องการให้มี ก็ทำเอาทีหลัง อย่างเช่นจะพาเด็กออกนอกสถานที่ต้องมีคำสั่ง เผื่อมันมีอะไรเกิดขึ้น มันจำเป็นต้องมี อันไหนไม่จำเป็นก็ไม่ทำ แต่เป็นการพูดคุย การเปลี่ยนตรงนี้ก็จะไม่พยายามนั่งหัวโต๊ะ มันก็จะได้ใจลูกน้องด้วย ได้ใจคุณครูที่ทำงานด้วยกัน…”

สังคม อินทร์ขาว ร.ร.บ้านนาขนวน จ.ศรีสะเกษ

๕.๖ การให้คุณค่า

คุณครูได้แสดงให้เห็นว่า สิ่งยึดเหนี่ยวที่แข็งแรงที่สุด ที่ทำให้คุณครูพร้อมเปลี่ยนแปลง มั่นคงที่จะพัฒนาทักษะนักเรียน ก็คือ คุณค่าความเป็นครู หรือ จิตวิญญาณความเป็นครู

“…สิ่งที่เราทำก็คือให้ขวัญกำลังใจ ตอนนี้ก็คือด้วยข้อจำกัดเรื่องงบประมาณอะไรทั้งหลาย เรามีเรื่องของเกียรติบัตรให้กับครู ยกย่องเชิดชูเกียรติปีละครั้ง แล้วก็ส่งเสริมในเรื่องของความก้าวหน้าของคุณครูที่จะผลักดันเรื่องวิทยฐานะทั้งหลาย แล้วก็มองเรื่องของการไปเรียนรู้ที่อื่น แต่เรามีข้อจำกัดเรื่องงบประมาณ มองว่าการไปดูงานที่อื่น โรงเรียนที่เป็น Best Practice แล้วก็เอากลับมาเหมือนทางลัดที่จะพัฒนา นี่คือสิ่งที่จะให้รางวัลคุณครูเขา…”

ปรีชา นาคศิริ ร.ร.บ้านท่าเสา จ.ระยอง

“…ผมพยายามให้แนวทางเดินกับครู เรื่องการปลุกจิตวิญญาณของความเป็นครู ผมพยายามเอาปิรามิดของ Maslow มาชี้ให้เห็นว่า คนเป็นครูควรอยู่ตรงไหน ผมมองว่ารางวัลสำหรับผมคือโอกาส มันอาจจะไม่ใช่โล่ เกียรติบัตร หรืออะไร ผมพยายามดึงเขาออกจากวัตถุนิยม ถ้าติดเรื่องวัตถุนิยมเราจะทวนกระแสไม่ได้ แต่เราต้องเข้าใจ ต้องคิดสองชั้น ไม่ใช่ว่าผมปฏิเสธ ผมแข็งกระด้างกับคุณครูจนไม่ให้รางวัลอะไร แต่เป้าหมายของผมคือพยายามบอกให้รู้ว่า ต้องก้าวข้ามให้พ้นสิ่งเหล่านี้ ถ้าก้าวพ้นเมื่อไหร่แล้ว นั่นเป็นสุดของครู ถึงไม่ได้เป็น ๑ แสนครูดี แต่คุณครูรู้ว่าคิดอะไร ทำอะไร นั่นคือรางวัลที่สุดยอด

สิ่งที่ผมพยายามให้กับครูคือโอกาส พื้นที่ในการทำงาน แต่เราก็ต้องวิเคราะห์ครูด้วยว่าศักยภาพคนไม่เท่ากัน แต่มีครูหลายคน น้องๆ ที่บางครั้งเขาไม่เข้าใจเรา เขาร้องห่มร้องไห้ว่า ผอ.อัดยัดเยียด อันนั้นก็หนู อันนี้ก็หนู ทำไมต้องลงที่หนูทั้งนั้น แล้วทำไมคนนั้นเหมือนไม่มีอะไร บางครั้งก็ต้องเรียกเขามากระซิบให้ฟังว่า ผอ.ดูแล้วหนูมีทุน แล้วบอกว่าโอกาสที่ ผอ.ให้ตรงนี้มันอาจจะเสริมทุนที่หนูมีอยู่ได้ อย่างเช่นคนไปดูงาน วิทยากรผมจะไม่ค่อยซ้ำ แต่เราจะพยายามให้โอกาส ก็มองว่านี่เป็นรางวัลหนึ่งในการสร้างการยอมรับ พยายามบอกตลอดว่าอาชีพครูได้บุญ แต่อาจจะไม่ได้รางวัล อาชีพครูเหมือนคนเป็นผู้นำทางจิตวิญญาณ ถ้ายังยึดวัตถุอยู่เราก็ไปไม่พ้น เราไม่ได้ปฏิเสธ ถ้าได้ก็เป็นผลพลอยได้ แต่ไม่ใช่ธงหลัก ธงหลักของคุณอยู่ที่ยกระดับเด็ก ชุมชน สังคม ทำยังไงให้เขาเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ทั้งสติปัญญา ทั้งจิตวิญญาณ ซึ่งยังเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลาอีกเยอะ

ครูที่โรงเรียนอนุบาลสตูล ใช้กระบวนการวิจัยมา ๕ ปี เมื่อ ๒ ปีที่แล้ว ท่านมาบอกผมว่า ‘ขอบคุณ ผอ. พี่เพิ่งเป็นครูเมื่อปีนี้เอง’ ตอนนี้ท่านอายุ ๕๘ ปี ถามว่าก่อนหน้านี้พี่เป็นอะไร ‘พี่ไม่รู้พี่เป็นอะไร แต่พี่ไม่ได้เป็นครู แต่พอสร้างกระบวนการนี้ ๓ ปี พี่เป็นครู’ อย่างไหนที่พี่บอกได้ว่าพี่เป็นครู ‘เห็นเด็กเปลี่ยน เห็นพฤติกรรม เห็นพ่อแม่ที่มาร่วมด้วยช่วยกัน เห็นทักษะที่เกิดขึ้นกับเด็ก พี่เพิ่งเป็นครูเมื่อปีนี้เอง’…”

สุทธิ สายสุนีย์ ร.ร.อนุบาลสตูล จ.สตูล

๖. ปรับโครงสร้างสิ่งแวดล้อม

ปรับโครงสร้างทางกายภาพที่เอื้อหรือหนุน PBL

๖.๑ ห้องเรียน

“…เปิดเทอมใหม่ ผู้ปกครองมาส่ง เด็กจะมาจองที่นั่งก่อน นั่งหน้าหมดเลย ตัวเล็กก็เลยไปอยู่ข้างหลัง ตรงนี้มันนำมาให้เราจัดกระบวนการกลุ่ม เอาเรื่องของการนั่งก่อน ผู้ปกครองจะเข้ามามีบทบาท เรื่องผลประโยชน์ ลูกฉันต้องนั่งตรงนี้ เพราะเป็นเรื่องสำคัญ สักพักหนึ่ง ครูอ้อยก็จะเปลี่ยนที่นั่งเป็นรูปตัวโค้ง แต่เด็กก็จะดูกระดานไม่ได้ในวิชาอื่น ของครูอ้อยจะพยายามไม่ใช้กระดานเยอะ ทำเป็นตัวยูบ้าง บางทีก็เอาโต๊ะออกไปเลย นักเรียนมาอยู่ที่พื้น พอมาเจอวงแลกเปลี่ยนที่นี่ด้วย ก็ยิ่งทำให้เรามั่นใจ เราพาเขานั่งกับพื้น…”

ขนิษฐา อาษาชำนาญ ร.ร.อนุบาลสตูล จ.สตูล

๖.๒ แหล่งเรียนรู้

“…โรงเรียนล้อมรอบด้วยโรงงานขนาดใหญ่เล็ก จึงทำบรรยากาศโรงเรียนในเมืองให้เป็นบรรยากาศแห่งความร่มรื่น ร่มเย็น เอาป่า เอาน้ำ เอาปลา เอาปู มาจัดในโรงเรียน ทำโรงเรียนให้ป่าในเมือง และมีแหล่งเรียนรู้ เราก็บรรจุแหล่งเรียนรู้ที่คุณครูคิด นักเรียนคิด ก็เป็นลักษณะ Resort แห่งการเรียนรู้ เช่น สวนพืชสมุนไพร สวนวัฒนธรรม สวนคณิตศาสตร์ สวนวิทยาศาสตร์ การปลูกผัก ต่อมาเราบอกว่า เมื่อมีแหล่งเรียนรู้อยู่ใน Resort แล้ว น่าจะมีในระดับห้องเรียนด้วย ก็จัดกิจกรรมแหล่งเรียนรู้ในห้องเรียนด้วย เช่น เรามีห้องเรียนอาเซียน ห้องเรียนเศรษฐกิจพอเพียง ห้องเรียนเกี่ยวกับธนาคาร ห้องเรียนเกี่ยวกับสหกรณ์ครบวงจร เป็นห้องเรียนที่เด็กฝึกปฏิบัติตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เราใช้ชื่อว่า “สวนส้ม Resort แห่งการเรียนรู้…”

อัมพร สุวรรณจันทร์ ร.ร.วัดสวนส้ม จ.สมุทรปราการ

๖.๓ ระบบเทคโนโลยีสื่อสารในโรงเรียน

“…ที่โรงเรียน เราจะหาคอมพิวเตอร์พร้อมต่อ wireless ให้แต่ละห้องเรียน และมีส่วนห้องคอมพิวเตอร์สำหรับอำนวยความสะดวก แต่ถามว่าเพียงพอมั้ย มันก็ในระดับหนึ่งของเราที่พึงกระทำได้ แต่เราอยากเอื้ออำนวยเรื่องคอมพิวเตอร์ เรื่องของ ICT เพื่อเด็กสามารถสืบค้นทางอินเทอร์เน็ตได้…”

ปรีชา นาคศิริ ร.ร.บ้านท่าเสา จ.ระยอง

มีประเด็นเก็บตกที่ผู้เขียนเห็นว่าสำคัญไม่น้อย โรงเรียนทำอย่างไรจึงสามารถขับเคลื่อนได้อย่างต่อเนื่อง

๑. เปิดพื้นที่เข้ามีส่วนร่วมจัดการ AL อย่างหลากหลายจากหลายฝ่าย เช่น ผู้ปกครอง เขตพื้นที่การศึกษา สถาบันทางวิชาการ และองกรค์เอกชนที่สนใจงานด้านการศึกษา โดยทำงานร่วมกันในลักษณะเครือข่าย หัวใจของการเปิดพื้นที่ให้เข้ามาร่วม คือ ทำให้เห็นเป้าหมาย เห็นผลลัพธ์จริงที่เกิดขึ้นกับเด็ก และรู้สึกถึงความเป็นเจ้าของ

“… ผมไปอยู่อนุบาลสตูลครั้งแรกเป็นโจทย์ใหญ่สำหรับผมมาก กับการทำให้ผู้ปกครองที่ค่อนข้างมีความรู้ แล้วรับเอาวิถีนี้ เพราะวิถีนี้เป็นวิถีที่ผู้ปกครองไม่เห็นด้วยอยู่แล้ว เพราะผมเคยโดนเดินขบวนไล่มาก่อนกับวิถีเหล่านี้ แต่พอเรามีประสบการณ์เราก็แยบยลมากยิ่งขึ้น โดยใช้เด็กลูกของเขาเป็นสื่อค่อยๆ ซึมลึกไป ผู้ปกครองกลับมาสะท้อนเองว่า ลูกแต่ก่อนไม่พูดกับคนอื่น ไม่คุยนะ ทำไมเขาคุยมากขึ้น มันมีเรื่องราวมันแตกต่างจากทุนเดิมๆ ที่เขามีอยู่ เขาพูดได้มากขึ้นสำหรับเด็กอนุบาล สื่ออะไรได้มากขึ้น เล่าเรื่องอะไรต่างๆ ได้มากขึ้น พอโตขึ้นศักยภาพต่างๆ ในมุมเหล่านี้ มันก็มีพื้นที่ให้เขาแสดงออกมากขึ้นสิ่งเหล่านี้ แต่วิถีหนึ่งที่เราซ่อนไว้ก็คือในการก้าวเดินในแต่ละโจทย์ ๑ ปีตั้งแต่การเริ่ม Start พอได้เริ่มเราต้องหาบทบาทให้ผู้ปกครองมาดูเรื่องของเด็กให้มาเป็น Commentator อะไรต่างๆ…”

สุทธิ สายสุนีย์ ร.ร.อนุบาลสตูล จ.สตูล

“… ทำอย่างไรให้ชุมชนเข้ามาร่วมมือ อย่างที่ ผอ.บอก โรงเรียนเราต้องเปิด ให้เขารู้ว่าโรงเรียนเราทำอะไร ยิ่งเรียนอย่างนี้ก็เป็นการดี เปิดประตูโรงเรียนให้เขามาร่วมกิจกรรม ครูอ้อยคิดว่าที่เราประสบความสำเร็จ เพราะเราเดินมาหลายปีแล้ว แล้วก็มีส่วนร่วมจากผู้ปกครอง ครูก็มีประสบการณ์ที่จะสื่อกับชุมชนได้ ที่เราออกไปสู่ชุมชน เราบอกวัตถุประสงค์ว่า นักเรียนตอนนี้กำลังเรียนอยู่นะ แต่ไม่ได้เรียนแบบเดิม เรียนแบบเอาวิธีการแก้ปัญหา ได้เรียนรู้ แต่ถ้ารู้แล้วไม่นำมาใช้สู่ชุมชน มันก็ไม่ได้ช่วยอะไร ไม่มีประโยชน์จากความรู้ที่ได้ แล้วคิดว่าปัญหานี้มีไหมในชุมชน คือปัญหาตรงนี้มันจะเยอะมากอยู่แล้ว เพียงแต่ว่าจะมีใคร มีโรงเรียนหรือการจัดการเรียนการสอนอะไรที่คิดลงไปที่ชุมชนเพื่อแก้ปัญหาบ้าง ที่จริงแล้วก่อนที่จะมาถึงโจทย์นี้ ปีก่อนก็จะมีโจทย์เรื่องกำจัดขยะด้วย ซึ่งก็ทำไปแต่อาจจะไม่ลงลึกมาก แต่ละปีมันก็จะมีการขับเคลื่อนยกระดับขึ้นมา จากที่มันไม่สำเร็จ มันไม่ถึงชุมชนมากนักเพราะอะไร ต้องมีการออกแบบเข้าไปในระบบโครงสร้าง ไปหาผู้นำชุมชนก่อน เพื่อที่จะสามารถไปคุยกับในชุมชนได้ว่า นักเรียนได้เรียนรู้อย่างนี้นะ แล้วเขาจะมาทำประโยชน์อย่างนี้ร่วมกัน มาแก้ปัญหาร่วมกัน แล้วใช้ระบบโครงสร้างคณะกรรมการขึ้นมา เพื่อที่จะสื่อให้คนอื่นๆ ในชุมชนทราบ ถ้าชุมชนทำไปเลยก็เป็นเรื่องของชุมชน ถ้านักเรียนลงไปทำเลยก็เป็นเรื่องของนักเรียน ตอนนี้กำลังออกแบบระหว่างนักเรียนกับชุมชนที่จะปฏิบัติการในพื้นที่ได้ ซึ่งมันเป็นโจทย์โมเดลปีแรกของอนุบาลสตูลที่ชัดเจน ที่ว่านักเรียนกับชุมชนได้ลงมือทำจริงๆ ไม่ได้มาทำเฉพาะขั้นตอนใดขั้นตอนหนึ่งเท่านั้น แต่นี่ในขั้นปฏิบัติการจนถึงเห็นผล…”

“…ถ้าเป็นหอยขมประเด็นศึกษาคืออะไร ชีวิตมันเกิดมาอย่างไร มีเรื่องอะไรที่น่าสนใจ ที่อยู่มันจะเกี่ยวกับธรรมชาติระบบนิเวศไหม ก็ไปกระตุ้นนักเรียนต่อจนได้โครงงาน แล้วก็เชิญผู้ปกครองแต่ละห้องมาร่วมฟังเด็กนำเสนอโครงงานด้วย ผู้ปกครองบอกว่าเป็นเรื่องดีได้ศึกษาระบบนิเวศสิ่งแวดล้อม คุณครูต้องทำอย่างนี้ ต้องให้เห็นความแตกต่าง ว่าถ้าระบบนิเวศไม่ดีหอยมันจะอยู่อย่างไร จึงเป็นการกระตุ้นให้นักเรียนหาแหล่งเรียนรู้ที่มีความต่างกัน ซึ่งเป็นผลจากการ comment ตั้งข้อสังเกตของผู้ปกครอง…”

ขนิษฐา อาษาชำนาญ ร.ร.อนุบาลสตูล จ.สตูล

“…ท้ายสุดก็คือจัดวันที่ประเมินโครงงานของเด็ก ใช้เวลาที่โรงเรียนก็ประมาณ ๒ วันในการประเมิน ตอนนี้ก็เริ่มมีชุมชน มีผู้ปกครองเป็นกรรมการในการประเมินของโรงเรียน…”

ปรีชา นาคศิริ ร.ร.บ้านท่าเสา จ.ระยอง

“…พยายามหากิจกรรมเพื่อให้ผู้ปกครองได้สัมพันธ์กับโรงเรียนมากที่สุด มีหลากหลายรูปแบบนะคะ เพียงแค่ว่าเราจะจัดการย่างไร แต่ละคนไม่เหมือนกัน ต้องใช้เทคนิคแตกต่างกันค่ะ ข องชมพู่ที่ผ่านมา มันเป็นหน่วยของปลาสวยงาม ชมพู่ชวนผู้ปกครอง เราค่อนข้างจะสนิทกับผู้ปกครอง เพราะว่าเป็นคนละแวกนั้น รู้จักกัน มีผู้ปกครองท่านหนึ่ เขาก็ไม่ได้เรียนสูง แต่ใส่ใจเด็กเข้ากับเด็กได้ พอที่จะมาช่วยสอนการสานปลาตะเพียนได้ไหม แล้วเขาจะมีเทคนิคที่บางอย่างเรายังไม่ได้ใช้ แต่เขามีค่ะ เป็นกันเองกับเด็ก มีขั้นตอน วิธีการของเขา ซึ่งเราไม่ก้าวก่ายตรงนั้น ให้เขามีส่วนร่วมเต็มที่เลย เราจะอยู่ข้างๆ คอยอำนวยความสะดวกเขาอย่างเดียว ในส่วนประถมก็มีเชิญผู้เฒ่าผู้แก่เข้ามาในส่วนของภูมิปัญญาชาวบ้าน ก็จะสำรวจเด็กก่อน ว่าเด็กอยากเรียนอะไร ก็จะเชิญเข้ามาร่วมกิจกรรมในส่วนการเรียนการสอนด้วย…”

เทพศิรินทร์ ผิวเมืองปัก ร.ร.เทศบาลท่าพระ จ.ขอนแก่น

“…เราอยู่ในชุมชนอุตสาหกรรม ผู้ปกครองจะเป็นคนเฝ้าระวังว่าเด็กเราหนีออกจากโรงเรียน เด็กเราไปอยู่ตรงไหน ผู้ปกครองก็จะโทรศัพท์แจ้งเรา ทางโรงเรียนก็จะส่งครูออกไปตามกลับมา เขาอยู่รอบนอก ไม่ได้เข้ามาช่วยเราเต็มที่ แต่จะเป็นหน่วยพิทักษ์คือคอยระวังว่าเด็กเราจะไปอยู่ตรงไหนบ้าง…”

อุทัยวรรณ ภัททกวงศ์ ร.ร.วัดสวนส้ม จ.สมุทรปราการ

๒. กระจายอำนาจ ให้ครูร่วมคิด และร่วมทำ

“…จุดแข็งคือเน้นการมีส่วนร่วม ผมดูมาตลอดว่าตั้งแต่ระดับนโยบายลงมาจนถึงระดับบริหาร ส่วนมากจะเป็นแบบ Top Down มาตลอด เราบอกว่าเรากระจายอำนาจ แต่สุดท้ายเป็นการสั่งการ เราวิเคราะห์ได้ว่างานต่างๆ ที่ไม่สำเร็จ เพราะเขาไม่ได้ร่วมคิด พอไม่ร่วมคิด ไปขอให้ทำก็ไม่อยากทำ เพราะไม่ใช่ความคิดของเขา พอจับประเด็นตรงนี้ได้ ทุกกิจกรรมที่ทำก็พยายามสื่อสาร แล้วก็มีส่วนร่วม ต้นทางสตาร์ทเรื่องนี้จะใช้การสื่อสารค่อนข้างเยอะทั้งภายในองค์กร ทั้งบอร์ดบริหารการศึกษา …”

สุทธิ สายสุนีย์ ร.ร.อนุบาลสตูล จ.สตูล