3.1 เนื่องจากตัวแปรสุขภาวะทางจิตวิญญาณค่อนข้างเป็นอัตวิสัย ลึกซื้ง เครื่องมือประเมินจำเป็นจะต้องสามารถวัดให้ได้คลอบคลุมลึกซึ้งมากยิ่งขึ้น เพื่อสะท้อนสุขภาวะทางจิตวิญญาณให้ถูกต้องมากที่สุด โดยผู้วิจัยได้ปรับแนวทางการประเมินโดยใช้เครื่องมือประเมินหลายวิธีประกอบกันได้แก่ แบบวัดมาตราส่วนประเมินค่า กรณีศึกษา และเพิ่มแบบสอบถามปลายเปิด โดยมุ่งให้ผู้ตอบได้สะท้อนความเป็นจริงเกี่ยวกับตนเองในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับสุขภาวะทางจิตวิญญาณได้อย่างละเอียดและลึกซึ้งมากยิ่งขึ้น เช่นสถานการณ์ในชีวิตที่สร้างความสุข ปิติอิ่มเอิบใจ และเป้าหมายที่สำคัญหรือสิ่งที่มีคุณค่าในชีวิต เป็นต้น
3.2 นิยามและมิติองค์ประกอบของสุขภาวะทางจิตวิญญาณ อาจจะมีความซ้ำซ้อนและยังแยกจากกันไม่ได้เด็ดขาด อาจจะมีความยากลำบากในการวัดได้ ผู้วิจัยได้ตะหนักถึงข้อจำกัดของความไม่ชัดเจนและไม่มีบทสรุปของคำว่าสุขภาพทางจิตวิญญาณจากแนวคิดที่มีอยู่ในประเทศและต่างประเทศ ดังนั้นจึงได้มีการประชุมและเลือกแนวคิดพื้นฐานที่คิดว่าน่าจะมีความเหมาะสมกับบริบทของสังคมไทยมากที่สุดนั่นคือการเลือกแนวคิดที่ได้จากการศึกษาของนงเยาว์ มงคลอิทธิเวชและคณะ (2552) และสำหรับความซ้ำซ้อนของเนื้อหา ผู้วิจัยได้ใช้กระบวนการสร้างเครื่องมือทางจิตวิทยาเป็นหลักเช่น การวิเคราะห์องค์ประกอบ การหาคุณภาพเครื่องมือ เพื่อช่วยในการปรับปรุงแนวคิดและรายละเอียดของเนื้อหาของเครื่องมือประเมิน รวมทั้งได้ปรับปรุงและเพิ่มข้อความตามเนื้อหาที่ผู้ทรงคุณวุฒิได้แนะนำเพิ่มเติม
3.3 คณะผู้วิจัยได้พิจารณาผลของการประเมินความเที่ยงตรงเชิงเนื้อหา โดยพิจารณาจากค่าดัชนีความสอดคล้อง (IOC) ที่ได้จากการวิเคราะห์การประเมินจากผู้ทรงคุณวุฒิ และความตรงเชิงภาษาของข้อคำถามรายข้อ เพื่อใช้ในการพิจารณาปรับปรุงจำนวนข้อคำถาม เนื้อหา และภาษาที่ใช้ในแบบวัดส่วนที่ 1 ที่มีจำนวน 126 ข้อ ซึ่งหลังจากพิจารณาค่าดัชนีความสอดคล้องและข้อเสนอแนะเพิ่มเติมจากผู้ทรงคุณวุฒิ ได้เพิ่มข้อคำถามเกี่ยวกับประเด็นของเป้าหมายขึ้น และตัดข้อคำถามที่มีค่าดัชนีไม่อยู่ในเกณฑ์ที่ยอมรับได้ และปรับปรุงข้อคำถามจากข้อเสนอแนะ ทั้งนี้แบบวัดฉบับปรับปรุงจึงมีจำนวนเหลือ 74 ข้อ
3.4 สำหรับเครื่องมือประเมินจากการใช้กรณีศึกษาในส่วนที่สอง ผู้ทรงคุณวุฒิให้พิจารณาถึงความยาวของสถานการณ์ เนื้อหาของสถานการณ์ที่เหมาะสมกับวัฒนธรรม การปรับภาษาเพื่อไม่ให้มีการตีความผิด จากข้อมูลดังกล่าวคณะผู้วิจัยได้รับลดความยาวของกรณีศึกษาให้กระชับและอยู่บนเงื่อนไขของสถานการณ์ที่เป็นกลาง ลดสถานการณ์เหลือเพียงสถานการณ์เดียวในแต่ละบริบท และเน้นไปที่การสะท้อนความรู้สึกและพฤติกรรมที่มีต่อสถานการณ์นั้น โดยมี 2 ข้อคำถาม ได้แก่ ความรู้สึกที่มีต่อสถานการณ์ และวิธีปฏิบัติงานเพื่อตอบสนองต่อสถานการณ์นั้น
4. จากการปรับปรุงแนวทางการประเมินตามประเด็นควรพิจารณาของผู้ทรงคุณวุฒิดังกล่าวสามารถสร้างเครื่องมือประเมินสุขภาวะทางจิตวิญญาณที่จะถูกนำไปเก็บข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่างเพื่อให้ได้ข้อมูลเชิงประจักษ์ในบริบทของระบบสุขภาพและการศึกษา เครื่องมือประเมินประกอบไปด้วย 3 ส่วนได้แก่ ส่วนแรกคือแบบวัดสุขภาวะทางจิตวิญญาณ จำนวน 74 ข้อ เพื่อวัดสุขภาวะทางจิตวิญญาณ 18 องค์ประกอบ ส่วนที่สองคือแบบสอบถามปลายเปิดเพื่อให้อธิบายความเป็นจริงเกี่ยวกับตนเองในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับสุขภาวะทางจิตวิญญาณ เช่น สถานการณ์ในชีวิตที่สร้างความสุข ปิติอิ่มเอิบใจ และเป้าหมายที่สำคัญหรือสิ่งที่มีคุณค่าในชีวิต และส่วนที่สามคือกรณีศึกษา โดยที่คณะผู้วิจัยได้นำเครื่องมือประเมินดังกล่าวไปใช้เก็บข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่างจำนวนทั้งสิ้น 855 คน