แพทยสภา และราชวิทยาลัย สูตินรีแพทย์ได้กำหนดไว้ ซึ่งก็คือ ประกาศแพทยสภาเรื่องมาตรฐานการให้บริการเกี่ยวกับเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ ที่ 1/2540 (ลงวันที่ 22 ตุลาคม 2540) ซึ่งความมุ่งหมายของประกาศดังกล่าว ก็เพื่อกำหนดแนวทางเกี่ยวกับการใช้เทคโนโลยีช่วยเจริญพันธุ์ของผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมเป็นไปอย่างมีมาตรฐาน สามารถคุ้มครองผู้รับบริการให้เหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ โดยประกาศดังกล่าว (ข้อ 1) ได้กล่าวถึงการให้บริการเกี่ยวกับเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ว่าหมายถึงกรรมวิธีใด ๆ ที่เป็นการช่วยเจริญพันธุ์ที่แตกต่างไปจากกระบวนการตามธรรมชาติ โดยการนำเซลส์สืบพันธุ์ทั้งเพศหญิง และเพศชาย (Gamete) ออกจากร่างกายของผู้รับบริการ และ
(1) การเคลื่อนย้ายเซลส์สืบพันธุ์เข้าไปในมดลูกและ/หรือหลอดมดลูก (Itramaterine Insemination, Gamete intra fallopian tranfer) หรือ
(2) การปฏิสนธินอกร่างกาย (In vitro fertilization) ด้วยวิธีการต่าง ๆ และการเคลื่อนย้ายตัวอ่อนเข้าไปในหลอดมดลูก และ/หรือโพรงมดลูก (Embryo Transfer)
อนึ่ง ในประกาศดังกล่าว (ข้อ 3) ได้กำหนดให้ผู้รับผิดชอบในการให้บริการเกี่ยว
กับเทคโนโลยีการเจริญพันธุ์ ต้องได้รับหนังสือรับรองจากราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย และจะต้องดำเนินการตามมาตรฐาน การให้บริการเกี่ยวกับเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์
แนบท้ายประกาศแพทยสภา ที่ 1/2540 (ลงวันที่ 22 ตุลาคม 2540) ซึ่งกำหนดรายละเอียดเกี่ยวกับคณะบุคคลที่จะกระทำการโดยใช้เทคโนโลยีดังกล่าว รายละเอียดเกี่ยวกับสถานที่ เครื่องมือ การควบคุมคุณภาพและจริยธรรม การบันทึกทางการแพทย์ และใบยินยอม94
ข) สิทธิและหน้าที่ในฐานะผู้ทำวิจัย
โดยที่การทำวิจัยมิได้อยู่ในความหมายของการประกอบวิชาชีพเวชกรรม95 ดังนั้น การนำเทคโนโลยีช่วยเจริญพันธุ์มาใช้จึงต้องพิจารณาในเบื้องต้นก่อนว่า เรื่องที่ทำอยู่นั้นเป็นการประกอบวิชาชีพเวชกรรมหรือไม่ ถ้าอยู่ในขอบเขตของการประกอบวิชาชีพเวชกรรมแพทย์ย่อมจะสามารถทำได้อยู่แล้วภายใต้กฏเกณฑ์ของแพทยสภาดังกล่าว แต่หากเป็นเรื่องใหม่ที่วงการแพทย์
ยังไม่ได้ยอมรับให้ทำได้เป็นการทั่วไป ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมจะต้องทำเป็นโครงการวิจัยและเสนอเรื่องผ่านคณะกรรมการจริยธรรมการวิจัยในคนซึ่งมีอยู่ในแต่ละสถาบัน
คณะกรรมการจริยธรรมการวิจัยในคน จะเป็นผู้พิจารณารายละเอียดในแต่ละโครงการว่ามีความเหมาะสมที่สมควรอนุมัติหรือไม่ โดยคำนึงถึงอันตรายหรือความเสี่ยงที่บุคคลนั้นจะได้รับ (balancing harms and benefits) และยึดถือหลักความเที่ยงธรรม (fairness) และความเสมอภาค (equity) อีกทั้งจะต้องอธิบายให้ผู้เข้าร่วมโครงการได้ทราบรายละเอียดทั้งหมด เพราะถือเป็นสิทธิที่เขาจะต้องรับรู้ (right to know) เพื่อที่จะสามารถตัดสินใจได้ว่าจะเข้าร่วมโครงการหรือไม่ (right to self-determination) ทั้งนี้เป็นไปตามหลักความยินยอมที่ได้รับการบอกกล่าวที่เรียกว่า “Informed Consent” อนึ่ง แม้ในขณะนี้ประเทศไทยจะยังไม่มีพระราชบัญญัติเกี่ยวกับการวิจัยในคนโดยเฉพาะ แต่ก็ได้ยึดถือหลักสากลคือ Declaration of Helsinki (2000) และ International Ethical Guideline for Biomedical Research Involving Human Subjects (1993) ตลอดจนกฏเกณฑ์ที่สถาบันต่าง ๆ ได้กำหนดขึ้นพัฒนาการทางด้านวิทยาศาสตร์ ในมุมหนึ่งนับเป็นเรื่องที่น่าชื่นชม ที่สติปัญญาของมนุษย์สามารถคิดค้นสิ่งใหม่ ๆ เพื่อนำมาแก้ปัญหาที่มนุษย์กำลังประสบอยู่ แต่การก้าวไปในหนทางนั้น ก็จะต้องใช้ความระมัดระวัง สิ่งที่มนุษย์ทำได้กับสิ่งที่มนุษย์ควรทำควรได้รับการพิจารณาควบคู่กันไป
บทสรุป การใช้ความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์โดยชอบ
หลักพุทธศาสนาสอนให้เห็นสิ่งทั้งหลายทั้งปวงด้วยปัญญาอันชอบตามที่เป็นจริง
(ยาถาภูตํ สมมปปญญาย ปสสติ) การรู้ความจริงจะทำให้ก้าวไปในหนทางที่ถูกต้อง การใช้เทคโนโลยีต่าง ๆ จึงจะดูเฉพาะด้านที่เป็นประโยชน์อย่างเดียวไม่ได้ เพราะอาจจะมีมุมอื่น ๆ อีก
ที่เรายังไม่รู้ เมื่อไม่รู้ก็ไม่เกิดความกลัวถึงผลกระทบหรือผลร้ายที่เกิดขึ้น ข้อที่ควรตระหนักก็คือ การก้าวไปข้างหน้าด้วยความไม่รู้ เลยทำให้ไม่กลัว เป็นการก้าวไปที่อันตรายอย่างยิ่ง
การใช้เทคโนโลยีเจริญพันธุ์เพื่อประโยชน์ของมนุษย์และสังคมเองต้องอยู่ในกรอบของความสมเหตุสมผลและขึ้นอยู่กับการยอมรับของสังคมที่เกี่ยวข้องซึ่งอาจมีลักษณะที่แตกต่างกันไปตามวัฒนธรรม ศาสนา ระบบกฎหมาย รวมถึงข้อพิจารณาอื่นๆทางสังคมวิทยา การปรับปรุงกฎหมายหรือการยกร่างกฏหมายเฉพาะเพื่อให้การรับรองหรือกำหนดกฎเกณฑ์ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจากความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจึงเป็นเรื่องที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ ซึ่งจะต้องอาศัยความร่วมมือของทุกฝ่าย เพราะเรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องที่ต้องอาศัยองค์ความรู้ในศาสตร์หลายสาขาเพื่อให้กฎหมายที่ออกมาสามารถปฏิบัติได้
—————————————
94 ดูรายละเอียดมาตรฐานการให้บริการเกี่ยวกับเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ได้ในภาคผนวก
95 พระราชบัญญัติวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ.2525 มาตรา 4 ได้ให้ความหมายของการประกอบวิชาชีพเวชกรรมไว้ว่า
“วิชาชีพเวชกรรม” หมายความว่า วิชาชีพที่กระทำต่อมนุษย์เกี่ยวกับการตรวจโรค การวินิจฉัยโรค การบำบัดโรค การป้องกันโรค การผดุงครรภ์ การปรับสายตาด้วยเลนส์สัมผัส การแทงเข็มหรือการฝังเข็มเพื่อบำบัดโรคหรือเพื่อระงับความรู้สึก และหมายความรวมถึงการกระทำทางศัลยกรรม การใช้รังสี การฉีดยา หรือสสาร และสอดใส่วัตถุใด ๆ เข้าไปในร่างกาย ทั้งนี้เพื่อการคุมกำเนิด การเสริมสวย หรือการบำรุงร่างกายด้วย
“โรค” หมายความว่า ความเจ็บป่วย การบาดเจ็บ ความผิดปกติของร่างกายหรือจิตใจ และหมายความรวมถึงอาการที่เกิดจากภาวะดังกล่าวด้วย
“ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม” หมายความว่า บุคคลซึ่งได้ขึ้นทะเบียนและรับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมจากแพทยสภา