ความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษา ตอนที่ 3

ถนนแคบส่วนหนึ่ง ถูกรถชนกระเด็นออกไปอีกส่วนหนึ่ง จำนวนเด็กเหล่านี้มีมากน้อยเพียงไรสามารถหาตัวเลขกันได้ไม่ยาก บ้างหลุดออกไปเพราะความจำเป็นของฐานะการบ้านบังคับ บ้างหลุดออกไปเพราะไม่สามารถทำเกรดได้ตามที่โรงเรียนประสงค์

ส่วนที่เหลืออยู่ก็จำเป็นต้องใช้เงินในการเตรียมความพร้อมมากขึ้นทุกทีๆ

หลังจากผ่านมัธยมต้นที่ซึ่งการแข่งขันก็สูงมากพอสมควรแล้ว เมื่อนักเรียนเข้าสู่ชั้นมัธยมปลายการใช้เงินเพื่อการแข่งขันให้ได้เกรดดีที่สุดเพื่อเข้ามหาวิทยาลัยที่ดีที่สุดเพื่อให้ได้งานที่ดีที่สุดเพื่อให้ได้เงินที่ดีที่สุดและเพื่อสืบทอดสถานะที่สูงกว่าของครอบครัวของตนให้มากที่สุดจะทวีความเข้มข้นถึงระดับไม่ปรานีปราศรัยกันอีก พ่อแม่ที่พอมีเงินจำเป็นต้องเจียดเงินเพื่อจ่ายค่ากวดวิชา ค่าหอพัก ค่ารถและเครื่องบิน ค่าน้ำมันรับส่ง รวมทั้งค่าอาหารและสันทนาการยามค่ำคืนตามสมควร

การต่อสู้ดุเดือดถึงที่สุดหลังการเปิดภาคเรียนชั้นมัธยมปีที่หกเพียงประมาณสามเดือน การสอบตรงของบางคณะยอดนิยมของมหาวิทยาลัยบางแห่งรวมทั้งคณะแพทยศาสตร์ของมหาวิทยาลัยบางแห่งก็เริ่มต้นแล้ว นั่นแปลว่าเด็กที่เข้าสู่สนามแรกนี้ต้องเรียนจบทุกอย่างตั้งแต่ชั้นมัธยมปีที่ห้าซึ่งเป็นที่ชัดเจนว่ามีแต่พ่อแม่ที่มีเงินมากพอเท่านั้นที่สามารถจ่ายค่ากวดวิชาทุกวิชาให้ลูกทำเช่นนั้นได้ ส่วนที่เหลือหมดสิทธิชนะตั้งแต่ยังไม่ทันออกสตาร์ท

การสอบตรงของคณะแพทยศาสตร์ต่างๆในมหาวิทยาลัยต่างจังหวัดเป็นตัวอย่างของมหกรรมการศึกษาเพื่อความเหลื่อมล้ำรุ่นต่อไปที่ยิ่งใหญ่ ถนนทุกสาย สนามบินทุกแห่งพุ่งไปสู่จังหวัดนั้นๆ โรงแรมเต็มหมดทุกที่ การจราจรติดขัดไปทั่วเมืองตั้งแต่วันก่อนสอบหนึ่งวันและวันสอบ เด็กเก่งจำนวนหนึ่งจะได้ที่นั่งเรียนเรียบร้อยตั้งแต่ขั้นตอนนี้(แล้วสละสิทธิ์ในวันหลังเมื่อได้มหาวิทยาลัยที่ดีกว่า)

เด็กจำนวนมากกว่าหมดเงินพ่อแม่ไปเปล่าๆแต่ก็อ้างกับตนเองกันทุกครอบครัวว่า “เพื่อหาประสบการณ์”

การสอบตรงของคณะต่างๆโดยเฉพาะในต่างจังหวัดทำให้พ่อแม่เสียเงินจำนวนมากซ้ำแล้วซ้ำเล่า แน่นอนว่ามีคำปลอบประโลมจากนักการศึกษาเสมอว่าขอให้นักเรียนอย่ายึดติดสถาบันอย่ายึดติดสาขายอดนิยมแต่ให้ใส่ใจในความถนัดและความพร้อมของตนเอง คำปลอบประโลมเหล่านี้ไม่ต่างอะไรจากคำขวัญวันเด็กแห่งชาติที่คอยทำให้เด็กจำนวนหนึ่งหลงเชื่อและตกเป็นฝ่ายเสียเปรียบรุ่นแล้วรุ่นเล่า เพราะในความเป็นจริงแล้วการไม่ได้ที่เรียนในคณะที่ดีของมหาวิทยาลัยที่ดีค่อนข้างทำนายอนาคตได้แม่นยำตามสมควรว่าคุณจะได้ฐานเงินเดือนเท่าไร

ครั้นมองดูถนนแปดเลนทั้งเส้นเพื่อคอยติดตามอนาคตของเด็กที่หลุดออกมากลางคัน เราพบว่าจำนวนมากไปเป็นแรงงานชั้นต่ำ เหตุผลเพราะการศึกษาขั้นพื้นฐานได้ริบเอาศักยภาพและความสามารถของเด็กที่จะเรียนรู้สัมมาชีพของบิดามารดาหรือบรรพบุรุษไปเสียแล้ว พูดง่ายๆว่าทำนาไม่เป็นแล้ว แกะสลักไม่เป็นแล้ว แย่กว่านี้คือหนักไม่เอาเบาไม่สู้ไปเสียแล้ว พ้นจากแรงงานชั้นต่ำก็ได้เรียนปริญญาอะไรสักใบของมหาวิทยาลัยต่างจังหวัดอะไรสักแห่งซึ่งจบออกมาก็เป็นที่ประกันได้ว่างานที่ได้จะได้เงินเดือนขั้นต้นเท่าไร ทำให้หลายคนหันไปเปิดร้านเสื้อผ้า ร้านกิ๊ฟท์ช้อป ร้านกาแฟ หรือไปเป็นช่างอ๊อกช่ช่างเชื่อมช่างซ่อมมอเตอร์ไซค์ ไม่นานหลังจากนี้ทุกคนจะมีครอบครัว ภาพสุดท้ายที่เราจะเห็นคือเด็กหนุ่มสักคนขี่รถเครื่องมีภรรยาซ้อนท้ายและเด็กเล็กอีกสองคนเกาะหน้าหลัง ชีวิตของพวกเขาจะพบจุดจบที่ประมาณนี้

หากเป็นสตรีที่ไร้การศึกษา มีโอกาสสูงมากที่พวกเธอจะเข้าสู่เส้นทางสายบันเทิงในทุกรูปแบบรวมทั้งได้งานพนักงานเสิร์ฟยามค่ำคืนหรือทำงานร้านคาราโอเกะที่มีดาษดื่นทั่งราชอาณาจักรซึ่งทำให้ง่ายและสุ่มเสี่ยงต่อการเข้าถึงยาเสพติดและการค้ามนุษย์ในที่สุด

บัณฑิตปริญญาตรีหรือโทที่จบมาก็พบความเหลื่อมล้ำตั้งแต่ขั้นตอนสมัครงาน เป็นความจริงที่ทุกคนต่างปฏิเสธว่าไม่จริงคือนายจ้างหรือบริษัทห้างร้านจำนวนมากมีแนวโน้มที่จะพิจารณาบัณฑิตจากจุฬาฯ ธรรมศาสตร์ฯ และมหิดลฯ ก่อนเสมอ ที่เหลือเอาไว้ทีหลัง พูดเช่นนี้มิได้หมายความว่าสามสถาบันนี้ทำไม่ถูกหรือศิษย์เก่าทำไม่ถูก แต่เป็นประเด็นความไม่ยุติธรรมของการแข่งขันทุกขั้นตอนที่นักเรียนไทยจำนวนมากถูกปิดประตูไม่ให้มีโอกาสชนะเลยตั้งแต่เมื่อเกิดในครอบครัวที่ไม่มีเงินมากพอจะส่งไปเรียนพิเศษ

สำหรับผู้ชนะ คนดีมีอยู่ตามที่ต่างๆในสังคมไทย อย่างไรก็ตามการผลิตบัณฑิตที่ชนะตลอดทางด้วยการโค่นคู่ต่อสู้ล้มลงตลอดทางเช่นกันชวนให้สงสัยว่าเราจะได้บัณฑิตประเภทใดกัน มีข้อกล่าวหา 3 ข้อที่มักจะพูดถึงกัน ได้แก่

1. เราได้คนเก่งแต่โกง นี่เป็นข้อกล่าวหาที่ร้ายแรงที่สุด มีตัวอย่างเล่าขานเรื่องนี้มากมาย หากจะยกตัวอย่างในข้อเขียนชิ้นนี้คือเรื่องเข้าข้างหลังธนาคารเพื่อจ่ายค่าเรียนกวดวิชาหรือแย่งกันเข้าข้างหน้าเพื่อไปยืนคิวเป็นคนแรก ไม่ว่าจะเป็นแบบไหนก็เป็นการต่อสู้เพื่อเอาตัวรอดทั้งสิ้น

2. คือเก่งแต่ทำอะไรไม่เป็น เหตุเพราะการศึกษาเองที่ผลิตแต่บัณฑิตที่รู้หนังสือเท่าที่ให้รู้แล้วไม่รู้อะไรมากไปกว่านั้นอีก

3 คือเก่งแต่ไม่อดทน หนักไม่เอาเบาไม่สู้ซึ่งเป็นผลลัพธ์จากการที่มีพ่อแม่และเงินเบิกทางให้ตลอดชีวิตที่ผ่านมา

พูดง่ายๆว่าไม่ว่าจะเป็นพวกที่ตกข้างทางหรือถึงปลายทาง ใช้ไม่ได้ทั้งคู่

ยังมีกรณีการกีดกันเด็กนักเรียนทีไม่เหมือนเราออกข้างทางอีกจำนวนมาก ได้แก่เด็กสติปัญญาบกพร่อง เด็กสมาธิสั้น เด็กแอลดี เด็กออทิสติก เด็กแอสเปอร์เกอร์ เด็กเกเร เด็กติดยาเสพติด เด็กตั้งครรภ์ก่อนวัยอันควร เด็กชาติพันธุ์ เด็กติดเชื้อเอดส์ แม้กระทั่งเด็กต่างศาสนา ระบบการศึกษาที่เป็นอยู่ในปัจจุบันบังคับให้นักเรียนทุกคนเรียนเรื่องเดียวกันด้วยหลักสูตรเดียวกันอย่างตายตัว และใช้มาตรฐานการสอบเดียวกันอย่างแข็งกระด้าง เหล่านี้ทำให้เด็กไทยเติบโตมาแบบตัวใครตัวมัน ขาดโอกาสที่จะเรียนรู้วิธีอยู่ร่วมกับความแตกต่าง และนำมาซึ่งสังคมที่ไม่สามารถอยู่ร่วมกับความแตกต่างอย่างที่เห็น

ข้อสอบปรนัยที่บีบบังคับให้นักเรียนต้องใช้เหตุผลตามที่กำหนด ใช้วิจารณญาณให้ตรงกับผู้ออกข้อสอบ และต้องกาข้อที่ถูกต้องโดยไม่มีโอกาสคิดแตกต่าง เหล่านี้ทำให้สมองของนักเรียนไทยคับแคบ ขาดความสามารถคิดนอกกรอบ และต้องจำยอมเพื่อความอยู่รอด ใครที่คิดต่างต้องถูกกำจัดออกไป

กระบวนทัศน์ใหม่ที่ดีกว่าคือเรียนรู้ร่วมกันและใช้ชีวิตร่วมกันในสังคมข้อมูลข่าวสารที่เทคโนโลยีไอทีกำลังพัฒนาอย่างก้าวกระโดด

“มีต่อ”