21 เลี้ยงลูกรับAEC

เป็นทางออกในการแก้ไขปัญหาสังคมและเป็นหัวใจในการพัฒนาประเทศ แต่สถานการณ์ที่ผ่านมาชี้ให้เห็นว่าระบบการศึกษาไทยอยู่ในขั้นวิกฤติด้านคุณภาพ แม้งบประมาณกระทรวงศึกษาธิการในช่วงเกือบ 10 ปีที่ผ่านมาเพิ่มขึ้นประมาณ 2 เท่าแล้วก็ตาม

สัดส่วนงบประมาณด้านการศึกษาต่อผลผลิตภัณฑ์มวลรวมประเทศ (GDP) และงบประมาณด้านการศึกษาต่องบประมาณไทยอยู่ที่ร้อยละ 4 และ ร้อยละ 20 ตามลำดับ ซึ่งไม่ต่ำกว่าประเทศเพื่อนบ้าน แต่นักเรียนซึ่งเป็นผลผลิตของการศึกษาไม่มีศักยภาพที่จะเรียนรู้และพัฒนาตนเองเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงไปของโลกได้อย่างต่อเนื่อง เห็นได้ชัดจากตัวชี้วัดคุณภาพการศึกษาและสถานการณ์ด้านแรงงานของไทย ได้แก่ ผลคะแนนสอบของนักเรียนไทยไม่ว่าจะวัดจากข้อสอบมาตรฐานในประเทศ (ONET) หรือข้อสอบมาตรฐานระหว่างประเทศ เช่น Programme for International Student Assessment (PISA) และ Trends in International Mathematics and Science Study (TIMSS) ต่างมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่องและอยู่ในระดับต่ำกว่าเพื่อนบ้าน ยกเว้นอินโดนีเซีย

แรงงานในสถานประกอบการไม่อดทนต่อความกดดัน ขาดความสามารถในการเรียนรู้และขาดความรับผิดชอบต่องานที่ได้รับมอบหมาย แรงงานไม่มีทักษะเพียงพอต่อการปฏิบัติงาน ขาดทักษะการสื่อสารและภาษา ขาดการเรียนรู้ด้วยตัวเอง ความสามารถในการแข่งขันในภาพรวมประเทศยังต่ำกว่าประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคเดียวกัน โดยสิงคโปร์อยู่อันดับ 1 มาเลเซียอันดับ 10 ขณะที่ไทยอยู่อันดับที่ 26

โรงเรียนคือส่วนหนึ่งที่จะทำให้กระบวนการเรียนรู้ของลูก ๆ พัฒนา แต่โรงเรียนส่วนใหญ่ติดบ่วงการจัดกระบวนการเรียนการสอนที่เน้นความเป็นเลิศทางวิชาการ ซึ่งเหมาะสมกับการศึกษาในศตวรรษที่ 20 คือใครรู้มากเป็นผู้ชนะ แต่ไม่เหมาะสมกับการศึกษาในศตวรรษที่ 21 คือใครใฝ่เรียนรู้อย่างต่อเนื่องจึงจะเป็นผู้ชนะ การสอนหนังสือแบบที่เป็นอยู่ไม่สามารถเชื่อมโยงไปใช้ได้กับชีวิตจริงและไม่เชื่อมโยงไปใช้กับศาสตร์อื่น มัวมุ่งการแข่งขันในเวทีเฉพาะ ใช้เวลาในห้องเรียนมากกว่าประเทศอื่น ๆ มีการวัดความรู้และประเมินคุณค่าอย่างผิวเผินแต่แข็งแกร่งจนถึงแข็งกระด้าง บทบาทครูคือเป็นเพียงผู้มอบความรู้ให้แก่ผู้เรียนแต่ครูจำนวนมากมีภาระอื่นต้องทำจนกระทั่งไม่มีเวลาสอนนักเรียน เหล่านี้ส่งผลทำลายความคิดสร้างสรรค์เพราะหากนักเรียนคิดต่างจากคำเฉลยข้อสอบคือผิด ทำลายทักษะการเรียนรู้ทำให้เด็กและเยาวชนพร้อมจะอยู่เฉย ๆ นิ่ง ๆ ไม่อยากรู้อะไรมากกว่าที่จำเป็นต่อการทำข้อสอบแข่งขัน และทำลายทักษะชีวิตที่ดีที่พร้อมจะปรับตัวเมื่อพบอุปสรรคหรือปัญหาชีวิตที่จริงแล้วนักเรียนในอนาคตวัดกันด้วยความสามารถในการทำงาน ไม่ใช่ความสามารถในการท่องจำเนื้อหา

ปฏิรูปการศึกษาควรมีเป้าหมายที่จะเปลี่ยนวิถีการเรียนรู้แบบเดิม ๆ ไปสู่วิถีการเรียนรู้ตลอดชีวิต นั่นคือ “กระบวนการเรียนรู้สำคัญกว่าความรู้” และ “กระบวนการหาคำตอบสำคัญกว่าคำตอบ” โดยใช้ฐานแนวคิดทักษะแห่งอนาคตใหม่ หรือ 21st century skills ที่นักการศึกษาทั้งในและต่างประเทศเชื่อกันว่าเป็นทักษะที่จำเป็นในศตวรรษใหม่ ซึ่งประกอบด้วย 3 ทักษะคือ ทักษะการเรียนรู้และนวัตกรรม ทักษะชีวิตและประกอบอาชีพ ทักษะด้านข้อมูลข่าวสารและเทคโนโลยี ให้รู้ 4 วิชาหลักคือ สุขภาพ เศรษฐศาสตร์ สิ่งแวดล้อมและหน้าที่ความเป็นพลเมือง ให้มีการจัดกระบวนการเรียนการสอนแบบ Problem Based Learning (PBL) และสร้างความเข้มแข็งโดยทำให้เกิดชุมชนแห่งการเรียนรู้ในท้องถิ่นต่าง ๆ ที่เรียกว่า Professional Learning Community (PLC) เพื่อให้เด็กและเยาวชนเป็นผู้ใฝ่เรียนรู้ตลอดชีวิต มีความสามารถที่จะเรียนรู้ตลอดเวลาในทุกสถานที่ และพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง การปฏิรูปการศึกษาที่ได้ผลต้องถอนรากถอนโคนกระบวนทัศน์และการเรียนการสอนแบบเดิมให้หมดสิ้น แล้วสร้างการเปลี่ยนแปลงในสิ่งต่อไปนี้

1. เปลี่ยนโรงเรียนแบบเดิม เป็น ชุมชนแห่งการเรียนรู้ของชุมชน

2. เปลี่ยนห้องเรียนแบบเดิม เป็น สตูดิโอแห่งการเรียนรู้ของนักเรียน

3. เปลี่ยนบทบาทครูจากการเป็นผู้สอนให้ความรู้ เป็น ผู้ออกแบบกระบวนการเรียนรู้ที่เน้น learning skills ไปพร้อมกับผู้เรียน

4. เปลี่ยนการเรียนสาระวิชา เป็น วิชาจำเป็นเท่านั้นคือ การอ่าน การเขียน คณิตศาสตร์ และ 4 วิชาหลักคือ สุขภาพ เศรษฐศาสตร์ สิ่งแวดล้อมและหน้าที่ความเป็นพลเมือง โดยบูรณาการสาระวิชาที่จำเป็น

5. เปลี่ยนรูปแบบการสอนแบบ teaching เป็น ให้ผู้เรียนได้ฝึกทักษะต่าง ๆ จากการลงมือปฏิบัติ PBL

6. เปลี่ยนวิธีประเมินวัดเกรดวิชาได้-ตก เป็น ประเมินเพื่อความก้าวหน้าของเด็ก

7. เปลี่ยนการเรียนและสอบคนเดียว เป็นการเรียนรู้และสอบเป็นกลุ่ม

ผู้ปกครองที่ชาญฉลาดและมองการณ์ไกลถึงอนาคตของลูกหลานของตนเองในอาเซียนหรือแม้แต่เวทีโลกควรมองทะลุการศึกษาไทยให้ออก และลงมือเรียกร้อง ร้องตะโกน ขอการศึกษาแบบใหม่เพื่อช่วยชีวิตลูกหลานของเราให้พ้นจากขุมนรกที่เป็นอยู่