ข้อแรกคือ PLCมีลักษณะเป็น “สนาม” หรือพื้นที่ของครูที่มีลักษณะเฉพาะ ข้อสองคือ PLC มีลักษณะเป็น “วิถี” ที่เข้าได้กับวิถีชีวิตของครูในโรงเรียน นั่นคือโรงเรียนเปรียบเสมือนบ้าน อยู่โรงเรียนเหมือนอยู่บ้าน บ้านเป็นที่รักเช่นใดโรงเรียนและนักเรียนและเพื่อนครูก็เป็นที่รักเช่นนั้น ข้อสามคือผู้ปกครองเป็นส่วนประกอบที่ขาดไม่ได้ของการพูดคุยแบบ PLC พ่อแม่ปู่ย่าตายายเป็นส่วนหนึ่งของโรงเรียนอย่างแท้จริง และมีส่วนร่วมในการจัดกระบวนการเรียนรู้
ยิ่งไปกว่านั้นเราพบว่า PBL มิใช่โครงการนอกห้องเรียนดาษดื่น PBL ที่ดีมีคุณสมบัติ 3 ข้อคือเป็นโครงการที่ครูและนักเรียนช่วยกันออกแบบ เป็นโครงการที่นักเรียนได้ “ลงมือ” ปฏิบัติจริง มิใช่แค่ดูงานหรือเขียนรายงาน และเป็นโครงการที่ส่งผลให้นักเรียนเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมและยกระดับการเรียนรู้ เช่นนี้จึงเป็น PBL ที่พึงประสงค์
ในรายละเอียดของทักษะการเรียนรู้ (learning skill) มีข้อสำคัญข้อหนึ่งคือการทำงานเป็นทีม นักเรียนต้องทำงานเป็นทีมและอยู่ร่วมกับความแตกต่าง จึงจะมีความคิดเชิงวิพากษ์ (criticized thinking) และความคิดสร้างสรรค์ (creative thinking) ในรายละเอียดของทักษะการใช้ชีวิต (life skill) มีข้อสำคัญคือนักเรียนมีความสามารถที่จะมองไปข้างหน้า วางแผน ตัดสินใจ รับผิดชอบการตัดสินใจของตนเอง และมีความยืดหยุ่น (resiliency) ที่จริงแล้วการเรียนรู้ การใช้ชีวิต และจิตวิทยาพัฒนาการสามารถไปด้วยกันและพร้อมกันในระบบการศึกษา
การปฏิรูปการศึกษาต้องถอนรากถอนโคน การเปลี่ยนแปลงนั่นนี่ทีละนิดไม่เกิดผลอะไร