1. ทบทวนตนเองบ่อย ๆ ถึงสิ่งที่เกิดขึ้นกับตนเอง ทำให้รู้จักตนเองอย่างลึกซึ้ง มีเป้าหมายในการดำเนินชีวิตที่ชัดเจน เห็นถึงคุณค่าความหมายของการมีชีวิตอยู่ และมีความสุขกับการดำเนินชีวิตอย่างแท้จริง
2. ฝึกควบคุมอารมณ์ ความรู้สึกของตนเอง เช่น การฝึกสติให้ไวต่อสิ่งที่เข้ามากระทบ ปล่อยวางเปลี่ยนความคิด หรือการเปลี่ยนจุดสนใจ การทำกิจกรรมผ่อนคลาย ซึ่งช่วยให้สามารถอยู่ได้อย่างมีความสุขและอิสระ
3. ศึกษาจากต้นแบบ เลียนแบบพฤติกรรมและวิธีการที่ดี ฝึกทักษะที่พึงประสงค์ต่างๆ บ่อย ๆ
4. มีกัลยาณมิตร มีเพื่อนสนิทที่รู้ใจ เป็นการเติมเต็มพลังและให้กำลังใจซึ่งกันและกัน
5. ทำกิจกรรมที่สร้างแรงบันดาลให้กับตนเองได้ เช่น อ่านหนังสือ ฟังเพลง อ่านบทกวีต่างๆ เปิดโอกาสให้ตนเองได้สัมผัสใกล้ชิดธรรมชาติ
6. ศึกษาธรรม ฝึกปฏิบัติธรรม การยึดมั่นในหลักคำสอนของศาสนาต่าง ๆ เป็นสิ่งที่ช่วยให้มีการพัฒนาจิตปัญญาได้อย่างมั่นคง
7. เข้าร่วมอบรม ศึกษาดูงาน แลกเปลี่ยนเรียนรู้ ทำให้เกิดการเรียนรู้แนวคิดและวิธีการทำงานซึ่งสามารถนำมาปรับใช้ในหน่วยงานของตนได้
ระดับองค์การ สามารถพัฒนาจิตปัญญาได้ดังนี้
1. มีนโยบายในการช่วยส่งเสริมการพัฒนาจิตปัญญาอย่างชัดเจน
2. มีระบบการคัดเลือกคนเข้าองค์การโดยการวัดใจ คือ ความรู้สึกรัก ชอบ มีใจอยากจะทำมากกว่าผลการเรียนหรือประสบการณ์ที่ผ่านมา
3. ผู้บริหารต้องให้ความสำคัญกับการพัฒนาจิต และคุณภาพชีวิตของบุคลากร นำผลการพัฒนาจิตปัญญาเป็นเป้าหมาย ค่านิยมองค์การ เชื่อมโยงถึงผลการให้รางวัลหรือการเลื่อนตำแหน่งต่าง ๆ
4. มีระบบชื่นชมคนทำดี สร้างคนให้ดี สร้างคนให้เก่ง ให้กล้าคิด กล้านำเสนอในเรื่องดี ๆ มีความภาคภูมิใจในผลงานของตนเอง มีการชื่นชมคนทำดีแม้เพียงเล็กน้อย เช่น มีกล่องความดี แผนที่ความดี เวทีเสวนาความดี วิทยุชุมชนชื่นชมคนดี เป็นต้น
5. การพัฒนาบุคลากรต้องเริ่มตั้งแต่การเรียนรู้ การรู้จักลูกน้องอย่างแท้จริงรู้ว่าแต่ละคนมีจุดเด่นจุดด้อยตรงไหน เลือกคนให้เหมาะสมกับงาน เปิดโอกาสให้ทำในสิ่งถนัด มีการพัฒนาในส่วนที่ขาด กำหนดเป้าหมายการพัฒนาให้ถึงระดับจิตปัญญา คือ ทุกคนมีความสุขในการทำงาน รู้สึกสงบ และเป็นอิสระ
6. มีตัวแบบ (Role model) สนับสนุนคนที่มีสุขภาวะทางจิตปัญญาให้เด่นเป็นต้นแบบที่ดี การทำให้ดู อยู่ให้เห็น เป็นตัวอย่าง เป็นแรงบันดาลใจที่ยั่งยืน มั่นคง และช่วยให้มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องทั้งคนที่เป็นต้นแบบและคนที่อยากเรียนรู้
7. สร้างบรรยากาศการทำงานให้เป็นบรรยากาศของการเรียนรู้และแบ่งปัน มีระบบพี่สอนน้องมีการส่งต่อรุ่นต่อรุ่น มีคู่หู มีเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ ทักษะชีวิตแก่กันและกัน
8. จัดสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการพัฒนาจิต ทั้งด้านบุคคล ส่งเสริมให้มีบรรยากาศการทำงานที่เอื้ออาทร อยู่กันแบบพี่แบบน้อง เป็นครอบครัวเดียวกัน ด้านสิ่งแวดล้อมจัดสถานที่ทำงานให้น่าอยู่เหมือนบ้าน มีสภาพแวดล้อมที่สวยงาม ผ่อนคลายสบายตา เช่น มีสวนหย่อม มีสนามหญ้า มีสวนสุขภาพ เป็นต้น
9. มีระบบการจัดการกับอารมณ์ของกลุ่ม เช่น มีการตรวจสอบเพื่อพัฒนาไม่ใช่หาคนทำผิด มีระบบการฝึกอบรมน้องใหม่ในการแก้ปัญหาภาวะอารมณ์ของคนไข้ มีพี่เลี้ยงคอยช่วยเหลือ และทำให้ดูเป็นตัวอย่าง มีการช่วยเหลือส่งต่อคนไข้ หากอีกคนไม่สามารถควบคุมอารมณ์ตนเองได้หรือมีระบบแตะมือ มีแนวทางการปฏิบัติเมื่อมีปัญหาด้านอารมณ์ เช่น เชิญให้นั่ง เสริฟน้ำเย็นให้ดื่ม มีทีมคอยช่วยแก้ไขปัญหา เป็นต้น
10. มีนโยบายสนับสนุน ส่งเสริมให้บุคลากรได้ปฏิบัติตามความเชื่อทางศาสนาของตนเอง เช่น การไปฝึกปฏิบัติธรรมโดยไม่ถือเป็นวันลา มีงบสนับสนุน มีรถบริการ มีห้องให้ละหมาด มีผลต่อการพิจารณาความดีความชอบ เป็นต้น
11. ส่งเสริมให้ทุกคนได้เข้าอบรมที่ช่วยส่งเสริมการพัฒนาทางจิตปัญญา
12. ส่งเสริมให้บุคลากรได้ทำกิจกรรมเพื่อสังคม หรือกิจกรรมที่มีโอกาสเห็นความทุกข์ของคนอื่น เห็นคนไข้เป็นองค์รวม เห็นความเชื่อมโยงของทุกสิ่ง
13. ขยายขอบเขตงานให้มีการแลกเปลี่ยนหน้าที่กันบ้างเพื่อจะได้เรียนรู้และเข้าใจกันมากขึ้น หรือเปิดโอกาสให้ทำงานในสิ่งที่ถนัด ซึ่งอาจจะนอกเหนือบทบาทหน้าที่ ช่วยพัฒนามุมมองให้กว้างขึ้น
ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ (2552) ได้เสนอแนวคิดว่า มนุษย์สามารถพัฒนาจิตได้ในหลายวิธีการ ได้แก่
1. การทบทวนตัวเอง
2. การได้สัมผัสและซึมซับความทุกข์จากการทำงานที่ต้องเผชิญกับภาวะอารมณ์รุนแรง ความกดดัน จากการทำงาน ความเสี่ยงจากการใช้ชีวิต
3. การศึกษาจากต้นแบบที่เหมาะสม
4. การมีกัลยาณมิตร
5. การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน
6. การคิดเชิงบวก
7. การเอาใจเขามาใส่ใจเรา
8. การปรับตัวเข้าหาคนอื่น
นอกจากนี้พระพรหมคุณากรณ์ (2549) กล่าวถึงระดับการพัฒนาจิตว่าจะต้องมีการพัฒนาทั้ง 3 ส่วน คือ คุณภาพจิต สมรรถนภาพจิต และสุขภาพจิต โดย คุณภาพจิต คือ องค์ประกอบหรือสภาพจิตที่เรียกว่าคุณธรรมหรือความดี ได้แก่ เมตตา ไมตรีจิต กรุณา ความสงสาร เห็นใจ ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ความรู้จักร่วมใจหรืออุดหนุนส่งเสริม ความสุภาพอ่อนโยน ความกตัญญู ความมีศรัทธา เป็นต้น ส่วนสมรรถภาพจิต ได้แก่ ความเพียรพยายาม ความขยัน ความเข้มแข็ง ความอดทน ความใฝ่รู้ใฝ่ทำ ความรับผิดชอบ ความมีสติ ความยับยั้งชั่งใจ ความจริงใจจริงจัง ความมั่นใจ ความแน่วแน่มั่นคง มีสมาธิ เป็นต้น และสุขภาพจิต คือ สภาพจิตหรือภาวะจิตที่ดี ได้แก่ ความอุ่นใจ ความอิ่มใจ ความปลื้มใจ ความซาบซึ้ง ความร่าเริงสดใส ความสงบเย็น ความผ่อนคลาย ความชื่นใจ ความโปร่งโล่ง ความเบิกบานใจ เป็นต้น ตรงข้ามกับสภาพที่เป็นทุกข์ ไม่เกื้อกูล เช่น ความขุ่นมัว ความโศกเศร้า ความเศร้าหมอง ความคับแค้น ความเหงา ความว้าเหว่ เป็นต้น
จากการทบทวนเอกสารพบว่า การพัฒนาสุขภาวะทางจิตวิญญาณสามารถทำได้ โดยมีปัจจัยที่เกี่ยวข้องหลายประการ ทั้งปัจจัยที่เป็นการพัฒนาในระดับบุคคล โดยการทบทวนตนเอง การฝึกควบคุมอารมณ์ การเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ การปฏิบัติธรรม การฝึกสติ การภาวนาและการทำสมาธิ และปัจจัยที่เป็นการพัฒนาในระดับองค์การ โดยการมีนโยบายส่งเสริม การคัดเลือก สรรหา และการพัฒนาสุขภาวะทางจิตวิญญาณของบุคลากร สร้างบรรยากาศ สิ่งแวดล้อมและวัฒนธรรมที่ส่งเสริมให้เกิดสุขภาวะทางจิตวิญญาณ