การเคลื่อนที่ของโฟเวียซึ่งก็คือการเคลื่อนที่ของลูกตาทั้งลูกสามารถวัดบันทึกหรือแม้กระทั่งในผู้ป่วยบางโรคสามารถสังเกตเห็นได้ด้วยตาเปล่า ก็จะพบว่าลูกตาของคนเราเคลื่อนที่ไปในลักษณะหยุดเป็นช่วงๆเรียกว่าการเคลื่อนที่แบบแซคคาดิค(saccadic movement) ในหนึ่งวินาทีคนทั่วไปจะเคลื่อนลูกตาไปได้ 4-5 จังหวะ
เวลาเราอ่าน โฟเวียจะสแกนไปเร็วมากจนกระทั่งทำให้เราไม่สามารถเห็นบริเวณอื่นของหน้าหนังสือได้เลย มีการทดลองที่ใช้คอมพิวเตอร์เข้าช่วยสามารถพิสูจน์ได้ว่าเวลาเราอ่าน โฟเวียจะสแกนเห็นเพียง 3-4 ตัวอักษรไปทางซ้ายมือ และ 7-8 ตัวอักษรไปทางขวามือ พูดง่ายๆว่าต่อให้เรานั่งอ่านสามก๊กไปเรื่อยๆจนจบเล่ม ในแต่ละชั่วขณะเรามองเห็นไม่เกิน 12-20 ตัวอักษรเป็นอย่างมาก!
ถ้าอ่านหนังสือฮิบรูจากขวาไปซ้ายก็จะเป็นปรากฏการณ์เดียวกัน ถ้าอ่านหนังสือจีนซึ่งแต่ละมีเส้นสายที่ซับซ้อนกว่ามาก โฟเวียจะสแกนทีละช่วงสั้นกว่าและรับภาพในขอบเขตที่แคบกว่า (นั่นคือโฟเวียจะมีการเคลื่อนที่แบบแซคคาดิคเป็นจังหวะที่กระชั้นกว่าและโฟกัสไปที่ตัวอักษรจีนด้วยมุมที่แคบน้อยกว่า 15 องศา)
โฟเวียใช้เวลาเศษหนึ่งส่วนยี่สิบของวินาทีในการจับภาพคำหนึ่งคำและสมองใช้เวลาอีกครึ่งวินาทีในการแปลความหมาย คนทั่วไปจะอ่านหนังสือได้ 400-500 คำต่อนาที นักอ่านมีฝีมือสามารถอ่านเร็วถึง 1100-1600 คำต่อนาที นั่นคือสามเท่าของคนทั่วไป
ในคำหนึ่งคำประกอบด้วยหน่วยย่อย 3 หน่วย คือ กราฟฟีม(grapheme) มอร์ฟีม(morpheme) และโฟนีม(phoneme) กราฟฟีมหมายถึงหน่วยย่อยของตัวเขียน มอร์ฟีมหมายถึงหน่วยย่อยของคำ และโฟนีมหมายถึงหน่วยย่อยของการออกเสียง เช่น ตากลม กราฟฟีมหมายถึงพยัญชนะ ต ก ล ม และสระ อา (ซึ่งสามารถจัดกลุ่มได้อีก เช่น ด ต เป็นกราฟฟีมเดียวกัน เป็นต้น) มอร์ฟีมหมายถึง ตา และ กลม หรืออาจจะเป็น ตาก และ ลม ส่วนโฟนีมหมายถึง ตา-กลม หรือ ตาก-ลม แล้วแต่รูปประโยค
ประเด็นคือว่าคนเราอ่านออกเสียงได้ก่อนที่จะเข้าใจความหมาย เรื่องนี้สำคัญ คนส่วนใหญ่ใช้เสียงที่อ่านในการแปลความหมายก่อน เมื่อโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่จึงใช้คำทั้งคำในการแปลความหมาย สมองส่วนที่รับผิดชอบการอ่านจึงมีสองเส้นทางที่พัฒนาไม่พร้อมกันด้วยศักยภาพที่ต่างกัน
เส้นทางที่หนึ่ง สมองแกะคำที่เห็นออกเป็นพยางค์แล้วอ่านออกเสียง(ในใจหรือออกปากก็ตาม) จากนั้นจึงแปลความหมาย เช่น หากใจหรือปากอ่านว่า ตา-กลม สมองจะแปลแบบหนึ่ง หากอ่านว่า ตาก-ลม สมองจะแปลอีกแบบหนึ่ง
เส้นทางที่สอง สมองจะวาดรูปคำที่เห็นขึ้นในเนื้อสมอง(ก็คือวาดรูปขึ้นในใจ) จากนั้นจึงแปลความหมายตามรูปนั้น เช่น หากสมองวาดรูปลูกตาที่มีรูปร่างกลมก็จะอ่านว่า ตา-กลม หากสมองวาดรูปคนที่เส้นผมกำลังปลิวไสวก็จะอ่านว่า ตาก-ลม
เส้นทางที่สองและการวาดรูปนี้สำคัญและอาจจะเป็นเส้นทางหลักของผู้ใหญ่ เวลาเราพบผู้ป่วยเส้นเลือดสมองแตกหรือตีบบางราย เขาอ่านคำที่เขียนว่า “นักวาดการ์ตูน” ออกมาเป็นเสียงว่า “สิน-ละ-ปิน” ก็มี ทั้งนี้ขึ้นกับว่าเขาวาดรูปอะไรขึ้นมาในสมองและในสมองมีคลังคำอะไรให้ใช้บ้าง