อุ้มบุญ (29) เงื่อนไขการใช้เทคโนโลยีปฏิสนธิและการใช้เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ (ต่อ)

เงื่อนไขของคู่สามี-ภริยา เงื่อนไขทางกฎหมาย เงื่อนไขทางการแพทย์

ประเด็น – ขอบเขตของข้อบังคับแพทยสภาในปัจจุบันเพียงพอหรือไม่

ประกาศแพทยสภาที่มีอยู่ในขณะนี้ไม่เพียงพอ และแม้แต่ตัวกฎหมายเองก็ยังไม่เพียงพอ ไม่ทันกับเทคโนโลยี

ประเด็น – องค์กรกำกับดูแลการใช้เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์

องค์กรที่รับผิดชอบ ควรร่วมกันหลายหน่วยงาน แพทยสภาเองมักจะเป็นผู้ถูกกำหนดให้เป็นผู้ชี้ถูกผิด สำนักงานอัยการสูงสุด ซึ่งมักจะเป็นผู้ถูกให้ออกกฎหมาย แต่จะต้องมีอีกฝ่ายหนึ่งคือตัวแทนประชาชนหรือผู้ที่ได้รับการคัดสรรเพื่อที่จะออกความคิดเห็น น่าจะส่วนสำคัญเพื่อให้มีแง่ของมุมมองที่ไม่ใช่เฉพาะมุมมองของผู้ประกอบวิชาชีพ แต่เป็นผู้ใช้บริการ (consumer opinion) แม้ว่ามุมมองของประชาชนอาจจะบิดเบือนได้ แต่เพื่อให้ได้มุมมองที่กว้างและครอบคลุม

กลุ่มที่สี่

ประเด็น – ขอบเขตการใช้เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์

ควรจะมีขอบเขตจำกัด

ประเด็น – ข้อกำหนดเงื่อนไขการใช้เทคโนโลยี

เห็นว่าต้องใช้เวลาปรึกษาหารือโดยละเอียด แต่สรุปบางประเด็นคือ

– ผู้รับบริการ ควรทำได้ในกรณีที่เป็นคู่สมรส

– ต้องมีการทำสัญญาและทำความตกลง โดยอาจมีนักจิตวิทยาเข้ามาช่วย

– สำหรับในกรณีของหญิงโสด หรือหญิงที่สามีตายและไม่ต้องการมีสามีใหม่ แต่ต้องการจะมีลูก ความเห็นในเรื่องนี้ยังไม่มีข้อสรุป แต่แบ่งความคิดเห็นออกเป็นสองกลุ่ม คือกลุ่มที่เห็นว่าควรจะให้มีบุตรได้ แต่อีกกลุ่มหนึ่งเห็นว่าไม่ควรจะมี เพราะว่าจะมีปัญหาเรื่องเด็กที่จะเกิดมาแล้ว อาจจะมีปัญหา ผลกระทบทางสังคมจากเด็กว่าใครควรจะเป็นพ่อ

ประเด็น – องค์กรกำกับดูแลการใช้เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์

องค์กรที่ควรเป็นองค์กรผู้กำกับดูแลนอกเหนือจากแพทยสภา กับราชวิยาลัยสูตินารีแพทย์ ควรจะมีองค์กรอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ ควรเข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินงาน

นอกจากนี้มีข้อเสริมในประเด็นของประกาศแพทยสภาในมุมมองของนักกฎหมายมองว่าน่าจะมีการบัญญัติกฎหมายที่ว่ากฎหมายเฉพาะมาควบคุมดูแลเรื่องนี้โดยเฉพาะ เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ค่อนข้างละเอียดอ่อน และอาจจะสร้างผลกระทบปัญหาทางสังคม

ประเด็นเพิ่มเติม ควรพิจารณาในเรื่องสิทธิของแพทย์ เพิ่มเติมจากสิทธิผู้ป่วยด้วย ตัวอย่างเช่น กรณีที่คู่สามีภริยาต้องการให้แพทย์ใช้เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ แต่แพทย์พิจารณาในทุกๆ ด้านแล้วเห็นว่าไม่สมควรจะได้รับบริการนี้ แพทย์จะสามารถปฏิเสธได้หรือไม่ และหากผู้รับบริการอ้างเป็น “การรักษา” แพทย์ที่ปฏิเสธที่จะให้บริการ จะมีความผิดตามกฎหมายหรือไม่ ซึ่งประเด็นเหล่านี้ต้องพิจารณาโดยละเอียด

กลุ่มที่ห้า

ประเด็น – ขอบเขตการใช้เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์

ควรที่จะมีข้อจำกัด โดยมีข้อบ่งชี้ที่ชัดเจน ข้อบ่งชี้นี้แบ่งเป็นสองประเด็น

– ข้อบ่งชี้ทางสังคม ซึ่งเป็นเรื่องยากที่จะมาตัดสินว่าอะไรที่จะเป็นข้อบ่งชี้ของทางสังคม

– ข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ ซึ่งน่าจะเหมาะสมที่จะนำมาใช้ และกำหนดขั้นตอนอย่างชัดเจนโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเป็นผู้ลงความเห็นว่าใครสมควรได้รับบริการเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์

ประเด็น – ข้อกำหนดเงื่อนไขการใช้เทคโนโลยี

สำหรับเงื่อนไขการใช้เทคโนโลยี

– เป็นคู่สมรสที่เป็นชายและหญิง ไม่เห็นด้วยกับการให้ทำในคู่สมรสเพศเดียวกัน เพราะแม้ว่ามีสิทธิใช้ แต่ในสังคมไทยถือว่าเป็นเรื่องละเอียดอ่อนและอาจจะก่อให้เกิดปัญหาในอนาคตได้ แต่อย่างไรก็ดีเงื่อนไขนี้อาจจะเปลี่ยนแปลงได้ในอนาคต

– ควรมีการตรวจสอบเงื่อนไขด้านเศรษฐานะ (socio-economic) ของคู่สมรสด้วย ซึ่งเป็นเรื่องละเอียดอ่อนและยากต่อการตัดสิน

– สำหรับอสุจิแช่แข็ง – ควรระบุเป็นลายลักษณ์อักษรที่ชัดเจนว่า จะจัดการกับอสุจิ (น้ำเชื้อ) นั้นอย่างไร ซึ่งให้เป็นไปตามเจตนารมย์ของเจ้าของเชื้อ

– เงื่อนไขเรื่องอายุ – อายุของคู่สมรสหรือของมารดาไม่สามารถกำหนดเป็นตัวเลขตายตัวได้ ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมในการเลี้ยงดูของคู่สมรสนั้น ๆ

ประเด็น – องค์กรกำกับดูแลการใช้เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์

แพทยสภาควรเป็นองค์กรหลัก แต่จะต้องประกาศข้อกำหนดให้ผู้เกี่ยวข้องและสังคมได้รับทราบอย่างชัดเจน