13 เพราะวิจารณ์จึงมีตัวตน

“รถติด”

เวลาเราขับรถไป เราไม่ค่อยรู้สึกอะไรหรอก พอรถติดไฟแดงหงุดหงิดใจขึ้นมาเท่านั้นแหละ “ตัวตน” จึงจะเกิดขึ้น

จะเห็นว่าตัวตนเป็นปรากฏการณ์ตรงข้ามกับอิเล็คตรอน ติดขัดหรือสะดุดจึงจะปรากฏ

ตัวตนหรือ self จึงเกิดจากการที่เรามีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นหรือสิ่งแวดล้อม หากไม่มีปฏิสัมพันธ์ ก็จะไม่มีตัวตน ไม่มีปฏิสัมพันธ์กับไฟแดงก็จะไม่มีตัวตน

นวนิยายการเมืองเรื่อง 1984 ของ จอร์จ ออร์เวลล์(George Orwell:1903-1950)เป็นนวนิยายที่สามารถใช้อธิบายเรื่องตัวตนได้ดี

นวนิยาย 1984 เขียนขึ้นเมื่อปี 1949 เมื่อโลกก้าวเข้าสู่ยุคสงครามเย็น จอร์จ ออร์เวลล์เล่าเรื่องโอชันเนีย(Oceanea) คืออังกฤษในอนาคตที่ปกครองด้วยเผด็จการเบ็ดเสร็จ

เผด็จการเบ็ดเสร็จของโอชันเนียมีผู้ปกครองสูงสุดเรียกว่าพี่เบิ้ม คือบิ๊กบราเธอร์(Big Brother) พี่เบิ้มจะคอยสอดส่องประชาชนของโอชันเนียทุกคนตลอดเวลาด้วยป้ายคัทเอาท์ขนาดใหญ่ทั่วเมือง ใน อพาร์ตเมนต์ทุกแห่ง และสร้างสายสืบแฝงกายในทุกครอบครัว

พี่เบิ้มตั้ง กระทรวงความจริง หรือ Ministry of Truth แล้วเรียกย่อๆว่า มินิทรู หรือ Minitru แปลว่ากระทรวงความจริงอันน้อยนิด

กระทรวงความจริงอันน้อยนิดมีภารกิจแก้ไขประวัติศาสตร์ให้รับใช้เผด็จการเบ็ดเสร็จ และแก้ไขข่าวให้เป็นไปในทิศทางที่ต้องการ นอกจากนี้ยังสร้างพจนานุกรมที่บรรจุคำศัพท์เพียง 1000 คำแล้วให้ใช้คำศัพท์เท่านี้

เมื่อโลกไม่มีคำศัพท์ว่า “ขบถ” ก็จะไม่มีขบถอีกเลย

เมื่อโอชันเนียไม่มีคำศัพท์ว่า “ประชาธิปไตย” ก็จะไม่มีประชาธิปไตยอีกเลย

นอกจากพี่เบิ้มจะจัดการให้มีมินิทรูแล้ว เขายังสร้างมินิลัฟ หรือ Miniluv ย่อมาจาก Ministry of Love แปลว่ากระทรวงแห่งความรัก แต่ก็เป็นเฉกเช่นเดียวกันกับมินิทรู นั่นคือมินิลัฟแปลว่าความรักอันน้อยนิด

กระทรวงความรักอันน้อยนิดออกกฎหมายห้ามความรักและการแต่งงาน

พลันที่ความรักถูกห้าม เพศสัมพันธ์ที่รัฐไม่อนุญาตเป็นเรื่องกระทำมิได้ “ตัวตน” ของผู้คนก็สลายลง

ตามกฎที่ว่าตัวตนเกิดจากปฏิสัมพันธ์ ไม่มีปฏิสัมพันธ์ก็ไม่มีตัวตน

พี่เบิ้มจับตามองคนทุกคนจากทุกที่และตลอดเวลา ในบ้านทุกหลังมีจอภาพติดผนังไว้ให้ประชาชนติดตามข่าวสารบ้านเมือง แต่จอภาพนั้นทำงานสองทิศทางและไม่สามารถปิดได้ ขณะที่ผู้คนดูทีวี ทีวีก็เฝ้าดูคุณด้วย

คำขวัญประจำโอชันเนียคือ Big Brother is watching you พี่เบิ้มกำลังจับตาดูคุณอยู่

ประชาชนของโอชันเนียจึงอยู่ในสถานะห้ามวิจารณ์(criticize)

การวิจารณ์(criticize)เป็นเครื่องมือที่คนคนหนึ่งใช้ปฏิสัมพันธ์กับคนอื่นหรือสิ่งอื่น เมื่อไม่มีการวิจารณ์ ตัวตนก็สลายลงเช่นกัน

ทักษะการคิดเชิงวิพากษ์(criticized thinking)เป็นหนึ่งในทักษะการเรียนรู้ที่สำคัญของมนุษย์ เพราะมีวัฒนธรรมการวิจารณ์จึงจะเกิดการเรียนรู้

เด็กไทยขาดวัฒนธรรมการวิจารณ์ เด็กไทยจึงขาดการเรียนรู้ที่ดี มักเชื่อตามๆกันไป เมื่อโลกก้าวเข้าสู่ยุคข้อมูลข่าวสารที่มีข่าวสารระดมยิงเด็กไทยอย่างท่วมท้น เด็กไทยตกเป็นฝ่ายตั้งรับถึงระดับโงหัวไม่ขึ้น ถูกยิงสะบักสะบอมไปตามๆกันเพราะขาดเกราะป้องกันตัว

เกราะป้องกันตัวจากการถูกข่าวสารบริโภคคือวัฒนธรรมการวิจารณ์

วิจารณ์เป็นจึงจะเป็นฝ่ายเลือกบริโภคข่าวมิใช่ถูกข่าวบริโภค เลือกบริโภคเกมมิใช่ถูกเกมบริโภค ฯลฯ

ยิ่งวิจารณ์เก่งจึงจะมีตัวตนที่แข็งแรง ตัวตนที่แข็งแรงจึงจะมีสุขภาพจิตและพัฒนาการที่ดี