มีเด็กไทยจำนวนกว่า 5 ล้านคน ที่อยู่นอกระบบการศึกษาหรือไม่สามารถเข้าถึงการศึกษาได้ ไม่ว่าจะเป็นเด็กพิการ เด็กพิเศษที่ต้องการในแต่ละด้านที่ไม่เหมือนกัน ต้องการการเรียนการสอนที่แตกต่างกัน หรือเด็กด้อยโอกาสในแต่ละพื้นที่ แต่ละวัฒนธรรม แต่ละสิ่งแวดล้อม ต่างมีบริบทที่แตกต่างกัน เหล่านี้ล้วนต้องการการเข้าถึงการศึกษาขั้นพื้นฐานที่สามารถสร้างกระบวนการเรียนรู้ที่เหมาะสมกับตนเอง ซึ่งระบบการศึกษาในปัจจุบันไม่สามารถรองรับได้ และที่สำคัญไม่เปิดโอกาสให้มีการศึกษาทางเลือกอื่นๆ ที่สามารถรองรับความหลากหลายของมนุษย์ จึงเป็นที่มาของขบวนการขับเคลื่อนให้เกิดการปฏิรูปการศึกษาที่ว่าจะต้อง “ทำทันที”
ขณะที่บุคลากรทางการศึกษามีอยู่ทุกที่ มิใช่มีเพียงคุณครูเท่านั้นที่จะสร้างกระบวนการเรียนรู้ได้ แต่บุคลากรทางการศึกษาอื่นๆ เช่น ปราชญ์ชุมชนหรือปราชญ์ชาวบ้าน ผู้รู้ตามสาขาวิชาชีพ หรือผู้รู้อื่นๆ เพื่อเพิ่มพื้นที่การเรียนรู้ในชุมชน เป็นห้องเรียนชีวิตที่ผู้เรียนสามารถออกแบบตามความสนใจได้ เพื่อเสริมทักษะและพัฒนาศักยภาพความเป็นตัวตนของเขาให้โดดเด่นออกมา
อย่างไรก็ตาม ในขณะนี้ได้มีหลายสถาบัน หลายผู้สนใจ หลายผู้รู้ ที่เห็นต้นเหตุของความด้อยคุณภาพระบบการศึกษาไทย ได้ลุกขึ้นมาจัดการกับเหตุแห่งปัญหา ต่างทำโมเดลนำร่องหรือโครงการทดลองกับหลายๆ โรงเรียน เพื่อหาคำตอบที่ถูกสำหรับห้องเรียนอนาคตของเด็กไทย มูลนิธิสดศรี-สวัสดิ์วงศ์ เป็นหนึ่งในนั้นที่เริ่มโครงการไปแล้ว
น.พ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ เลขาธิการมูลนิธิฯ ซึ่งเป็นจิตแพทย์เด็ก คลุกคลีศึกษาเรื่อง “เด็ก” และเป็นนักเขียน นักวิจารณ์ เป็นผู้ริเริ่มโครงการเปลี่ยนแปลงการศึกษาไทยร่วมกับกลุ่มโรงเรียนสังกัดกระทรวงศึกษาธิการและกลุ่มโรงเรียนทางเลือกจำนวนหนึ่ง ที่ได้จัดการเรียนการสอนที่เรียกว่า “สอนน้อยได้มาก” หรือ “teach less learn more”ลดชั่วโมงการเรียนการสอนแบบดั้งเดิมและการจัดการเรียนรู้แบบ “Problem-Based Learning-PBL” โดยได้เชิญชวนผู้ที่ตระหนักถึงปัญหานี้มาร่วมกันเปลี่ยนแปลงการศึกษาไทยด้วยการเป็นส่วนหนึ่งในการริเริ่มก่อตั้ง “สถาบันการจัดการการเรียนรู้” (Learning Management Institute-LMI)
คำถามที่ว่าเกิดอะไรขึ้นกับการศึกษาไทยในวันนี้ เด็กไทยจะรับมือศตวรรษใหม่ได้อย่างไร เมื่อโลกโดนไอทีโจมตี คุณหมอกล่าวว่า ก่อนอื่นเราต้องยอมรับข่าวร้ายก่อนว่าสมองเด็กไทย คือตัวเนื้อสมองนั้น ไร้ศักยภาพทั้งอ่านและเขียน
ไทยพับลิก้า : เกิดจากอะไร
เกิดจากการอ่านน้อย ตอบแบบตรงไปตรงมา มันต้องเริ่มต้นด้วยการอ่าน คือมนุษย์ต้องอ่านก่อน เพื่อพัฒนาสมองบางส่วน 3-4 ส่วนในบริเวณ Frontal lobe หลังจากนั้นมนุษย์เขียน เพื่อต้องพัฒนาสมองอีก 3-4 ส่วนของ Parietal lobe กับ Temporal lobe ทั้งหมดนี่มันต้องทำในช่วงประถมวัย ช้ากว่านั้นไม่ได้ ช้ากว่านั้นมันเป็นสมองที่ตายแล้ว มันพัฒนาไม่ขึ้น ทั้งหมดนี้มันมีงานวิจัยสมัยใหม่รองรับ
ประเทศไทยปล่อยปะละเลยเรื่องนี้นานเกินไป เกิน 1 ชั่วอายุคนแน่ๆ ดังนั้นเราได้สมองที่ใช้การไม่ได้ พอโลกเข้าสู่ศตวรรษที่ 21 ซึ่งดิจิทัลมา นิยามของการอ่านและเขียนจะไม่เหมือนเดิม อ่านไม่ได้แปลว่าแบบนี้เสมอไป เราต้องมาคุยเรื่องนี้กันใหม่ อ่านมันคือ receptive การรับข้อมูล แปลว่าอะไร เด็กจะรับข้อมูลแบบไหนที่จะกระตุ้นสมองส่วนที่การอ่านเคยกระตุ้นมาก่อน
เขียนไม่ได้แปลว่าแบบนี้เสมอไป เขียนมันคือ expression เด็กจะ express อะไรในสมองออกไปสู่มนุษย์ผู้อื่น ด้วยวิธีไหน ซึ่งพวกนี้ (สมาร์ทโฟน) มันเริ่มแทรกเข้ามา มันเข้ามาแทนที่ดินสอ ปากกา เพื่อกระตุ้นสมองส่วนของ Parietal lobe กับ Temporal lobe ที่เคยทำ อะไรแบบนี้ แต่ผมไม่เห็นการศึกษาคุยเรื่องแบบนี้กัน
แต่ผมเห็น และเราพยายามทำเรื่องการอ่านให้กระจ่าง ว่าอ่านแปลว่าอะไร การอ่านทำให้เกิดสัญญาณประสาทดิ่งเข้าสู่ส่วนไหนของสมอง
แน่นอนคำถามสำคัญก็คือ อ่านแท็บเล็ตได้ไหม อ่านข่าวสั้นๆ ของเฟซบุ๊กวันละ 10 ข่าว ได้ไหม นี่เป็นสิ่งที่ผมคิดว่าเราต้องลงลึก ยิ่งการเขียนยิ่งสาหัส เด็กต้องแสดงออก แน่นอนเราแสดงออกด้วยการเขียนมาหลายพันปี แต่ตอนนี้เราก็เห็นว่า เราไม่ได้มีความจำเป็นต้องเขียน แต่ต้องแสดงสิ่งที่อยู่ในสมองและใจออกมาให้มนุษย์ผู้อื่นรู้เรื่อง แต่ทำยังไงล่ะ นี่คือสิ่งที่เราเถียงกัน
ผมคิดว่าถึงเวลาแล้ว วัยรุ่นเขียนไม่เอาไหน ภาษาวัยรุ่นไม่เอาไหน เราได้ยินทุกเวที ก็เครื่องมือมันเป็นแบบนี้ (สมาร์ทโฟน) “ถึง” คุณกดเร็วๆ ยังไงก็เป็น “ถุง” เราจะเขียน “เดี๋ยวนี้” เขียน “เด๋วนี้” ก็รู้เรื่อง พวกนี้เป็นเรื่องที่เราต้องเผชิญกับการศึกษาไทย