1. ในความหมายแรกสัมพันธ์กับความหมายดั้งเดิมในภาษาลาติน คำดังกล่าวมีการใช้ในคัมภีร์ไบเบิ้ลในความหมายของคุณธรรมของชีวิต (Moral sense of life) ซึ่งตรงกับคำในภาษากรีกคือ Pneuma (Life in the spirit of god) คำว่า Spirituality ในความหมายนี้ยังไม่ได้มีลักษณะที่เป็นคู่ตรงข้ามระหว่าง Body กับ Spirit แต่หมายถึงพลังด้านคุณธรรมที่กำกับชีวิตของมนุษย์
2. ความหมายที่สองมีรากฐานมาจากอิทธิพลของคริสเตียน เฮเลนนิสติค (Christain-helenistic) ซึ่งในกระแสความคิดนี้เป็นการจำแนกแยกแยะความเป็นจริงในโลกออกเป็น 2 ส่วนคือ Spirit กับ Matter ซึ่งอาจจะถือได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นของวิธีการมองแบบทวิลักษณ์ (Dualism) ที่ Spirit กลายเป็นสิ่งที่อยู่คู่ตรงข้ามกับวัตถุอย่างแท้จริง ในคริสต์ศตวรรษที่ 3 นั้น มีการจำแนกชีวิตออกเป็นสามส่วนได้แก่ Body คือร่างกายที่เป็นเนื้อหนังมังสา Soul คือจิตใจ ส่วน Spirit เป็นจิตวิญญาณที่เป็นสากล ไม่ใช่จิตที่เป็นปัจเจกในความหมายของ Soul แต่ความหมายของ Spirit ที่เป็นสากลนี้ค่อยๆ ลบเลือนในยุคต่อมา
3. ความหมายที่สามนั้น คำว่า Spirituality ถูกใช้ในแง่ที่สะท้อนถึงขอบเขตอำนาจในเชิงของศาสนจักร โดยถือว่า คำว่า Spirituality นั้นหมายถึงสิ่งที่อยู่ใต้อาณัติของศาสนจักร
4. ความหมายที่สี่เป็นความหมายที่เข้าใจกัน ในปัจจุบันมีพัฒนาการเนื่องจากความหมายของคำว่า Spiritualité ในภาษาฝรั่งเศส ซึ่งหมายถึง คุณภาพหรือสภาวะแห่งชีวิตไปพ้นจากความเป็นไปในทางโลกียสุขหรือเข้าถึงความเป็นจริงที่อยู่นอกเหนือจากชีวิตที่ฉาบฉวย มีนัยยะที่เน้นชีวิตด้านในของปัจเจกภาพอันเป็นความหมายที่เกิดขึ้นหลังการปฏิรูปคริสต์ศาสนาที่ทำให้การเข้าถึงพระเจ้ากลายเป็นเรื่องปัจเจกมากขึ้น
ในประเทศไทยมีนักวิชาการที่ได้พยายามนำเสนอนิยาม ความหมาย หรือกรอบแนวคิดเรื่องจิตวิญญาณ โดยมีการทบทวนความรู้ในด้านต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับสุขภาวะทางจิตวิญญาณอย่างต่อเนื่องและลึกซึ้ง เช่น โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์ (2549) ได้ศึกษาเอกสารที่เกี่ยวข้องและพบปัญหาในการนิยามและการให้ความหมายของจิตวิญญาณที่สำคัญอยู่ 5 ประการด้วยกัน คือ
1. ความพยายามที่จะหาคำนิยามจิตวิญญาณที่เป็นอยู่ มิได้ให้ความสนใจกับบริบททางประวัติศาสตร์ จึงทำโดยขาดความเข้าใจว่า ความหมายของแนวคิดหนึ่ง ๆ นั้นสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับบริบททางประวัติศาสตร์ เนื่องจากการนิยามเป็นการให้ความหมายของสิ่งหนึ่ง ๆ ซึ่งเกี่ยวโยงอย่างแยกไม่ออกจากการให้คุณค่าที่สังคมมีต่อสิ่งนั้น ๆ และเมื่อเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการให้คุณค่าจึงขึ้นอยู่กับเงื่อนไขทางสังคมและยุคสมัย เราจึงเห็นได้ว่า มิติทางจิตวิญญาณปรากฏอยู่ในประวัติศาสตร์ ศาสนาและปรัชญาแนวคิดต่างๆ ในลักษณะที่มีการตีความแตกต่างกันไป ซึ่งสะท้อนเงื่อนไขทางสังคมและสัมพันธ์ไปกับบริบททางประวัติศาสตร์อย่างแยกไม่ออก นิยามต้องคำนึงถึงกาลเวลาและประวัติศาสตร์
2. มิติทางจิตวิญญาณ ถือได้ว่าเป็นมิติที่มีความสลับซับซ้อน ยากต่อการที่จะจำกัดความเพื่อให้เหลือความหมายที่จำกัดในแง่ใดแง่หนึ่งได้ แต่โดยทั่วไปแล้ว การนิยามในทางปรัชญาถือเป็นส่วนหนึ่งทางวิชาตรรกศาสตร์ ซึ่งแนวคิดทางตรรกศาสตร์สมัยใหม่ที่เรารู้จักนี้มีรากฐานจากปรัชญาตะวันตกตามแบบอย่างของอริสโตเติลเป็นสำคัญ โดยมีปรัชญาพื้นฐานที่ยึดถือว่า สรรพสิ่งสามารถจำแนกแยกแยะและจัดแบ่งเป็นหมวดหมู่แยกขาดจากกันอย่างชัดเจน สิ่งต่างๆ ล้วนมีสาระอันเป็นคุณสมบัติเฉพาะที่ทำให้เราจัดระเบียบให้แยกออกจากสิ่งอื่นที่เหลือได้
3. ความพยายามที่จะทำความเข้าใจกับความหมายของมิติทางจิตวิญญาณนั้นถูกจองจำอยู่ภายใต้วิธีคิดแบบทวิลักษณ์ กล่าวคือ การนิยามจะถูกฉุดรั้งด้วยขั้วความคิดที่เป็นคู่ตรงข้าม ไม่ว่าจะเป็นขั้วความคิดระหว่างแบบตะวันออกและตะวันตก (East vs. West) แบบศาสนาและไม่ใช่ศาสนา (Religious vs Secular) หรือวิธีคิดแบบศาสนาหนึ่งที่อยู่ตรงข้ามกับศาสนาอื่น ๆ ที่เหลือ ซึ่งในวาทกรรมแบบทวิลักษณ์นั้นส่วนใหญ่มักมุ่งสถาปนาขั้วใดขั้วหนึ่งของทวิภาวะให้อยู่เหนือหรือข่มทับขั้วที่เหลือ แม้ว่าปรากฏการณ์ดังกล่าวจะถือว่าเป็นเรื่องปกติ เพราะการนิยามแท้ที่จริงมิได้แยกออกจากความสัมพันธ์เชิงอำนาจ แต่การติดกับดักคู่ตรงข้ามทำให้ไม่สามารถเข้าใจความซับซ้อนของมิติทางจิตวิญญาณที่ไปพ้นจากการแบ่งขั้วได้
4. ขาดความเข้าใจความสัมพันธ์ของภาษาและความเป็นจริง นั่นคือ สิ่งที่เรียกว่าจิตวิญญาณนั้นมีอยู่และดำรงอยู่โดยไม่เกี่ยวข้องกับจิตรับรู้และภาษาของมนุษย์ โดยภาษาของเราเป็นเพียงตัวกลางที่จะสื่อไปถึงความเป็นจริงที่ดำรงอยู่ล่วงหน้า แต่เราละเลยข้อเท็จจริงที่ว่า ภาษานั้นมีความสำคัญในการสถาปนาความเป็นจริง และการพยายามหาความหมายดั้งเดิมหรือความหมายที่แท้นั้นมักหลงลืมข้อเท็จจริงที่ว่าการนิยามหรือการให้ความหมายใหม่จึงเป็นประดิษฐกรรมที่สังคมมนุษย์ใช้สร้างความเป็นจริงใหม่ ๆ เสมอมา ในขณะเดียวกัน ภาษาก็อาจเป็นข้อจำกัดในการเข้าถึงหรือสะท้อนความจริงและก็อาจเป็นเครื่องแสดงถึงความจริงที่ภาษาเองก็มิอาจเป็นตัวแทนได้อย่างสมบูรณ์
5. ความพยายามหาคำนิยามของจิตวิญญาณยังมีปัญหาในเรื่องความเป็นสากลของความหมาย เมื่อคำในจารีตความรู้หนึ่งถูกนำมาแลกเปลี่ยนหรือสื่อสารข้ามวัฒนธรรม คำนั้นจะถูกนำเข้ามาสู่ความหมายใหม่ในอีกภาษาหนึ่งซึ่งมีคำและความคิดอื่น ๆ ดำรงอยู่ก่อนแล้ว และส่งผลกระทบต่อระบบการให้ความหมายของคำอื่น ๆ เหล่านั้นให้ปั่นป่วนและเปลี่ยนย้ายตำแหน่งที่ทางและความสัมพันธ์เดิมของมัน ความหมายของคำหนึ่ง ๆ ย่อมสัมพัทธ์กับคำอื่น ๆ ในระบบภาษาและวัฒนธรรม นิยามจึงเป็นสิ่งที่แยกออกไม่ได้จากชุมชนด้านภาษา (Language community) การแสวงหาความหมายสากลจึงเป็นไปได้ต่อเมื่อมีภาษาหรือวัฒนธรรมหนึ่งสถาปนาตนเองอยู่เหนือภาษาหรือวัฒนธรรมอื่นๆ ที่เหลือเท่านั้น