นั่งรถเมล์ไปที่หอสมุดแห่งชาติ ท่าวาสุกรี ค่ารถเมล์ 50 สตางค์ เสียเวลาเดินทางหนึ่งชั่วโมง เมื่อไปถึงก็เดินหาหนังสือทุกเล่มที่มีประวัติเจ้าพระยาพระคลัง (หน) แทรกอยู่ เป็นการเดินหาด้วยเท้า ไม่ได้ปรึกษาบรรณารักษ์ และไม่รู้วิธีค้นหาหนังสือที่ตู้บัตรหนังสือ
จำไม่ได้ว่าหมดเวลาไปกี่ชั่วโมงได้หนังสือมาสี่ห้าเล่ม
ไม่มีระบบขอยืมกลับบ้าน และไม่มีบริการเครื่องถ่ายเอกสาร ผมคัดลอกข้อความที่ต้องการจากหนังสือทุกเล่มลงกระดาษแล้วก็นั่งรถเมล์กลับบ้าน รวมเวลาทั้งสิ้นหนึ่งวัน
คืนนั้น ผมเริ่มตัดต่อข้อความที่ได้มา วิธีการไม่ยาก คัดลอกประวัติเจ้าพระยาพระคลัง (หน) จากตอนต้นของหนังสือสามก๊กลงบนกระดาษฟุลสแก๊ปเป็นอย่างแรก เว้นย่อหน้าไว้บ้างเผื่อต้องเขียนข้อความแทรก จะเว้นมากน้อยเท่าไรต้องการการวางแผนที่ดี
จากนั้นอ่านข้อความจากหนังสือเล่มอื่น ๆ ที่คัดลอกมาอย่างตั้งใจ เมื่อพบว่ามีข้อความไหนที่ไม่ซ้ำกับประวัติชุดแรกจากตอนต้นของหนังสือสามก๊กก็จัดการคัดลอกเพิ่มเติมลงไป
ส่วนใหญ่เป็นการคัดลอกต่อกันไป มีบ้างที่เขียนแทรกกลาง
สุดท้ายก็ได้ประวัติเจ้าพระยาพระคลัง (หน) ฉบับสมบูรณ์จากหนังสือทุกเล่มที่หามาได้ แต่เนื่องจากมีการเขียนแทรกกลางทำให้ไม่สวยงาม จึงต้องลงทุนซื้อกระดาษฟุลสแก๊ปแผ่นละ 50 สตางค์แผ่นใหม่ ๆ มาคัดลอกใหม่ทั้งหมดให้สวยงาม
การคัดลอกใหม่ทั้งหมดจำเป็นต้องอาศัยการวางแผนที่ดีอีก เพราะกระดาษฟุลสแก๊ปเป็นกระดาษหน้าคู่ ต้องวางแผนให้ข้อความทั้งหมดลงตัวกับจำนวนหน้ากระดาษแล้วจึงใช้ที่เย็บกระดาษเย็บกลางได้เป็นสมุดรายงานที่สมบูรณ์และสวยงาม ไม่ให้มีหน้ากระดาษเหลือเลยแม้แต่หน้าเดียว
กลางดึกคืนนั้น งานจึงเสร็จ
นั่นคือวิธีทำรายงานแบบ “ตัดต่อ” ของนักเรียนชั้นประถมคนหนึ่งในโลกยุคโบราณ ไม่มีอะไรเป็นเครื่องทุ่นแรงนอกจากมือและปากกา ไม่มีคอมพิวเตอร์ให้ copy แล้ว paste
จะเห็นว่างานสำเร็จได้ต้องการทักษะการค้นหา (searching skill) ทักษะการอ่าน (reading skill) และทักษะการวางแผน (planning skill) ประเด็นคือทุกวันนี้ผมจำอะไรไม่ได้เกี่ยวกับประวัติของท่านเลยแม้แต่น้อย แต่อะไรที่ถูกฝังในตัวคือ ทักษะ (skills) พูดให้เฉพาะเจาะจงคือ ทักษะการเรียนรู้ (learning skills)
วันนี้เรามีคอมพิวเตอร์ โน้ตบุ๊ค และแท็บเล็ต นักเรียนสามารถค้นหาด้วยกูเกิล จากนั้น copy แล้วpaste ได้โดยง่าย มองในแง่ร้ายแล้วสามารถทำทั้งหมดนี้ได้โดยไม่ต้องอ่านอะไรมากนัก จะเห็นว่าเมื่อโลกเปลี่ยน วิธีการเรียนก็ต้องเปลี่ยน
หากเปรียบหอสมุดแห่งชาติเป็นกูเกิล เราต้องเปลี่ยนวิธีจัดการเรียนการสอนให้แก่เด็ก ๆ
เมื่อเด็กเผชิญหน้ากับเครื่องมือไอทีสมัยใหม่ ไม่ว่าจะเป็นคอมพิวเตอร์ โน้ตบุ๊ค แท็บเล็ต หรือสมาร์ทโฟน เขาต้องพัฒนาทักษะการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ 3 ขั้นตอน
หนึ่ง รู้จักเสพ
สอง รู้จักวิเคราะห์
สาม รู้จักใช้เครื่องมือไอทีให้ทรงประสิทธิภาพ
เขาควรได้ฝึกทักษะการเสพข้อมูล นั่นคือแม้จะค้นประวัติเจ้าพระยาพระคลัง (หน) ด้วยกูเกิล แต่ก็ต้องรู้จักวิธีดูว่าข้อมูลไหนเชื่อถือได้ ข้อมูลไหนเชื่อถือไม่ได้ ข้อมูลไหนเป็นเอกสารชั้นต้น และข้อมูลไหนเป็นเพียงข้อความที่คัดลอกต่อ ๆ กันมา
จากนั้นเขาควรได้ฝึกทักษะวิเคราะห์ข้อมูล กล่าวคือตั้งใจอ่านจนกระทั่งพบว่าเจ้าพระยาพระคลัง(หน) แปลและเขียนสามก๊กในตอนต้นกรุงรัตนโกสินทร์ด้วยเหตุผลทางการเมืองครั้งแรกตั้งราชวงศ์ ดังนั้นท่านจึงมิได้แปลทั้งหมด แต่ได้ตัดทิ้งบางส่วน และเขียนใหม่บางส่วน เพื่อให้สอดรับกับสถานการณ์บ้านเมืองเวลานั้น (ปัจจุบันมีสามก๊กที่แปลจากต้นฉบับอย่างครบถ้วนสมบูรณ์หลายสำนวน)
ประการสุดท้าย การค้นหาประวัติเจ้าพระยาพระคลัง (หน) บนอินเทอร์เน็ตมิใช่ของง่าย เขาจะใช้เครื่องมือไอทีสมัยใหม่ค้นให้พบได้อย่างไร ด้วยคำสำคัญ (keywords) อะไร โดยใช้เวลาน้อยที่สุด มิใช่หมดไปหนึ่งวันหนึ่งคืนดังที่ผมเคยใช้
ทั้งหมดนี้คือความสามารถของเด็กยุคใหม่ที่พึงประสงค์
เด็กที่เป็นนายของไอที จึงจะมีสุขภาวะที่ดี
เด็กที่ทาสของไอที จะมีความสุขหรือสนุกได้เพียงฉาบฉวย