เมื่อพิจารณากรณีตัวอย่างของประเทศที่อนุญาตให้ใช้เทคโนโลยีเหล่านี้ก็จะพบว่ามีคดีความที่ซับซ้อนเกิดขึ้นและนำไปสู่การศึกษาและปรับปรุงแก้ไขกฎหมายให้ครอบคลุมและรองรับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจากการปฏิสนธิเทียม สำหรับประเทศไทยซึ่งเริ่มมีการนำเทคโนโลยีเจริญพันธุ์มาใช้ก็อยู่ในสถานการณ์ที่ไม่แตกต่างจากประเทศอื่นๆ กล่าวคือกฎหมายที่ใช้อยู่ยังไม่อาจนำมาปรับใช้กับกรณีได้อย่างเพียงพอ เนื่องจากมีปัญหากฎหมายที่ยุ่งยากในหลายประเด็นที่สมควรปรับปรุงให้ทันสมัย เกิดความชัดเจนและเป็นธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องที่สำคัญซึ่งได้แก่ ปัญหากฎหมายเกี่ยวกับสถานะของเซลสืบพันธุ์และของตัวอ่อนตลอดจนการคุ้มครองตัวอ่อน ปัญหากฎหมายเกี่ยวกับความสัมพันธ์ทางครอบครัวระหว่างเด็กที่เกิดจากการปฏิสนธิเทียมกับบุคคลที่เกี่ยวข้องต่างๆ และปัญหาเกี่ยวกับสิทธิต่างๆของบุคคลที่เกี่ยวข้อง กล่าวคือ เด็ก ผู้ใช้อำนาจปกครอง และบุคลากรทางการแพทย์ ดังจะได้วิเคราะห์ต่อไปนี้
บทที่ 1
ปัญหากฎหมายเกี่ยวกับเซลสืบพันธุ์ ตัวอ่อนและสภาพบุคคลของตัวอ่อนตลอดจนการคุ้มครองตัวอ่อน ปัญหากฎหมายประการแรกในเรื่องนี้คือสถานะของเซลสืบพันธุ์(ไข่ อสุจิ) และโดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาสถานะของตัวอ่อนที่ปฏิสนธิขึ้นจากการใช้เทคโนโลยีช่วยเจริญพันธุ์ซึ่งควรได้รับการคุ้มครองบางประการเนื่องจากมีศักยภาพที่จะกลายเป็นมนุษย์ โดยขอบเขตของความคุ้มครองย่อมแตกต่างกันออกไปขึ้นอยู่กับสถานภาพของตัวอ่อนที่กำหนดไว้ ดังนั้นจึงจำต้องวิเคราะห์สถานะทางกฎหมายและแนวทางต่างๆในการจัดการกับตัวอ่อนตามลำดับ
1. สถานะทางกฎหมายของตัวอ่อน ไข่และอสุจิ และปัญหากรณีการซื้อขายหรือให้
การพิจารณากำหนดสถานะทางกฏหมายของเซลสืบพันธุ์และตัวอ่อนจะช่วยให้ทราบแนวทางในการปฏิบัติรวมถึงขอบเขตในการให้ความคุ้มครองอย่างเหมาะสมและแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นได้โดยเฉพาะเรื่องการซื้อขายหรือยกให้ ดังจะได้วิเคราะห์ต่อไปนี้
1.1 สถานะทางกฎหมาย
ก) สภาพปัญหา
สถานะของของอสุจิ ไข่และตัวอ่อนมีความสำคัญในแง่กฎหมายเป็นอย่างยิ่ง โดยที่มีปัญหาถกเถียงในการกำหนดว่าสิ่งเหล่านี้มีสถานะเป็น ทรัพย์ บุคคล หรือมีสถานะระหว่างสองประเภทข้างต้น การกำหนดสถานะอย่างใดอย่างหนึ่งย่อมทำให้การคุ้มครองทางกฎหมายแตกต่างกันออกไป ดังนั้นผลทางกฎหมายที่ตามมาก็แตกต่างกันออกไปด้วย ทั้งในแง่ของระดับการให้ความคุ้มครอง ตัวบุคคลของผู้มีสิทธิในการดำเนินการกับสิ่งเหล่านี้ รวมถึงสิทธิที่มีต่อตัวอ่อนและเด็กที่จะเกิดขึ้นด้วย
ปัญหากฎหมายในทางปฏิบัติในเรื่องนี้อาจเกิดขึ้นได้ในหลายสถานการณ์โดยเฉพาะสำหรับกรณีของตัวอ่อน ดังตัวอย่างในต่างประเทศ เช่น เมื่อผู้เป็นต้นกำเนิดของตัวอ่อนถึงแก่กรรม ตัวอ่อนจะถือเป็นทรัพย์มรดกหรือมีสถานะของบุคคลทางกฎหมาย นอกจากนี้ก็ยังมีปัญหาเรื่องกรรมสิทธิในตัวอ่อนระหว่างสามีเจ้าของอสุจิและภรรยาเจ้าของไข่ซึ่งหย่าร้างกัน ยิ่งกว่านั้นการคุ้มครองตัวอ่อนจากการจัดการต่างๆเช่นทดลอง เก็บรักษา รวมถึงการทำลายก็ย่อมแตกต่างกันไปตามระดับของการยอมรับสถานะของตัวอ่อนเองด้วย
ข) กรณีของประเทศไทยและสภาพปัญหาตามกฎหมายไทย
ประการแรก ในแง่ของทรัพย์สินตามกฎหมายไทย
ในส่วนที่เกี่ยวกับไข่หรืออสุจิเมื่อยังเป็นส่วนหนึ่งของร่างกายไม่มีฐานะเป็นทรัพย์ แต่เมื่อหลุดพ้นจากร่างกายอาจถือเอาได้จึงเป็นทรัพย์
สำหรับตัวอ่อนถือได้ว่าเป็นทรัพย์ชนิดหนึ่งเนื่องจากอาจถือเอาได้และเป็นวัตถุแห่งสิทธิ(object of right)ได้ แต่จัดเป็นทรัพย์นอกพาณิชย์(res extra commercium)จึงไม่สามารถซื้อขายกันได้ ดังนั้นปัญหาที่ตามมาคือเรื่องการอ้างสิทธิเหนือตัวอ่อนซึ่งก่อให้เกิดความยุ่งยากในสถานการณ์ต่างๆกัน กล่าวคือ
ในกรณีที่ต้องการกำหนดว่ากรรมสิทธิในตัวอ่อนที่เกิดจากการปฏิสนธินอกร่างกายตกเป็นของสามีหรือภรรยาก็อาจต้องวิเคราะห์ว่าเป็นสินส่วนตัวหรือสินสมรสซึ่งคำตอบที่ได้ก็ย่อมขึ้นอยู่กับข้อเท็จจริงหลายประการ และย่อมเป็นเงื่อนไขในการกำหนดต่อไปว่าการจัดการกับตัวอ่อนต้องให้รับความยินยอมหรืออาจดำเนินการได้โดยลำพัง นอกจากนี้ ยังมีปัญหายุ่งยากในทางปฏิบัติในสถานการณ์อื่นๆอีก เช่นกรณีการสมรสระหว่างบุคคลที่เกี่ยวข้องสิ้นสุดลงไม่ว่าโดยการตายหรือการหย่าร้าง หรือตกเป็นโมฆะ รวมถึงปัญหาเกี่ยวกับการตกเป็นทรัพย์มรดก65
ดังนั้น แม้กฎหมายไทยจะมีบทบัญญัติในเรื่องการจัดการทรัพย์สินในกรณีต่างๆไว้ แต่ก็เป็นการดำเนินการในฐานะทรัพย์ซึ่งไม่เหมาะสมและเพียงพอสำหรับกรณีของตัวอ่อนและเซลสืบพันธุ์ที่อาจพิจารณาได้ในอีกแง่มุมว่ามีสถานะเป็นสิ่งมีชีวิตที่มีศักยภาพในการพัฒนาเป็นมนุษย์ในโอกาสต่อไปด้วย ดังนั้นจึงควรแก้ไขให้ชัดเจนและรองรับปัญหาใหม่
——————————————
65 James E.BAILEY,”An analytical Framework for resolving the issues raised by the interaction between reproductive technology and the law of inheritance”, DePaul Law Review, Summer, 1998, pp.811-814.