– การปฏิสนธินอกร่างกาย (in vitro fertilization IVF) หรือที่เรียกกันในภาษา
ชาวบ้านว่า เด็กหลอดแก้ว วิธีการก็คือ การนำไข่และอสุจิมาผสมกันในหลอดแก้ว แล้วนำไปฝังตัวในมดลูกของหญิงที่เป็นแม่คือหญิงที่เป็นเจ้าของไข่
– การเคลื่อนย้ายเซลสืบพันธุ์เข้าไปในท่อนำไข่ (gamete intra fallopian transfer-GIFT,
Zygote intra fallopian transfer-ZIFT) การปฏิสนธิเทียมด้วยวิธีการดังกล่าวที่นิยมทำกันก็คือ การทำ GIFT ซึ่งหมายถึงการตั้งครรภ์โดยการนำไข่ออกมานอกร่างกายของหญิง แล้วนำเชื้ออสุจิมาผสมรวมกันแล้วฉีดเข้าไปในท่อนำไข่หรือหลอดมดลูกของหญิง อีกวิธีหนึ่งคือ การทำ ZIFT คือการตั้งครรภ์โดยการนำไข่
ออกมานอกร่างกายของหญิง แล้วนำเชื้ออสุจิมาทำให้เกิดการปฏิสนธิจนเป็นตัวอ่อนแรกเริ่ม แล้วฉีดเข้าไปในหลอดมดลูก
– การปฏิสนธินอกร่างกายโดยวิธีฉีดเชื้ออสุจิเข้าไปในไข่ (Intra Cytoplasmic Sperm Injection – ICSI) หมายถึงการฉีดเชื้ออสุจิเข้าไปในไข่ ซึ่งอยู่ภายนอกร่างกายเพื่อให้เกิดการปฏิสนธิเป็นตัวอ่อน3 แล้วนำตัวอ่อนเข้าไปไว้ในโพรงมดลูกของหญิง เพื่อให้ตั้งครรภ์
-นอกจากวิธีดังกล่าว ยังมีการช่วยเจริญพันธุ์อีกแบบหนึ่งโดยวิธีนำ Cytoplasm จำนวนหนึ่งจากไข่ของหญิงมาใส่ในไข่ของหญิงอีกคนหนึ่งเพื่อช่วยปฏิสนธิ และการเจริญเติบโตของตัวอ่อน
– การตั้งครรภ์แทน (Surrogate mother) หมายถึงการตั้งครรภ์โดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ โดยหญิงผู้ตั้งครรภ์มีเจตนาหรือข้อตกลงไว้ก่อนตั้งครรภ์ที่จะให้ทารกในครรภ์นั้นเป็นบุตรหรืออยู่ในอำนาจปกครองของผู้อื่น
2. สาเหตุและความจำเป็นในการปฏิสนธิเทียม
สาเหตุและความจำเป็นที่ต้องนำวิธีการปฏิสนธิเทียมหรือการใช้เทคโนโลยีช่วยเจริญพันธุ์
มาใช้ในทางการแพทย์อาจสรุปได้ว่า มาจากเหตุผลสำคัญ 2 ประการ คือ ประการแรกเป็นการสนองความต้องการมีบุตรของผู้ที่มีบุตรยาก และเหตุผลประการที่สองที่ต้องการพัฒนาการค้นคว้าวิจัยทางการแพทย์ให้ก้าวหน้าต่อไป เหตุปัจจัย 2 ประการดังกล่าวนี้ หากกระทำในขอบเขตที่เหมาะสมย่อมจะก่อให้เกิดประโยชน์ แต่หากกระทำโดยไม่คำนึงถึงข้อที่อาจเกิดความเสียหายอื่น ๆ ประกอบ ย่อมจะก่อให้เกิดปัญหาตามมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้การจะใช้เทคโนโลยีช่วยเจริญพันธุ์ จึงต้องทำความเข้าใจเหตุผลและรายละเอียดในแต่ละกรณีดังนี้
2.1 การสนองความต้องการมีบุตร
ความต้องการมีบุตรไว้สืบสกุล เป็นสาเหตุสำคัญที่คู่สมรสได้ฝากความหวังไว้กับแพทย์ที่จะช่วยให้สมประสงค์ อาจกล่าวได้โดยความคิดของคนทั่ว ๆ ไป การมีบุตรเป็นส่วนประกอบสำคัญของชีวิตสมรสและความเป็นครอบครัว บางครอบครัวกังวลมากกับการไม่มีบุตรและเป็นความรู้สึกที่เป็นทุกข์ จึงมีการเสาะแสวงหาวิธีการต่าง ๆ ที่จะช่วยให้เกิดการตั้งครรภ์ตามความเชื่อและวัฒนธรรมในแต่ละชนชาติและชุมชน ดังเช่นการทำพิธีกรรมและบนบานกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ แต่เมื่อวิทยาศาสตร์ได้ก้าวหน้าขึ้น การตั้งครรภ์โดยวิธีปฏิสนธิเทียมด้วยวิธีการต่าง ๆ จึงได้รับการพัฒนาและนำมาช่วยให้มีบุตร แต่การสนองความต้องการดังกล่าว ก็จะต้องกระทำในขอบเขตที่เหมาะสม โดยคำนึงถึงปัจจัยหลายประการ เป็นต้นว่า อายุ ฐานะทางเศรษฐกิจ และข้อที่จะต้องคำนึงอย่างมากก็คือ ความสำเร็จหรือความเป็นไปได้ ตลอดจนปัญหาทางด้านกฎหมายและจริยธรรมที่ควรจะเป็น
จากรายงานของ รศ.น.พ.สมชาย สุวจนกรณ์ พบว่า4 การทำปฏิสนธินอกร่างกายซึ่งอาจจะเป็นการปฏิสนธิตามปกติหรือการใช้วิธีการช่วยปฏิสนธิ (ICSI) จะสามารถช่วยแก้ปัญหาคู่สมรสนั้น ๆ ได้ อย่างไรก็ตามความสำเร็จในการรักษาด้วยวิธีนี้ยังอยู่ที่ประมาณร้อยละ 20-40 ขึ้นอยู่กับสถาบันแต่ละสถาบันที่รายงาน ทั้งนี้ปัจจัยที่จะเป็นตัวกำหนดอัตราความสำเร็จมีมากมายหลายปัจจัย แต่สามารถแยกออกได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่ ๆ คือ
1. ปัจจัยทางด้านคลีนิค อันได้แก่คู่สมรสเอง การเตรียมคู่สมรส วิธีการและขั้นตอนในการรักษา ตลอดจนการใช้และเลือกขนาดยาที่เหมาะสม
2. ปัจจัยทางด้านห้องปฏิบัติการ ถือเป็นปัจจัยที่มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนกว่าปัจจัยทางด้านคลีนิค ซึ่งต้องการความพร้อมทั้งทางด้านบุคลากร อุปกรณ์ การควบคุมคุณภาพ ตลอดจนทักษะที่เกี่ยวข้องกับการเพราะเลี้ยงตัวอ่อน ที่จะทำให้มีโอกาสประสบความสำเร็จสูง
——————————————————–
1 ในทางการแพทย์ เคยใช้วิธีการผสมเทียม หมายถึง การฉีดเชื้ออสุจิเข้าไปในอวัยวะสืบพันธุ์ภายในของหญิง เพื่อให้หญิงนั้นตั้งครรภ์ ไม่ว่าจะโดยใช้เชื้ออสุจิเข้าไปอยู่ในช่องคลอด ปากมดลูก โพรงมดลูกหรือท่อนำไข่ ส่วนการปฏิสนธินอกร่างกาย หมายถึง การนำเชื้ออสุจิและไข่ออกจากร่างกายของชายและหญิงมาทำให้เกิดการปฏิสนธิจนเป็นตัวอ่อน
2 ปัจจุบันทางสำนักงานส่งเสริมสวัสดิภาพและพิทักษ์เด็ก เยาวชน ผู้ด้อยโอกาส คนพิการและผู้สูงอายุ โดยอนุกรรมการปรับปรุงกฎหมายเกี่ยวกับเด็กตามมาตรฐานของรัฐธรรมนูญและอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก กำลังยกร่าง พ.ร.บ.การตั้งครรภ์โดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์
3 ตัวอ่อนแรกเริ่ม หมายถึงตัวอ่อนของมนุษย์ตั้งแต่ปฏิสนธิแล้ว แต่ยังไม่มีการแบ่งเซลล์ หากนับตั้งแต่ปฏิสนธิไปจนถึงแปดสัปดาห์เรียกว่า ตัวอ่อน(embryo) ถ้าตัวอ่อนที่มีอายุเกินกว่า 8 สัปดาห์ เรียกว่า ทารก (fetus)
4 สมชาย สุวจนกรณ์, Increased success rate in IVF: clinical aspect, เอกสารการอบรมระยะสั้น เวชศาสตร์การเจริญพันธุ์ ครั้งที่ 2, จัดโดยชมรมเวชศาสตร์การเจริญพันธ์ุแห่งประเทศไทยร่วมกับราชวิทยาลัยนสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย (31 มี.ค.-1 เม.ย.2546), น.1.