ทั้งนักกฎหมายที่ยังมีความรู้เรื่องวิทยาศาสตร์การแพทย์ไม่เพียงพอ และด้านแพทย์เองก็มีข้อจำกัดด้านกฎหมาย
แม้ว่าส่วนใหญ่ ที่ประชุมเห็นว่าตัวอ่อนเป็นทรัพย์สิน แต่เป็นทรัพย์สินที่สามารถพัฒนาเป็นชีวิตได้แต่ยังไม่เสนอคำจำกัดความที่ชัดเจนว่า ทรัพย์สินที่สามารถพัฒนาเป็นชีวิตได้มีความหมายอย่างไร แต่ควรจะมีข้อกำหนดเฉพาะในเรื่องทรัพย์สินที่สามารถพัฒนาเป็นชีวิตได้แตกต่างกับข้อกำหนดเรื่องทรัพย์สินทั่วไปด้วย
สำหรับในกลุ่มที่มีความชัดเจนทางด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้เสนอไว้ชัดเชนว่า ตัวอ่อนในระยะ Blastocyst เป็นระยะที่เป็นกลุ่มของเซลล์ยังไม่พัฒนาจนเป็นอวัยวะชัดเจน น่าจะถือว่าเป็นเนื้อเยื่อ ซึ่งควรได้รับความคุ้มครองในระดับของการคุ้มครองเนื้อเยื่อหรืออวัยวะ
3. ที่ประชุมได้เสนอเงื่อนไขสำหรับการจัดการไข่ เชื้ออสุจิ และไข่ที่ผสมแล้ว เช่น
3.1 อำนาจัดการ:บุคคลที่ควรเป็นผู้มีสิทูธิ์เหนือไข่ เชื้ออสุจิ ควรเป็นเจ้าของไข่และเชื้ออสุจิโดยควรแสดงเจตจำนงเป็นลายลักษณ์อักษรที่ชัดเจนไว้ล่วงหน้าก่อนบริจาค ถึงวัตถุประสงค์ เงื่อนไขในการใช้และการทำลาย
สำหรับไข่ที่ผสมแล้ว มีความเห็นว่าเจ้าของไข่และอสุจิที่นำมาผสมกันนั้นมีความเป็นเจ้าของร่วมกัน อย่างไรก็ดีมีเหตุผลเพิ่มเติมที่เห็นว่าเนื่องจากไข่ที่ผสมแล้วมี “ความสามารถที่จะพัฒนาเป็นมนุษย์” ควรมีสิทธิเท่าเทียมกับมนุษย์อื่น ๆ ดังนั้นในกรณีที่ไม่สามารถแสดงเจตจำนงได้เอง จึงต้องให้เจ้าของไข่และเชื้ออสุจิ ในฐานะบิดา-มารดา ทางพันธุกรรม เป็นผู้แสดงเจตนารมณ์แทน
อย่างไรก็ดี มีความเห็นแย้งในเรื่องอำนาจจัดการว่าสามารถมอบให้ผู้อ่านได้หรือไม่ โดยอ้างถึงคำพิพากษาศาลฎีกาว่า เด็กไม่ใช่ทรัพย์สิน การโอนอำนาจปกครองไม่สามารถทำโดยการทำเป็นหนังสือเท่านั้น แต่ต้องจดทะเบียนตามกฎหมายด้วย อย่างไรก็ดีประเด็นนี้ ที่ประชุมไม่ได้อภิปรายต่อ
นอกจากนี้ ได้มีความเห็นเพิ่มเติมว่า ในกรณีที่ได้แสดงเจตนารมณ์เป็นการบริจาคแล้ว เจ้าของไข่หรือเชื้ออสุจิ น่าจะไม่มีสิทธิเหนือไข่-เชื้ออสุจินั้นแล้ว สถาบันที่ดำเนินการดังกล่าวควรตั้งกรรมการขึ้นเพื่อทำหน้าที่ดูแลจัดการอย่างเหมาะสมต่อไป
3.2 เงื่อนไขการใช้ไข่-อสุจิและไข่ที่ได้รับการผสมแล้ว ที่ประชุมมีข้อเสนอ เช่น
3.2.1 ให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของผู้บริจาค โดยทำเป็นลายลักษณ์อักษรให้ชัดเจน และสามารถเปลี่ยนแปลงได้ตามสถานการณ์ ซึ่งในทางปฏิบัติขณะนี้ ผู้บริจาคต้องแสดงเจตนารมณ์ในเรื่องดังกล่าวไว้ล่วงหน้า โดยเฉพาะในกรณีผู้บริจาคเสียชีวิต
3.2.2 ควรให้แพทยสภาออกข้อกำหนดที่ชัดเจนถึงเงื่อนไขในการบริจาคและมีข้อกำหนดในการดำเนินการที่ชัดเจน
3.3 การใช้/ทำลายไข่ที่ผสมแล้วเพื่อการวิจัย ที่ประชุมส่วนใหญ่เห็นว่าน่าจะสามารถนำไปใช้ได้เพื่อประโยชน์สำหรับการพัฒนาการรักษา อย่างไรก็ดี ในการทำวิจัยในลักษณะดังกล่าว โดยการวิจัยจะต้องผ่านคณะกรรมการพิจารณาการศึกษาวิจัยในคน หรือคณะกรรมการจริยธรรมของสถาบันที่เกี่ยวข้องซึ่งจะพิจารณาประเด็นจริยธรรมสำหรับการศึกษาวิจัยเรื่องนั้น ๆ อยู่แล้ว
ประเด็นที่ 3: การตั้งครรภ์แทน
ความคิดเห็นเกี่ยวกับความสัมพันธ์ทางกฎหมายในกรณีการตั้งครรภ์แทน
ที่ประชุมไม่มีข้อสรุปเกี่ยวกับความสัมพันธ์ทางกฎหมายสำหรับกรณีตั้งครรภ์แทน แต่เห็นว่าควรมีข้อกำหนดหรือข้อกฎหมายที่กำหนดหน้าที่และรับรองสิทธิที่ชัดเจนในเรื่องนี้ โดยส่วนใหญ่เห็นว่าควรจะอนุญาตให้มีการตั้งครรภ์แทน โดยการกำหนดคุณสมบัติของผู้ที่สามารถรับบริการนี้ รวมถึง คุณสมบัติของผู้ที่จะมาตั้งครรภ์แทน แต่ห้ามมิให้มีการทำเป็นการค้า
ประเด็นที่ 4: การคัดเลือกตัวอ่อน
ข้อคิดเห็นเกี่ยวกับการคัดเลือกตัวอ่อน
ข้อสรุป
1.การคัดเลือกตัวอ่อนเพื่อป้องกันโรคทางกรรมพันธุ์ รวมไปถึงการคัดเลือกเพศเพื่อป้องกันโรคทางกรรมพันธุ์ที่ร้ายแรง และถ่ายทอดไปเฉพาะเพศใดเพศหนึ่ง เป็นกรณีที่สามารถทำได้ อย่างไรก็ดี ที่ประชุมไม่ได้นำเสนอ/พิจารณาโดยละเอียดว่า โรคทางพันธุกรรมที่ร้ายแรงที่สามารถคัดเลือกตัวอ่อนทิ้งได้ ควรเป็นโรคใด หรือก่อให้เกิดผลเช่นใด
2.การคัดเลือกเพศ ที่ประชุมมีความเห็นแตกต่างกันไป ส่วนที่ไม่เห็นด้วย เนื่องจากคำนึงถึงเรื่องการเลือกปฏิบัติระหว่างเพศ และปัญหาทางสังคม ในส่วนที่เห็นด้วย ใช้ข้อพิจารณาจากเหตุผลของครอบครัว เช่น มีลูกเพศใดเพศหนึ่งมาแล้วหลายคน ต้องการอีกเพศ เป็นเหตุผลที่ยอมรับได้
3.การคัดเลือกตัวอ่อนที่เลือกเฉพาะตัวอ่อนที่มีลักษณะดี/เด่น เป็นเรื่องที่ไม่ควรกระทำ