อุ้มบุญ (8) หลักกฎหมายที่เกี่ยวข้อง (ต่อ)

ก) หลักกฎหมายที่คัดค้านการใช้เทคโนโลยีช่วยเจริญพันธุ์

(1) การละเมิดหลักศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

ในด้านของความหมายของหลักศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับปัจจุบัน พ.ศ. 2540 ได้กล่าวถึงหลักศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ไว้22 ซึ่งอาจมีความหมายแตกต่างแตกต่างกันออกไปได้23

ความหมายแรก หลักการดังกล่าวเป็นคุณค่าอันมีลักษณะเฉพาะและเป็นคุณค่าที่มีความผูกพันอยู่กับความเป็นมนุษย์ ซึ่งบุคคลในฐานะที่เป็นมนุษย์ทุกคนได้รับคุณค่าดังกล่าว โดยไม่คำนึงถึงเพศ เชื้อชาติ ศาสนา วัย หรือคุณสมบัติอื่นๆ ของบุคคล จากความหมายนี้คำว่า “ศักดิ์ศรี” จึงเป็นคุณค่าเฉพาะตัวของมนุษย์ (อ้างถึง Klaus Stern, Das Staatsrecht de Bundesrepublik Deutschland, Band II/2, Allgemeine Lehren der Grundrechte, S.1113.)

ความหมายที่สอง การแสดงออกถึงการสร้างปริมณฑลของความเป็นอิสระของปัจเจกชนให้กว้างที่สุดเท่าที่จะทำได้ และใช้ประโยชน์จากปริมณฑลดังกล่าวเพื่อการดำรงไว้ซึ่งชีวิตมนุษย์ เพื่อปรับปรุงสภาพชีวิตให้ดีขึ้น โดยวิธีพัฒนาขีดความสามารถของมนุษย์ให้บรรลุเป้าหมายที่กำหนดไว้ (อ้างถึงความเห็นของ W. Maihofer และ R.F. Behrendt ซึ่งอ้างจาก Albert Blechmann, Staatsrecht II – Die Grundrechte, 4 Aufl., 1997, S.543.)

ความหมายทั้ง 2 ประการข้างต้น มีผลต่อการชี้ขาดว่า ขอบเขตการคุ้มครองศักดิ์ศรีฯ สามารถกำหนดได้หรือไม่ ในความหมายแรกที่เน้น “คุณค่า” ตามธรรมชาติของความเป็นมนุษย์ สอดคล้องตามปรัชญาของ Kant และสำนักกฎหมายธรรมชาติ ส่วนความหมายข้อหลัง กลับเน้นพิจารณาความสามารถของมนุษย์ทางข้อเท็จจริง หรือเจตจำนงของแต่ละบุคคล ซึ่งอาจเป็นปัญหาในกรณีผู้ไร้ความสามารถ หรือมิอาจแสดงเจตนาได้ด้วยตนเอง24 สำหรับ นักนิติศาสตร์ไทยมิได้ให้ความหมายที่ชัดเจน แต่ถึงอย่างไรก็ตาม อาจสรุปได้ว่าศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์คือ คุณค่าที่ผูกพันอยู่กับความเป็นมนุษย์ดังนั้นบุคคลทั้งหลายในฐานะที่เป็นมนุษย์จึงมีคุณค่าดังกล่าวด้วย โดยไม่คำนึงถึงเพศ เชื้อชาติ ศาสนา วัย หรือคุณสมบัติอื่นๆของบุคคล คำว่าศักดิ์ศรีจึงหมายรวมถึง “คุณค่า” ตามธรรมชาติของตัวมนุษย์

อนึ่ง หลักศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และสิทธิมนุษยชนมีความเกี่ยวข้องกันอย่างใกล้ชิด เพราะต่างมีเป้าหมายเดียวกันคือ มุ่งจะสร้างความสงบและสันติสุขให้เกิดขึ้นและดำรงอยู่ในสังคมมนุษย์ตลอดไป ดังจะเห็นได้จากคำปรารภใน “ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ค.ศ.1948” 25 จึงดูเหมือนว่าไม่แตกต่างจากเรื่องของศีลธรรมแต่อย่างใด26 ฉะนั้น ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์จึงเป็นทั้งจุดกำเนิดและจุดหมายแห่งสิทธิมนุษยชน ศักดิ์ศรีฯ และความเสมอภาคกันระหว่างมนุษย์ เป็นคุณค่าที่ไม่อาจโอนแก่กันได้27

– สำหรับขอบเขตและ ลักษณะของศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์นั้น David Feldman จำแนกศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ออกเป็น 3 ระดับ28 ดังนี้

ระดับแรก ศักดิ์ศรีฯ ของเผ่าพันธุ์มนุษย์ที่ย่อมแตกต่างจากเผ่าพันธุ์อื่นหรือสัตว์อื่น มนุษย์ย่อมมีสถานะที่เหนือกว่าเสมอ จึงห้ามการทำละเมิดต่อ human integrity ตัวอย่างของบทบัญญัติกฎหมายที่ได้รับอิทธิพลเรื่องนี้คือ กฎหมายที่ห้ามการถือครองกรรมสิทธิ์ในร่างกายมนุษย์ กฎหมายควบคุมการปฏิสนธิเทียม

ระดับที่สอง ศักดิ์ศรีฯ ของกลุ่มที่อยู่ในเผ่าพันธุ์มนุษย์ด้วยกัน กล่าวคือไม่ควรมีการเลือกประติบัติระหว่างมนุษย์ที่อยู่ต่างกลุ่มหรือสังคม เช่น คนที่มีเชื้อพันธุ์หรือสีผิว หรือเพศต่างกัน

ระดับที่สาม ศักดิ์ศรีฯ ของปัจเจกชน กฎหมายที่เกี่ยวข้องคือ การหมิ่นประมาท, การให้อำนาจหรือสิทธิที่จะตัดสินใจใดๆ ที่จะมีผลกระทบต่อชีวิต ร่างกายของปัจเจกชน

จากการจำแนกประเภทข้างต้น การพิจารณาศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์อาจกระทำได้ทั้งใน เชิงอัตวิสัย และเชิงภาวะวิสัย29  ขึ้นอยู่กับมุมมองในการวิเคราะห์ดังนี้

– มุมมองในเชิงอัตวิสัย เป็นการพิจารณาถึงคุณค่าของตนเอง (self-worth) ความรับผิดชอบ หรือการยอมรับผลแห่งการกระทำ การตัดสินใจของตนเอง (ศักดิ์ศรีฯ ระดับที่สาม และที่สอง)

– มุมมองในเชิงภาวะวิสัย เป็นมุมมองของรัฐหรือบุคคลอื่นที่มีต่อปัจเจกชนหรือกลุ่มคน รัฐหรือสังคมได้วางบรรทัดฐานหรือความเชื่อไว้ บางกรณีปัจเจกชนอาจต้องยินยอมสูญเสียศักดิ์ศรีในเชิงอัตวิสัย (ศักดิ์ศรีฯ ระดับที่หนึ่ง และระดับที่สอง)

————————————————-

22 กรุณาดู อุดม รัฐอมฤต, นพนิธิ สุริยะ และบรรเจิด สิงคะเนติ, การอ้างศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ หรือใช้สิทธิและเสรีภาพของบคุคคลตามมาตรา 28 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 (กรุงเทพมหานคร:สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ,2544).

23 บรรเจิด สิงคะเนติ, หลักพื้นฐานของสิทธิเสรีภาพและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540. (กรุงเทพมหานคร: วิญญูชน, 2543), หน้า 85-86.

24 บรรเจิด สิงคะเนติ, หลักพื้นฐานของสิทธิเสรีภาพและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540. อ้างแล้ว, หน้า 94. ซึ่งอ้างความเห็นของ Pieroth and Schlink, Grundrechte-Staatsrecht II, 9 Aufl., Heidelberg,1993.,S.88

25 “Whereas recognition of the inherent dignity and of the equal and inalienable rights of all members of the human family is the foundation of freedom,justice and peace in the world,…” ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่ลงนามรับรองปฏิญญาฯ ตามมติที่ 217 A (III) แต่ก็มีได้ให้สัตยาบันไว้ แต่ก็ได้นำหลักการในปฏิญญามาปฏิบัติในระยะเวลาหนึ่ง จนมีผลผูกพันในฐานะที่เป็นกฎหมายจารีตประเพณีระหว่างประเทศ และกรุณาดู The Universal Declaration of Human Rights: A Magna Carta for all humanity ใน http://WWW.unhchr.ch/udhr/miscinfo/carta.htm

26 อุดม รัฐอมฤต, นพนิธิ สุริยะ และบรรเจิด สิงคะเนติ, การอ้างศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ หรือใช้สิทธิ์และเสรีภาพของบุคคลตามมาตรา 28 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 (กรุงเทพมหานคร: สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ,2544), หน้า 22-23,312.

27 อุดม รัฐอมฤต, นพนิธิ สุริยะ และบรรเจิด สิงคะเนติ, การอ้างศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ หรือให้สิทธิและเสรีภาพของบุคคลตามมาตรา 28 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540, อ้างแล้ว, หน้า 306.

28 David Feldman, “Human Dignity as a Legal Value-Part 1″, Public Law (1999), p.684.

29 David Feldman, Human Dignity as a Legal Value-Part 1” , pp.685-686.