3-6 ปีแรก ถือเป็นช่วงสำคัญที่สุดของการสร้างความคิดสร้างสรรค์และในทำนองเดียวกันก็นับว่าเป็นช่วงอันตรายที่สุดเช่นกันหากไปสกัดกั้นความคิดสร้างสรรค์ของเด็กเพราะนั่นอาจเหมายถึงการไปปิดโอกาสในการพัฒนาการเรียนรู้ของเด็กเลยก็เป็นได้ ดังนั้น บุคคลที่มีความเกี่ยวข้องกับเด็ก ไม่ว่าจะเป็นพ่อ แม่ ผู้เลี้ยงดูเด็ก ครู บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขและผู้ที่เกี่ยวข้องในระบบริการสาธารณสุข ผู้ส่งเสริมพัฒนาการเด็กปฐมวัย ผู้บริหาร ผู้กำหนดนโยบายของภาครัฐและบุคคลใดก็ตาม ควรให้ความสำคัญอย่างมากในการส่งเสริมให้เด็กได้ใช้กระบวนการคิดสร้างสรรค์อย่างเต็มความสามารถ โดยให้เด็กได้แก้ปัญหาด้วยตนเอง ได้แสดงออกในความเป็นตัวเองและได้ใช้จินตนาการอย่างเต็มที่ โดยสามารถใช้กิจกรรมดนตรีและการเคลื่อนไหวเป็นตัวผลักดันให้เด็กได้ฝึกกระบวนการคิดสร้างสรรค์ เพราะเป็นกิจกรรมที่เด็กชอบเพราะสนุกและปฏิบัติง่าย เป็นกิจกรรมที่สะดวกต่อการสอนของคุณครูเพราะไม่ต้องใช้อุปกรณ์ (เช่น การร้องเพลง การเต้น) และยังเป็นกิจกรรมที่มีผลต่อการกระตุ้นความคิดสร้างสรรค์ของเด็กได้มากที่สุดเพราะเด็กสามารถใช้ความคิดสร้างสรรค์อย่างอิสระโดยไม่จำกัดและไม่ถูกหรือผิด
ตามปกติแล้วระบบการทำงานทางด้านของประสาทจะทำงานได้ไม่ดีหากเด็กผ่านช่วงอายุ 11 ปีไปแล้ว แต่ระบบประสาทนี้จะยังถูกกระตุ้นได้ต่อไปหากใช้ดนตรีเป็นเครื่องมือ เพราะดนตรีมีจังหวะที่สูงต่ำ สามารถช่วยกระตุ้นให้ประสาทสัมผัสต่าง ๆ ยังทำงานได้ ซึ่งจะส่งผลต่อพัฒนาการเรียนรู้และความคิดสร้างสรรค์ของเด็กโดยตรง ดังนั้นจึงต้องให้เด็กได้รับประสบการณ์ทางดนตรีแบบองค์รวม คือต้องให้เด็กได้ฟัง ได้ร้องเพลง ได้เล่นดนตรี ได้สร้างสรรค์บทเพลง ได้เคลื่อนไหวร่างกายอย่างอิสระ สามารถแสดงออกตามแบบและตามจินตนาการของตัวเอง เพื่อให้เกิดกระบวนการเรียนรู้และสร้างสรรค์อย่างต่อเนื่องนั่นเอง
ปัจจุบันมีสื่อและอุปกรณ์มากมายที่เกี่ยวข้องกับดนตรีและการเคลื่อนไหวที่สามารถนำมาใช้พัฒนาความคิดสร้างสรรค์ของเด็กได้ เช่น นิทานดนตรี ทั้งนิทานและดนตรีเป็นสิ่งที่เด็กชอบและก่อเกิดประโยชน์ต่อพัฒนาการการเรียนรู้ของเด็กในทุกด้าน ทั้งภาษา การเคลื่อนไหว การร้องเพลงและการใช้ความคิดสร้างสรรค์ เราสามารถนำนิทานพื้นบ้านหรือนิทานที่ได้รับการคัดเลือกของมูลนิธิเด็กมาใส่จังหวะดนตรีง่าย ๆ จากธรรมชาติประกอบเนื้อหาการเล่านิทาน เช่น การเคาะนิ้วมือ ตัวกบ ไม้ระนาดเล็ก ทำออกมาเป็นสื่อการเรียนรู้สำหรับเด็กและมีคู่มือกิจกรรมสำหรับคุณพ่อคุณแม่หรือคุณครูประกอบ เพื่อให้เด็กและผู้ใหญ่ได้มีส่วนร่วมในการอ่าน การเล่น การฟัง การร้องและการเต้นด้วยกันช่วยให้เกิดการบูรณาการการเรียนรู้ได้เป็นอย่างดี
กิจกรรมดนตรีสำหรับเด็กจะแสดงออกได้หลายรูปแบบ ทั้งการฟัง การร้องเพลง การเคลื่อนไหวและจังหวะ การเล่นเครื่องดนตรี การอ่านสัญลักษณ์หรือโน้ตดนตรีและการสร้างสรรค์ทางด้านดนตรี สิ่งที่ควรคำนึงถึงในการทำกิจกรรมกับเด็กคือ ไม่ใช่สอนให้เด็กเล่นดนตรีเก่งหรือเล่นดนตรีได้ เพราะเช่นนี้สามารถไปหาเรียนเสริมได้ตามโรงเรียนดนตรีทั่วไปอยู่แล้ว แต่ควรต้องสอนให้เด็กเกิดความสุขเวลาที่ได้หยิบจับเครื่องดนตรี เวลาได้เต้นรำ เวลาได้ร้องเพลง และสอนให้เด็กรู้จักสร้างสรรค์ผลงานต่าง ๆ ด้วยความพึงพอใจของตัวเด็กเอง
การทำกิจกรรมดนตรีให้ได้ผลดีและเกิดประโยชน์แก่เด็ก ต้องทำให้เด็กมีความสุขที่ได้ทำกิจกรรมนั้น โดยมุ่งเน้นให้เด็กได้ทำในสิ่งที่ชอบและเป็นตัวของตัวเอง เพื่อเขาจะได้เกิดความภาคภูมิใจในผลสำเร็จที่เกิดจากการคิดสร้างสรรค์ผลงานของเขา ซึ่งทำให้เด็กได้มีจิตสำนึกในศักดิ์ศรีและเห็นคุณค่าความเป็นคนของตนเอง และมุ่งเน้นให้เด็กได้มีส่วนร่วมในการทำกิจกรรมดนตรีกับผู้อื่นทั้ง พ่อ แม่ ครูหรือเพื่อนที่อยู่ในวัยเดียวกัน เพื่อให้เกิดกระบวนการคิดสร้างสรรค์ที่หลากหลายมากขึ้น ซึ่งแน่นอนว่าเมื่อเด็กได้ทำกิจกรรมที่ชอบร่วมกับคนที่มีวัตถุประสงค์ร่วมกันก็สามารถสร้างสรรค์เรื่องที่ดีงามให้กับทั้งตนเองและผู้อื่นได้อย่างมากมายต่อไปแน่นอน