จิตวิญญาณ สุขภาวะทางจิตวิญญาณ สุขภาวะทางปัญญา มิติทางจิตวิญญาณของสุขภาพ สุขภาวะทางจิตปัญญา เป็นต้น ส่วนในภาษาอังกฤษมีการใช้คำว่า Spiritual หรือ Spirituality หรือ Spiritual health หรือ Spiritual well-being เป็นต้น นอกจากนั้น ยังมีนักวิชาการได้นำความรู้เรื่องจิตวิญญาณไปศึกษาและใช้กับบุคคลในองค์การ โดยใช้คำศัพท์ต่างๆ เช่น จิตวิญญาณที่ทำงาน (Workplace spirituality) (Milliman Czaplewski and Ferguson, 2003; Rego and Miguel Pina e Cunha, 2008; Krahnke, Giacalone and Jurkiewicz, 2003) จิตวิญญาณในที่ทำงาน (Spirituality in the workplace) (Bygrave and Macmillan, 2008; McGhee and Grant, 2008) จิตวิญญาณในองค์การ (Spirituality in organizations) (Heaton, Schmidt-Wilk and Travis, 2004) และความฉลาดทางจิตวิญญาณ (Intelligent Spirituality) (Pava, 2004) จิตวิญญาณ เป็นคำศัพท์ที่พบว่ามีความแตกต่างกันตามวัฒนธรรม ศาสนา ภาษาและประวัติศาสตร์ อย่างไรก็ตาม จิตวิญญาณก็มีลักษณะร่วมกันบางประการและมีความแตกต่างกันไปตามภาษาและวัฒนธรรม รวมทั้งพบความคล้ายคลึงสอดคล้องกันอยู่ในความต่างเหล่านั้น เรื่องจิตวิญญาณนี้เป็นกระแสความคิดที่มีมาอย่างต่อเนื่องตามประวัติศาสตร์ของมนุษย์ โดยมีจุดสูงสุดของความรู้ที่ให้ความสำคัญกับมิติทางจิตวิญญาณ ก็คือ ศาสนธรรมต่างๆ แม้ว่าในความรู้ทางศาสนาที่มีความแตกต่างกัน จะไม่ได้ใช้คำที่มีความหมายเช่นเดียวกับคำว่าจิตวิญญาณในปัจจุบัน แต่ความรู้ทางด้านศาสนธรรมเหล่านี้ล้วนกล่าวถึงจิตวิญญาณที่เกี่ยวข้องกับชีวิตอันประเสริฐที่ไปพ้นจากเงื่อนไขทางวัตถุเป็นสำคัญ (โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์, 2549)
สำหรับมุมมองของนักวิชาการไทยเกี่ยวกับจิตวิญญาณและสุขภาวะทางจิตวิญญาณมีแนวคิดภาพรวมที่แตกต่างกันออกไป อาทิเช่น ประเวศ วะสี (2552) ได้เสนอสาระสำคัญเกี่ยวกับจิตวิญญาณและสุขภาวะทางจิตวิญญาณที่ปรากฎในสาระสำคัญของการประชุมประจำปีของแผนพัฒนาจิตเพื่อสุขภาพ มูลนิธิสดศรี-สฤษดิ์วงศ์ ในหลายประเด็น ดังนี้
1. จิตวิญญาณอยู่ใกล้ตัวเรา ทั้งในการทำงาน และการดำเนินชีวิต
จิตวิญญาณเป็นสิ่งที่สามารถสร้างให้เกิดขึ้นได้ในการทำงานประจำวัน ทั้งในงานบริหาร งานพัฒนาคุณภาพ งานในสถานการณ์ยากลำบาก งานในชุมชน ล้วนแต่เป็นพื้นที่ให้มนุษย์ได้ใกล้ชิดกับจิตวิญญาณ ผ่านการฝึกฝนตนเองร่วมไปกับบทบาทและหน้าที่ที่ตนเองกำลังปฏิบัติ จิตวิญญาณจะอยู่ร่วมกับชีวิตและส่งเสริมการดำเนินชีวิตประจำวัน และการใช้ชีวิตครอบครัว ให้มีสุขภาวะที่ดีขึ้น เห็นคุณค่าและความหมายของการมีชีวิตอยู่
2. การเปลี่ยนแปลงทางจิตวิญญาณเป็นการข้ามพ้นกรอบความคิดเดิมที่เรายึดติด
การเปลี่ยนแปลงทางจิตวิญญาณต้องเริ่มต้นที่ตนเอง โดยปลดปล่อยให้ตนเองหลุดจากกรอบและความคิดความเชื่อเดิมๆ เช่น ความเชื่อว่าทุกสิ่งต้องเป็นไปตามหลักการหรือทฤษฎีอย่างใดอย่างหนึ่ง ผลจากการเป็นอิสระจากกรอบเดิมๆ ช่วยทำให้เรามีพลังในการใช้ชีวิตและทำงานได้อย่างสร้างสรรค์ เมื่อการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นจะทำให้มนุษย์เป็นคนธรรมดามากขึ้น สัมผัสความเรียบง่าย และสามารถมีความสุขได้มากขึ้น
3. สุขภาวะทางจิตวิญญาณเป็นสิ่งที่เชื่อมโยงตนเองกับสิ่งต่างๆ รอบด้าน
สุขภาวะทางจิตวิญญาณเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการเชื่อมโยงการปฏิสัมพันธ์กับสิ่งต่างๆ ทั้งชุมชน สังคม องค์การ ระบบการทำงาน ครอบครัว เพื่อนร่วมงาน ความเชื่อมโยงเป็นเรื่องของการพึ่งพิงอาศัยซึ่งกันและกัน ช่วยให้สามารถเข้าใจความหมายของแต่ละสิ่งอย่างรอบด้าน
4. จิตวิญญาณเป็นคุณค่าสูงสุดทางจิตใจ
ไม่ว่าจะเป็นคำว่า จิตปัญญา จิตตปัญญา สุขภาวะทางปัญญา หัวใจของความเป็นมนุษย์ การพัฒนาจิต ล้วนแต่เป็นสิ่งเดียวกันที่มีความหมายถึงสิ่งที่มีคุณค่าสูงสุดทางจิตใจ มิติทางจิตวิญญาณเป็นสิ่งที่มนุษย์สามารถสัมผัสได้ถึงความงามอันลึกซึ้ง ความสุขอันประณีต ความอิสระที่อยู่ภายในจิตใจ หรือความรักอันไพศาลต่อเพื่อนมนุษย์
5. สติเป็นเครื่องมือสำคัญของการพัฒนาทางจิตวิญญาณ
สติเป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยให้มนุษย์เปลี่ยนวิธีคิดได้ สติทำให้จิตเป็นกลาง เมื่อจิตเป็นกลางก็จะสามารถเปลี่ยนอะไรก็ได้ แม้กระทั่งการเปลี่ยนวิธีคิดไปจากเดิม ถ้าคนที่ทำงานในอาชีพต่างๆ เช่น แพทย์ ครู นักธุรกิจ หันมาเจริญสติกันมาก สังคมก็จะสามารถเปลี่ยนแปลงได้ การพัฒนาทางจิตวิญญาณก็จะเกิดขึ้น ปัจจุบันคนทั่วโลกหันมาเจริญสติกันมาก เพราะพบว่าการเจริญสติช่วยให้สุขภาพดีขึ้น เยียวยาความเจ็บปวดได้ง่ายขึ้น เรียนรู้ได้ดีขึ้น รวมทั้งมีความสัมพันธ์ที่ดีขึ้นกับคนในครอบครัวและที่ทำงาน สติจึงเป็นเครื่องมือสำคัญของการปฏิวัติทางจิตวิญญาณที่เชื่อมโยงกับทุกอย่างในชีวิต
6. การพัฒนาสุขภาวะทางจิตวิญญาณสามารถกระทำได้ในทุกศาสนา
การพัฒนาจิตวิญญาณต่างมีจุดร่วมกันตรงที่การปฏิบัติอย่างเป็นประจำ สม่ำเสมออยู่ในชีวิตประจำวัน โดยเริ่มต้นจากการฝึกปฏิบัติตามศาสนาที่ตนเองนับถือ เช่น ศาสนาพุทธฝึกละอกุศล ทำความดี มีสติอยู่กับปัจจุบัน ศาสนาอิสลามฝึกละหมาดเพื่อระลึกถึงพระเจ้าตลอดทั้งวันและคืน ศาสนาคริสต์ฝึกชีวิตฝ่ายจิตวิญญาณ ให้มีความรักและศรัทธาในพระเจ้าและแสดงออกด้วยการรักเพื่อนมนุษย์ แม้ว่าแต่ละศาสนาจะมีหลักปฏิบัติที่แตกต่างกัน ก็สามารถพัฒนาจิตวิญญาณได้ เพียงแค่มีการปฏิบัติเท่านั้น
7. สุขภาวะทางจิตวิญญาณสามารถสร้างความสุขในการทำงานได้
สุขภาวะทางจิตวิญญาณเป็นความสุขราคาถูกที่ไม่ต้องลงทุนมากมาย ก็สามารถหาความสุขนี้ได้ในการทำงาน เพื่อเริ่มจากการเห็นคุณค่าและศรัทธาในวิชาชีพหรืองานที่ตนเองทำ รู้จักชื่นชมและให้กำลังใจตนเองเป็น รับรู้ความรู้สึกของผู้อื่น ตระหนักถึงคุณค่าอันละเอียดอ่อนของชีวิตมนุษย์ ฝึกฝนการเจริญสติในระหว่างการทำงาน คุณลักษณะเหล่านี้ไม่จำเป็นต้องหาซื้อจากที่ใด เพียงแค่เริ่มต้นที่ตนเองเท่านั้น ก็สามารถรับผลอันเป็นความสุขได้ทันที ในขณะที่กำลังทำงาน
8. ชุมชนกัลยาณมิตรเป็นสิ่งที่สนับสนุนให้สุขภาวะทางจิตวิญญาณคงอยู่
ชุมชนเป็นพื้นที่ในการดูแลจิตใจที่ขยายออกไปจากตนเอง ผ่านการสื่อสารกันอย่างเป็นกัลยาณมิตร มีการรับฟังกันอย่างลึกซึ้ง การมีเพื่อนที่สามารถบอกเล่าเรื่องราว และแบ่งปันทุกข์สุขให้แก่กันได้ เป็นปัจจัยที่ช่วยหล่อเลี้ยงพลังในการทำงาน แม้ว่าเราจะอยู่ในสถานการณ์ที่ตึงเครียด กดดัน หรือบีบคั้น ยากลำบาก ก็ตาม สุขภาวะทางจิตวิญญาณในการทำงานก็ยังคงอยู่ เราสามารถสร้างชุมชนกัลยาณมิตรได้ง่ายๆ ด้วยการสร้างพื้นที่ สร้างเวลา สร้างโอกาสให้ปลอดภัย พื้นที่สร้างสรรค์ในการทำงานก็จะเกิดขึ้นได้ กล่าวโดยสรุปคือ ชุมชนที่ดีจะสนับสนุนให้สุขภาวะทางจิตวิญญาณยังคงอยู่ตั้งแต่เริ่มต้น ระหว่างทาง จนเกิดผลงาน ตลอดเส้นทางการทำงาน
9. ผู้นำที่มีสุขภาวะทางจิตวิญญาณเป็นสิ่งสำคัญในการพัฒนาคุณภาพขององค์การ
ผู้นำเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาคุณภาพชีวิตขององค์การได้ หากผู้นำพัฒนาสุขภาวะทางจิตวิญญาณของตนเองไปด้วย ผู้นำที่มีสุขภาวะทางจิตวิญญาณประกอบไปด้วยคุณลักษณะ 7 ประการ ได้แก่
9.1 ค้นหาและยอมรับในศักยภาพเดิมหรือต้นทุนที่มีอยู่แล้วในองค์การ
9.2 สร้างพื้นที่ให้ผลงานได้มีโอกาสงอกเงยและปรากฎให้เห็น
9.3 ส่งเสริมบุคลากรแต่ละคนได้มีโอกาสทำงานที่ยากและท้าทาย
9.4 มีการอาศัยความร่วมมือร่วมใจของบุคลากรทุกระดับในองค์การ
9.5 มีการทำงานแบบเป็นงานศิลปะที่มีสุนทรียภาพ
9.6 มีขวัญและกำลังใจสนับสนุนอยู่เบื้องหลัง
9.7 การใส่ใจดูแลทุกข์สุขของบุคลากรทุกคน
10. เมื่อนำจิตวิญญาณเข้าไปใช้ในระบบการศึกษา จะสามารถทำให้ระบบการศึกษามีการเรียนรู้อย่างเป็นองค์รวมได้
การนำเอาเรื่องการพัฒนาจิตจนเกิดปัญญา เข้าไปสู่การเรียนการสอน นำการเรียนรู้เข้ามาสู่ตัวผู้เรียนผู้สอน โดยอาศัยวิธีการเรียนรู้ที่เชื่อมโยงเนื้อหาวิชาออกไปสู่ชีวิต ไม่จำกัดการเรียนรู้เฉพาะภายในห้องเรียน มีการเชื่อมโยงชีวิตผู้เรียนไปสู่โลกภายนอก สู่ชุมชนต่างๆ เท่าทันต่อเหตุการณ์บ้านเมือง การศึกษาเช่นนี้จะเกิดขึ้นได้ต้องเริ่มจากผู้สอนต้องมีจิตวิญญาณตระหนักคุณค่าที่แท้ของความเป็นครู หรือจิตวิญญาณความเป็นครู ในขณะที่นักเรียนเป็นผู้ที่ต้องมีจิตวิญญาณของผู้ใฝ่เรียนรู้ การเรียนรู้อย่างเป็นองค์รวมที่แท้จริงจึงเกิดขึ้นได้
11. สุขภาวะทางจิตวิญญาณเริ่มต้นเมื่อนำชุมชนเป็นศูนย์กลาง
การมีโอกาสได้เข้าไปรับรู้ความรู้สึกของชุมชนที่เกี่ยวข้องกับตนเองหรือองค์การจะทำให้เกิดการเห็นทั้งหมดของชีวิตและความหมายของสุขภาวะทางจิตวิญญาณ มีการบูรณาการนำเอามิติต่างๆ เข้ามาในชีวิตและการทำงาน ทั้งมิติทางกาย จิต และสังคม การบูรณาการย่อมทำให้เกิดการเห็นคุณค่าในตนเองและการทำงานมากยิ่งขึ้น