เรามองว่าเด็กถ้าเค้ารู้เรื่องทุกอย่างแล้วเค้าจะมาโรงเรียนทำไมอะนะคะเพราะฉะนั้นครูจะต้องเป็นแม่เป็นคนที่สอนความเป็นมนุษย์ให้กับเค้านะคะไม่ใช่สอนให้เค้าอ่านออกเขียนได้เพียงอย่างเดียว แต่ว่าจะสอนยังไง และขณะเดียวกันครูจะต้องเป็นแบบอย่างให้กับเด็ก ไม่ใช่ว่าครูบันดาลโทสะหรือทำใดๆควบคุมอารมณ์ตัวเองไม่ได้…
…เราจะต้องรู้จักให้อภัยเด็ก จิตวิญญาณความเป็นครูแม้ว่าครั้งหนึ่งเค้าเคยทำให้เราโกรธมากแต่ถ้าเราไปโกรธเค้าอย่างนี้เค้าจะ คือครูไม่น่าจะโกรธเด็กนะคือในความรู้สึกว่าความไร้เดียงสาของเค้ายังมีแล้วเค้ายังมีสิทธิ์ที่จะพลิกไปอีกแบบหนึ่งได้…
ข้อมูลเหล่านี้บอกอะไรได้ แม้ว่ามีส่วนหนึ่งที่แสดงถึงความใส่ใจในความเสมอภาคหรือความเป็นธรรม ดังพบในข้อมูลส่วนแรงผลักดันสู่ความเป็นครู แต่ข้อมูลส่วนใหญ่แสดงถึงรูปแบบของการเป็น “ผู้ให้-ผู้รับ” ในความหมายของ “พ่อ(หรือแม่)-ลูก” การมุ่งมอบโอกาสตามสิทธิที่เด็กพึงได้รับ การมุ่งสร้างความเป็นธรรม ดูจะมีนัยเกี่ยวกับความเคารพในความเป็นมนุษย์ที่มีสิทธิขั้นพื้นฐานบางอย่าง แต่เมื่อพิจารณาองค์ประกอบอื่นๆ ร่วมด้วย เห็นได้ว่านัยนี้ดูจะถูกบดบังไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเด็นเรื่องการให้ความสำคัญแก่ความกตัญญูอันเป็นหน้าที่ในการทดแทนคุณ แสดงถึงมิติของการเป็น “ผู้ให้” มากกว่า “ผู้เคารพสิทธิขั้นพื้นฐาน”
การพัฒนาจิตวิญญาณนั้น แอบแฝงเป็นส่วนหนึ่งของการเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เนื่องจากการเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์คือการไม่ขัดขวางและส่งเสริมสมรรถนะด้านอัตตาณัติ และในบริบทการศึกษาก็รวมความถึงการไม่ขัดขวางและส่งเสริมปัจจัยอันส่งเสริมอัตตาณัติ และแก่นแกนของอัตตาณัติก็คือการตัดสินใจเลือก การเลือกที่สำคัญที่สุดและมีนัยต่อชีวิตทั้งมวลของบุคคลก็คือการเลือกเป้าหมายชีวิตในความหมายที่ลึก คือในความหมายของการเลือกให้ความหมายแก่ชีวิต
ดังกล่าวแล้ว “จิตวิญญาณ” ในความหมายของอัตถิภาวะนั้นมิจำเป็นต้องสัมพันธ์กับศาสนา ยิ่งไปกว่านั้น ในปัจจุบัน มีทัศนะอันทรงอิทธิพลยิ่งขึ้นว่าบุคคลสามารถมีพัฒนาการทางจิตวิญญาณโดยมิต้องข้องเกี่ยวกับศาสนาแม้เพียงนิด ข้อนี้เป็นที่มาของคำว่า “not religious, but spiritual”
ตามกรอบแนวคิดแบบเสรีนิยมนี้ การพัฒนาจิตวิญญาณเชิงอัตถิภาวะอันมีจุดเน้นที่เป้าหมายชีวิต สามารถทำความเข้าใจได้โดยอาศัยแนวคิดเรื่องอัตตาณัติ ซึ่งเน้นสมรรถนะการตัดสินใจ รวมถึงข้อมูลสำหรับตัดสินใจ
อย่างไรก็ตาม ในบริบทของการศึกษา หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะให้เนื้อหา ยิ่งไปกว่านั้น ในกรณีสังคมไทยซึ่งมิได้เป็นเสรีนิยม มิอาจเลี่ยงปัญหานี้โดยกล่าวว่าเนื้อหาที่ให้คือ “เสรีนิยม” นั่นคือ เนื้อหาคือบุคคลมีเสรีภาพที่จะเลือกเนื้อหา(หรือความหมาย/เป้าหมายชีวิต)ของตน ข้อมูลจากการแลกเปลี่ยนเรียนรู้แสดงถึงเนื้อหาต่างๆ เช่น “รักชาติ ศาสน์ กษัตริย์” “รักถิ่นเกิด” “เศรษฐกิจพอเพียง” “กตัญญู” “รักประชาธิปไตย” ปัญหาก็คือถ้ามุ่งวิเคราะห์ตามแนวทางเดิมอันมีลักษณะเน้นโครงสร้าง ก็จะเป็นการละเลยเนื้อหาอันมีบทบาทในการจัดการศึกษาของครู
ข้อนี้จึงเป็นอุปสรรคการนำเนื้อหามาร่วมพิจารณา เนื่องจากตามกรอบแนวคิดนี้ หากเรากำหนดเนื้อหาให้บุคคล โดยมิให้เขาได้เป็นผู้พิจารณาไตร่ตรองด้วยตนเอง อาจกล่าวได้ว่าเป็นการไม่เคารพอัตตาณัติ ซึ่งหมายความถึงการไม่เคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์นั่นเอง แต่จะมีโรงเรียนไหนในประเทศที่ยอมรับได้ หากเด็กนักเรียนไตร่ตรองดูแล้วเห็นว่าไม่ควร “รักชาติ ศาสน์ กษัตริย์” หรือ “รักประชาธิปไตย”
การจัดสิ่งแวดล้อมและการสอนคุณธรรมไม่จำเป็นต้องสนับสนุนการพัฒนาจิตวิญญาณก็ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพิจารณาถึงจิตวิญญาณด้านอัตถิภาวะ