แบบทดสอบทางจิตวิทยาเป็นการวัดตัวอย่างพฤติกรรมที่เป็นตัวแทนของพฤติกรรมที่ต้องการวัด ขบวนการวัดที่จัดอยู่ในสภาวการณ์ที่มีความเป็นมาตรฐานและการให้คะแนนและการตีความหมายของคะแนนจะมีความเป็นปรนัย
Rathus (2008) กล่าวว่า การวัดหรือการวินิจฉัยบุคลิกภาพเป็นวิธีการประเมินตัวอย่างของพฤติกรรมเพื่อที่จะทำนายพฤติกรรมที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
ซึ่งอาจสรุปได้ว่า การวัดหรือการประเมินเป็นการนำสิ่งที่ได้จากการศึกษามาทำการเปรียบเทียบ เพื่อที่จะแปลความหมายและสรุปเป็นลักษณะของบุคคลคนนั้น โดยมีลักษณะของความเป็นปรนัยและมีความเป็นมาตรฐาน
ดังนั้น แนวทางการวัดทางจิตวิทยาจึงทำได้หลายแนวทางด้วยกัน ได้แก่ การวัดตัวอย่างพฤติกรรมที่เป็นตัวแทนของพฤติกรรมที่ต้องการวัด กระบวนการวัดที่จัดอยู่ในสภาวการณ์ที่มีความเป็นมาตรฐาน รวมถึงการให้คะแนนและการตีความของคะแนน มีความเป็นปรนัย (Murphy & Davidshofer, 1991 อ้างถึงใน สุชีรา ภัทรายุตวรรตน์, 2551) โดยที่แบบทดสอบที่ดีนั้น จะต้องมีความเที่ยงตรงหรือความตรง (Validity) คือ ความสามารถในการวัดได้ถูกต้องตรงตามคุณสมบัติ ซึ่งความเที่ยงตรงแบ่งออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่ (1) ความเที่ยงตรงเชิงเนื้อหา (Content validity) คือ ความสามารถในการวัดได้สอดคล้องกับจุดมุ่งหมายของแบบทดสอบซึ่งเป็นตัวแทนของสิ่งที่ต้องการวัดทั้งหมด ตัวอย่างของวิธีการหาความเที่ยงตรงเชิงเนื้อหา เช่น การพิจารณาจากผู้ทรงคุณวุฒิ และการคำนวณค่าดัชนีความสอดคล้อง (Item-Objective Congruence Index: IOC) (สุชีรา ภัทรายุตวรรตน์, 2551) (2) ความเที่ยงตรงเชิงโครงสร้าง (Construct validity) คือ ความสามารถในการวัดคุณลักษณะพฤติกรรมได้ตามที่ตั้งสมมติฐานตามทฤษฎีหรือโครงสร้างที่กำหนดไว้ ตัวอย่างของวิธีการหาความเที่ยงตรงเชิงโครงสร้าง เช่น การวิเคราะห์องค์ประกอบ (Factor analysis) (3) ความเที่ยงตรงตามเกณฑ์ที่เกี่ยวข้อง (Criterion related validity) คือ ความสามารถในการวัดได้ถูกต้องตามเกณฑ์ที่กำหนดขึ้น ตัวอย่างของวิธีการหาความเที่ยงตรงตามเกณฑ์ที่เกี่ยวข้อง เช่น Known-group technique และแบบทดสอบที่ดีจะต้องมีค่าความเชื่อมั่น (Reliability) คือ ความคงที่หรือความคงเส้นคงวา โดยเมื่อทำการวัดด้วยเครื่องมือใดๆ 2 ครั้ง แต่ละครั้งมีความเป็นอิสระจากกัน ตัวอย่างของการหาค่าความเชื่อมั่น เช่น การหาความคงที่ภายใน (Internal consistency) โดยการใช้ค่าสัมประสิทธิอัลฟ่าของครอนบาค (Cronbach’s Alpha reliability) (รัตติกรณ์ จงวิศาล, 2549; สุชีรา ภัทรายุตวรรตน์, 2551) นอกจากนี้แล้ว สิริอร วิชชาวุธ และคณะ (2550) ได้กล่าวถึงนักทฤษฎีบุคลิกภาพในปลายศตวรรษที่ 20 ได้มีการพยายามสร้างมาตรการในการวัดบุคลิกภาพ ซึ่งเรียกว่า แบบทดสอบ เพื่อที่จะนำผลที่ได้จากการวัดไปใช้อ้างอิงและเชื่อถือได้จริง แบ่งออกได้เป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ คือ Objective test และ Projective test โดยที่ Objective test จะเป็นแบบทดสอบที่มีข้อคำถามที่เป็นรูปธรรม ซึ่งสามารถตัดสินถูก ผิดได้ มีเกณฑ์การให้คะแนน รวมถึงขอบเขตของคำตอบที่ชัดเจน เฉพาะเจาะจง ได้แก่ แบบทดสอบ The Minnesota Multiphasic Personality Inventory และแบบทดสอบ The California Personality Inventory ส่วน Projective test นั้น เป็นแบบทดสอบที่ไม่มีความชัดเจน คลุมเครือ ไม่ได้มีคำตอบที่แน่นอนตายตัว ได้แก่ แบบทดสอบ The Rorschach Inkblot Test และแบบทดสอบ The Thematic Apperception Test (Rathus, 2008)
นอกจากนี้แล้ว อลงกรณ์ มีสุทธาและสมิต สัชฌุกร (2540) ได้กล่าวถึง การประเมินในรูปแบบอื่นเพื่อให้ทราบถึงความแตกต่างระหว่างบุคคลด้วยการประเมินโดยยึดพฤติกรรมเป็นหลัก ยกตัวอย่างเช่น
1. วิธีการประเมินแบบเน้นเหตุการณ์สำคัญ (Critical incidents)
วิธีการนี้เป็นการจดบันทึกเหตุการณ์ หรือพฤติกรรมที่สำคัญเป็นหลักฐาน มีการจดบันทึกลงในสมุดบันทึกซึ่งมีรายการที่จัดทำขึ้นโดยเฉพาะเพื่อเป็นแนวทางในการจดบันทึก การบันทึกเหตุการณ์สำคัญนี้จะบันทึกทั้งในสิ่งที่ประสบความสำเร็จ หรือในแง่ที่ล้มเหลวและสามารถผ่านประสบการณ์นั้นมาได้ โดยผู้บันทึกจะต้องทำในลักษณะคล้ายกับบันทึกประจำวัน คือ บันทึกทันทีที่มีเหตุการณ์เกิดขึ้น เพราะอาจลืมได้หากจะจำไว้บันทึกในภายหลัง
นอกจากนั้น Flanagan (1954 อ้างถึงใน รัตติกรณ์ จงวิศาล, 2549) ได้นิยามว่า Incident คือกิจกรรมของบุคคลที่สามารถสังเกตได้ ซึ่งมีความครบถ้วนอย่างเพียงพอที่จะทำการวินิจฉัยและทำนายเกี่ยวกับบุคคลที่แสดงพฤติกรรมนั้นๆ ส่วน Critical เป็น Incident ที่ต้องเกิดขึ้นในสถานการณ์ที่มีจุดประสงค์หรือตั้งใจที่จะแสดงพฤติกรรมอย่างชัดเจน และผลนั้นมีความแน่นอนเพียงพอ
Flanagan ได้กล่าวถึงสิ่งที่สำคัญของวิธีการนี้ คือ จะต้องมีการรายงานโดยตรงหรือรายงานจากการบันทึกโดยปราศจากอคติ โดยบุคคลให้ความร่วมมือในการบรรยายถึงเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับงานที่ได้รับมอบหมาย วิธีการนี้พบว่า มีประสิทธิภาพมากในการให้ข้อมูลของบุคคลที่เกี่ยวข้องกับความผิดพลาดของพวกเขา เช่น จากผู้ใต้บังคับบัญชาที่ให้ข้อมูลความผิดพลาดของผู้บังคับบัญชาของพวกเขา หรือจากผู้บังคับบัญชาที่เกี่ยวข้องกับผู้ใต้บังคับบัญชา และจากผู้เข้าร่วมอื่นๆ
แต่ในขณะเดียวกันวิธีการนี้ก็มีข้อจำกัดเช่นกัน เนื่องจากต้องทำการบันทึกเหตุการณ์สำคัญๆ อย่างสม่ำเสมอ ทำให้เป็นภาระมาก ต้องเฝ้าสังเกตพฤติกรรมอยู่ตลอดเวลา
2. วิธีการบรรยายความ (Free form essay, Free written evaluation, Essay description, Essay approach หรือ Narrative method)
โดยการให้เขียนบรรยายเกี่ยวกับอารมณ์ ความรู้สึก พฤติกรรมทางด้านของสุขภาวะทางจิตวิญญาณของแต่ละคน บางครั้งในการบรรยายอาจเปิดกว้างโดยมิได้กำหนดขอบเขต เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้เขียนเสนอมุมมองการมีสุขภาวะทางจิตวิญญาณได้โดยอิสระ หรืออาจมีการกำหนดหัวข้อที่ต้องการให้บรรยายไว้ ซึ่งวิธีการนี้มีข้อจำกัด เนื่องจากบางคนอาจมีความลำบากในการถ่ายทอดอารมณ์ ความรู้สึกหรือพฤติกรรมผ่านการเขียน ทำให้ขาดประเด็นสำคัญไป
3. วิธีการประเมินโดยวิธีสัมภาษณ์ (Field interview method หรือ Field review method)
วิธีนี้จะไปสัมภาษณ์ผู้ที่มีสุขภาวะทางจิตวิญญาณเกี่ยวกับประเด็นที่ได้กำหนดไว้ รวมถึงรายละเอียดของผู้ที่ต้องการสัมภาษณ์ โดยผู้สัมภาษณ์จะเตรียมคำถามที่จะถามไว้ก่อน เมื่อสัมภาษณ์เสร็จ จะมีการจัดทำรายงานเป็นลายลักษณ์อักษรเพื่อพิจารณาและแก้ไขเพิ่มเติม เมื่อได้ข้อมูลรายละเอียดของแต่ละบุคคลเรียบร้อยแล้ว อาจนำรายงานผลการสัมภาษณ์ให้ผู้ถูกสัมภาษณ์รับรองความถูกต้องอีกครั้ง ซึ่งการใช้วิธีการสัมภาษณ์นี้มีข้อจำกัด เนื่องจากสิ้นเปลืองเวลาและค่าใช้จ่ายมาก ต้องการความตั้งใจและความสามารถในวิธีการสัมภาษณ์ รวมทั้งความจริงใจของทั้งสองฝ่ายอีกด้วย