ในประการต่อไปเป็นเรื่องขององค์กรว่า องค์กรที่จะต้องเข้ามาควบคุมกำกับดูแลในเรื่องนี้นั้นต้องมีเฉพาะหรือไม่ หรือจะปล่อยให้มีการกำหนดกฎหมายในลักษณะเป็นคำแนะนำหรือข้อควรปฏิบัติ (guideline) แล้วปล่อยให้ทางวิทยาศาสตร์หรือทางการแพทย์นั้นดูเป็นระยะๆ หรืออาจจะต้องมอบหมายมีองค์กรที่จะต้องไปดูแลในเรื่องของการใช้เทคโนโลยีโดยเฉพาะขึ้นมา และองค์กรใดจะเป็นองค์กรที่เหมาะสม
นำเสนอประเด็นจากการปรึกษาหารือกลุ่มย่อยเรื่องการใช้เทคโนโลยีปฏิสนธิเทียม
กลุ่มที่หนึ่ง
ประเด็น – ขอบเขตการใช้เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์
มีความเห็นเป็นเอกฉันท์ว่าต้องมีขอบเขต
เพราะว่าเทคโนโลยีทั้งหลาย วิทยาศาสตร์ทั้งหลายมีทั้งข้อดี-ข้อเสียขึ้นอยู่กับว่าจะเอาไปใช้ในแง่ใด และคนเรามีทั้งคนดีและไม่ดี เพราะฉะนั้นต้องมีข้อกฎหมายที่จำกัดขอบเขตไว้ บางคนอาจเอาเทคโนโลยีไปใช้ในทางที่ผิด
ประเด็น – ข้อกำหนดเงื่อนไขการใช้เทคโนโลยี
2.1 การกำหนดเงื่อนไขการใช้เทคโนโลยีดังกล่าวเกี่ยวกับคู่สมรส หรือการใช้บริการมีหลายแง่
แง่หนึ่งเกี่ยวกับผู้บริจาคเชื้ออสุจิและไข่ (sperm – egg donor) เนื่องจากปัจจุบันไม่มีข้อบังคับว่าเชื้ออสุจิจะได้มาจากใคร เนื่องจากการมองภายนอกอาจไม่ทราบว่าผู้บริจาคมียีนส์หรือพันธุกรรมผิดปกติหรือไม่ หรือเป็นพาหะหรือมีพันธุกรรมที่ผิดปกติแฝงมาหรือไม่ อาจทำให้เด็กเกิดมาพิการหรือเป็นโรคทางพันธุกรรม แต่ยังไม่มีกฎหมายกำหนดในเรื่องผู้รับผิดชอบต่อเด็กที่ชัดเจน จึงเสนอว่า คู่สามี-ภริยาที่รับบริจาคไข่หรือเชื้ออสุจิ จะต้องมีใบยินยอมว่าจะรับผิดชอบสิ่งที่เกิดตามมา เช่น ความพิการ หรือพันธุกรรมที่อาจจะเกิดขึ้นต่อเด็ก
2.2 สถานะของตัวอ่อนและเซลล์สืบพันธุ์บริจาค
ตัวอ่อนหรือเซลล์สืบพันธุ์ควรจะถือเป็นทรัพย์สินหรือไม่ ถ้าเป็นตัวอ่อนหรือปฏิสนธิแล้วจะนับเป็นบุคคลได้ไหม เช่น ในกรณีที่คู่สามีภริยาอาจจะเสียชีวิตกระทันหันโดยไม่ได้แจ้งความจำนงหรือทำพินัยกรรมมาก่อน ถ้านับว่าตัวอ่อนนั้นเป็นตัวบุคคล ตัวบุคคลนั้นควรจะได้รับทรัพย์สินของคู่สามีภริยานั้นหรือไม่ แต่ถ้าหากไม่ได้นับเป็นตัวบุคคล ทรัพย์ก็ต้องตกเป็นของทายาท ประเด็นนี้ก็ยังไม่มีความชัดเจน
ประเด็น – ขอบเขตของข้อบังคับแพทยสภาในปัจจุบันเพียงพอหรือไม่
น่าจะไม่เพียงพอ แต่เนื่องจากยังขาดข้อมูล จึงเสนอให้แพทยสภาประชาสัมพันธ์ข้อกำหนดต่างๆ ให้ทั้งแพทย์และประชาชนได้ทราบให้มากขึ้น
ประเด็น – องค์กรกำกับดูแลการใช้เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์
ควรตั้งคณะอนุกรรมการ ซึ่งอาจจะมีแพทยสภาดูแล คณะอนุกรรมการประกอบด้วยแพทย์จากราชวิทยาลัยต่าง ๆ เช่น สูติแพทย์ กุมารแพทย์ เวชพันธุศาสตร์ นิติเวช และจิตแพทย์ และสาขาวิชาชีพอื่น เช่น นักกฎหมาย นักการศาสนา เข้ามาร่วมกันทำงาน ตั้งเป็นคณะอนุกรรมการขึ้นมาเพื่อควบคุมจริยธรรม และขอบเขตการใช้เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์
กลุ่มที่สอง
ไม่สามารถจะคุยครบที่ตั้งคำถามไว้สี่ข้อได้ เนื่องจากว่าแต่ละประเด็นทั้งกว้างและลึกในตัวเองข้อสรุปที่พอจะรวบรวมได้
ประเด็น – ขอบเขตและเงื่อนไขการใช้เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์
เงื่อนไขการใช้เทคโนโลยีมองไปที่ผู้ใช้บริการเป็นหลัก โดยสำหรับผู้ให้บริการนั้นหากดำเนินการเพื่อประโยชน์ของความก้าวหน้าในการพัฒนาเทคโนโลยีและที่จะเป็นประโยชน์กับสุขภาพและชีวิตของมนุษย์สามารถดำเนินการได้
แต่ในแง่ของผู้รับบริการนั้น ประเด็นพิจารณา
ใครควรที่จะเข้าถึงบริการได้ – ในแง่ของสิทธิมนุษยชน ไม่ว่าจะเป็นคนโสด คนมีคู่ เป็นคู่รักเพศเดียว และคู่รักต่างเพศ ในแง่ของสิทธิมนุษยชน ทุกคนควรจะมีสิทธิเข้าถึงบริการทั้งสิ้น แต่หากพิจารณาความพร้อมของสังคมไทย และพิจารณาประโยชน์ของตัวเด็กที่จะเกิดขึ้น ในปัจจุบันเด็กซึ่งมาจากครอบครัวที่เป็นทั้งแม่และแม่ หรือ พ่อและพ่อ หรือครอบครัวที่เป็นคนโสด อาจจะเป็นเด็กที่ต้องเผชิญกับปัญหาทางสังคม เนื่องจากประเทศไทยยังคงมีค่านิยมไม่ยอมรับครอบครัวคู่รักเพศเดียวกันหรือครอบครัวของคนโสด (ค่านิยมว่า “ไอ้ลูกไม่มีพ่อ” หรือ “ไอ้ลูกไม่มีแม่” เป็นต้น) เพราะฉะนั้นความเป็นไปได้ในขณะนี้ ผู้ที่จะสามารถเข้าถึงบริการเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ควรจะเป็นสามี-ภริยา แต่ไม่จำกัดเฉพาะคู่ที่จดทะเบียนสมรสถูกต้องตามกฎหมายเท่านั้น แต่เป็นคู่ที่เป็นคู่สามี-ภริยาที่มีความพร้อม
ประเด็นพิจารณาเรื่องความพร้อม ควรจัดให้มีบริการให้คำปรึกษา (counseling) ที่คำนึงถึงความต้องการของผู้รับบริการและการตัดสินใจของผู้รับบริการเป็นหลัก และจะประเมินความพร้อมของคู่ที่จะรับบริการช่วยการมีบุตร
แต่ประเด็นที่ไม่มีข้อสรุปคือว่า บริการให้คำปรึกษาข้างต้น ควรเป็นการบังคับหรือเป็นทางเลือกของผู้รับ ซึ่งแต่ละทางเลือกมีทั้งข้อดีและข้อเสีย แต่แนวโน้มจากการปรึกษาหารือเห็นว่า ควรจะเป็นบริการทางเลือก เนื่องจากคำนึงถึงสิทธิของคู่สามี-ภริยาเป็นที่ตั้ง ถ้าคู่ที่มีความพร้อมประเมินตนเองมาแล้วว่ามีความพร้อมก็อาจจะให้ความยินยอมว่ามีความพร้อม และไม่ต้องการรับบริการให้คำปรึกษา แต่สำหรับคู่ที่ยังต้องการผ่านกระบวนการพูดคุยเพื่อที่จะประเมินความพร้อมของตนเองให้ชัดเจน ก็สามารถที่จะขอรับบริการได้ ซึ่งบริการนี้ ควรจัดไว้รองรับผู้ต้องการใช้บริการ
สำหรับประเด็นอื่นๆ ยังไม่ได้นำมาพิจารณา แต่สำหรับประเด็นเรื่องเงื่อนไขการรับบริการที่เป็นกรณีเฉพาะ เช่น เรื่องเพศ เรื่องอายุ หรือกรณีเสียชีวิต โครงการชีวจริยธรรมฯ ควรที่จะมีเวทีดึงเอาเรื่องที่จะเป็นเฉพาะกรณีมาปรึกษาหารือกับสังคมเป็นเรื่องๆ ไปเพื่อหาข้อตกลงเบื้องต้น หรือดูแนวโน้มกระแสการยอมรับเบื้องต้น