การมองกลับเข้าไปภายในเพื่อค้นพบเอกลักษณ์ที่แท้จริงของเรา โดยเป็นการมองเพื่อค้นพบตัวตน คุณค่า ความหมายและเป้าหมายในชีวิต ให้ลึกซึ้งถึงแก่นแท้ของตัวเรา นอกเหนือจากนั้นยังต้องเชื่อมโยงกับมนุษย์ทุกคน และรับรู้ถึงบางสิ่งที่ยิ่งใหญ่กว่าตัวเราเองโดยที่บางคนอาจพูดว่าเป็นประสบการณ์ของความสงบที่แสดงออกมาในรูปของความกรุณา
Bruce (2000 cited in Marques, Dhiman and King, 2007) ได้กล่าวถึงแนวความคิดเรื่องจิตวิญญาณไว้ใน The American review of public administration ในปี 2000 ไว้ว่า มีความสัมพันธ์กันเล็กน้อยเกี่ยวกับคำจำกัดความของจิตวิญญาณ นักเทววิทยาคาทอลิกท่านหนึ่ง ได้ให้ความหมายของจิตวิญญาณ ว่าหมายถึง หนทางที่เรามุ่งไปสู่สิ่งศักดิ์สิทธิ์ และสำหรับนักฟิสิกส์ใน Harvard Medical School ให้ความหมายว่าจิตวิญญาณ คือ อะไรก็ตามที่ให้ความหมายเกี่ยวกับชีวิต สำหรับนักสังคมสงเคราะห์คนหนึ่ง ได้ให้ความหมายจิตวิญญาณว่า เป็นการแสวงหาของปัจเจกบุคคล เพื่อความหมาย จุดประสงค์ และคุณค่าซึ่งอาจจะรวมหรือไม่รวมถึงความคิดของพระเจ้าหรือสิ่งที่มีอยู่เหนือธรรมชาติ นอกจากนี้ยังมีการให้ความหมายการมีจิตวิญญาณ ว่าหมายถึง การรู้และการดำรงชีวิตตามความรู้ที่ว่ามีอะไรที่มากกว่าชีวิตที่เห็นได้ด้วยตา จิตวิญญาณจึงเป็นการอยู่เหนือสิ่งที่รู้และการดำรงชีวิตตามความรู้ที่ว่า พระเจ้าทรงดำรงอยู่ในเรา ในพระหรรษทาน (Grace) เป็นหลักการของบุคคล ระหว่างบุคคล สังคม และการเปลี่ยนแปลงของจักรวาล โดยจิตวิญญาณครอบคลุมจุดมุ่งหมายสูงสุดของชีวิต จิตวิญญาณมีคุณค่าต่อชีวิตมากกว่าตัวตนของเรา และการดำรงอยู่ของเรา ตามที่นักเขียนคนหนึ่งได้กล่าวไว้ว่า เราไม่ใช่คนที่กำลังเดินทางทางจิตวิญญาณ (Spiritual journey) เราเป็นจิตวิญญาณที่กำลังเดินในทางของมนุษย์ (Spiritual being on a human journey) จิตวิญญาณ เป็นจุดเชื่อมโยงที่ลึกที่สุด และเป็นแก่นแท้ที่ลึกซึ้งที่สุดของการดำรงอยู่ของเรา
Cavanagh (1999 cited in Marques, Dhiman and King, 2007) ได้เสนอความคิดเห็นที่แตกต่างไป เกี่ยวกับคำจำกัดความของจิตวิญญาณ เขาอ้างถึง Mitroff ผู้เชี่ยวชาญด้านการบริหารจัดการ และเป็นผู้เขียนหัวข้อนี้ ได้ให้คำจำกัดความไว้ว่า จิตวิญญาณเป็นความปรารถนาที่จะพบเป้าหมายสูงสุดในชีวิต และดำรงชีวิตตามนั้น Cavanagh เปรียบเทียบคำจำกัดความของ Mirtoff กับคนอื่นๆ ซึ่งให้คำจำกัดความของ จิตวิญญาณว่า เป็นอิสระเหมือนกับพลังงาน ความหมาย ความรู้ และอื่นๆ และยังมีการพิจารณาความหมายที่นักเขียนได้รับอิทธิพลอย่างมากจากลัทธิเต๋า พุทธศาสนา ฮินดู เซ็น และจิตวิญญาณของชนเผ่าพื้นเมืองอเมริกัน ซึ่ง Cavanagh พบว่า จิตวิญญาณในแง่มุมที่ไม่ใช่ของแนวคิดตะวันตกจะเหนือกว่า โดยจะมีการ บูรณาการชีวิตส่วนตัว การงาน เวลาว่าง การภาวนา ศาสนา และแง่มุมอื่นๆของชีวิตเข้าไว้ด้วยกัน
Webster (cited in Marques, Dhiman and King, 2007) ให้คำจำกัดความของจิตวิญญาณ (Spirituality) ไว้ว่าจิตวิญญาณเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้อง (Relating) ประกอบ (Consisting) และมีผลกระทบต่อ ความรู้สึก (Affecting) เกี่ยวข้องกับค่านิยมของศาสนา เชื่อมโยงหรือสัมพันธ์กับจิตใจ (Spirit)
นงเยาว์ มงคลอิทธิเวช และคณะ (2552) ได้ให้ความหมายของสุขภาวะทางจิตวิญญาณ ว่าหมายถึง สภาวะสงบสุข ที่มีความประณีต เป็นความสุขที่แท้จริง ที่หลุดพ้นจากการยึดติดกับวัตถุ แต่เป็นภาวะที่เปี่ยมล้นด้วยความปีติ อิ่มเอิบ อิ่มเต็มจากภายใน มีความอ่อนโยน เบิกบาน จิตใจสงบนิ่ง ไม่วุ่นวาย สับสน มีพลังในการมีชีวิตอย่างมีคุณค่า มีความหมาย มีเป้าหมายชีวิตที่ชัดเจน พึงพอใจในชีวิต มีสิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจ เข้าใจโลกและชีวิตตามความเป็นจริงและมีความสามารถในการเผชิญและแก้ไขปัญหาอุปสรรคต่างๆ ในภาวะวิกฤตได้อย่างเหมาะสม
Seidl (1993) ให้ความหมายของสุขภาวะทางจิตวิญญาณว่าหมายถึง แง่มุมของการเป็นอยู่ที่ดี ประกอบไปด้วยสัมพันธภาพ และสิ่งที่มีความหมายและเป็นเป้าหมายของชีวิต
จากการทบทวนแนวคิดทางด้านจิตวิญญาณและสุขภาวะทางจิตวิญญาณ พบว่า มีการใช้คำว่า จิตวิญญาณ และสุขภาวะทางจิตวิญญาณในความหมายเดียวกันและใกล้เคียงกัน หรือมีความหมายที่แตกต่างกันออกไปตามผู้นิยาม นอกจากนั้น ยังพบว่า การให้ความหมายของจิตวิญญาณมีความหลากหลายลึกซึ้ง ทำความเข้าใจยาก และยังมีความแตกต่างกันไปตามบริบทต่างๆ อีกด้วย สำหรับความหมายของสุขภาวะทางจิตวิญญาณนั้น ยังมีการศึกษาวิจัยและถกเถียงกันโดยเฉพาะในวงการวิชาการซึ่งมีนักวิชาการหลายท่านเห็นว่าเป็นสิ่งที่ไม่สามารถสรุปนิยามและแนวคิดได้อย่างชัดเจน อย่างไรก็ตาม ในวงการวิชาการต่างประเทศได้มีการสรุปนิยาม แนวคิดเรื่องจิตวิญญาณและสร้างเครื่องมือวัดจิตวิญญาณไว้บ้างแล้ว และสำหรับในประเทศไทย มูลนิธิสดศรี-สฤษดิ์วงศ์ โดยการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) มีการให้ทุนสนับสนุนการวิจัย มีการศึกษาและเผยแพร่งานวิจัยเกี่ยวกับแนวคิดเรื่องสุขภาวะทางจิตวิญญาณ ซึ่งในการศึกษาวิจัยครั้งนี้ คณะผู้วิจัยจะเลือกใช้นิยามของนงเยาว์ มงคลอิทธิเวชและคณะ (2552) เป็นพื้นฐานในการศึกษาสุขภาวะทางจิตวิญญาณ ได้ให้นิยามสุขภาวะทางจิตวิญญาณ ว่าหมายถึง สภาวะสงบสุข ที่มีความประณีต เป็นความสุขที่แท้จริงที่หลุด พ้นจากการยึดติดกับวัตถุ แต่เป็นภาวะที่เปี่ยมล้นด้วยความปีติ อิ่มเอิบ อิ่มเต็มจากภายใน มีความอ่อนโยน เบิกบาน จิตใจสงบนิ่ง ไม่วุ่นวาย สับสน มีพลังในการมีชีวิตอย่างมีคุณค่า มีความหมาย มีเป้าหมายชีวิตที่ชัดเจน พึงพอใจในชีวิต มีสิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจ เข้าใจโลกและชีวิตตามความเป็นจริงและมีความสามารถในการเผชิญและแก้ไขปัญหาและอุปสรรคต่างๆ ในภาวะวิกฤตได้อย่างเหมาะสม ซึ่งคณะผู้วิจัยเห็นว่ามีความชัดเจน ครอบคลุมและเหมาะสมกับบริบทของบุคลากรที่เป็นกลุ่มประชากรในการศึกษาวิจัยครั้งนี้